ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๕ )


ธรรมะเพื่อประชาชน : จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๕ )

Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP_01.jpg

จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ ( ๕ )

                พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีอานุภาพไม่มีประมาณ เป็นบุคคลอจินไตยเกินกว่าการนึกคิดคาดเดาของมนุษย์และเทวา กว่าพระองค์จะมีพุทธานุภาพที่ไม่มีใครเทียบได้นี้ ต้องสร้างบารมีมาอย่างน้อย ๒๐ อสงไขย กับอีก ๑๐๐,๐๐๐ มหากัป ได้ทุ่มเทชีวิตจิตใจในการสร้างบารมี ไม่เคยย่อท้อแม้แต่ภพชาติเดียว

 

 

DhammaPP_.02.jpg

                พระมหากรุณาของพระองค์ในการที่จะช่วยเหลือสรรพสัตว์   ให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น กว้างใหญ่ไพศาลเกินกว่าจักรวาล เราทั้งหลายจึงควรยึดพระองค์เป็นแบบอย่างในการสร้างบารมี เพื่อไปให้ถึงที่สุดแห่งธรรม และให้หมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระพุทธคุณอันไม่มีประมาณ แล้วตั้งใจสร้างบารมีตามอย่างพระองค์ ด้วยการหมั่นฝึกใจให้หยุดนิ่ง ให้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายใน คือ เข้าถึงพระธรรมกายในตัวให้ได้กันทุกคน
 

 

 

DhammaPP_03.jpg


        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน นิธิกัณฑสูตร ว่า

                "ขุมทรัพย์คือบุญ ไม่สาธารณะแก่ชนเหล่าอื่น โจรลักไปไม่ได้ บุญนิธิอันใดติดตนไปได้ ปราชญ์พึงทำบุญนิธิอันนั้น บุญนิธินี้ให้สมบัติที่พึงใคร่แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เทวดา และมนุษย์ทั้งหลายปรารถนานักซึ่งอิฐผลใดๆ อิฐผลนั้นๆ ทั้งหมด อันเทวดาและมนุษย์เหล่านั้นย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้   
       
        ความเป็นผู้มีผิวพรรณงาม ความเป็นผู้มีเสียงไพเราะ ความเป็นผู้มีทรวดทรงดี ความเป็นผู้มีรูปสวย ความเป็นอธิบดี ความเป็นผู้มีบริวาร อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
       
        ความเป็นพระราชาประเทศราช ความเป็นใหญ่   สุขของพระเจ้าจักรพรรดิอันเป็นที่รัก  แม้ความเป็นพระราชา แห่งเทวดาในหมู่ทิพย์ อิฐผลทั้งปวงนั้น อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ มนุษยสมบัติ ความยินดีในเทวโลกและนิพพานสมบัติ อิฐผลทั้งปวงนี้ เทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
       
        ความที่พระโยคาวจร เมื่ออาศัยคุณเครื่องถึงพร้อม คือ มิตร แล้วประกอบอยู่โดยอุบายอันแยบคายไซร้ เป็นผู้มีความชำนาญในวิชชาและวิมุตติ อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้
         
        ปฏิสัมภิทา วิโมกข์ สาวกบารมีญาณ ปัจเจกโพธิญาณ และพุทธภูมิ อิฐผลทั้งปวงนี้ อันเทวดาและมนุษย์ย่อมได้ด้วยบุญนิธินี้ คุณเครื่องถึงพร้อมคือบุญนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์มากอย่างนี้ เพราะเหตุนั้นบัณฑิตผู้มีปัญญาจึงสรรเสริญความที่บุคคลมีบุญอันทำไว้แล้ว"

 

 

DhammaPP_04.jpg

                  บุญนิธิ หมายถึง ขุมทรัพย์อันประเสริฐ ที่อำนวยผลทั้งโลกิยทรัพย์และอริยทรัพย์ บุญที่สั่งสมไว้มากๆ จะกลายเป็นทะเลบุญ คอยหนุนนำเราให้ประสบความสุขและความสำเร็จ บางท่านอาจสงสัยว่า บุญนิธินี้ฝังไว้ตรงไหน สามารถขุดมาใช้ได้อย่างไร มองเห็นเป็นรูปธรรมเหมือนขุมทรัพย์ทั่วๆ ไปได้ไหม

 

 

DhammaPP_05.jpg

                 บุญไม่ใช่เป็นเพียงคำกล่าวในเชิงนามธรรมอย่างเดียว เมื่อใดเราทำใจหยุดใจนิ่งได้อย่างสมบูรณ์ จะไปรู้ไปเห็นได้ว่าบุญนั้นมีลักษณะเป็นดวงกลมๆ ใสๆ เรียกว่าดวงบุญ ติดอยู่ที่ศูนย์กลางกายของมนุษย์ทุกๆ คน ดวงโตบ้าง ดวงเล็กบ้าง ตามแต่กำลังบุญของแต่ละคน และในกลางดวงบุญนั้น มีสมบัติทั้งหลาย ทั้งรูปสมบัติ ทรัพย์สมบัติ คุณสมบัติ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข มรรคผลนิพพาน คือ มีสมบัติทั้งที่เป็นโลกิยทรัพย์ และอริยทรัพย์ซ้อนอยู่ในกลางดวงบุญ สายสมบัติจะเชื่อมโยงมาที่กลางกายนั้น

 

 

DhammaPP_06.jpg

                บางคนสายสมบัติยาว บางคนสายสมบัติสั้น บางคนขาดตอนเป็นช่วงๆ สายสมบัติมาจากต้นแหล่งแห่งบุญที่อยู่ลึกๆ ละเอียดๆ ในภพอันวิเศษ มาเชื่อมโยงที่กลางกาย เมื่อสายสมบัติเชื่อมโยงติดแน่น จะดึงดูดสมบัติหยาบในเมืองมนุษย์มาให้เราใช้สร้างบารมี อย่างไม่รู้จักหมดจักสิ้น ถ้าสายสมบัติเชื่อมติดกับกลางกายแล้ว มนุษย์จะพรั่งพร้อมด้วยสมบัติทั้งหลาย เป็นอยู่ได้ด้วยบุญ เมื่อปรารถนาสิ่งที่ดี ย่อมจะสมความปรารถนาในทุกครั้ง

 

 

DhammaPP_07.jpg

                เหมือนอย่างบัณฑิตสามเณร ผู้ได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่เยาว์วัย เพราะอาศัยบุญที่ได้สั่งสมไว้อย่างดีแล้วในอดีต วันนี้เรามาติดตามเรื่องราวของท่านในตอนอวสาน ครั้นหนูน้อยบัณฑิตมีอายุได้ ๗ ขวบ บุญในตัวกระตุ้นเตือนให้หนูน้อยอยากออกบวช เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง เมื่อปรารภอยากบวชกับมารดา มารดาก็อนุโมทนาบุญด้วย และได้พาหนูน้อยไปมอบถวายแด่พระสารีบุตรเถระ

 

 

DhammaPP_08.jpg

                 หนูน้อยบัณฑิตได้บรรพชาเป็นสามเณร ท่านฝึกตนเองอยู่ ๗ วัน ในวันที่ ๘ ของการบวช ขณะที่สามเณรบัณฑิตกำลังเดินบิณฑบาตตามหลังพระเถระอยู่นั้น ได้เห็นเหมืองแห่งหนึ่ง จึงเรียนถามพระสารีบุตรว่า "สิ่งนี้เขาเรียกว่าอะไร มีไว้ทำอะไรครับ"
 
        พระสารีบุตรตอบว่า "เขาเรียกว่าเหมือง มีไว้สำหรับไขน้ำเข้าไปในนาข้าว"
 
        สามเณรถามต่อว่า "น้ำมีจิตไหมครับ"
 
        พระเถระ ตอบว่า น้ำไม่มีจิตหรอก สามเณร"

 

 

DhammaPP_09.jpg

                สามเณรเกิดความคิดว่า "ถ้าคนทั้งหลายไขน้ำซึ่งไม่มีจิต เข้าไปสู่ที่ที่ตนปรารถนา แล้วทำการงานได้ เหตุไฉนคนซึ่งมีจิตแท้ๆ จึงไม่สามารถบังคับจิตตนเองได้"

 

 

DhammaPP_10.jpg


                สามเณรเดินต่อไป เห็นช่างศร กำลังเอาลูกศรลนไฟ เล็งดูด้วยหางตา แล้วดัดให้ตรง จึงเรียนถามพระเถระด้วยความอยากรู้ ตามประสาเด็กอายุ ๗ ขวบ ที่มีบารมีแก่กล้า เมื่อได้คำตอบแล้ว ก็ตรึกธรรมะไปว่า ถ้าสามารถดัดลูกศรที่ไม่มีจิต ให้ตรงได้ ทำไมหนอ คนซึ่งมีจิตแท้ๆ จึงไม่สามารถบังคับจิตของตนเองได้"

 

 

DhammaPP_11.jpg

                      ครั้นสามเณรเดินต่อไป เห็นช่างไม้กำลังถากไม้ เพื่อทำกำกงและดุมเกวียนจึงเรียนถามพระเถระว่า "เขาถากไม้เพื่อทำอะไรกันครับ"
 
        พระเถระตอบว่า "เขาถากไม้เพื่อทำล้อเกวียน" 
 
        สามเณรถามต่อว่า "แล้วไม้เหล่านั้นมีจิตไหมครับ"

 

 

DhammaPP_12.jpg


                เมื่อรู้ว่าไม้ไม่มีจิต ก็ขบคิดขึ้นมาว่า "ถ้าคนทำท่อนไม้ที่ไม่มีจิต ให้เป็นล้อได้ แล้วทำไม คนผู้มีจิตจึงไม่สามารถบังคับจิตตนเองได้"  

 

DhammaPP_13.jpg


                เมื่อสามเณรได้แรงบันดาลใจจากธรรมชาติรอบตัว เพื่อการฝึกจิตเช่นนั้น จึงได้กราบเรียนพระเถระว่า "กระผมจะขอ กลับวัดไปก่อน"

 

 

DhammaPP_14.jpg
 

              พระสารีบุตรรู้ถึงจุดมุ่งหมายของสามเณร จึงอนุญาตให้กลับก่อน เมื่อสามเณรกลับถึงที่พักแล้ว ได้ตั้งใจนั่งสมาธิอยู่ในห้องตามลำพัง และด้วยเดชของสามเณร ทิพยอาสน์ของท้าวสักกะเกิดอาการร้อนขึ้นมา พระองค์ใคร่ครวญดู รู้ว่า บัณฑิตสามเณรถวายบาตรแด่พระอุปัชฌาย์แล้วเดินทางกลับ ด้วยตั้งใจว่า "จักปฏิบัติสมณธรรม"

 

 

DhammaPP_15.jpg

                     จึงตรัสเรียกท้าวมหาราชทั้งสี่มาสั่ง ให้ไปไล่นกกาที่ร้องจอแจ อยู่ใกล้วิหารให้หนีไป แล้วอารักขาให้ดี

 

 

DhammaPP_16.jpg

                   และตรัสบอกจันทเทพบุตรให้ไปฉุดรั้งมณฑลพระจันทร์ไว้  ฝ่ายสุริยเทพบุตรให้ไปฉุดรั้งมณฑลพระอาทิตย์ไว้  

 

 

DhammaPP_17.jpg

              ส่วนพระองค์เองได้เสด็จไปประทับยืนอารักขาอยู่ที่ประตูวิหารนั้น แม้เสียงใบไม้ร่วงก็ไม่มี ทั่วบริเวณเงียบสนิท เหมาะต่อการทำใจหยุดใจนิ่งยิ่งนัก

 

 

DhammaPP_18.jpg

                   ฝ่ายพระสารีบุตรได้บิณฑบาตไปถึงบ้านของอุปัฏฐากท่านหนึ่ง วันนั้นอุปัฏฐากได้ปลาตะเพียนมาหลายตัว จึงนำมาปรุงเป็นอาหาร เมื่อเห็นพระเถระมามีความยินดี จึงนิมนต์ให้ท่านรับบิณฑบาต ถวายข้าวยาคู และข้าวคลุกปลาตะเพียน หลังจากพระเถระฉันภัตตาหารแล้ว ได้นำอาหารส่วนที่เป็นของสามเณรกลับมาที่พัก

 

 

DhammaPP_19.jpg

              เมื่อสามเณรเจริญภาวนา มีจิตตั้งมั่นหยั่งลงสู่สมาธิ ได้บรรลุเป็นพระอนาคามี ขณะที่กำลังทำใจหยุดในหยุดเข้าไปเรื่อยๆ นั้น พระบรมศาสดาทรงรู้เรื่องราวของสามเณรโดยตลอด จึงได้เสด็จไปดักรอพระสารีบุตร และตรัสถามปัญหา ๔ ข้อ เพื่อถ่วงเวลา เพราะทรงเกรงว่า  จะไปกระเทือนการบรรลุธรรมขั้นสูง ของสามเณร

 

 

DhammaPP_20.jpg

                     ขณะพระเถระแก้ปัญหาที่พระพุทธองค์ตรัสถามทั้งหมด สามเณรก็ได้บรรลุอรหัตผลในขณะนั้นเอง

 

 

DhammaPP_21.jpg

              เราจะเห็นว่า ขณะผู้มีบุญมีบารมีกำลังทำความเพียร  ผู้รู้ทั้งหลายต้องมาอำนวยความสะดวก คอยปกปักรักษา ไม่ให้สิ่งใดมาเป็นอุปสรรคต่อการบรรลุมรรคผลนิพพาน ชีวิตในสังสารวัฏของคนๆ หนึ่ง กว่าจะถึงจุดหมายปลายทางของชีวิต คือ การได้บรรลุมรรคผลนิพพาน ต้องอาศัยกำลังบุญอย่างมาก  เมื่อมีบุญมาก การทำสิ่งใดย่อมจะสำเร็จทุกอย่าง

 

 

DhammaPP_22.jpg

                เหมือนอย่างมหาทุคตะผู้เคยเป็นคนยากจนมาก่อน แต่ด้วยความไม่ประมาทในชีวิต เขาเริ่มต้นทำความดีจนผลแห่งความดีนั้นปรากฏ ในที่สุดได้สำเร็จมรรคผลเป็นอัศจรรย์ เพราะบุญกุศลที่ได้ทำไว้อย่างดี ด้วยใจที่ใสสะอาดบริสุทธิ์ จึงมีอานิสงส์ยิ่งใหญ่ไพศาล ส่งผลให้สมปรารถนาในทุกสิ่ง คือ ได้เข้าถึงความเต็มเปี่ยมของชีวิต

 

 

DhammaPP_23.jpg

                เพราะฉะนั้น อย่าได้ดูเบาในการสั่งสมบุญ แม้เป็นบุญเล็กบุญน้อยให้ทำต่อไป ทำด้วยใจที่หยุดนิ่งใสบริสุทธิ์ไม่ว่าจะเป็นบุญจากการให้ทาน รักษาศีลหรือเจริญภาวนา ให้ทำไป พร้อมๆกัน เพราะบุญคือเพื่อนแท้ที่ติดตามตัวเราไปทุกหนทุกแห่ง เป็นสมบัติที่เราสามารถนำติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เมื่อเราเข้าใจเรื่องของบุญเช่นนี้แล้ว อย่ามัวให้ความสำคัญกับการ  ทำมาหากิน เพียงอย่างเดียว ต้องสั่งสมบุญบารมีไปด้วย ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตในสัมปรายภพ ซึ่งเป็นชีวิตที่ยาวนานกว่าภพปัจจุบันนี้มาก ดังนั้นเราต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจสั่งสมบุญให้เต็มที่ และนั่งสมาธิให้ได้ทุกๆ วัน ให้มีพระรัตนตรัยภายในเป็นที่พึ่ง   ที่ระลึกกันทุกคน
 
 
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 
 
 
 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล