หน้า 3
การ์ตูนนิานชาดก
สุกรโพธิสัตว์
ตุณฑิลชาดก
ว่าด้วย ธรรมเหมือนน้ำ บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล
ภาพ มิ้น,ป๋องแป๋ง
ลงสี มิ้น, ป๋องแป๋ง
ตุณฑิลชาดก
ว่าด้วย ธรรมเหมือนน้ำ บาปธรรมเหมือนเหงื่อไคล
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กลัวตายรูปหนึ่ง จึงตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า นวจฺฉทฺทเก ดังนี้.
ได้ยินว่า กุลบุตรชาวเมืองสาวัตถีนั้น บวชในพระศาสนาแต่ได้เป็นผู้กลัวตาย. เธอได้ยินเสียงกิ่งไม้สั่นไหว ท่อนไม้ตก เสียงนกหรือสัตว์สี่เท้า แม้เพียงเล็กน้อย คือเบาๆ หรือเสียงอย่างอื่นแบบนั้น ก็จะเป็นผู้ถูกภัยคือความตายขู่ เดินตัวสั่นไป เหมือนกระต่ายถูกแทงที่ท้องฉะนั้น.
ภิกษุทั้งหลายพากันตั้งคาถา คือเรื่องสนทนาขึ้นในธรรมสภาว่า ดูก่อนอาวุโส ภิกษุชื่อโน้นกลัวตาย ได้ยินเสียงแม้เพียงเล็กน้อย ก็ร้องพลางวิ่งพลางหนีไป ควรจะมนสิการว่า ก็ความตายของสัตว์ทั้งหลายเหล่านี้เท่านั้นเป็นของเที่ยง แต่ชีวิตไม่เที่ยง ดังนี้.
พระศาสดาเสด็จมาถึง ตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไรนะ เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลว่า ด้วยเรื่องชื่อนี้ ดังนี้แล้ว ตรัสสั่งให้หาภิกษุนั้นมา แล้วตรัสถามว่า ดูก่อนภิกษุ ได้ทราบว่า เธอกลัวตายจริงหรือ? เมื่อภิกษุนั้นทูลรับว่า ถูกแล้วพระเจ้าข้า ดังนี้ จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ไม่เฉพาะในปัจจุบันนี้เท่านั้น แม้ในชาติก่อน ภิกษุนี้ก็กลัวตายเหมือนกัน แล้วได้ทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้.
ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี พระโพธิสัตว์ได้ถือปฏิสนธิในท้องของแม่สุกร. แม่สุกรท้องแก่ครบกำหนดแล้ว คลอดลูก ๒ ตัว.
อยู่มาวันหนึ่ง มันพาลูก ๒ ตัวนั้นไปนอนที่หลุมแห่งหนึ่ง กาลครั้งนั้น หญิงชราคนหนึ่งมีปกติอยู่บ้านใกล้ประตูนครพาราณสี เก็บฝ้ายได้เต็มกระบุงจากไร่ฝ้าย เดินเอาไม้เท้ายันดินมา แม่สุกรได้ยินเสียงนั้นแล้ว ทิ้งลูกน้อยหนีไปเพราะกลัวตาย. หญิงชราเห็นลูกสุกรกลับได้ความสำคัญว่าเป็นลูก จึงเอาใส่กระบุงไปถึงเรือน แล้วตั้งชื่อตัวพี่ว่ามหาตุณฑิละ ตัวน้องว่าจุลตุณฑิละ เลี้ยงมันเหมือนลูก.
ในเวลาต่อมามันเติบโตขึ้น ได้มีร่างกายอ้วน. หญิงชราถึงจะถูกทาบทามว่า จงขายหมูเหล่านี้ให้พวกฉันเถิด ก็บอกว่า ลูกของฉัน แล้วไม่ให้ใคร.
ภายหลังในวันมหรสพ วันหนึ่งพวกนักเลงดื่มสุรา เมื่อเนื้อหมดก็หารือกันว่า พวกเราจะได้เนื้อจากที่ไหนหนอ ทราบว่า ที่บ้านหญิงชรามีสุกร จึงพากันถือเหล้าไปที่นั้น พูดว่า คุณยายครับ ขอให้คุณยายรับเอาราคาสุกรแล้วให้สุกรตัวหนึ่งแก่พวกผมเถิด. หญิงชรานั้น แม้จะปฏิเสธว่า อย่าเลยหลานเอ๋ย สุกรนั่นเป็นลูกฉัน ธรรมดาคนจะให้ลูกแก่คนที่ต้องการจะกินเนื้อไม่มีหรอก.
พวกนักเลงแม้จะอ้อนวอนแล้วอ้อนวอนเล่าว่า ขึ้นชื่อว่าหมูจะเป็นลูกของคนไม่มีน่ะ ให้มันแก่พวกผมเถิด ก็ไม่ได้สุกร จึงให้หญิงชราดื่มสุรา เวลาแกเมาแล้วก็พูดว่า ยาย ยาย จะทำอะไรกับหมู? ยายเอาราคาหมูนี้ไปไว้ทำเป็นค่าใช้จ่ายเถิด แล้ววางเหรียญกระษาปณ์ไว้ในมือหญิงชรา.
หญิงชรารับเอาเหรียญกระษาปณ์ พูดว่า หลานเอ๋ย ยายไม่อาจจะให้สุกรชื่อมหาตุณฑิละได้ แกจงพากันเอาจุลตุณฑิละไป.
มันอยู่ที่ไหน? นักเลงถาม.
ที่กอไม้กอโน้น หญิงชราตอบ.
ยายให้เสียง เรียกมันสิ นักเลงสั่ง.
ฉันไม่เห็นอาหาร หญิงชราตอบ.
นักเลงทั้งหลายจึงให้ค่าอาหารให้ไปนำข้าวมา ๑ ถาด. หญิงชรารับเอาค่าอาหารนั้น จัดซื้อข้าว เทให้เต็มรางหมูที่วางไว้ใกล้ประตูแล้วได้ยืนอยู่ใกล้ๆ ราง. นักเลงประมาณ ๓๐ คน มีบ่วงในมือ ได้ยืนอยู่ ณ ที่นั้นนั่นเอง. หญิงชราได้ให้เสียงร้องเรียกหมูว่า ลูกจุลตุณฑิละมาโว้ย.
มหาตุณฑิละได้ยินเสียงนั้นแล้วรู้แล้วว่า ตลอดเวลาประมาณเท่านี้ แม่เราไม่เคยให้เสียงแก่จุลตุณฑิละ ส่งเสียงถึงเราก่อนทั้งนั้น วันนี้คงจักมีภัยเกิดขึ้นแก่พวกเราแน่แท้. มหาตุณฑิละจึงเรียกจุลตุณฑิละมาแล้วบอกว่า น้องเอ๋ย แม่ของเราเรียกเจ้า เจ้าลงไปให้รู้เรื่องก่อน.
จุลตุณฑิละก็ออกจากกอไม้ไปเห็นว่านักเลงเหล่านั้นยืนอยู่ใกล้รางข้าวก็รู้ว่า วันนี้ความตายจะเกิดขึ้นแก่เราแล้ว ถูกมรณภัยคุกคามอยู่ จึงหันกลับตัวสั่นไปหาพี่ชาย ไม่อาจจะยืนอยู่ได้ ตัวสั่นหมุนไปรอบๆ.
มหาตุณฑิละเห็นเขาแล้วจึงถามว่า น้องเอ๋ย ก็วันนี้เจ้าสั่นเทาไป เห็นสถานที่เป็นที่เข้าไปแล้ว เจ้าทำอะไรนั่น.
มันเมื่อจะบอกเหตุที่ตนได้เห็นมา จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า :-
บัดนี้ วันนี้แม่เราให้อาหารสำหรับขุนใหม่ วางอาหารนี้เต็ม นายแม่ยืนใกล้รางอาหาร คนหลายคนมีมือถือบ่วง อาหารนั้นไม่แจ่มชัดสำหรับฉัน เพื่อกินอาหาร.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นวจฺฉทฺทเก ทานิ ทิยฺยติ ความว่า พี่ เมื่อก่อนแม่ให้ข้าวต้มที่ปรุงด้วยรำหรือข้าวสวย ที่ปรุงด้วยข้าวตังแก่พวกเรา แต่วันนี้ให้อาหารสำหรับขุนใหม่ คือทานมีอาหารใหม่.
บทว่า ปุณฺณายํ โทณิ ความว่า รางอาหารของพวกเรานี้ เต็มไปด้วยข้าวสวยล้วนๆ.
บทว่า สุวามินี ฐิตา ความว่า ฝ่ายนายแม่ของพวกเรา ก็ได้ยืนอยู่ใกล้ๆ รางอาหารนั้น.
บทว่า พหุโก ชโน ความว่า มิใช่แต่นายแม่ยืนอย่างเดียวเท่านั้น แม้คนอื่นอีกหลายคน ได้ยืนมีมือถือบ่วงอยู่.
บทว่า โน จ โข เม ปฏิภาติ ความว่า แม้ภาวะที่คนเหล่านี้ยืนอยู่แล้วอย่างนี้ ไม่แจ่มกระจ่างสำหรับฉัน. อธิบายว่า ฉันไม่ชอบใจ แม้เพื่อจะกินข้าวนี้.
มหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้ว พูดว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย ได้ทราบว่า ธรรมดาแม่ของเรา เมื่อเลี้ยงสุกรไว้ในที่นี้นั่นเอง ย่อมเลี้ยงเพื่อประโยชน์อันใด ประโยชน์อันนั้นของท่านถึงที่สุดแล้วในวันนี้ น้องอย่าคิดเลย.
เมื่อจะแสดงธรรมโดยลีลาพระพุทธเจ้าด้วยเสียงที่ไพเราะ จึงได้กล่าวคาถา ๒ คาถาว่า :-
เจ้าสะดุ้ง เจ้าหัวหมุนไปไย? เจ้าประสงค์จะหลีกหนีไป เจ้าไม่มีผู้ต้านทานจักไปไหน? น้องตุณฑิละเอ๋ยเจ้าจงเป็นผู้ขวนขวายแต่น้อย กินไปเถิด พวกเราถูกเขาขุนเพื่อต้องการเนื้อ
เจ้าจงลงสู่ห้วงน้ำที่ไม่มีโคลนตม ชำระล้างเหงื่อไคลทั้งหมด แล้วถือเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา มีกลิ่นหอมไม่ขาดสาย.
เมื่อมหาตุณฑิละมหาสัตว์นั้นรำลึกถึงบารมีทั้งหลาย แล้วทำเมตตาบารมีให้เป็นปุเรจาริกออกหน้า ยกบทแรกมาเป็นตัวอย่างอยู่นั่นเอง เสียงได้ดังไปท่วมนครพาราณสี ที่กว้างยาวทั้งสิ้น ๑๒ โยชน์. ในขณะที่คนทั้งหลายได้ยินๆ นั่นแหละ ชาวนครพาราณสีตั้งต้นแต่พระราชา และพระอุปราชเป็นต้น ได้พากันมาตามเสียง ฝ่ายผู้ไม่ได้มาอยู่ที่บ้านนั่นเองก็ได้ยิน ราชบุรุษทั้งหลายพากันถางพุ่มไม้ ปราบพื้นที่ให้เสมอแล้วเกลี่ยทรายลง ผู้ให้สุราแก่นักเลงทั้งหลายก็งดให้ พวกนักเลงพากันทิ้งบ่วงแล้วได้ยืนฟังธรรมกันทั้งนั้น ฝ่ายหญิงชราก็หายเมา.
มหาสัตว์ได้กล่าวปรารภเทศนาแก่จุลตุณฑิละท่ามกลางมหาชน.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ตสสิ ภมสิ ความว่า หวาดสะดุ้งเพราะกลัวตาย เมื่อลำบากด้วยความหวาดสะดุ้ง เพราะความกลัวตายนั้นนั่นแหละ เธอจึงหัวหมุน.
บทว่า เลณมิจฺฉสิ ได้แก่ มองหาที่พึ่ง.
บทว่า อตาโณสิ ความว่า น้องเอ๋ย เมื่อก่อนมารดาของเราเป็นที่พึ่งที่ระลึกได้ แต่วันนี้ท่านหมดอาลัยทอดทิ้งเราแล้ว บัดนี้เจ้าจักไปไหน?
บทว่า โอคาห ได้แก่ ลงไปอยู่. อีกอย่างหนึ่งปาฐะว่าอย่างนี้เหมือนกัน.
บทว่า ปวาหย ได้แก่ ให้เหงื่อไคลทั้งหมดลอยไป.
บทว่า น ฉิชฺชติ ได้แก่ ไม่หายไป. มีอธิบายว่า ถ้าหากเจ้าสะดุ้งกลัวความตายไซร้ ก็จงลงสู่สระโบกขรณีที่ไม่มีโคลนตม ชำระล้างเหงื่อและไคลทั้งหมดในตัวของเจ้า แล้วลูบไล้ด้วยเครื่องลูบไล้ที่หอมฟุ้งอยู่เป็นนิตย์.
จุลตุณฑิละได้ยินคำนั้นแล้วคิดว่า พี่ชายของเราพูดอย่างนี้ วงศ์ของพวกเราไม่มีการลงสระโบกขรณี แล้วอาบน้ำชำระล้างเหงื่อไคลออกจากสรีระร่าง การนำเอาเครื่องลูบไล้เก่าออกไป แล้วเอาเครื่องลูบไล้ใหม่ที่มีกลิ่นหอมฟุ้งลูบไล้ไม่มีในกาลไหนเลย พี่ชายของเราพูดอย่างนี้ หมายถึงอะไรกันหนอ ดังนี้แล้ว
เมื่อจะถามจึงกล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
ห้วงน้ำอะไรหนอที่ไม่มีโคลนตม?
อะไรหนอ เรียกว่าเหงื่อไคล?
อะไรเรียกว่าเครื่องลูบไล้ใหม่?
กลิ่นอะไรไม่ขาดหายมาแต่ไหนแต่ไร?
พระมหาสัตว์ได้ยินคำตอบนั้นแล้ว จึงกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้น เธอจงเงี่ยโสตฟัง
เมื่อจะแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา ได้กล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-
ห้วงน้ำคือพระธรรมไม่มีโคลนตม
บาปเรียกว่าเหงื่อไคล
และศีลเรียกว่าเครื่องลูบไล้ใหม่
แต่ไหนแต่ไรมา กลิ่นของศีลนั้นไม่ขาดหายไป
เหล่าชนผู้ไม่รู้ ผู้ฆ่าสัตว์กินเป็นปกติ จะเพลิดเพลินใจ ส่วนผู้รักษาชีวิตสัตว์ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ จะไม่เพลิดเพลินใจ เมื่อวันเดือนเพ็ญมี พระจันทร์เต็มดวงแล้ว เหล่าชนผู้รื่นเริงใจอยู่เท่านั้น จึงจะสละชีพได้.
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ธมฺโม ความว่า ธรรมะแม้ทั้งหมดนี้ คือศีล ๕ ศีล ๑๐ สุจริต ๓ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ และอมตมหานิพพาน ชื่อว่าธรรม.
บทว่า อกทฺทโม ความว่า ชื่อว่าไม่มีโคลนตม เพราะไม่มีโคลนตมคือกิเลส ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ และทิฐิ. ด้วยบทนี้ มหาตุณฑิละ งดธรรมที่เหลือไว้แสดงพระนิพพานเท่านั้น
เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายมีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม ไม่มีปัจจัยปรุงแต่งก็ตาม มีประมาณเท่าใด วิราคธรรมท่านกล่าวว่าล้ำเลิศกว่าธรรมเหล่านั้น ได้แก่ธรรมให้สร่างเมา ปราศจากความหิวระหาย. ถอนอาลัยออกได้ ตัดวัฏฏะได้ เป็นที่สิ้นตัณหา วิราคะ คือคลายกำหนัด นิโรธ คือดับตัณหาไม่มีเหลือ นิพพาน คือดับกิเลสและทุกข์หมด.
นัยว่าพระโพธิสัตว์ เมื่อจะแสดงพระนิพพานนั้นนั่นแหละ จึงกล่าวอย่างนี้ ด้วยอำนาจอุปนิสสัยปัจจัยว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย เราเรียกสระคือพระนิพพานว่า ห้วงน้ำ เพราะในพระนิพพานนั้นนั่นเอง ไม่มีชาติ ชรา พยาธิ และมรณทุกข์เป็นต้น แม้ว่าหากจะมีผู้ประสงค์จะพ้นจากมรณะ ก็จงเรียนข้อปฏิบัติที่จะให้ถึงพระนิพพาน.
บทว่า ปาปํ เสทมลํ ความว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย บัณฑิตในสมัยก่อนทั้งหลายเรียกบาปว่าเป็นเหงื่อไคล เพราะเป็นเช่นกับเหงื่อไคล.
ก็บาปนี้นั้นมีอย่างเดียวคือกิเลสเครื่องประทุษร้ายใจ
บาปมี ๒ อย่างคือ ศีลที่เลวทรามกับทิฐิที่เลวทราม.
บาปมี ๓ อย่าง คือ ทุจริต ๓
บาปมี ๔ อย่าง คือ การลุอำนาจอคติ ๔ อย่าง
บาปมี ๕ อย่าง คือ สลักใจ ๕ อย่าง
บาปมี ๖ อย่าง คือ อคารวะ ๖ อย่าง
บาปมี ๗ อย่าง คือ อสัทธรรม ๗ ประการ
บาปมี ๘ อย่าง คือ ความเป็นผิด ๘ ประการ
บาปมี ๙ อย่าง คือ เหตุเป็นที่ตั้งแห่งความอาฆาต ๙ อย่าง
บาปมี ๑๐ อย่าง คือ อกุศลกรรมบถ ๑๐.
บาปมีมากอย่าง คือ อกุศลธรรมทั้งหลายที่ทรงจำแนกออกไป โดยเป็นธรรมหมวด ๑ หมวด ๒ และหมวด ๓ เป็นต้นอย่างนี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ.
บทว่า ศีล ได้แก่ศีล ๕ ศีล ๑๐ และปาริสุทธิศีล ๔. น้องเอ๋ย บัณฑิตทั้งหลายเรียกศีลนี้ว่าเป็นเสมือนเครื่องลูบไล้ใหม่.
บทว่า ตสฺส ความว่า กลิ่นของศีลนั้น แต่ไหนแต่ไรมา ไม่ขาดหายไปในวัยทั้ง ๓ คือแผ่ไปทั่วโลก.
กลิ่นดอกไม้จะไม่หอมทวนลมไป กลิ่นจันทน์กฤษณา หรือดอกมะลิ ก็ไม่หอมทวนลมไป แต่กลิ่นของสัตบุรุษหอมทวนลมไป สัตบุรุษฟุ้งขจรไปทั่วทุกทิศ.
กลิ่นศีลหอมยิ่งกว่าคันธชาติเหล่านี้ คือจันทน์กฤษณะ ดอกอุบลหรือดอกมะลิ เพราะกลิ่นกฤษณาและจันทน์นี้หอมน้อย ส่วนกลิ่นของผู้มีศีลทั้งหลายหอมมาก ฟุ้งขจรไปในเทวโลกและมนุษย์โลก.
บทว่า นนฺทนฺติ สรีรฆาติโน ความว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย คนผู้ไม่มีความรู้ทั้งหลายเหล่านี้ เมื่อทำปาณาติบาตจะเพลิดเพลิน คือพอใจว่า พวกเราจักกินเนื้ออร่อยบ้าง จักให้ลูกเมียกินบ้าง คือไม่รู้โทษของปาณาติบาตเป็นต้นนี้ว่า ปาณาติบาตที่ประพฤติจนชินอบรมมาทำให้มากแล้ว จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในนรก จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในกำเนิดเดียรัจฉาน ฯลฯ จะเป็นไปเพื่อให้เกิดในเปรตวิสัย วิบากของปาณาติบาตที่เบากว่าวิบากทั้งหมด จะเป็นไปเพื่อให้ผู้เกิดเป็นมนุษย์มีอายุน้อย ดังนี้
เมื่อไม่รู้ ก็จะเป็นผู้สำคัญบาปว่าเป็นน้ำผึ้ง ตามพระพุทธภาษิต ว่า :-
คนโง่ย่อมสำคัญบาปว่าเป็นเหมือนน้ำผึ้ง ตลอดเวลาที่บาปยังไม่ให้ผล แต่เมื่อใดบาปให้ผล เมื่อนั้นคนโง่ก็จะเข้าถึงทุกข์.
ไม่รู้แม้เหตุมีประมาณเท่านี้ว่า :-
คนเขลา เบาปัญญา เที่ยวทำบาปกรรมซึ่งมีผลเผ็ดร้อนด้วยตนเอง ที่เป็นเหมือนศัตรู กรรมที่มีผลเผ็ดร้อน ทำให้ตนมีน้ำตานองหน้าร้องไห้ไปพลางเสวยผลกรรมไปพลาง ทำแล้วไม่ดี.
บทว่า น จ นนฺทนฺติ สรีรธาริโน ความว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย สัตว์เหล่านี้ใดผู้รักษาชีวิตสัตว์ไว้ ไม่ฆ่าสัตว์เป็นปกติ สัตว์เหล่านั้นที่เหลือ ตั้งต้นแต่พระโพธิสัตว์ไป เว้นไว้แต่มฤคราชสีห์ ช้างอาชาไนย ม้าอาชาไนยและพระขีณาสพ เมื่อความตายมาถึงตน ชื่อว่าไม่กลัวไม่มี.
สัตว์ทั้งหลายสะดุ้งต่ออาชญากันหมด เพราะชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งหลาย ฉะนั้น คนควรเอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบแล้ว ไม่เบียดเบียน ไม่ฆ่ากัน.
บทว่า ปุณฺณาย ความว่า เต็มด้วยคุณค่า.
บทว่า ปุณฺณมาสิยา ความว่า เมื่อเดือนประกอบด้วยจันทร์เพ็ญ สถิตอยู่เต็มดวงแล้ว ได้ทราบว่า เมื่อนั้นเป็นวันอุโบสถที่มีพระจันทร์เต็มดวง.
บทว่า รมมานาว ชหนฺติ ชีวิตํ ความว่า น้องจุลตุณฑิละเอ๋ย เธออย่าเศร้าโศก อย่าร้องไห้ ขึ้นชื่อว่าความตายไม่ใช่เฉพาะเราเท่านั้น แม้สัตว์ที่เหลือทั้งหลายก็มีความตาย สัตว์ผู้ไม่มีคุณมีศีลเป็นต้น อยู่ในภายในย่อมจะกลัว แต่พวกเราผู้สมบูรณ์ด้วยศีลและอาจาระ เป็นผู้มีบุญ คือจะไม่กลัว เพราะฉะนั้น สัตว์ที่เช่นกับเราจะยินดีสละชีวิตทีเดียว.
มหาสัตว์แสดงด้วยเสียงอันไพเราะด้วยพุทธลีลาอย่างนี้แล้ว ชุมนุมชนมีการปรบมือและการชูผ้าจำนวนพันเป็นไปแล้ว ท้องฟ้าได้เต็มไปด้วยเสียงสาธุการ. พระเจ้าพาราณสีทรงบูชาพระโพธิสัตว์ด้วยราชสมบัติ ประทานยศแก่หญิงชรา ทรงรับเอาสุกรทั้ง ๒ ตัวไว้ ทรงให้อาบด้วยน้ำหอม ให้ห่มผ้า ให้ไล้ทาด้วยของหอมเป็นต้น ให้ประดับแก้วมณีที่คอ แล้วทรงนำเข้าไปสู่พระนคร สถาปนาไว้ในตำแหน่งราชบุตร ทรงประคับประคองด้วยบริวารมาก.
พระโพธิสัตว์ได้ให้ศีล ๕ แก่ข้าราชบริพาร ชาวนครพาราณสีและชาวกาสิกรัฐพากันรักษาศีล ๕ ศีล ๑๐ ทุกคน. ฝ่ายมหาสัตว์ได้แสดงธรรมแก่ชนเหล่านั้นทุกวันปักษ์ นั่งในที่วินิจฉัยศาลพิจารณาคดี เมื่อมหาสัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่ ขึ้นชื่อว่าการโกง ไม่มีแล้ว.
ในกาลต่อมาพระราชาสวรรคต ฝ่ายมหาสัตว์ให้ประชาชนถวายพระเพลิงพระสรีระพระองค์ แล้วให้จารึกคัมภีร์วินิจฉัยคดีไว้แล้วบอกว่า ท่านทั้งหลายต้องดูคัมภีร์นี้พิจารณาคดี แล้วแสดงธรรมแก่มหาชน โอวาทด้วยความไม่ประมาทแล้วเข้าป่าไปพร้อมกับจุลตุณฑิละ ทั้งๆ ที่คนทั้งหมดพากันร้องไห้และคร่ำครวญอยู่นั่นเอง.
โอวาทของพระโพธิสัตว์ครั้งนั้น เป็นไปถึง ๖ หมื่นปี.
พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดกไว้ ในที่สุดแห่งสัจจธรรม ภิกษุผู้กลัวตายนั้นดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.
พระราชาในครั้งนั้น ได้แก่ พระอานนท์ ในบัดนี้
จุลตุณฑิละได้แก่ ภิกษุผู้กลัวตาย
บริษัทได้แก่ พุทธบริษัท
ส่วนมหาตุณฑิละ คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.
จบ อรรถกถาตุณฑิลชาดกที่ ๓