มงคลที่ ๒๑ ไม่ประมาทในธรรม
อย่าหลงใหลเพลิดเพลิน
รูปกายนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เน่าเปื่อยผุพังลงทุกขณะ ร่างกายของเรานี้ เป็นของเน่าเหม็นจักต้องแตกทำลายไป เพราะชีวิตของเรา มีความตายเป็นที่สุด
เราเกิดมาภพชาติหนึ่ง เพื่อแสวงหาที่พึ่งที่ระลึกอันแท้จริง แสวงหาสิ่งที่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นสุขได้ด้วยตนเอง และเป็นตัวตนที่แท้จริง สิ่งที่เราต้องการนี้ รวมประชุมอยู่ในธรรมกายทั้งหมด ธรรมกายคือแก่นของชีวิต เป็นชีวิตในระดับลึกที่อยู่ภายในตัวของเรา ที่ทุกคนมีสิทธิ์จะเข้าถึงได้ หากฝึกใจให้หยุดนิ่ง ถ้าหยุดได้เมื่อไร ก็เข้าถึงได้เมื่อนั้น ไม่จำกัดด้วยกาลเวลา ถ้าเราเข้าถึงธรรมกายแล้ว ชีวิตเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น มีความสุขเพิ่มขึ้น ชีวิตจะมีแต่ความมั่นคง และปลอดภัยเสมอ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
ปริชิณฺณมิทํ รูปํ โรคนิทฺธํ ปภงฺคุณ
ภิชฺชติ ปูติ สนฺเทโห มรณนฺตํ หิ ชีวิตํ
รูปกายนี้แก่หง่อมแล้ว เป็นรังของโรค เน่าเปื่อยผุพังลงทุกขณะ ร่างกายของเรานี้ เป็นของเน่าเหม็น จักต้องแตกทำลายไป เพราะชีวิตของเรา มีความตายเป็นที่สุด
การได้อัตภาพเป็นมนุษย์เป็นการยาก ต้องมีบุญบารมีมากพอ จึงจะได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่พระบรมศาสดาก็ทรงสอน ไม่ให้ยึดติดกับร่างกายนี้มากเกินไป ถึงแม้จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ในการสร้างบุญบารมีเพื่อไปสู่พระนิพพานก็ตาม เพราะร่างกายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา มีความแปรปรวน เปลี่ยนแปลง ไปสู่ความเสื่อมสลายในที่สุด
ผู้ที่ยังหลงยึดติดกับร่างกายนี้ ซึ่งเป็นของภายนอก จะไม่สามารถหยุดใจเข้าไปสู่กายธรรมอันบริสุทธิ์ที่เที่ยงแท้เป็นอมตะอยู่ภายในได้ เหมือนผู้อยู่บนเรือที่ยังมีความพอใจในการล่องเรือไปบนท้องทะเลทุกข์ ไม่ยอมลงจากเรือเพื่อขึ้นฝั่งฉันใด ผู้นั้นย่อมไม่อาจก้าวไปสู่ฝั่งแห่งพระนิพพานฉันนั้น
*สมัยหนึ่งในกรุงราชคฤห์ มีหญิงงามเมืองผู้มีความงดงามคนหนึ่ง ชื่อ สิริมา ได้เคยประทุษร้ายต่อนางอุตตรา ซึ่งเป็นลูกสาวของท่านปุณณเศรษฐี เมื่อสำนึกผิดแล้วได้ขอโทษนางอุตตรา และทูลขอขมาโทษพระบรมศาสดาด้วย ในวันนั้น หลังจากได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาว่าพึงชนะคนโกรธ ด้วยความไม่โกรธ พึงชนะคนไม่ดี ด้วยความดี พึงชนะคนตระหนี่ ด้วยการให้ พึงชนะคนพูดคำไม่จริง ด้วยคำจริง นางก็ทำใจหยุดนิ่ง ปล่อยใจไปตามพระกระแสเสียง จนได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง
ครั้นบรรลุโสดาปัตติผลแล้ว นางได้นิมนต์พระผู้มีพระภาคเจ้าในวันรุ่งขึ้น เพื่อถวายมหาทาน จากนั้นนางตั้งใจว่า จะทำบุญตักบาตรเลี้ยงพระภิกษุสงฆ์ ๘ รูปทุกวัน ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ภิกษุ ๘ รูป ได้สับเปลี่ยนกันไปบิณฑบาตที่บ้านนางเป็นประจำ นางได้ตั้งใจถวายทานที่ประณีต โดยไม่มีความตระหนี่หลงเหลืออยู่ในใจ ตั้งใจทำบุญด้วยความเคารพเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง
ภิกษุสงฆ์ที่มาฉันภัตตาหารที่บ้านของนาง บางรูปที่ยังไม่หมดกิเลส เมื่อกลับไปถึงวัด ก็ได้เล่าให้เพื่อนสหธรรมิกฟังว่า นางสิริมาทำอาหารถวายประณีตมาก ภัตตาหารที่ภิกษุรูปหนึ่งได้รับนั้น เพียงพอสำหรับภิกษุถึง ๓-๔ รูป แต่การได้เห็นนาง ดียิ่งกว่าไทยธรรมของนางอีก เพราะนางเป็นหญิงที่สวยงามมาก ภิกษุรูปหนึ่งได้ฟังถ้อยคำพรรณนาคุณของนาง เกิดความเสน่หาขึ้นมาจับใจ ปรารถนาจะได้เห็นนางสิริมาบ้าง
วันรุ่งขึ้น ท่านเป็นหนึ่งใน ๘ รูป ที่ได้รับนิมนต์ไปฉันที่บ้านของนาง ในวันนั้น นางสิริมาได้ล้มป่วยไม่สบาย จึงถอดอาภรณ์เครื่องประดับแล้วลงนอนบนเตียงคนป่วย ขณะนั้น คนรับใช้เห็นภิกษุมาถึงเรือนแล้ว จึงไปบอกนาง แต่นางไม่อาจจะถวายอาหารด้วยมือของตน จึงบอกคนรับใช้ให้ช่วยพยุงลุกขึ้น เพื่อจะได้กราบนมัสการพระภิกษุหลังจากที่ได้ถวายทานแล้ว
นางไหว้พระภิกษุด้วยอาการสั่นเทิ้มเพราะพิษไข้ ภิกษุรูปนั้นไม่สำรวมระวังจิต มองดูนางพลางคิดว่า ความสวยงามของนางสิริมา แม้ยามป่วยไข้ยังสวยงามถึงเพียงนี้ แล้วในเวลาที่ไม่ป่วย รูปสมบัติของนางที่ตกแต่งด้วยอาภรณ์จะสวยงามสักเพียงไหน ขณะนั้นเอง กิเลสที่ท่านสั่งสมไว้ตั้งหลายโกฏิปี ได้กำเริบขึ้น ภิกษุรูปนั้นข่มความรักที่มีต่อนางไม่ได้ จึงเดินกลับวัดด้วยอาการเหม่อลอย นึกถึงแต่หน้านางสิริมาเท่านั้น
เมื่อกลับถึงกุฏิแล้ว ท่านไม่ยอมฉันภัตตาหารได้แต่ปิดบาตร นอนคิดถึงนางสิริมา เพื่อนภิกษุจึงบอกให้รู้ถึงโทษของกาม และให้คลายจากความกำหนัดยินดี แต่ก็ไม่ได้ผล
เย็นวันนั้นเอง นางสิริมาได้เสียชีวิตลง พระบรมศาสดา จึงส่งข่าวไปบอกพระราชาว่า อย่าเพิ่งให้เผาศพนางสิริมา ให้เอาศพนั้นไปไว้ในป่าช้าผีดิบ แล้วให้ดูแลให้ดี อย่าให้กาและสุนัขกินเป็นอาหาร พระราชาทรงทำตามรับสั่ง นำศพของนางไปไว้ในป่าช้า จนเวลาผ่านไปถึงวันที่ ๔ ศพของนางสิริมาพองขึ้นอืด มีหนอนไต่ออกจากทวารทั้งเก้า ทั่วร่างกายมีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม ส่งกลิ่นคลุ้งไปทั่วบริเวณ
พระบรมศาสดาทรงรับสั่งให้พระภิกษุไปร่วมดูนางสิริมาด้วย ภิกษุหนุ่มรูปนั้นซึ่งอดอาหารนอนซมอยู่ถึง ๔ วัน จนบาตรเป็นสนิม เพียงได้ยินคำว่า สิริมา เท่านั้น ก็ลุกขึ้นได้อย่างกระฉับกระเฉง รีบสอบถามเพื่อนสหธรรมิก และเดินทางไป กับหมู่ภิกษุทันที พระบรมศาสดาทรงรับสั่งกับพระราชาว่า ให้ราชบุรุษตีกลองประกาศทั่วพระนครว่า ถ้าใครให้เงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ จะได้นางสิริมาไปครอบครอง
พระราชาทรงทำตามพุทธประสงค์ แต่ไม่มีใครยอมจ่ายเงิน ๑,๐๐๐ กหาปณะ เพื่อแลกกับนางสิริมา พระบรมศาสดาจึงให้พระราชาลดราคาลงอีก พระราชารับสั่งให้ตีกลองประกาศลดราคาจาก ๑,๐๐๐ เป็น ๕๐๐ จาก ๕๐๐ เป็น ๒๕๐ เป็น ๒๐๐ ๑๐๐ ๕๐ ๒๕ ๑๐ กหาปณะ จนเหลือเพียง ๑ กหาปณะ ก็ไม่มีใครยอมจ่ายเพื่อแลกนางสิริมา สุดท้ายแม้จะให้เปล่าๆ ก็ไม่มีใครต้องการ
พระบรมศาสดาจึงตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงดูหญิงสาวซึ่งเป็นที่รักของมหาชน เมื่อก่อน ผู้คนให้เงินมากถึงพันกหาปณะจึงจะได้อภิรมย์กับนางหนึ่งวัน บัดนี้ แม้ผู้ที่จะรับนางสิริมาโดยไม่ต้องเสียเงินก็ไม่มี รูปที่เห็นอยู่นี้ เข้าถึงความสิ้น และความเสื่อมแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจงพิจารณาดูอัตภาพนี้ ที่ไม่มีความยั่งยืน อันวิบากกรรมปรุงแต่งให้วิจิตร เต็มไปด้วยแผล มีกระดูก ๓๐๐ ท่อน และเอ็นยึดเหนี่ยวไว้ ที่มหาชนต่างหลงใหลกัน เมื่อจบพระธรรมเทศนา สรรพสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ต่างได้บรรลุธรรมาภิสมัย ส่วนภิกษุรูปนั้นสามารถปล่อยจิตไปตามกระแสธรรม ได้บรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันในขณะนั้นเอง
เราจะเห็นว่า อัตภาพร่างกายของมนุษย์นี้ ไม่เที่ยงแท้ ต้องดูแลรักษาเอาใจใส่อยู่ตลอดเวลา เป็นทุกข์ บังคับบัญชาควบคุมไม่ได้ ใครไปหลงยึดติดก็จะมีแต่นำความทุกข์ใส่ตนเอง เหมือนลิงติดตัง ที่ไปจับยางเหนียวที่นายพรานล่อไว้ เมื่อมือข้างหนึ่งติดแล้ว หวังจะเอามือข้างที่สองช่วยแกะออก กลับติดแน่นหนักเข้าไปอีก สุดท้าย ทั้งหัวทั้งตัวก็ติดยางเหนียว เคลื่อนไหวไม่ได้ กลายเป็นเหยื่อของนายพรานไป
การจะไม่ให้ไปยึดติดในรูปกายภายนอก ต้องพิจารณาให้เห็นความไม่งามของกายนี้ โดยเทียบกับพระธรรมกายภายใน ที่เป็นกายมาตรฐาน มีความงามไม่มีที่ติ จะเห็นกายธรรมได้ ต้องอาศัยใจที่หยุดนิ่ง และเปรียบเทียบกายธรรมกับกายภายนอก จึงจะรู้ว่า กายภายนอกนี้ เป็นกายที่ผิดเพี้ยนไปจากเดิม ไม่น่าดูน่าชมเลย เราอาศัยกายนี้เพื่อสร้างบารมีเท่านั้น เพราะฉะนั้น ให้พวกเราทุกคนหมั่นสั่งสมบุญบารมี ฝึกใจให้หยุดนิ่งกันให้ดี อย่ามัวประมาทในชีวิต อย่าหลงใหลเพลิดเพลินในเบญจกามคุณ ให้รีบเร่งทำความเพียรในช่วงที่ยังแข็งแรงอยู่ จะได้เข้าถึงพระธรรมกายกันอย่างง่ายดายทุกๆ คน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*มก. นางสิริมา เล่ม ๔๒ หน้า ๑๔๘
** ตัวละครถูกสร้างขึ้นโดย AI