ข่าวประชาสัมพันธ์ : กัลยาณมิตร ธรรมะออนไลน์

เชิญร่วมกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจ หลังอุทกภัยน้ำท่วม สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และถวายการต้อนรับพระธุดงค์ ณ พุทธมณฑล

วันที่ 13 มค. พ.ศ.2555

 


สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ขอเรียนชิญพุทธศาสนิกชน ร่วมกิจกรรมฟื้นฟูจิตใจ หลังอุทกภัยน้ำท่วม
สวดมนต์ ปฏิบัติธรรม และถวายการต้อนรับพระธุดงค์ธรรมชัย 1,127 รูป

ในวันศุกร์ที่ 20 มกราคม เวลา 17.00 น. ณ พุทธมณฑล จ.นครปฐม
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 02-831-1234


การเดินทาง จากกรุงเทพฯ สามารถเข้าถึงได้หลายเส้นทาง คือ เดินทางไปตามถนนเพชรเกษมถึงประมาณกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวขวาเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปประมาณ 8 กิโลเมตร หรือเดินทางไปตามถนนสายปิ่นเกล้า-นครชัยศรี แล้วแยกเข้าถนนพุทธมณฑลสาย 4 ไปเล็กน้อย
 
นอกจากนี้ยังสามารถเดินทางโดยใช้ถนนพุทธมณฑลสาย 3 แยกเข้าสู่ถนนอุทยาน (อักษะ) เพื่อมุ่งเข้าสู่พุทธมณฑลได้ ถนนอุทยาน(อักษะ )เป็นถนนที่ตกแต่งอย่างสวยงามด้วยแนวเสาไฟประดับรูปกินรี น้ำพุและไม้ประดับต่างๆ มีทัศนียภาพที่สวยงาม
 

*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*-*

 

กำหนดการ กิจกรรมพระธุดงค์ธรรมชัย ในวันที่ 20 - 21 มกราคม พ.ศ. 2555

 

วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2555
09.00 น. เริ่มเดินธุดงค์จากวัดนราภิรมย์
17.00 น.       พระธุดงค์เดินทางถึงพุทธมณฑล
สาธุชนร่วมโปรยกลีบกุหลาบต้อนรับ และล้างเท้าพระธุดงค์
สาธุชนถวายปานะ
19.00 น. พระธุดงค์และสาธุชน ร่วมสวดมนต์ทำวัตรเย็น
และจุดประทีปบูชาพระรัตนตรัย
20.30 น. เสร็จพิธี
วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2555
05.00 น. พระธุดงค์สวดมนต์ทำวัตรเช้า ณ ลานด้านหน้าพระประธาน
(พระศรีศากยะทศพลญาณ)
06.00 น. พระธุงดค์รับบุญพัฒนาทำความสะอาดสถานที่
06.30 น. พิธีถวายภัตตาหารเป็นสังฆทานแด่พระธุดงค์
09.00 น. พระธุดงค์เดินทางออกจากพุทธมณฑล

 

 

มาทำความรู้จัก กับ ประวัติความเป็นมาของ "พุทธมณทล"

 


"พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" พระประธาน ณ พุทธมณฑล



 

พุทธมณฑล ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อใด
เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ รัฐบาลที่มี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยความพร้อมใจของชาวพุทธทั้งประเทศได้ร่วมกันจัดสร้างปูชนียสถานขึ้นเป็นพุทธานุสรณีย์ เนื่องในวโรกาสมหามงคลกาลที่พระพุทธศาสนาเวียนมาบรรจบครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี ซึ่งจะครบในวันวิสาขบูชา พ.ศ.๒๕๐๐ ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๔๙๘ รัฐบาลได้กราบบังคมทูลเชิญพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ไปทรงประกอบรัฐพิธีก่อฤกษ์พุทธมณฑล ณ บริเวณที่จะก่อสร้างพระพุทธรูปประธานพุทธมณฑล ปัจจุบันคือ อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม

วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลคืออะไร
วัตถุประสงค์ในการสร้างพุทธมณฑลนั้นมี ๘ ประการ ข้อที่สำคัญที่สุด คือ เป็นพุทธบูชาและเป็นพุทธานุสรณียสถาน ในวโรกาสที่พระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นศาสนาประจำชาติไทย เจริญรุ่งเรืองมาจนครบ ๒,๕๐๐ ปี ในปี พ.ศ.๒๕๐๐

ประวัติของพระประธานที่พุทธมณฑล "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์"
พระพุทธรูปพระประธานพุทธมณฑล ซึ่งได้รับพระราชทานนามว่า "พระศรีศากยะทศพลญานประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" ซึ่งสร้างขึ้นใจกลางพุทธมณฑล ต้นแบบที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ออกไว้นั้นสูง ๒.๑๔ เมตร แต่ต้องการให้มีความหมายจึงได้ขยายแบบออกไป เพื่อให้ได้ ๒,๕๐๐ กระเบียด จึงต้องขยายออกไปอีก ๗.๕ เท่า เป็นความสูง ๑๕.๘๗๕ เมตร เมื่อขยายแบบเสร็จแล้วการสร้างต้องแบ่งพระพุทธรูปออกเป็น ๖ ส่วนคือ พระเศียร พระอุระ และพระพาหาข้างซ้าย พระนาภี และพระพาหาข้างขวา พระเพลา พระบาท และฐานบัวรองพระบาท พระกรซ้ายและขวา มีโลหะมาตรฐานเดียวกัน ๑๓๗ ชิ้น มีสูตรของส่วนผสมที่แน่นอนเรียกว่า "โลหะสำริด" เริ่มสร้าง เดือนมิถุนายน ๒๕๒๓ โดยมี อาจารย์ สาโรช จารักษ์ อำนวยการสร้าง แล้วเสร็จในปี ๒๕๒๕
 
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ ได้เสด็จทรงเททองพระเกตุมาลาไว้เมื่อ ๑๘ พฤษภาคม ๒๕๒๔ ได้ประกอบพิธีเชื่อมประกอบพระเศียร กับองค์พระพุทธรูป เมื่อ ๒๓ สิงหาคม ๒๕๒๕ โดยสมเด็จพระสังฆราชเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธี และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้า ฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ เสด็จประกอบพิธีสมโภช เมื่อวันที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๒๕ และระหว่างกำลังดำเนินการสร้างอยู่นั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จไปทอดพระเนตรการสร้างองค์พระพุทธรูป
 
สถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างต่างๆ ภายในพุทธมณฑล
วิหารพุทธมณฑล ซึ่งหากมองจากถนนใหญ่จะเห็นชัดเจน แต่เมื่อมองจากองค์พระพุทธรูปประธาน มองตัดความงดงามของสวนไม้ดอกออกไปก็จะเห็นความงดงามอย่างยิ่ง เป็นอาคารชั้นเดียว สร้างแบบสถาปัตยกรรมไทยตามแบบวิหารของวัดราชาธิราช ผนังวิหารทำเป็น ๒ ชั้น เพื่อให้ประตูหน้าต่าง เลื่อนเข้าภายในกำแพงได้ ภายในปูด้วยกระเบื้องหินอ่อน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลวดลายภายนอกเป็นประติมากรรมรูปพระพุทธรูป ๘ องค์ และพระโพธิสัตว์ ๒ องค์ ภายในประดิษฐานพระพุทธรูป ๒๕ พุทธศตวรรษขนาด ๒,๕๐๐ มม. ดำเนินการก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๑๘
 
ตำหนักสมเด็จพระสังฆราช เป็นลักษณะสถาปัตยกรรมประยุกต์ หันหน้าไปทางทิศเหนือ ก่อสร้างเสร็จในปี ๒๖๒๔
 
ที่พักสงฆ์อาคันตุกะ อยู่ตรงข้ามกับตำหนักสมเด็จพระสังฆราช มีลักษณะเป็นสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
 
หอประชุม สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นที่ประชุมทางพระพุทธศาสนา และให้ความรู้ อาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์สองชั้น ชั้นล่างด้านทิศเหนือใช้เป็นสำนักงานพุทธมณฑล สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๙
 
หอกลอง สร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานกลองชัยขนาดใหญ่ ตัวกลองทำด้วยไม้ขนุน และหนังควายเผือก เส้นผ่าศูนย์กลางมีขนาด ๑.๖๐ เมตร ผู้จัดทำกลองคือ พระพิชัย ธรรมจาโร วัดบัลลังก์ศิลาอาสน์ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๖
 
สำนักงานพุทธมณฑล ลักษณะอาคารแบบสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ สร้างเสร็จ พ.ศ.๒๕๒๕
 
อาคารประชาสัมพันธ์ สถาปัตยกรรมไทยประยุกต์ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.๒๕๒๕
 
ศาลาราย สร้างตามแนวทางเท้าวงกลมรอบองค์พระประธานมีทั้งหมด ๒๐ หลัง ด้านข้างโปร่ง
 
ศาลาปฏิบัติกรรมฐาน เป็นอาคารเพื่อใช้ปฏิบัติกรรมฐาน อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นรูป ๖ เหลี่ยม เชื่อมติดต่อกันทั้งหมด ๘ หลัง
 
พิพิธภัณฑ์พระพุทธศาสนา อาคารทรงไทยเป็นรูปกลมวงแหวนด้านนอก แบ่งเป็น ๓ ส่วน ส่วนแรกแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ส่วนที่ ๒ จัดนิทรรศการและการบรรยาย ส่วนที่ ๓ ส่วนบริการ สุขา ห้องน้ำ ฯ
 
หอสมุดแห่งพระพุทธศาสนา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระราชทานนามว่า "หอสมุดพระพุทธศาสนามหาสิรินาถ" ห้องสมุดนี้ใหญ่โตมาก ห้องอ่านหนังสือจุถึง ๕๐๐ คน มีหนังสือประมาณ ๕๐๐,๐๐๐ เล่ม เก็บหนังสือบนเพดานได้อีก หนึ่งล้านเล่ม วัดปากน้ำและสมาคมศิษย์หลวงพ่อวัดปากน้ำ บริจาคเงินค่าก่อสร้างทั้งหมดประมาณ ๒๕๐ ล้านบาท เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ที่เจริญพระชนมายุ ๕ รอบ
 
มหาวิหารประดิษฐานพระไตรปิฎกหินอ่อน สถาปัตยกรรมไทยรูปทรงจตุรมุข มีพระเจดีย์ ๙ ยอด ประดิษฐานในย่านกลาง และเป็นที่จารึกพระไตรปิฎกหินอ่อน ขนาด ๑.๑๐ x ๒.๐๐ เมตร จำนวน ๑,๔๑๘ แผ่น มีภาพวาดพระพุทธประวัติอยู่ด้านบนโดยรอบ เริ่มสร้างปี พ.ศ.๒๕๓๒ แล้วเสร็จในปี ๒๕๔๑ ค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างประมาณ ๒๐๐ ล้านบาท วัดปากน้ำ และสมาคมศิษย์เก่าหลวงพ่อฯ บริจาคผมเคยไปเห็นพระไตรปิฎกหินอ่อน ที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนม่า แต่ความงดงามของสถานที่นั้นจะเทียบกันไม่ได้เลย
 
โรงอาหาร ก็เป็นแบบสถาปัตยกรรมไทย บริการด้านอาหารเมื่อมีกิจกรรมในพุทธมณฑล
หอฉัน ลักษณะสถาปัตยกรรมไทย ใช้เป็นที่อบรมศีลธรรม จริยธรรม ของนักเรียน นักศึกษาที่มาพักแรมเข้าค่ายพุทธบุตร
 
ท่าเทียบเรือ อยู่ด้านทิศเหนือ และทิศใต้ ด้านหลังใช้เป็นท่าขึ้นลงเรือ ซึ่งเรือแล่นไปได้รอบพุทธมณฑล
 
สระน้ำขนาดใหญ่ อยู่ด้านหลังวิหาร มีขอบสระใช้ประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือลอยกระทง
 
ศาลาอำนวยการ ใช้เป็นที่รับบริจาค ขายดอกไม้ธูปเทียน จำหน่ายวัตถุมงคล "พระ ๒๕ พุทธศตวรรษประทับยืนปางลีลา" ยังมีจำหน่ายองค์ละ ๑๐๐ บาท เมื่อตอนเริ่มสร้างวัตถุมงคลรุ่นแรกนั้น ผมเคยเช่าจากปะรำพิธีในสนามหลวงองค์ละ ๑๐ บาท สิบบาทเมื่อ ๔๕ ปีที่แล้ว น่าจะสูงกว่า ๑๐๐ บาทในปัจจุบัน
 
ศาลาบำเพ็ญกุศล อยู่ด้านหลังศาลาอำนวยการใกล้องค์พระเช่นกัน เสาร์-อาทิตย์ ภาคเช้ามีถวายสังฆทาน อาทิตย์บ่ายมี พระธรรมเทศนา ไปติดกันเทศน์ทำบุญได้
 
สำนักงานย่อย อยู่บริเวณสวนเวฬุวัน เป็นที่ทำการของเจ้าหน้าที่
 
ศาลาสรีรสราญ มีห้องสุขาไว้บริการประชาชน เห็นมีแห่งเดียวและได้แนะแล้วว่าควรเป็นห้องสุขาแบบผสม
 
เรือนแถว ที่พักของเจ้าหน้าที่ป้อมยาม มี ๘ หลัง
 
พื้นน้ำของพุทธมณฑลนั้นงามยิ่ง น้ำเต็มเปี่ยม สนามขอบสระน้ำเรียบเขียวชอุ่ม โล่งเตียน เนื้อที่พื้นน้ำมีมากถึง ๖๐๐ ไร่ สนามหญ้าและสวนต้นไม้มี ๑,๕๖๒ ไร่ เป็นถนนและทางเท้า ๒๔๔ ไร่ เป็นอาคาร และสิ่งก่อสร้างเพียง ๙๔ ไร่ จากจำนวนทั้งหมด ๒,๕๐๐ ไร่

"สังเวชนียสถาน ๔ ตำบล" ซึ่งต้องตระเวนไปหาให้พบ หาไม่ยากเพราะมีป้ายนำคือ
          "ตำบลประสูติ" ประดิษฐานหินรูปดอกบัว ๗ ดอก แกะสลักหินเป็นรูปดอกบัวกำลังแย้มบาน ช่วงบนแกะสลักลายนูนรูปพระพุทธบาท กลางฝ่าพระบาทสลักชื่อแคว้นต่างๆ ๗ แคว้น ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระธรรมคำสั่งสอน รวม ๗ แคว้นคือ กาสี-โกศล,มคธ-อังคะ,สักกะ วัชชี,มัลละ,วังสะ,กุรุ
          "ตำบลตรัสรู้" ประดิษฐานหินรูปโพธิบัลลังก์ ช่วงบนแกะสลักนูนเป็นลายบัวคว่ำและบัวหงาย มีรัศมีล้อมรอบช่วงล่าง
          "ตำบลปฐมเทศนา" ประดิษฐานหินเป็นรูปธรรมจักร และรูปแท่นที่นั่งของปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕
          "ตำบลปรินิพพาน" ประดิษฐานหินสัญลักษณ์ รูปแท่นไสยาสน์ ทุกตำบลมีพื้นที่ ๕๐ ไร่ อยู่ท่ามกลางสนามหญ้า สวนไม้ดอก ไม้ประดับที่งดงาม
 
"สวน" ต้องขอยกย่องและเชิดชูความงดงามของสวนต่างๆ ในพุทธมณฑลแห่งนี้ได้แก่
          "สวนเวฬุวัน" คือสวนไผ่ มีต้นไผ่ประมาณ ๑๐๐ ชนิด
          "สวนอัมพวัน" คือสวนมะม่วงเช่นกัน มีมะม่วงพันธุ์ต่างๆ เกือบร้อยชนิด
          "สวนธรรม" คือสวนกระถินณรงค์
          "สวนไทร" มีเนื้อที่น้อยกว่าสวนอื่นคือมี ๕ ไร่ แต่ก็สวยและร่มรื่นยิ่งนัก

สวนลัฏฐิวัน คือ สวนตาล อยู่ตรงตำบล ปรินิพพาน
 
สวนสมุนไพร มีสมุนไพรอยู่ประมาณ ๒๑๑ ชนิด ได้จัดเป็นโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมให้วัดทั่วประเทศปลูกสมุนไพรในวัด มีที่จำหน่ายสมุนไพร เสียดายวันที่ไปยังไม่มีโอกาสไปชมและอุดหนุน
 

ข้อมูลจาก http://www.dhammathai.org/buddhamonthon/buddhamonthon.php
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล