ราโชวาทชาดก
พระศาสดา เมื่อทรงประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภโอวาทของพระราชา ตรัสพระธรรมเทศนานี้
ในวันหนึ่ง พระเจ้าโกศลทรงวินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่ง ซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี มีอคติ เสร็จแล้วเสวยพระกระยาหารเช้า ทั้งๆ ที่มีพระหัตถ์เปียก เสด็จขึ้นทรงราชรถที่จัดไว้เรียบร้อยแล้ว เสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทรงหมอบลงแทบพระบาท อันมีสิริดุจดอกปทุมบาน ถวายบังคมพระศาสดา ประทับนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.
ลำดับนั้น พระศาสดาได้ตรัสปฏิสันถารกะพระเจ้าโกศลว่า ขอต้อนรับมหาบพิตร พระองค์เสด็จมาจากไหนแต่ยังวัน. พระเจ้าโกศลกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันนี้ ข้าพระองค์วินิจฉัยคดีเรื่องหนึ่งซึ่งวินิจฉัยไว้ไม่ดี จึงไม่มีโอกาส. บัดนี้พิจารณาคดีนั้นเสร็จแล้ว จึงบริโภคอาหาร ทั้งๆ ที่มือยังเปียก มาเฝ้าพระองค์นี่แหละ พระเจ้าข้า.
พระศาสดาตรัสว่า ขอถวายพระพร ชื่อว่าการวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมเป็นความดี เป็นทางสวรรค์แท้. ก็ข้อที่มหาบพิตรได้โอวาทจากสำนักของผู้เป็นสัพพัญญูเช่นตถาคต ทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรมนี้ ไม่อัศจรรย์เลย. การที่พระราชาทั้งหลายในกาลก่อน ทรงสดับโอวาทของเหล่าบัณฑิต ทั้งที่ไม่ใช่สัพพัญญู แล้วทรงวินิจฉัยคดีโดยทำนองคลองธรรม เว้นอคติสี่อย่าง บำเพ็ญทศพิธราชธรรม ไม่ให้เสื่อมเสีย เสวยราชสมบัติโดยธรรม บำเพ็ญทางสวรรค์ เสด็จไปแล้ว นี่แหละน่าอัศจรรย์.
พระเจ้าโกศลกราบทูลอาราธนา พระองค์จึงทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่าถวาย.
ในอดีต ครั้งเมื่อพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ทรงถือปฏิสนธิในพระครรภ์ของพระอัครมเหสีของพระราชานั้น ได้รับการบริหารพระครรภ์เป็นอย่างดี ทรงประสูติจากพระครรภ์ของพระมารดา โดยสวัสดิภาพ. ในวันขนานพระนาม พระชนกชนนีได้ทรงตั้งพระนามของพระโพธิสัตว์ว่า พรหมทัตกุมาร.
พรหมทัตกุมารนั้นได้เจริญวัยขึ้นโดยลำดับ เมื่อพระชนม์ได้ ๑๖ พรรษา เสด็จไปเมืองตักกสิลา ทรงสำเร็จศิลปศาสตร์ทุกแขนง เมื่อพระชนกสวรรคตทรงดำรงอยู่ในราชสมบัติ ครอบครองราชสมบัติโดยทำนองคลองธรรม ทรงวินิจฉัยคดีไม่ล่วงอคติ มีฉันทาคติเป็นต้น.
เมื่อพระองค์เสวยราชสมบัติโดยธรรมอย่างนี้ แม้พวกอำมาตย์ต่างก็วินิจฉัยคดีโดยธรรมเหมือนกัน เมื่อคดีทั้งหลายได้รับการวินิจฉัยโดยธรรม จึงไม่มีคดีโกงเกิดขึ้น เพราะไม่มีคดีโกงเหล่านั้น การร้องทุกข์ ณ พระลานหลวง เพื่อให้เกิดคดีก็หมดไป พวกอำมาตย์นั่งบนบัลลังก์วินิจฉัยตลอดวันไม่เห็นใครๆ มาเพื่อให้วินิจฉัยคดี ต่างก็ลุกกลับไป สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง.
พระโพธิสัตว์ทรงดำริว่า เมื่อเราครองราชสมบัติโดยธรรมไม่มีผู้คนมาให้วินิจฉัยคดี ไม่มีผู้มาร้องทุกข์ สถานที่วินิจฉัยคดีก็ถูกทอดทิ้ง บัดนี้ เราควรตรวจสอบโทษของตน ครั้นเรารู้ว่า นี่เป็นโทษของเรา จักละโทษนั้นเสีย ประพฤติในสิ่งที่เป็นคุณเท่านั้น.
จำเดิมแต่นั้นมา พระโพธิสัตว์ก็ทรงสำรวจดูว่า จะมีใครๆ พูดถึงโทษของเราบ้างหนอ ครั้นไม่ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษในระหว่างข้าราชบริพารภายใน ทรงสดับแต่คำสรรเสริญคุณของพระองค์ถ่ายเดียว ทรงดำริว่า ชะรอยชนเหล่านี้ เพราะกลัวเราจึงไม่กล่าวถึงโทษ กล่าวแต่คุณเท่านั้น จึงทรงสอบข้าราชบริพารภายนอก. แม้ในหมู่ข้าราชบริพารเหล่านั้น ก็ไม่ทรงเห็น จึงทรงสอบชาวเมืองภายในพระนคร ทรงสอบชาวบ้านที่ทวารทั้งสี่นอกพระนคร แม้ในที่นั้นก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญของพระองค์ถ่ายเดียว จึงทรงดำริว่า เราจักตรวจสอบชาวชนบทดู ทรงมอบราชสมบัติให้เหล่าอำมาตย์ เสด็จขึ้นรถไปกับสารถีเท่านั้น ทรงปลอมพระองค์ไม่ให้ใครรู้จัก เสด็จออกจากพระนคร พยายามสอบสวนชาวชนบท จนเสด็จถึงภูมิประเทศชายแดน ก็มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษ ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณ จึงทรงบ่ายพระพักตร์สู่พระนคร เสด็จกลับตามทางหลวงจากเขตชายแดน.
ในเวลานั้น แม้พระเจ้าโกศลพระนามว่า พัลลิกะ ก็ทรงครอบครองราชสมบัติโดยธรรม ทรงตรวจสอบหาโทษในบรรดาข้าราชบริพารภายในเป็นต้น มิได้ทรงเห็นใครๆ กล่าวถึงโทษเลย ทรงสดับแต่คำสรรเสริญพระคุณของพระองค์เหมือนกัน จึงทรงตรวจสอบชาวชนบท ได้เสด็จถึงประเทศนั้น.
กษัตริย์ทั้งสองได้ประจันหน้ากันที่ทางเกวียนอันราบลุ่มแห่งหนึ่ง ไม่มีทางที่รถจะหลีกกันได้.
สารถีของพระเจ้าพัลลิกะจึงพูดกะสารถีของพระเจ้าพาราณสีว่า “จงหลีกรถของท่าน.”
สารถีของพระเจ้าพาราณสีก็ตอบว่า
“พ่อมหาจำเริญ ขอให้ท่านหลีกรถของท่านเถิด บนรถนี้มีพระเจ้าพรหมทัตมหาราชผู้ครอบครองราชสมบัติในกรุงพาราณสี ประทับนั่งอยู่.”
สารถีอีกฝ่ายหนึ่งก็พูดว่า
“พ่อมหาจำเริญ บนรถนี้พระเจ้าพัลลิกะมหาราชผู้ครอบครองราชสมบัติในแคว้นโกศล ก็ประทับนั่งอยู่ ขอท่านได้โปรดหลีกรถของท่าน แล้วให้โอกาสแก่รถของพระราชาของเราเถิด.”
สารถีของพระเจ้าพาราณสีดำริว่า “แม้ผู้ที่นั่งอยู่ในรถนี้ก็เป็นพระราชาเหมือนกัน เราจะควรทำอย่างไรดีหนอ” นึกขึ้นได้ว่า มีอุบายอย่างหนึ่ง เราจักถามถึงวัยให้รถของพระราชาหนุ่มหลีกไป แล้วให้พระราชทานโอกาสแก่พระราชาแก่.
ครั้นตกลงใจแล้ว จึงถามถึงวัยของพระเจ้าโกศลกะสารถี แล้วกำหนดไว้ ครั้นทราบว่า พระราชาทั้งสองมีวัยเท่ากัน จึงถามถึงปริมาณ ราชสมบัติ กำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล ประเทศ ครั้นทราบว่า ทั้งสองฝ่ายเป็นผู้ครอบครองรัชสีมาประมาณ ฝ่ายละสามร้อยโยชน์ มีกำลัง ทรัพย์ ยศ ชาติ โคตร ตระกูล และประเทศเท่ากัน แล้วคิดต่อไปว่า เราจักให้โอกาสแก่ผู้มีศีล จึงถามว่า
“ พ่อมหาจำเริญ ศีลและมารยาทแห่งพระราชาของท่านเป็นอย่างไร ”
เมื่อเขาประกาศสิ่งที่เป็นโทษแห่งพระราชาของตน โดยนึกว่าเป็นคุณจึงกล่าวว่า :-
พระเจ้าพัลลิกราชทรงชนะคนกระด้างด้วยความกระด้าง ทรงชนะคนอ่อนโยนด้วยความอ่อนโยน ทรงชนะคนดีด้วยความดี ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความไม่ดี พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น
ดูก่อนสารถี ท่านจงหลีกทางถวายพระราชาของเราเถิด.
ลำดับนั้น สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวกะสารถีของพระเจ้าพัลลิกะว่า ท่านกล่าวถึงพระคุณของพระราชาของท่านหรือ
เมื่อเขาตอบว่า ใช่แล้ว
สารถีของพระเจ้าพาราณสีจึงกล่าวต่อไปว่า ผิว่าเหล่านี้เป็นพระคุณ สิ่งที่เป็นโทษจะมีเพียงไหน.
สารถีของพระเจ้าพัลลิกะกล่าวว่า เหล่านี้เป็นโทษก็ตามเถิด แต่พระราชาของท่านมีพระคุณเช่นไรเล่า.
สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า ถ้าเช่นนั้นท่านจงฟัง แล้วกล่าวว่า :-
พระเจ้าพาราณสีทรงชนะคนโกรธด้วยความไม่โกรธ ทรงชนะคนไม่ดีด้วยความดี ทรงชนะคนตระหนี่ด้วยการให้ ทรงชนะคนพูดเหลาะแหละด้วยคำสัตย์ พระราชาพระองค์นี้เป็นเช่นนั้น.
สารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวว่า ท่านสารถีผู้เป็นสหาย ขอได้โปรดหลีกจากทาง จงให้ทางแก่พระราชาของพวกเราผู้ประกอบด้วยคุณ คือศีลและมารยาทมีอย่างนี้ พระราชาของพวกเราสมควรแก่ทางดำเนิน.
เมื่อสารถีของพระเจ้าพาราณสีกล่าวอย่างนี้แล้ว พระเจ้าพัลลิกะและสารถีทั้งสอง ก็เสด็จและลงจากรถ ปลดม้า ถอยรถถวายทางแด่พระเจ้าพาราณสี.
พระเจ้าพาราณสีถวายโอวาทแด่พระเจ้าพัลลิกะว่า ธรรมดา พระราชาควรทรงกระทำอย่างนี้ๆ แล้วเสด็จไปกรุงพาราณสี ทรงกระทำบุญมีทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์.
แม้พระเจ้าพัลลิกะก็ทรงรับพระโอวาทของพระเจ้าพาราณสี ทรงสอบสวนชาวชนบท เสด็จไปทั่วพระนคร ไม่เห็นมีผู้กล่าวโทษของพระองค์ จึงกระทำบุญมีทานเป็นต้น ทรงเพิ่มพูนทางสวรรค์ ในเวลาสุดสิ้นพระชนม์.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มา เพื่อทรงถวายโอวาทแด่พระเจ้าโกศล แล้วทรงประชุมชาดก
นายสารถีของพระเจ้าพัลลิกะ ครั้งนั้น ได้เป็น พระโมคคัลลานะ
พระเจ้าพัลลิกะได้เป็น พระอานนท์
สารถีของพระเจ้าพาราณสีได้เป็น พระสารีบุตร
ส่วนพระราชา คือ ตถาคต เอง.