Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ชัยชนะครั้งที่ ๑ ของพระพุทธเจ้า (ตอนที่ ๑ ชนะพญามาร)
การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์ เปรียบเสมือนดวงสุริยาที่ทอแสงให้ความสว่างในชีวิต แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงโดยไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง พระพุทธองค์เสด็จมาเพื่อประโยชน์สุขของมวลมนุษยชาติ และสรรพสัตว์ทั้งหลาย ดังพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลเอกเมื่ออุบัติขึ้นในโลก ย่อมอุบัติเพื่อเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของมหาชน เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย” บุคคลเอก คือ พระตถาคตอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า การที่เราหมั่นตรึกระลึกนึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของพระพุทธองค์ จึงถือเป็นการเจริญพุทธานุสติ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ การทำเช่นนี้มีอานิสงส์ใหญ่ จะส่งผลให้เราได้เข้าถึงพระรัตนตรัยภายในได้โดยง่ายโดยเร็วพลัน
ในบทสรรเสริญพุทธคุณในพุทธชัยมงคลคาถา บทที่ ๑ ว่า
“พาหุ สหสฺสมภินิมฺมิตสาวุธนฺตํ
คฺรีเมขลํ อุทิตโฆรสเสนมารํ
ทานาทิธมฺมวิธินา ชิตวา มุนินฺโท
ตนฺเตชสา ภวตุ เต ชยมงฺคลานิ
พระจอมมุนีได้ชัยชนะพญามาร ผู้เนรมิตแขนตั้งพัน มีอาวุธครบมือ ขี่คชสารครีเมขล์พร้อมด้วยเสนามาร มาโห่ร้องกึกก้อง ด้วยธรรมวิธี มีทานบารมีเป็นต้น ด้วยเดชแห่งพุทธชัยมงคลนั้น ขอสรรพมงคลทั้งหลาย จงมีแก่ท่าน”
การอุบัติขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้หมู่สัตว์หลุดพ้นจากบ่วงแห่งมาร พ้นจากความมืด คือ อวิชชา พบแสงสว่างแห่งพระสัทธรรม ทรงได้รับชัยชนะเหนือพญามาร ด้วยบุญบารมีของพระพุทธองค์ ได้แก่ทานบารมี เป็นต้น จึงได้รับการเฉลิมพระนามว่า พระชินเจ้า พระชินสีห์ หรือพระอนันตชิน ซึ่งหมายถึงผู้มีชัยชนะตลอดกาล ชัยชนะที่สำคัญซึ่งพระธรรมาจารย์ได้พรรณนาไว้นั้น มีอยู่ ๘ ครั้ง ท่านได้รวบรวมเป็นบทเจริญพระพุทธชัยมงคลคาถา หรือที่เราเรียกว่า บทสวดพาหุงฯ นั่นเอง ทั้ง ๘ บทนี้ หลวงพ่อจะนำมาเล่าให้ได้ฟังกัน เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับชัยชนะอันยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ดังนี้
๑. ชัยชนะที่มีต่อพญามาร
๒. ชัยชนะที่มีต่ออาฬวกยักษ์
๓. ชัยชนะที่มีต่อช้างนาฬาคีรี
๔. ชัยชนะที่มีต่อองคุลีมาล
๕. ชัยชนะที่มีต่อนางจิญจมาณวิกา
๖. ชัยชนะที่มีต่อ สัจจกนิครนถ์
๗. ชัยชนะที่มีต่อนันโทปนันทนาคราช และประการสุดท้าย คือ ชัยชนะที่มีต่อ พกพรหม
เพื่อเป็นการระลึกนึกถึงชัยชนะของพระพุทธองค์ มีพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ เราจะได้รับอานิสงส์ใหญ่ติดตัวไปข้ามภพข้ามชาติ เป็นอุปนิสัยบารมี ทำให้เกิดกำลังใจไม่สิ้นสุดในการสร้างบารมี เพื่อเดินตามรอยบาทพระบรมศาสดาต่อไป
คำว่า... มาร... หรือพญามาร แปลว่า... ผู้ขวางความดี ขวางหนทางการสร้างบารมีของผู้ที่คิดจะสร้างบารมี นอกจากขัดขวางแล้ว ยังชักนำให้ทำในสิ่งที่เป็นบาปอกุศลอีกด้วย ให้สร้างกรรมพอกพูนอาสวกิเลสให้หนาแน่นจนเป็นผังสำเร็จ และต้องไปชดใช้กรรมอย่างทุกข์ทรมาน มีวิบากที่เป็นทุกข์ วนเวียนอยู่ในวัฏจักรของกิเลส กรรม วิบาก ยากที่จะหลุดพ้นจากภพทั้ง ๓ ได้ พญามารนี่แหละที่เป็นผู้ทำให้สรรพสัตว์หลงวนอยู่ในวัฏสงสาร
เรื่อง... มีอยู่ว่า พญามารได้ตามรังควานพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามาตลอดตั้งแต่ครั้งทรงออกผนวช ก็เอาสมบัติจักรพรรดิมาล่อ แต่ไม่สำเร็จ จึงปิดบัง เห็น จำ คิด รู้ ของพระองค์ ไม่ให้รู้หนทางสายกลาง ทำให้ต้องเสียเวลาในการบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยานานถึง ๖ ปี แต่ในที่สุดเมื่อบารมีแก่รอบ พระองค์ก็ทรงสามารถเอาชนะพญามารได้
ในวันที่พระมหาบุรุษจะตรัสรู้นั้น พระองค์ประทับนั่งอยู่ที่โคนต้นอัสสัตถพฤกษ์หรือต้นโพธิ์ตรัสรู้ ทรงหันพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก มีพระทัยตั้งมั่น ประทับนั่งคู้บัลลังก์ โดยตั้งสัตยาธิษฐานว่า “แม้เนื้อและเลือดในสรีระเราจะแห้งเหือดไปหมดสิ้น จะเหลือแต่หนัง เอ็น กระดูกก็ตามที หากเรายังไม่บรรลุพระสัมมาสัมโพธิญาณ ก็จักไม่ทำลายบัลลังก์นี้” คือ จะไม่ลุกจากที่
พญามารล่วงรู้ถึงความคิดนั้นก็ทนไม่ได้ จึงคิดทำลายความตั้งใจของพระมหาบุรุษให้ได้ มิฉะนั้นแล้วพระองค์จักพ้นไปจากอำนาจของมาร พญามารจึงรวบรวมเสนามาร และไพร่พลมารทั้งหมด ยกทัพมาปราบพระโพธิสัตว์ โดยมีพลพรรคของเสนามารพวกที่อยู่ทัพหน้าเป็นทางยาวถึง ๑๒ โยชน์ กองทัพด้านขวาซ้าย ด้านละ ๑๒ โยชน์ ส่วนทัพหลังตั้งอยู่จรดขอบจักรวาล สูงขึ้นเบื้องบน ๙ โยชน์ เมื่อพวกมารโห่ร้อง เสียงโห่ร้องนั้นเสมือนเสียงแผ่นดินทรุดตั้งแต่พันโยชน์ไป เทวบุตรมารขี่ช้างคิริเมขล์สูง ๑๕๐ โยชน์ เนรมิตแขนตั้งพัน ถืออาวุธนานาชนิด พวกหมู่มารที่เหลือล้วนมีรูปร่างน่าสะพรึงกลัวแตกต่างกันไป มีฤทธิ์มีเดชแตกต่างกันอีกด้วย ต่างมุ่งมาจู่โจมพระโพธิสัตว์จากทิศทั้งสี่
ขณะเดียวกันนั้นเอง เทวดาในหมื่นจักรวาล กำลังพากันกล่าวสดุดีพระโพธิสัตว์ โดยมีท้าวสักกเทวราชยืนเป่าสังข์วิชยุตรซึ่งมีขนาดประมาณ ๑๒๐ ศอก พญากาฬนาคราชยืนพรรณนาพระคุณของพระโพธิสัตว์ ท้าวมหาพรหมยืนกั้นเศวตฉัตร เมื่อเหล่ามารจู่โจมเข้ามาใกล้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทวยเทพทั้งหมดก็เกิดอาการขนพองสยองเกล้า ตกอกตกใจกันไปหมด รีบเผ่นหนีไปสุดขอบจักรวาล พญากาฬนาคราชดำดินไปมัญเชริกนาคพิภพ ซึ่งมีขนาด ๕๐๐ โยชน์ นอนเอามือทั้งสองปิดหน้า ท้าวสักกเทวราชลากสังข์วิชยุตร พร้อมด้วยเหล่าทวยเทพหนีไปอยู่ขอบจักรวาล ท้าวมหาพรหมจับยอดเศวตฉัตรเสด็จหนีไปยังพรหมโลกทันที นี่พญามารมีฤทธิ์มีอานุภาพมากถึงเพียงนี้ ซึ่งอันที่จริงเทวดา พรหม หรืออรูปพรหมต่างมีอานุภาพ แต่ก็สู้พญามารไม่ได้ ทั้งก็ยังตกเป็นบ่าวเป็นทาสของเขาอยู่
พระโพธิสัตว์ถูกทอดทิ้งอยู่เพียงลำพังพระองค์เดียว ไม่มีใครเป็นที่พึ่งได้ จึงทรงรำพึงว่า “มารเหล่านี้ทำความพากเพียรใหญ่โต เพราะมุ่งหมายทำลายเราผู้เดียว ในที่นี้เราไม่มีพวกพ้องบริวาร มีแต่ทศบารมีเท่านั้น ที่เป็นเสมือนบริวารชนที่เราชุบเลี้ยงมาตลอดกาลนาน
เพราะฉะนั้น เราควรทำบารมี ๓๐ ทัศ ให้เป็นยอดขุนพล เอาศาสตรา คือ บารมีนั่นแหละประหาร กำจัดหมู่พลมารนี้ให้ได้” ทรงนึกถึงบารมีทั้ง ๑๐ ทัศ รวมไปถึงอุปบารมีและปรมัตถบารมีเป็น ๓๐ ทัศ
เมื่อทรงรำลึกถึงพระบารมีทั้ง ๓๐ ทัศแล้ว พระองค์มิได้หวาดกลัวอานุภาพของพญามารและเสนามาร แม้พวกเสนามารจะเปล่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว สะเทือนไปทั่วทั้งภพ ๓ หวังจะทำให้มหาบุรุษหวั่นไหว ก็ไม่อาจเข้ามาใกล้พระมหาบุรุษได้ ด้วยอำนาจบารมีธรรมที่พระองค์สั่งสมมานับภพนับชาติไม่ถ้วน ถึงมารจะแสดงอาการข่มขู่เช่นไร พระมหาบุรุษยังคงประทับนั่งอยู่ที่รัตนบัลลังก์ โดยมิได้หวั่นไหวแม้แต่น้อย พญามารเห็นว่า บรรดาเสนามารมิอาจทำอันตรายพระมหาบุรุษได้ก็โกรธ คิดว่าเราจะต้องใช้อาวุธ ๙ ประการ ทำให้พระมหาบุรุษกลัวแล้วหนีไปให้ได้ พญามารพลันบันดาลให้เกิดพายุใหญ่พัดมาจากทั่วสารทิศ มีกำลังลมสามารถทำลายภูเขาใหญ่สูงถึง ๒ โยชน์ให้สลายไปในทันที แต่ลมนั้นกลับไม่อาจทำอันตรายแม้จีวรของพระมหาบุรุษให้ไหวได้ พญามารได้บันดาลให้เกิดมหาเมฆ ทำห่าฝนให้ตกลงมา น้ำฝนไหลนองไปทั่ว แต่ก็ไม่อาจทำให้แม้จีวรของพระมหาบุรุษเปียกได้
พระบรมโพธิสัตว์ของเราจะได้รับชัยชนะพญามารหรือไม่อย่างไรนั้น และชัยชนะของพระองค์ในครั้งนี้สำคัญอย่างไร และจะมีผลต่อพวกเรา และต่อสรรพสัตว์ทั้งหลายอย่างไรบ้าง ขอให้ติดตามกันต่อไป หลวงพ่อขอฝากให้ทุกท่านอย่าได้ประมาท อย่าลืมว่าพญามาร คือ ผู้ขัดขวางความดีนี้ มีจริงๆ ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องเล่าหรือเป็นบุคคลาธิษฐานเท่านั้น เราจะรู้เห็นได้ด้วยธรรมกาย เมื่อใจเราหยุดนิ่ง ได้ศึกษาวิชชาธรรมกายแล้ว จะไปรู้ไปเห็นได้ด้วยตัวของเราเอง ดังนั้นอย่าประมาท อย่าชะล่าใจ ให้หมั่นฝึกฝนใจให้หยุดนิ่งเป็นประจำทุกวัน จนกว่าเราจะได้เข้าถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นที่พึ่งที่ระลึกภายในกันทุกคน
พระ ธรรมเทศนา โดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)
*พุทธประวัติ เล่ม๑ (หลักสูตรนักธรรมตรี)