Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
จนข้ามภพ รวยข้ามชาติ (๒)
บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญพึงให้ทานแท้ คนผู้ตระหนี่กลัวยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆ แก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแลจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้ คนตระหนี่ย่อมกลัวความอยากข้าวอยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
จิตใจเป็นศูนย์รวมของความรู้สึกนึกคิดทั้งมวล เป็นบ่อเกิดแห่งคำพูด และการกระทำ ปกติใจของคนเรานั้น ใสสะอาดบริสุทธิ์เป็นประภัสสร แต่เมื่อมีกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะเข้ามาครอบงำ ใจดวงนั้นก็จะเศร้าหมองไม่ผ่องใส เปรียบเสมือนกับน้ำซึ่งปกติใสสะอาด
แต่ขุ่นมัวไปเพราะมีสิ่งเจือปน ถ้าอยากให้น้ำกลับมาใสดังเดิม ต้องทำสิ่งที่เจือปนอยู่ ให้ตกตะกอนไป
ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าอยากให้บริสุทธิ์ผ่องใส ต้องเจริญภาวนา ทำใจให้หยุด ให้นิ่ง เพื่อขจัดกิเลสอาสวะที่ปนเป็นให้หมดไป
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน ทานสูตร ว่า
บุคคลให้ทานไม่ได้ด้วยเหตุ ๒ อย่าง คือ ความตระหนี่ ๑ ความประมาท ๑ บัณฑิตผู้รู้แจ้ง เมื่อต้องการบุญพึงให้ทานแท้ คนผู้ตระหนี่กลัวยากจน ย่อมไม่ให้อะไรๆแก่ผู้ใดเลย ความกลัวจนนั่นแลจะเป็นภัยแก่คนผู้ไม่ให้
คนตระหนี่ย่อมกลัว ความอยากข้าวอยากน้ำ ความกลัวนั่นแหละ จะกลับมาถูกต้องคนพาลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะเหตุนั้น บัณฑิต พึงครอบงำมลทิน กำจัดตระหนี่เสีย แล้วพึงให้ทานเถิด เพราะบุญย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า
การสังเกตว่าผู้ใดตระหนี่ ไม่ได้วัดกันตรงที่ความรวย หรือยากจน เป็นกลุ่มชนชั้นสูงหรือชนชั้นกรรมาชีพ แต่ดูที่จิตใจที่งดงาม และการบริจาคทานด้วยจิตเคารพเลื่อมใส
คนที่ไม่ตระหนี่ เพราะมองเห็นประโยชน์ที่จะบังเกิดขึ้นทั้งในโลกนี้และโลกหน้า จึงรักในการให้เป็นชีวิตจิตใจ คนเช่นนี้ ความตระหนี่ครอบงำจิตใจไม่ได้ ถ้าเป็นคนจนก็จะสามารถพลิกผันชีวิตให้ร่ำรวยขึ้นมาได้ด้วยผลบุญ หรือถ้ารวยอยู่แล้ว ก็จะรวยยิ่งๆ ขึ้นไป จนกระทั่งรวยข้ามชาติ
ส่วนคนตระหนี่นั้นมองภพชาติหน้าไม่ออก จึงมุ่งหน้าสะสมและใช้จ่ายทรัพย์ ไม่มีความคิดที่จะบริจาค แม้รวยก็รวยเพราะกินบุญเก่า รวยชาติเดียว ทว่าต้องจนอีกหลายชาติ
ในตอนนี้เรามาศึกษา วิธีแก้ความยากจนข้ามชาติของมหาทุคตะ กันต่อ ว่าเขามีวิธีการอย่างไร ถึงตอนที่ มหาทุคตะ ออกปากรับคำที่จะเลี้ยงพระภิกษุรูปหนึ่งในจำนวน ๒๐,๐๐๐ รูปแล้ว เขารีบกลับบ้านไปชักชวนศรีภรรยาคู่ทุกข์คู่ยาก ให้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพเลี้ยงพระสัก ๑ รูป ภรรยาก็ไม่ขัดข้อง และกล่าวอนุโมทนาว่า "พี่คิดถูกแล้ว เมื่อชาติก่อนเราไม่ได้ให้อะไร ๆ ชาตินี้จึงต้องเกิดเป็นคนยากจน เราทั้งสองคนออกไปทำงานรับจ้าง จะต้องสามารถหาอาหารมาถวายพระได้อย่างแน่นอน ฉันขออนุโมทนากับพี่ด้วย"
จากนั้นทั้งสองคนมุ่งตรงไปยังบ้านของเศรษฐี เพื่อขอรับจ้างทำงาน มหาเศรษฐีเห็นมหาทุคตะมาขอรับจ้างทำงาน จึงถามว่า "เธอจะทำอะไรให้ฉันได้บ้างล่ะ"
มหาทุคตะตอบอย่างนอบน้อมว่า "ท่านเศรษฐีจักให้ทำอะไร ผมทำได้หมดแหละครับ"
มหาเศรษฐีบอกว่า "ถ้าอย่างนั้น พรุ่งนี้ ฉันจะเลี้ยงพระ ๓๐๐ รูป เจ้าจงมาผ่าฟืนเถอะ"
มหาทุคตะดีใจมากที่ได้งานทำ เมื่อได้มีดและขวานมาแล้ว เขาตั้งท่าถกเขมรอย่างเอาจริงเอาจัง อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ใช้ทั้งมีดและขวานผ่าฟืนไปอย่างกระฉับกระเฉง ด้วยอาการร่าเริงยิ่งนัก
เศรษฐีสังเกตเห็นมหาทุคตะกระตือรือร้นเป็นพิเศษ จึงถามว่า "วันนี้ดูเธอขยันทำงานเหลือเกิน เธอไปได้แรงบันดาลใจ มาจากไหน จึงขยันเป็นพิเศษ"
มหาทุคตะตอบว่า "กระผมกำลังปีติที่จะได้เลี้ยงพระรูปหนึ่ง จึงตั้งใจทำงาน เพื่อจะนำอาหารที่ท่านเศรษฐีเมตตามอบให้นี้ ไปจัดถวายพระ" เศรษฐี ฟังแล้ว ก็อนุโมทนาในความตั้งใจดีของมหาทุคตะ ที่จะบริจาคมหาทานในครั้งนี้
ฝ่ายภรรยาของมหาทุคตะเข้าไปขอทำงานกับภรรยาเศรษฐี นางได้รับหน้าที่ในการตำข้าวและฝัดข้าว ทำไปก็ปลื้มปีติใจไป จนภรรยาเศรษฐีสังเกตเห็น ได้ถามสาเหตุว่า ทำไมจึงร่าเริงผิดปกติ นางจึงเล่าเรื่องที่รับเลี้ยงพระ ภรรยาท่านเศรษฐีก็อนุโมทนาชื่นชม
วันนั้นทั้งวัน มหาทุคตะและภรรยาได้ช่วยกันรับจ้างทำงานที่บ้านเศรษฐี เพื่อหาเงินมาซื้อภัตตาหารเลี้ยงพระ หลังจากเสร็จงานแล้ว ท่านเศรษฐีได้ให้ค่าแรงเพิ่มเป็นสองเท่าด้วยความเลื่อมใส ใจของคนเรานี่ ทันทีที่คิดจะให้ ก็ได้กลับคืนมา ยิ่งให้ก็ยิ่งได้ ทั้งสองภรรยาสามียินดีร่าเริงว่า ได้ไทยธรรมแล้ว ตกเย็นจึงกลับบ้านพักผ่อน
รุ่งเช้าภรรยารีบลุกขึ้นมาจัดแจงอาหาร ส่วนมหาทุคตะไปเก็บผักที่แม่น้ำ ชาวประมงยืนทอดแหอยู่ ได้ยินเสียงร้องเพลงด้วยความรู้สึกสบายอารมณ์ของมหาทุคตะ จึงตะโกนถาม เมื่อรู้ว่ามหาทุคตะจะเลี้ยงพระ ต่างมีจิตเลื่อมใส ขอร่วมบุญด้วยการมอบปลาตะเพียน ๔ ตัว ที่เก็บไว้ให้
ขณะมหาทุคตะกำลังถือปลากลับบ้าน บัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของท้าวสักกะก็ร้อน พระองค์ทรงตรวจดูมนุษยโลกด้วยทิพยจักษุ ทรงทราบว่า "มหาทุคตะจะถวายภัตตาหารแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า" แต่เนื่องจากอาหารของมหาทุคตะไม่ประณีตพอที่จะถวายพระบรมศาสดา จึงทรงดำริว่า "ถ้ากระไร เราควรไปบ้านของมหาทุคตะ ทำหน้าที่เป็นพ่อครัว เพื่อจะได้บุญอีกส่วนหนึ่ง"
จากนั้นได้แปลงกายเป็นมาณพหนุ่ม มุ่งตรงไปที่บ้านของมหาทุคตะ บอกว่า ตนเองรู้วิชาปรุงอาหารให้มีรสเลิศ รสอร่อย ใครได้รับประทานแล้ว จะติดอกติดใจกันทุกคน มหาทุคตะดีใจว่า มีคนมาช่วยทำครัวให้ เพราะตนเอง และภรรยาไม่มีความรู้ในเรื่องการทำครัว ที่ผ่านมานั้น อาหารที่รับประทานแต่ละมื้อ ส่วนมากมักไปเที่ยวขอเขากินประทังชีวิตไปวันๆ เท่านั้น การจะทำอาหารที่ประณีตถวายพระนั้น ไม่เคยเลย เขาได้บอกหนุ่มคนนั้นว่า ตนเองไม่มีเงินค่าจ้างให้
พระอินทร์บอกว่า "หากท่านจะทำอาหารถวายพระ เราไม่ขอรับค่าจ้าง แต่ขอให้เราเป็นผู้มีส่วนแห่งบุญ ที่ท่านทำไปก็แล้วกัน" มหา ทุคตะดีใจมากที่ตัดสินใจจะทำความดีที่ทำได้ยากเคยคิดว่าเป็นปัญหา แต่กลับไม่มีปัญหา จึงรู้สึกปลื้มใจตลอดเวลาจากนั้นก็เชิญหนุ่มแปลกหน้าผู้ใจดี เข้าไปทำอาหารในครัว ส่วนตนเองก็ไปนิมนต์พระมาฉันภัตตาหารที่บ้าน
เช้าวันนั้น ผู้นำบุญได้กราบนิมนต์ภิกษุให้ไปรับภัตตาหาร ตามบ้านต่างๆ ตามบัญชีรายชื่อที่จดไว้จนครบ แต่ลืมแบ่งพระไว้ให้แก่มหาทุคตะ เมื่อมหาทุคตะมาขอรับพระ ก็ไม่มีให้ ทำให้มหาทุคตะรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง เสมือนหอกคมกริบแทงที่หัวใจ หมดแรงทรุดกายลงนั่งกอดเข่าร้องไห้ วิงวอนขอแบ่งพระสักรูปหนึ่งจากเจ้าภาพทั้งหลาย มหาชนเห็นอาการเศร้าโศกของมหาทุคตะแล้วเกิดความสงสาร พากันตำหนิผู้ชักชวนเขาทำบุญ ว่าท่านได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว ที่ลืมแบ่งพระภิกษุให้มหาทุคตะ แม้ทุกคนจะสงสาร แต่ไม่มีใครยอมแบ่งพระภิกษุให้ ด้วยเสียดายบุญที่ตนจะได้รับ
บัณฑิตผู้นั้นรู้สึกละอายใจมาก ได้กล่าวขอโทษ และแนะนำว่า "สหายเอ๋ย ยังมีพระผู้ทรงพระคุณอันยิ่งใหญ่เหลืออยู่อีกองค์หนึ่ง คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าท่านมีบุญ พระองค์ก็คงจะรับอาราธนาเป็นแน่" มหาทุคตะรู้สึกว่า ตนเองพบปัญหาใหญ่ขึ้นทุกขณะ เพราะขณะนี้ตนมีศรัทธา มีไทยธรรม แต่ไม่มีพระมาเป็นเนื้อนาบุญ ส่วนพระบรมศาสดานั้นเล่า ทรงมีอุปัฏฐากเป็นบุคคลสำคัญมากมาย การที่พระพุทธองค์จะทรงรับนิมนต์เราผู้ไม่มี ชื่อเสียงเลย คงเป็นการยากเหลือเกิน
ถึงอย่างไรในใจก็ไม่ยอมสิ้นหวัง มุ่งหน้าไปที่ประตูพระคันธกุฎีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพระบรมศาสดา จะทรงรับนิมนต์หรือไม่ เรื่องราวจะเป็นอย่างไรต่อไป คงต้องมาศึกษากันในตอนต่อไป
สำหรับข้อคิดในตอนนี้ คือ ทุกย่างก้าวของชีวิต ก่อนจะพบกับความสำเร็จ มักต้องเผชิญกับอุปสรรคนานัปการ เราเป็นยอดนักสร้างบารมี ต้องเอาชนะปัญหาและอุปสรรคนั้นให้ได้ เหมือนเรือที่ต้องฝ่าคลื่นลม เมื่อสามารถฝ่าคลื่นลมมรสุมมาได้ ก็สามารถเข้าจอดเทียบท่าได้สำเร็จ เมื่อตั้งใจทำความดีอะไรแล้ว อย่าได้หวั่นไหวต่อปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้น อุปสรรคมีไว้ ให้ข้าม ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม ถ้าเราเอาชนะปัญหาด้วยปัญญา ย่อมจะพบกับความสำเร็จ ขอให้พวกเรามองไปที่เป้าหมาย และเพียรพยายามจนกว่าจะประสบความสำเร็จกันทุกคน
พระธรรมเทศนาโดย : พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)