Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน
พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๑๙
มีธรรมภาษิตที่ปรากฎในมหาสุวราชชาดกความว่า
คนที่เป็นเพื่อนของเพื่อนได้จนตลอดชีวิต
ทั้งในยามสุขและยามทุกข์
ถึงเพื่อนจะสิ้นเนื้อประดาตัวก็ไม่ทอดทิ้งกัน
ผู้นึกถึงคุณธรรมของคนดีอยู่เสมอ
ผู้นั้นแหละจัดว่าเป็นคนดีที่แท้จริง
การดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้มีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน มิตรสหายและพวกพร้อมบริวารมีส่วนสำคัญยิ่ง ที่จะช่วยเหลือสนับสนุนและเป็นกำลังใจให้ชีวิตการงานของเรา มีความราบรื่นและสามารถสร้างความดีได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นน่ะเราจึงควรผูกมิตรเอาไว้กับทุกๆ คน ให้มีความรู้สึกว่าเมื่อหันไปรอบทิศก็มีแต่มิตรรอบตัว มิตรแท้จึงมีความสำคัญต่อชีวิตมากทีเดียวนะจ๊ะ
เมื่อมีมิตรแล้วก็ให้ผูกมิตรเอาไว้ให้ดี อย่าได้ด่วนทำลายมิตรภาพของกันและกัน ต้องรู้จักถนอมน้ำใจกัน รักษาสัมพันธไมตรีไว้อย่าให้เสื่อมคลาย แม้บางครั้งอาจจะมีความไม่เข้าใจกันเกิดขึ้น ก็ให้ปรับเข้าหากัน รู้จักประณีประนอม อรุ่มอร่วย อย่าได้ถือสาหาความเพราะเรื่องอื่นเป็นเรื่องเล็ก แต่มิตรภาพเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญกว่า
เหมือนธรรมภาษิตที่ว่าด้วยเรื่องมิตรธรรม ดังที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั้น และที่ลูกๆ ทุกคนจะได้รับฟังจากเรื่องเตมียชาดก ซึ่งเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องมาจากเมื่อวานนี้นะจ๊ะ เมื่อวานนี้หลวงพ่อได้เล่าถึงว่า เมื่อพระเตมียราชกุมารเป็นอิสระจากราชมณเฑียรแล้ว ก็ทดลองพละกำลังของพระองค์ว่า ยังมีพละกำลังเรี่ยวแรงอยู่หรือไม่ ครั้นทดลองดูก็รู้ว่าพระองค์มีพละกำลังมากยิ่งกว่าช้างสารเสียอีก จึงได้เสด็จดำเนินไปหาสุนันทสารถี ซึ่งกำลังขะมักเขม้นกับการขุดหลุม
เมื่อผ่านการสนทนาปราศรัยกันแล้ว สารถึก็ยังจำพระโอรสไม่ได้ พระโอรสจึงตรัสว่า “ท่านจะขุดหลุมไปทำไม เรายืนอยู่นี่แล้ว ท่านจะประทุษร้ายผู้บริสุทธิ์ได้อย่างไร เพราะบุคคลนั่งหรือนอนใต้ร่มเงาของต้นไม้ใด ไม่พึงหักรานกิ่งของต้นไม้นั้น ผู้ประทุษร้ายมิตรถื่อว่าเป็นคนเลวทราม พระราชาเป็นเหมือนต้นไม้ เราเป็นเหมือนกิ่งไม้ ตัวท่านเป็นเหมือนคนอาศัยร่มเงา ถ้าท่านฝังเราเสียในป่า ท่านก็ได้ชื่อว่าทำในสิ่งที่ไม่เป็นธรรม”
คนโบราณไม่ว่าจะเป็นชาวไร่ ชาวนา เมื่อได้ใช้วัวหรือควายตัวใดเทียมเกวียน หรือใช้ไถนาปลูกข้าว แม้กาลเวลาผ่านไป วัวหรือควายตัวนั้นจะแก่เฒ่าจนใช้งานต่อไปไม่ได้ เขาก็จะไม่ฆ่า ไม่ขาย แต่จะเลี้ยงดูต่อไปจนกว่ามันตายไปเอง เพราะถือว่ามันมีคุณที่ได้ทำงานเลี้ยงเรามา เมื่อมันแก่แล้วเราก็ควรจะเลี้ยงมันตอบแทนบ้าง โดยถือว่าผู้ประทุษร้ายต่อผู้มีพระคุณ เป็นคนอกตัญญู เป็นคนที่บัณฑิตติเตียน และชีวิตของเขาก็จะหาความเจริญรุ่งเรืองได้ยาก
พระโพธิสัตว์ได้ทรงนำต้นไม้ ที่คนได้อาศัยร่มเงามาตรัสเปรียบเทียบว่า แม้ต้นไม้ที่ให้ร่มเงาคนเขายังไม่หักรานกิ่ง ก็พระองค์เป็นผู้ที่มีพระคุณจึงไม่ควรที่จะประทุษร้าย เพื่อให้สารถีได้ตระหนักถึงคุณธรรมที่ควรปฏิบัติตามว่า ถ้าหากฆ่าพระองค์เสีย ก็เท่ากับว่าฆ่าผู้ที่มีพระคุณ เป็นการกระทำที่ไม่ถูกหลักธรรม แม้พระโพธิสัตว์จะตรัสถึงเพียงนี้ แต่สารถีก็ยังไม่อาจขัดพระบัญชาได้อยู่ดี พระองค์จึงทรงดำริว่า เราจะต้องทำให้สารถีเชื่อถือเราให้ได้ จึงได้ประกาศถึงพระบารมีที่ได้บำเพ็ญมา ทำป่านั้นให้บันลือ ลือลั่นด้วยเสียงสาธุการของเทวดา
จากนั้นจึงได้ตรัส พระคาถาบูชาคุณของมิตร ถึง 10 คาถา มีใจความว่า
บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายมิตร ทั้งเป็นที่อาศัยเลี้ยงชีพของชนเป็นอันมาก บุคคลนั้นเมื่อจากบ้านเรือนของตนไปในที่ไหนๆ ย่อมมีอาหารมากมาย
บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร บุคคลผู้นั้นไปสู่ชนบท นิคมหรือราชธานีใด ย่อมได้รับการบูชาจากมหาชนในสถานที่เหล่านั้น
บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร พวกโจรย่อมไม่ทำร้ายบุคคลผู้นั้น แม้กษัตริย์ก็เบียดเบียนเขาไม่ได้ เขาย่อมล่วงพ้นภัยจากหมู่อมิตรทั้งปวงเสียได้
บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร ไม่ได้โกรธเคืองต่อใครๆ เขาย่อมมีไมตรีจิตกลับมาสู่เรือน เป็นผู้สูงสุดในหมู่ญาติ เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชน เขาย่อมได้รับความยินดีปรีดาในที่ประชุมนั้น
บุคคลใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร เมื่อเขาสักการะคนเหล่าอื่น ก็ย่อมได้รับการสักการะตอบ เมื่อเคารพคนเหล่าอื่น ก็ย่อมได้รับการเคารพตอบ เขาย่อมได้รับการยกย่องและเชิดชูเกียรติในที่นั้นๆ
บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร บุคคลผู้นั้นบูชาผู้อื่น ก็ย่อมได้รับการบูชาตอบ ไหว้ผู้อื่นก็ย่อมได้รับการไหว้ตอบ เขาย่อมได้รับเกียรติยศเป็นอันมาก
บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร บุคคลผู้นั้นย่อมรุ่งเรืองดังกองเพลิง ย่อมไพโรจน์ดุจเทวดาผู้มีสิริประจำตัวอยู่ฉะนั้น
บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร โคทั้งหลายของบุคคลผู้นั้น ย่อมตกลูกบ่อยๆ ธัญพืชที่หว่านในนาย่อมงอกงาม เขาย่อมได้บริโภคผลิตผลของพืชพันธ์ุที่ได้หว่านเอาไว้อย่างแน่นอน
บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร บุคคลผู้นั้นแม้ตกเหว ตกภูเขา หรือตกต้นไม้ ย่อมได้ที่พึ่งอาศัย ไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด
บุคคลผู้ใดไม่ได้ประทุษร้ายมิตร เหล่าอมิตรย่อมย่ำยีบุคคลผู้นั้นไม่ได้ ดุจต้นไทรพุ่มใหญ่ที่มีรากงอกงาม ซึ่งพายุไม่อาจพัดให้ล้มลงได้ฉะนั้น
จากธรรมภาษิตทั้ง ๑๐ คาถานี้ สรุปความได้ว่า บุคคลใดมิได้ประทุษร้ายมิตร เมื่อไปที่ไหนก็ย่อมมีผู้ให้การอุปการะเป็นอย่างดี และจะได้รับการบูชาจากมหาชน จะล่วงพ้นจากภยันตรายทั้งหลายทั้งปวง เมื่อเข้าสู่ที่ประชุมชน ก็จะได้รับการยกย่องให้เกียรติ ได้ยศตำแหน่งบุคคลนั้นจะเป็นที่ประชุมลงแห่งศิริมงคลทั้งปวง
เราจะเห็นว่าอนิสงส์การเป็นมิตรแท้นั้น มีคุณอเนกอนันและมิตรภาพที่ดีเป็นสิ่งสำคัญมาก ซึ่งกว่าจะสร้างให้เกิดขึ้นได้นั้นยากแสนยาก ต้องใช้เวลายาวนาน บุคคลแม้มีมิตรที่ดีเพียงคนเดียว แต่ถ้าหากรักษามิตรภาพนั้นให้ยั่งยืน ย่อมได้ที่พึ่งที่อาศัยอันอบอุ่นปลอดภัย
ตัวอย่างเช่น พระสารีบุตรเถระกับพระมหาโมคคัลลานะเถระ ซึ่งได้เคยทำหน้าที่มิตรที่ดีต่อกันมาหลายชาติ พอมาในภพชาติสุดท้าย พระสารีบุตรเถระเมื่อครั้งได้ฟังอมตะธรรมจากพระอัสสชิเถระแล้ว ก็ได้ทำหน้าที่กัลยาณมิตรโดยได้นำธรรมะนั้นมาบอกแก่เพื่อนจนมีดวงตาเห็นธรรม จนในที่สุดทั้งสองท่านจึงได้มาเป็นพระอัครสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ก็ได้มิตรภาพที่ดีซึ่งได้เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน ดังนั้นน่ะให้ลูกทุกคนรู้จักถนอมมิตรไมตรีต่อกันและกันเอาไว้ รักษาไว้ให้ยั่งยืนแน่นแฟ้น จะได้เป็นกัลยาณมิตรที่ดีต่อกันและกันไปทุกภพทุกชาติ ตราบกระทั่งถึงที่สุดแห่งธรรม
สำหรับสุนันทาสารถีแม้จะได้ฟังพระโพธิสัตว์แสดงธรรม ด้วยคาถาถึง ๑๐ คาถาก็ยังลังเลอยู่ว่า จะทำตามพระบัญชาดี หรือจะทำตามผู้ที่ยืนอยู่ต่อหน้า ซึ่งตนเองก็ยังไม่ค่อยจะแน่ใจนักว่า เป็นเตมียราชกุมารจริงหรือไม่ นายสารถีจะทำอย่างไรต่อไปนั้น ให้ลูกๆ ทุกคนมาติดตามรับฟังกันต่อในวันพรุ่งนี้นะจ๊ะ
พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)