ธรรมะเพื่อประชาชน พร้อมภาพประกอบ คติธรรม ข้อคิดสอนใจ

ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร ท่านทั้งหลายอย่ากลัวต่อบุญเลย เพราะคำว่าบุญนี้เป็นชื่อของความสุข ดูก่อนท่านผู้เห็นภัยในวัฏสงสาร เราย่อมรู้ชัดผลแห่งบุญอันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ ที่เราเสวยแล้วตลอดกาลนาน

ชาดก : ธรรมะเพื่อประชาชน Dhamma for peopleรวมนิทานอีสปพร้อมภาพประกอบ  ข้อคิดสอนใจ

ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๖


ธรรมะเพื่อประชาชน : พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๖

Dhamma for people
ธรรมะเพื่อประชาชน

DhammaPP189_01.jpg

พระเตมีย์ ผู้ยิ่งด้วยเนกขัมมบารมี ๒๖

                เส้นทางไปสู่อายตนนิพพานเป็นเส้นทางที่ยาวไกล ซึ่งจะต้องผ่านสังสารวัฏที่เต็มไปด้วยภยันตรายต่างๆ มากมาย ระหว่างการเดินทางก็จำเป็น ที่จะต้องสั่งสมบุญบารมีให้มากๆ ถ้าบุญน้อยก็ไปไม่ถึง นอกจากจะไปไม่ถึงแล้วหากพลาดไปทำบาปอกุศลเข้า บาปนั้นก็จะฉุดไปสู่อบาย ไปเสวยวิบากกรรมอันทุกข์ทรมานเป็นเวลายาวนาน ทำให้หนทางไปสู่อายตนนิพพานก็ยืดยาวออกไปอีก 

 


                แต่ถ้าทำความดีอย่างเดียวครั้นละโลกนี้ไปแล้ว ก็จะได้ไปเสวยทิพยสมบัติในสวรรค์ เมื่อถึงขีดถึงคราวที่เหมาะสม ก็ลงมาเกิดบารมีกันใหม่ จะวนเวียนอยู่ในสุคติภูมิเท่านั้น เพราะฉะนั้นบุญกุศลยังเป็นสิ่งที่สำคัญ ที่เราไม่ควรมองข้ามหรือดูเบา คิดว่าจะทำเมื่อไหร่ก็ได้เพราะกว่าที่เราจะไปถึงเป้าหมายที่แท้จริงของชีวิต คือขจัดอาสวะกิเลสให้หมดสิ้นได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะต้องสร้างบารมี และหมั่นทำความเพียร โดยการทำใจหยุดนิ่งให้เต็มที่ ฉะนั้นน่ะการสั่งสมบุญด้วยทาน ศีล ภาวนาจึงเป็นภารกิจหลัก ที่เราต้องหมั่นทำเป็นประจำสม่ำเสมอกันนะจ๊ะ 

 


                    มีธรรมภาษิตที่ปรากฏใน เตมียชาดก ความว่า

โลกถูกความตายครอบงำ  ถูกชรารุมล้อมอยู่เป็นนิตย์ 
วันและคืนไม่เคยผ่านไปเปล่า แต่ได้ผ่านไปพร้อมกับความเสื่อมแห่งผิวพรรณ
และกำลังวังชาของคนและสัตว์ มหาบพิตร ชีวิตนี้อุปมาเหมือน
ช่างหูกที่ต้องการจะทอผ้าสักผืนหนึ่ง ทุกขณะที่เขาทอไปข้างหน้า
เส้นด้ายที่จะต้องทอต่อไปก็เหลือน้อยลงทุกที แม้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น
เมื่อคืนและวันผันผ่านไปเพียงใด ชีวิตก็สั้นเข้ามาเพียงนั้น 

 


                  นี่คือธรรมภาษิตของพระโพธิสัตว์ เป็นสัจธรรมคือความจริงอันประเสริฐว่า ทุกคนที่เกิดมา ดำรงชีวิตอยู่ในโลกนี้ไม่นานก็ต้องตายกันหมด แต่ชีวิตหลังความตายช่างยาวนานเหลือเกิน เพราะฉะนั้นทางที่ดีควรหาทางละบาปอกุศลทุกชนิด แล้วมุ่งชำระกาย วาจา ใจให้สะอาดบริสุทธิ์จะดีกว่า ชีวิตจะได้ปลอดภัยไม่พลัดตกไปในอบาย ซึ่งเส้นทางที่พระโพธิสัตว์ท่านเลือกเดิน เมื่อไม่มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้น ท่านก็จะเลือกประพฤติพรหมจรรย์ ออกผนวชเป็นฤษี บำเพ็ญตบะอยู่ในป่าตามลำพัง เหมือนเตมียราชกุมาร ผู้กำลังดำเนินตามข้อวัตรปฏิบัติ ของพระโพธิสัตว์ทั้งหลาย

 


                    แต่เนื่องจากพระราชบิดาทรงยืนกราน อยากให้พระโอรสได้กลับไปครองราชย์ดังเดิม พระโพธิสัตว์ท่านจึงต้องชี้แจงให้ฟัง ซึ่งในวันนี้เราจะได้มารับฟังเหตุผล ของการออกบวชว่า มีคุณยิ่งใหญ่กว่าการครองราชสมบัติอย่างไรบ้าง มาติดตามรับฟังกันเลยนะจ๊ะ

 


                จากตอนที่แล้วเหล่าพระประยูรญาติ นำโดยพระเจ้ากาสิกราช ได้รีบเสด็จเข้าไปยังอาศรมของพระเตมียฤษี ด้วยขบวนทัพอันยิ่งใหญ่ พระราชาได้ทรงเชื้อเชิญพระฤษี ให้เสด็จกลับคืนสู่พระนคร เพื่อเสวยราชสมบัติสืบไป โดยทรงมีเหตุผลว่า ลูกก็ยังเป็นหนุ่ม ควรเป็นที่พึ่งแก่อาณาประชาราษฎร์เสียก่อน อีกทั้งรูปร่างก็งามสง่า หากปรารถนาจะอภิเษกกับเจ้าหญิงองค์ใด ก็จะหามาให้เจ้าตามที่ใจปรารถนา ครั้นเจริญด้วยพระโอรสและพระธิดาแล้ว จึงค่อยออกบรรพชาในภายหลัง

 

 

                พระเตมียฤษีจึงถวายพระพรว่า “มหาบพิตร บุคคลผู้จะบวชเพื่อประพฤติพรหมจรรย์ ควรจะบวชตั้งแต่อยู่ในปฐมวัย บัณฑิตนักปราชญ์ทั้งหลาย มีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นต้นนั้น ทรงตรัสสรรเสริญการบรรพชาของคนหนุ่ม เพราะเหตุนี้ อาตมภาพจึงบวชประพฤติพรหมจรรย์เสียแต่เวลายังหนุ่ม เพราะเหตุว่า พระราชสมบัติและฐานะกษัตริย์ ที่พระองค์พระราชทานให้อาตมภาพนั้น เป็นเหตุให้ต้องก่ออกุศลกรรมมากมาย ใช่ว่าอาตมภาพจะไม่เคยเป็นกษัตริย์ครองราชย์สมบัติมาก่อน

 


 
                      แม้ในอดีตชาติที่ผ่านมา อาตมภาพก็เคยเป็นกษัตริย์ ได้ครองราชย์อยู่เพียง ๒๐ ปี แต่ในที่สุดก็ต้องเสวยทุกขเวทนาในมหานรก ยาวนานถึง ๘๐,๐๐๐ ปี อาตมภาพมองเห็นภัยที่ตนเองเคยตกนรกมาแล้ว ว่าเป็นภัยที่น่ากลัวเหลือเกิน จึงไม่อยากผิดพลาดอีก และชีวิตมนุษย์ก็เป็นของน้อย ในไม่ช้าอาตมภาพและสรรพสัตว์ทั้งหลาย ต่างก็บ่ายหน้าไปสู่ความตายทั้งนั้น  ดังนั้นอาตมภาพจึงปรารถนาจะหลุดพ้นจากทุกข์ภัยเหล่านั้น

 

 

                พระเตมิยฤษีใคร่จะทรงแสดงธรรม ชี้แจงสภาพของสัตว์โลก ให้เป็นที่ประจักษ์แก่พระราชบิดา จึงตรัสว่า “ผู้ที่จะบวชประพฤติพรหมจรรย์ควรเป็นคนหนุ่ม   ข้อนี้บัณฑิตทั้งหลายปรารถนายิ่งนัก  พระองค์คงจะเคยพบเห็นสัจธรรมเช่นนี้มาบ้าง คือคนบางคนตายเมื่ออายุยังน้อย ตายก่อนบิดามารดาเสียอีก บางคนตายเมื่อยังหนุ่ม บางคนตายเมื่อยามแก่เฒ่า ที่จะไม่ตายนั้นยังไม่มีปรากฏให้เห็นเลย ทุกคนล้วนต้องตายด้วยกันทั้งนั้น  ไฉนเลยเราจะมัวเพลิดเพลิน มัวเมา ลุ่มหลงอยู่ในโลกนี้เล่า 

 

 

                โลกมนุษย์ถูกครอบงำด้วยมัจจุมาร มีพระยามัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่เป็นเจ้าชีวิต คอยทำลายชีวิต ให้เวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏอย่างไม่มีวันจบสิ้น เพราะฉะนั้นใครเล่าจะพึงวางใจในชีวิตได้ว่า เรายังเป็นหนุ่มเป็นสาวอยู่ ความเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เป็นเช่นกับอายุของฝูงปลาในแอ่งน้ำที่มีน้ำแห้งขอด เมื่อถูกแสงแดดแผดเผาน้ำนั้นก็พลันเหือดแห้งไป จะมามัวเมาเพลิดเพลินอยู่ในชีวิต อันเป็นของนิดหน่อยนี้ทำไมกัน โลกของเราถูกครอบงำอยู่ทุกขณะ ถูกรุมล้อมเป็นนิจ วันและคืนย่อมไม่ล่วงไปเปล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ พระองค์ยังปรารถนาจะอภิเษกอาตมภาพในราชสมบัติทำไมกันเล่า”

 

 

                    พระราชาแม้จะได้สดับธรรมภาษิต ซึ่งเป็นมธุรวาจา ที่พรั่งพรูออกจากพระโอษฐ์ของพระโอรส ก็รู้สึกชื่นชมยินดีแต่ก็สงสัยในธรรมอันลึกซึ้ง ที่พระโอรสนำมาแสดงอยู่ดี จึงตรัสถามว่า “โลกถูกอะไรครอบงำ ถูกอะไรรุมล้อม วันและคืนย่อมไม่ล่วงไปเปล่าอย่างไร ขอลูกจงช่วยบอกให้แจ่มแจ้งด้วยเถิด เพราะพ่อยังมองไม่เห็นว่าโลกจะถูกครอบงำได้อยางไร วันคืนร่วงไปของพ่อก็ไม่ได้ร่วงไปเปล่า เพราะพ่อก็ทำหน้าที่บริหารประเทศชาติบ้านเมืองอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แทบจะไม่ได้พักผ่อนเลย แล้ววันคืนไม่ล่วงไปเปล่าของลูกคืออะไร”

 

 

                     พระเตมียฤษีตรัสตอบว่า “โลกถูกความตายครอบงำ ถูกชรารุมล้อมอยู่เป็นนิตย์ วันและคืนไม่เคยผ่านไปเปล่า แต่ได้ผ่านไปพร้อมกับความเสื่อมแห่งผิวพรรณ และกำลังวังชาของคนและสัตว์ มหาบพิตร อุปมาชีวิตเช่นนี้เหมือนช่างหูกที่ต้องการจะทอผ้าสักผืนหนึ่ง ทุกขณะที่เขาทอไปข้างหน้า เส้นด้ายที่จะต้องทอต่อไปก็เหลือน้อยลงทุกที แม้ชีวิตของสัตว์ทั้งหลายก็เป็นเช่นนั้น เมื่อคืนและวันผันผ่านไปเพียงใด ชีวิตก็สั้นเข้ามาเพียงนั้น ห้วงน้ำที่ไหลไป ไม่อาจย้อนกลับได้ฉันใด อายุของมนุษย์ก็ย่อมผ่านไป โดยไม่มีวันหวนกลับคืนมาได้ฉันนั้น ห้วงน้ำที่ไหลเชี่ยวย่อมพัดพาต้นไม้ที่อยู่ใกล้ฝั่งให้โค่นล้มลงไปฉันใด สัตว์โลกทั้งหลายก็ย่อมถูกชราและมรณะพัดพาไปฉันนั้นเหมือนกัน เพราะฉะนั้นขอพระองค์จงอย่าได้ทรงประมาท มัวเมาในชีวิตอันนิดหน่อยนี้เลย”

 

 

                      พระราชาได้ทรงสดับธรรมภาษิตนั้นแล้ว ก็ทรงเบื่อหน่ายในฆราวาสวิสัย เพราะทรงมีพระราชหฤทัยน้อมไปในการบรรพชา อย่างที่ไม่เคยเป็นมาเช่นนี้มาก่อน  ทรงดำริว่า “ตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงบัดนี้ เรายังไม่เคยได้ยินได้ฟังคติธรรมจากผู้ใด ที่จะชัดเจนแจ่มแจ้งเท่ากับที่ได้ฟังจากลูกของเราในวันนี้เลย ก็บัดนี้สมควรที่เราผู้เข้าถึงความชราจักบวชเสียในที่นี้ เราจะไม่ขอกลับพระนครอีก แต่สำหรับพระโอรสของเรานั้นเล่ายังหนุ่มแน่นนัก ถึงอย่างไรก็ควรที่จะกลับไปครองราชสมบัติแทนเราเสียก่อน ต่อเมื่อเจริญด้วยพระโอรสและพระธิดาแล้ว จึงค่อยบรรพชาในภายหลัง”

 

 

                ดูนะจ๊ะว่าหัวอกพ่อที่รักลูกแบบโลกๆ แม้ตนเองจะซาบซึ้งในธรรมแล้ว แต่ก็อยากให้ลูกได้มีความสุข ในการครองราชสมบัติเสียก่อน แก่เมื่อไหร่จึงค่อยออกบวช ความคิดอย่างนี้มีเยอะทีเดียวนะจ๊ะ จนในบางลัทธิได้นิยมออกบวชในตอนแก่ ประพฤติตนแบบสันยาสี แสวงหาความวิเวกในยามชรา แต่สำหรับพระโพธิสัตว์แล้วท่านจะไม่ประมาทตั้งแต่ปฐมวัย ฉะนั้นน่ะเราก็ต้องไม่ประมาทในชีวิตกันนะจ๊ะ ต้องหมั่นประพฤติธรรม ทำทั้งทาน ศีล ภาวนาให้ครบถ้วน แล้วก็หาโอกาสประพฤติพรหมจรรย์ บำเพ็ญเนกขัมมบารมีกันให้เต็มที่นะจ๊ะ

 

พระธรรมเทศนา โดย : หลวงพ่อธัมมชโย  (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย)

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล