Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
ตอน โทษของมุสาวาท 2
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ ในโรกียปาติสูตร ความว่า
“ดูก่อนพระภิษุทั้งหลายเรากำหนดรู้ใจของบุคคลบางคนในโลกนี้ว่า แม้เพราะขาดเงินอันเต็มไปด้วยผงทองคำเป็นหีบ ท่านผู้นี้ก็ไม่จงใจพูดมุสา แต่สมัยต่อมาเราเห็นเขาถูกลาภสักการะและความสรรเสริญครอบงำก็กล่าวมุสาทั้งที่รู้ ดูก่อนพระภิกษุทั้งหลายลาภสักการะและความสรรเสริญ ทารุณ เดือดร้อน หยาบคาย อย่างนี้แล”
สาเหตุหลักๆของการพูดมุสา โดยส่วนใหญ่เป็นเพราะความโลภ ความโลภเมื่อครอบงำจิตใจแล้วทำให้เกิดความลำเอียง คือลำเอียงเพราะรัก บางทีก็ลำเอียงเพราะโกรธ ลำเอียงเพราะหลง หรือลำเอียงเพราะกลัวก็มี เมื่อใจลำเอียงเสร็จแล้ว วาจาก็พลอยเอียงไปด้วย ทำให้พูดเท็จ ทั้งๆที่รู้และก็พูดหักค้านประโยชน์ของคนอื่น การกระทำก็เอียงหลงไปทำในเรื่องที่ผิดศีลผิดธรรม เพื่อหวังลาภสักการะ ยอมละทิ้งอุดมการณ์ของตัวเอง เหมือนการพูดมุสาของพระธรรมกถึกจากตอนที่แล้ว
วันหนึ่ง เมื่อพระธรรมกถึกอยู่กันสองคนกับพระมหาเถระจึงแกล้งทำเป็นไต่ถามว่า “ท่านผู้เจริญทำไมพระอนุเถระจึงไม่ถูกกับท่าน ท่านทำอะไรให้พระอนุเถระขุ่นเคืองใจรึเปล่า”
พระมหาเถระรีบปฏิเสธทันทีว่า “ท่านสัตบุรุษ พวกเราทั้งสองเป็นเหมือนบุตรที่เกิดจากท้องมารดาเดียวกัน หากรูปใดได้สิ่งของที่ควรแก่สมณะมาแล้วก็จะแบ่งปันให้อีกรูปหนึ่ง แม้ผมเองก็ไม่เคยเห็นข้อบกพร่องของพระอนุเถระเลย พวกเราอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขมาโดยตลอด ท่านเข้าใจผิดไปเองหรือเปล่า”
พระธรรมกถึกก็ทำทีเห็นดีเห็นงามไปด้วย บอกไปอาจจะเป็นเช่นนั้น คงฟังผิดไปเอง ขออภัยที่นำเรื่องไร้สาระมาเล่าให้ฟัง แล้วก็อำลาจากไป ทิ้งปมให้พระมหาเถระนั่งคิดอยู่คนเดียวว่าได้ประพฤติผิดพลาดทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมต่อพระอนุเถระตั้งแต่เมื่อไร เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านทั้งสองได้ประพฤติสาราณียกรรมต่อกันได้อย่างบริบูรณ์ ครั้นมาพูดชักใบให้เรือเสียเหล่านี้ จึงอดคลางแคลงใจไม่ได้
ต่อมาพระธรรมกถึกได้เข้าไปหาพระอนุเถระและพูดในทำนองคล้ายกับที่ตัวเองได้พูดกับพระมหาเถระ พระอนุเถระก็ปฏิเสธทันทีว่าไม่เคยพูดหรือทำเรื่องอะไรให้ระคายเคืองพระมหาเถระเลย ฝ่ายพระธรรมกถึกได้ฟังแล้วก็ไม่ได้รู้สึกว่าได้กำลังก่อบาปมหันต์ คิดอย่างเดียวว่าต้องทำให้พระสองรูปนี้ทะเลาะกันให้ได้
ครั้นเวลาผ่านไปได้ไม่กี่วัน พระธรรมกถึกก็แอบมาบอกพระมหาเถระเหมือนเดิมว่า “ท่านสัตบุรุษ พระอนุเถระพูดกับผมว่า อย่าได้คบหากับพระมหาเถระเลย เพราะท่านไมได้ตั้งใจบำเพ็ญสมณะธรรมอะไรเลย ที่ผมต้องคอยอุปฐากมหาเถระก็เพราะต้องการบำเพ็ญวัตรของภิกษุผู้มีพรรษาน้อยกว่าเท่านั้นเอง”
พระมหาเถระพอได้ฟังก็รู้สึกเหมือนสายฟ้าฟาดลงกลางกระหม่อมจึงโกรธเคืองมากที่พระอนุเถระกล้ามานินทาท่านต่ออาคันตุกะ ทั้งๆที่ท่านไม่ได้ทำตัวเหลวไหลอย่างนั้นเลย
ต่อมาพระธรรมกถึกได้ไปหาพระอนุเถระพูดจาส่อเสียดให้ฟังว่า “ท่านผู้เจริญ พระมหาเถระได้บอกกับผมว่าอย่าได้คบกับอนุเถระนะ เพราะท่านเอาแต่นอน ตอนนี้ก็แกล้งทำเป็นอุปฐากดูแลเป็นอย่างดี เพื่อหวังให้ท่านชื่นชมเท่านั้น พอลับหลังก็ไม่ยอมทำอะไร ท่านอย่าได้คบหากับพระอนุเถระเลย”
พระอนุเถระฟังแล้วรู้สึกเหมือนถูกมีดทิ่มแทงหัวใจ ไม่นึกไม่คิดมาก่อนเลยว่าพระมหาเถระที่ตัวเองเคารพมาโดยตลอดจะใส่ร้ายป้ายสีคนอื่นให้เสียหายขนาดนี้ แม้ไม่ได้โกรธพระมหาเถระ แต่รู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจ จึงตั้งใจว่า “เอาเถิด น้ำแต่บัดนี้เป็นต้นไป เราจะไม่รับบาตร ไม่ยอมเดินตามหลังของพระมหาเถระตลอดไป”
วันรุ่งขึ้น เมื่อพระมหาเถระทั้งสองมาพบกันที่ศาลา ก็เกิดมีปากเสียงกันเพราะความเข้าใจผิด พระมหาเถระจึงขับไล่พระอนุเถระไปอยู่ที่อื่น ขณะตัวท่านเองก็รู้สึกระอายใจที่จะอยู่วัด เพราะถ้าญาติโยมถามหาก็จะอึดอัดใจเสียเปล่า จึงออกธุดงค์ไปอยู่ที่อื่น
ในวันรุ่งขึ้น เมื่อพระธรรมกถึกเข้าไปบิณฑบาตในบ้าน ครั้นถูกชาวบ้านไต่ถามถึงพระมหาเถระทั้งสองรูป ก็ปรักปรำท่านว่า ท่านทั้งสองทะเลาะกันอย่างรุนแรงเพราะเรื่องราวสักการะจึงแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น ชาวบ้านได้ฟังแล้วก็ไม่เชื่อ กลับคิดสงสัยว่าคงเกิดจากพระธรรมกถึกแน่ๆ แต่ก็ไม่กล้ากล่าวว่าขึ้นมาเพราะไม่มีพยานหลักฐาน จึงได้แต่เสียใจที่พระมหาเถระทั้งสองต้องมาบาดหมางกัน พระมหาเถระทั้งสองแม้จะแยกกันอยู่ แต่ก็ไม่มีความสบายใจเลย
เวลาได้ล่วงผ่านไป 100ปี วันหนึ่งบังเอิญว่าพระเถระทั้งสองได้เข้าไปในวิหารแห่งเดียวกัน พอมองเห็นกันก็จำได้ ไม่สามารถจะอดกลั้นน้ำตาไว้ได้ น้ำตาไหลอาบแก้มด้วยความคิดถึงกัน พระอนุเถระไต่ถามว่า “ท่านผู้เจริญตั้งแต่ผมถือบาตรและจีวรท่าน ตั้งใจดูแลท่านเป็นอย่างดี สิ่งที่ผมเคยทำผิดพลาดท่านเคยเห็นบ้างไหม”
ท่านมหาเถระได้ตอบว่าไม่เคยเห็นเลย พระอนุเถระจึงถามกลับว่า "เมื่อไม่เคยเห็นเลยแล้วทำไมท่านผู้เจริญยังบอกพระธรรมกถึกว่าอย่าคบหาสมาคมกับกระผมเล่า"
พระมหาเถระปฏิเสธว่า “เปล่าเลยผู้มีอายุ ผมไม่เคยพูดอย่างนั้น แม้ผมก็เหมือนกัน ได้ยินว่าท่านนินทาเรื่องของผมให้พระธรรมกถึกฟัง จริงหรือ”
พระอนุเถระยืนยันว่า “ท่านผู้เจริญ แม้ความคิดก็ไม่เคยคิด แล้วผมจะกล้านินทาท่านได้อย่างไร”
เมื่อรู้ว่าเรื่องนี้ไม่เป็นความจริง จึงกล่าวขอขมาต่อกันทำให้รู้สึกสบายใจเหมือนยกภูเขาออกจากอก จากนั้นก็ได้เดินทางกลับมาที่วัดเดิมเพื่อชำระคดีกับพระธรรมกถึก เมื่อความจริงถูกเปิดเผยพระธรรมกถึกก็ไม่อาจที่จะอยู่ที่วัดนั้นได้อีกต่อไป จึงหลบหนีไปอยู่ที่อื่น
สมณะธรรมที่อุตส่าห์บำเพ็ญมาสองหมื่นปี ไม่อาจช่วยท่านได้ เมื่อมรณภาพลง พระธรรมกถึกก็ได้ไปเกิดในอเวจีมหานรก หมกไหม้อยู่สิ้นพุทธันดรหนึ่ง พอมาในภพชาตินี้ต้องกลายเป็นเปตรสุกรเสวยทุกข์อยู่ที่ภูเขาคิชกูฎ
นี่เป็นอุทาหรณ์ให้เราพึงสังวรไว้ว่า อย่าไปสร้างบาปด้วยคำพูด เพราะบาปอกุศลทุกชนิดล้วนติดไปข้ามชาติ มีผลเป็นความทุกข์ทรมานในปรโลก เพราะการที่ใครสักคนจะกล่าวคำเท็จได้นั้น เขาจะต้องบิดเบือนความจริงในใจ ทั้งทำลายสัจธรรมที่มีอยู่ในใจ ความเท็จของเขาจึงทำลายใจเขาก่อนใคร และทำลายใจเขามากกว่าใคร ยิ่งกล่าวซ้ำแล้วซ้ำเล่า ใจของเขาก็จะยิ่งทรุดโทรมเสื่อมสมรรถภาพลงไป นี่คือผลร้ายของการพูดเท็จ
เราควรทำชีวิตให้มีคุณค่าและคุ้มค่า ด้วยการเพิ่มเติมบุญบารมีอย่างเดียว ให้รู้จักสำรวมระวังวาจา อย่าให้คำพูดของเราไปกระทบใครให้เดือดร้อน อย่าสร้างโอตภัยให้กับตัวเอง ควรฝึกเป็นผู้มีปิยวาจา กล่าวถ้อยทำที่สมานไมตรี ทำคนที่แตกแยกให้กลับคืนดีกันใหม่ เมื่อเดินทางไปไหน ใกล้หรือไกลอานิสงค์นี้จะทำให้เราเป็นที่รักของมนุษย์และเทวดาทั้งหลาย ตลอดไป