Dhammaforpeople
ธรรมะเพื่อประชาชน
บาปแม้น้อยนิด อย่าคิดทำ
ผู้ฝึกตนดีแล้วย่อมได้ในสิ่งที่บุคคลอื่นได้โดยยาก เกิดเป็นคนก็ต้องฝึกฝนตนเองจึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ช้างเผือกได้ชื่อว่าเป็นช้างตัวประเสริฐกว่าช้างทั้งปวง ย่อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและเป็นสิ่งที่หาได้ยากแต่บุคคลผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝนแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดียิ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จ ในการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏ ท่านเหล่านั้นล้วนต่างกันผ่านการฝึกฝนตนเองมานับภพนับชาติไม่ถ้วน เราเองก็เช่นเดียวกันจะประสบความสำเร็จของชีวิตในสังสารวัฏได้ ก็ต้องหมั่นฝึกฝนใจให้สะอาดบริสุทธิ์เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ดังนั้นการฝึกฝนใจจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำเป็นประจำ เพราะใจที่สุดดีแล้วสามารถกำจัดกิเลสอาสวะ ให้หมดสิ้นออกจากใจได้ แล้วก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เกฬิสีลชาดกว่า
หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี เก้งก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น ดังนั้น จะถือเอาร่างกาย เป็นประมาณไม่ได้ ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น แม้เด็กมีปัญญา ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
ผู้ฝึกตนดีแล้ว ย่อมได้ในสิ่งที่บุคคลอื่นได้โดยยาก เกิดเป็นคนต้องฝึกฝนตนเอง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ ช้างเผือก ได้ชื่อว่าเป็นช้างประเสริฐกว่าช้างทั้งปวง ย่อมเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่หาได้ยาก แต่บุคคลผู้ประเสริฐในหมู่มนุษย์นั้น ต้องอาศัยการฝึกฝน แก้ไขเปลี่ยน แปลงให้ดียิ่งขึ้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและเหล่าพระอรหันต์ ทั้งหลาย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินชีวิตในสังสารวัฏ ท่านเหล่านั้นล้วนผ่านการฝึกฝนตน มานับภพนับชาติไม่ถ้วน เราก็เช่นเดียวกัน จะประสบความสำเร็จของชีวิตในสังสารวัฏได้ ต้องหมั่นฝึกฝนใจให้สะอาดบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป ดังนั้น การฝึกฝนใจจึงเป็นสิ่งที่เราต้องทำเป็นประจำ เพราะใจที่ฝึกดีแล้ว สามารถกำจัดกิเลสอาสวะให้หมดสิ้นได้ และจะได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐอย่างแท้จริง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ใน เกฬิสีลชาดก ว่า
หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี นกยูงก็ดี ช้างก็ดี เก้งก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น ดังนั้นจะถือเอาร่างกาย เป็นประมาณไม่ได้ ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น แม้เด็กมีปัญญา ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึงร่างกายจะใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้
แม้พญาราชสีห์จะไม่ใช่สัตว์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุด แต่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งป่า เป็นที่ครั่นคร้ามของเหล่าสัตว์ทั้งหลาย เพราะมีกำลังเรี่ยวแรงและสติปัญญามากกว่าสัตว์ทั้งปวง คนเราก็เช่นกัน จะเป็นคนดีหรือเป็นคนเลว ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชาติตระกูล ทรัพย์สมบัติ รูปร่างหน้าตา ความรู้ความสามารถ ยศถาบรรดาศักดิ์ พวกพ้องบริวาร หรือมีอายุยืนอายุสั้น แต่ขึ้นอยู่กับการใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิตต่างหากว่าใครจะใช้ชีวิตให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าได้มากกว่ากัน
*ดังเรื่องของพระอรหันต์รูปหนึ่งผู้มีรูปร่างเตี้ย เพราะกรรมที่ทำไว้ในอดีต แต่ท่านก็ได้รับการยกย่องจากพระบรมศาสดาว่า เป็นผู้แสดงธรรมได้ไพเราะที่สุด เรื่องของท่านมีอยู่ว่า
ในสมัยพุทธกาล ภิกษุชาวชนบทประมาณ ๓๐ รูป พากันเดินทางไปเข้าเฝ้าพระบรมศาสดาที่วัดพระเชตวัน ขณะกำลังเข้าวัดนั้น เหล่าภิกษุได้พบพระลกุณฏกภัททิยเถระที่ซุ้มประตู ต่างหยอกล้อด้วยการจับชายจีวรของท่านบ้าง จับมือบ้าง จับศีรษะบ้าง จับหูของท่านเล่นบ้าง บางรูปก็เขย่าท่านไปมาด้วยความเอ็นดู ที่พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูปทำเช่นนี้ ก็เพราะท่านมีรูปร่างเตี้ยมาก จึงนึกว่าท่านเป็นสามเณรนั่นเอง
หลังจากหยอกล้อพระเถระแล้ว พระภิกษุทั้ง ๓๐ รูป ได้เข้าไปในโรงธรรมสภา เพื่อเข้าเฝ้าพระบรมศาสดา ครั้นได้รับการปฏิสันถารแล้ว จึงทูลถามพระพุทธองค์ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ได้ข่าวว่า มีพระเถระรูปหนึ่งชื่อลกุณฏกภัททิยเถระ ท่านแสดงธรรมได้ไพเราะมาก บัดนี้ พระเถระรูปนั้นอยู่ที่ไหน พระพุทธเจ้าข้า
พระบรมศาสดาตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่พวกเธอหยอกเย้าด้วยความคะนองที่ซุ้มประตูเมื่อสักครู่นี้คือ ลกุณฏกภัททิยะ พวกภิกษุชาวชนบทฟังแล้ว ต่างพากันตกใจที่ล่วงเกินพระอรหันต์ พลางเกิดความสงสัยในสรีระของพระเถระว่า ทำไมจึงมีร่างกายเตี้ย เหมือนสามเณรอายุ ๗ ขวบ ครั้นได้รู้ว่า ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกรรมที่ทำไว้ในอดีต จึงได้ทูลขอให้พระพุทธองค์ทรงเล่าเรื่องในอดีตให้ฟัง พระพุทธองค์จึงตรัสเล่าว่า
เมื่อครั้งพระเจ้าพรหมทัเสวยราชสมบัติในกรุงพาราณสี พระองค์ทรงมีอัธยาศัยชอบสนุกบนความทุกข์ของผู้อื่น คือ หากทอดพระเนตรเห็นช้างแก่ม้าแก่ ก็จะรับสั่งให้ต้อนไล่แข่งกัน บางครั้งเห็นเกวียนเก่าๆ ก็ให้นำไปแข่งกันจนพัง เห็นสตรีแก่ก็รับสั่งให้เรียกมากระแทกที่ท้องให้ล้มลง แล้วจับให้ลุกขึ้นบ้าง ให้ร้องเพลงบ้าง หรือเห็นชายแก่ก็รับสั่งให้หกคะเมนตีลังกา หรือแม้เพียงได้ยินข่าวว่ามีคนแก่อยู่ที่บ้านหลังใด จะรับสั่งให้เรียกตัวมา และให้แสดงต่อหน้าพระที่นั่ง เหล่านี้เป็นต้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ชาวเมืองจึงพากันส่งมารดาบิดาออกไปอยู่นอกเมือง ทำให้ขาดการดูแลมารดาบิดา ส่วนพวกข้าราชบริพาร ต่างพอใจในการเล่นสนุกสนานตามเจ้านาย ครั้นตายไป จึงพากันไปอบายภูมิมากมาย ทำให้ผู้ไปเกิดเป็นเทวดามีจำนวนน้อยลง เมื่อท้าวสักกะไม่ทรงเห็นเทพบุตรเกิดใหม่ ทรงพิจารณา ถึงต้นสายปลายเหตุ ครั้นรู้สาเหตุแล้ว จึงดำริที่จะทรมานพระเจ้าพรหมทัต พรองค์ได้แปลงเป็นชายแก่ และนำตุ่มเปรียง ๒ ใบ บรรทุกในเกวียนเก่าๆ ที่เทียมโคแก่ ๒ ตัว
ในวันมหรสพวันหนึ่ง เมื่อพระเจ้าพรหมทัตทรงช้างพระที่นั่ง ซึ่งประดับด้วยเครื่องอลังการ เสด็จเวียนประทักษิณพระนครแล้ว ท้าวสักกะทรงขับยานมุ่งไปตรงหน้าพระราชา พระราชาทอดพระเนตรเห็นชายแก่ขับยานเก่า เทียมด้วยโคแก่ จึงรับสั่งให้นำมาเข้าเฝ้าทันที พวกอำมาตย์จึงพากันทูลถามว่า ยานนั้นอยู่ที่ไหน พระเจ้าข้า พวกข้าพระองค์มองไม่เห็นเลย ที่เป็นเช่นนี้ เพราะท้าวสักกะทรงใช้เทวานุภาพ แสดงให้พระราชาเห็นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
เมื่อเกวียนไปถึงกลางฝูงชนแล้ว ท้าวสักกะทรงขับเกวียนไปในอากาศ พลางทุบตุ่มเปรียงทั้ง ๒ ใบ ราดรดบน พระเศียรของพระราชา น้ำเปรียงไหลลงเปรอะเปื้อนพระราชาตั้งแต่พระเศียรจนนองพื้น ทำให้พระราชาทรงขยะแขยงและได้รับความอับอายมาก
ท้าวสักกะรู้ว่าพระราชาทรงกริ้วมาก จึงขับเกวียนหายไป จากนั้นพระองค์ได้กลายร่างเป็นท้าวสักกะดังเดิม ทรงถือวชิราวุธประทับยืนบนอากาศ ตรัสข่มขู่ว่า ดูก่อนอธรรมิกราชผู้หยาบช้า ดูเหมือนท่านจะไม่แก่ชราเลย ทำไมท่านจึงมัวแต่เห็นแก่เล่น เบียดเบียนคนแก่มากมาย เพราะท่านผู้เดียว คนที่ตายไปแล้ว จึงเต็มอยู่ในอบายภูมิ และเพราะท่านนั่นเอง ทำให้ชาวบ้านไม่ได้บำรุงมารดาบิดา หากท่านยังไม่เลิกทำกรรมนี้อีก เราจะตัดศีรษะของท่านด้วยจักรเพชรนี้
จากนั้นท้าวสักกะทรงกล่าวถึง คุณของมารดาบิดา ทรงชี้แจงอานิสงส์ของการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้สูงอายุ ครั้นทรงสั่งสอนแล้ว ได้เสด็จกลับเทวโลกตามเดิม พระราชาได้สดับคำสั่งสอนเช่นนั้นแล้ว รู้สึกสำนึกผิด และทรงเลิกรักสนุกบนความทุกข์ของผู้อื่นอย่างเด็ดขาด
เมื่อพระบรมศาสดานำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าแล้ว ทรงสอนภิกษุทั้งหลายว่า หงส์ก็ดี นกกระเรียนก็ดี ช้างก็ดี เก้งก็ดี ย่อมกลัวราชสีห์ทั้งนั้น ดังนั้น จะถือร่างกายเป็นประมาณมิได้ ฉันใด ในหมู่มนุษย์ ก็ฉันนั้น แม้เด็กมีปัญญา ก็เป็นผู้ใหญ่ได้ คนโง่ถึงจะมีร่างกายใหญ่โต ก็เป็นผู้ใหญ่ไม่ได้ จากนั้นพระพุทธองค์สรุปว่า พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็นพระลกุณฏกภัททิยะที่ถูกล้อเลียนจากผู้อื่น เพราะชอบเล่นสนุกในครั้งนั้น ส่วนท้าวสักกเทวราช คือ เราตถาคตนั่นเอง
เห็นไหมว่าเรื่องของวิบากกรรมไม่มีข้อยกเว้น แม้แต่พระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้ว ยังมีวิบากติดมากระทั่งภพชาติสุดท้าย สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดจากการดำเนินชีวิตที่ผิดพลาดของตนในอดีต จะโทษใครก็ไม่ได้ นอกจากตัวเอง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องศึกษาเรียนรู้ให้ดีว่า จะใช้ชีวิตอย่างไร จึงจะไม่ผิดพลาดอีก และจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้ดีที่สุด คุ้มค่ามากที่สุด เพื่อจะได้ไม่ต้องเสียดายภายหลังว่า รู้อย่างนี้ไม่ทำดีกว่า เพราะถึงตอนนั้นก็สายไปแล้ว เพราะฉะนั้น ขณะที่เรายังมีลมหายใจอยู่ ให้ทุ่มเทสร้างบารมีให้เต็มที่ ทำทั้งทาน ศีล ภาวนา สร้างไปให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะได้มีแต่บุญกุศลล้วนๆ ติดตัวไป วิบากบาปศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายจะได้ไม่มารบกวน จะได้สร้างบารมีอย่างมีความสุขกันทุกคน
*มก. เกฬิสีลชาดก เล่ม ๕๗ หน้า ๒๘๑