อานิสงส์สร้างพระคันธกุฎี

วันที่ 14 พย. พ.ศ.2558

อานิสงส์สร้างพระคันธกุฎี
 

อานิสงส์สร้างพระคันธกุฎี

 

     เราทั้งหลายได้ชื่อว่าเป็นผู้มีบุญลาภอันประเสริฐ ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ พบพระพุทธศาสนา เป็นสัมมาทิฏฐิ เชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม ตั้งใจมั่นในการทำความดี เมื่อเรายังไม่สิ้นอาสวกิเลส เส้นทางชีวิตของเราก็อาจแบ่งได้เป็น ๒ ทาง คือทางหนึ่งไปสู่สุคติ ซึ่งเป็นผลของการทำความดี อีกทางหนึ่งไปสู่ทุคติ ซึ่งเป็นผลของบาป บุคคลผู้เป็นบัญฑิตนักปราชญ์ ฉลาดในการใช้ชีวิต ย่อมเลือกเอาเส้นทางที่จะนำไปสู่สุคติ เพราะเป็นทางแห่งความสุขและปลอดภัย เราจึงควรสั่งสมบุญทั้งการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา เมื่อมีโอกาสก็ทำให้เต็มที่ เก็บเกี่ยวบุญบารมีของเราเอาไว้มากๆ จะได้เป็นเสบียงในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ มุ่งสู่เป้าหมายอันสูงสุดคือที่สุดแห่งธรรม


มีวาระพระบาลีที่ปรากฏใน ทุทททชาดก ว่า
 

“ทุทฺททํ ททมานานํ       ทุกฺกรํ กมฺมกุพฺพตํ
อสนฺโต นานุกุพฺพนฺติ     สตํ ธมฺโม ทุรนฺวโย ฯ
ตสฺมา สตญฺจ อสตญฺจ   นานา โหติ อิโต คติ
อสนฺโต นิรยํ ยนฺติ        สนฺโต สคฺคปรายนา
 
     เมื่อสัตบุรุษทั้งหลายให้สิ่งของที่หาได้ยาก ทำกรรมที่ทำได้ยาก
อสัตบุรุษทั้งหลายย่อมทำตามไม่ได้ ธรรมของสัตบุรุษรู้ได้ยาก
เพราะฉะนั้น คติจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษจึงต่างกัน
อสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก  สัตบุรุษย่อมมีสวรรค์เป็นที่ไปในเบื้องหน้า”


     คนดีมีศีลธรรม มีธรรมเป็นอาภรณ์ อยู่ที่ไหนสังคมก็เจริญรุ่งเรือง  แตกต่างกับคนพาลที่ไม่มีธรรม ไปอยู่ที่ไหนก็ทำความเดือดร้อน สร้างความไม่สงบสุขขึ้นในที่นั้น ทุกคนต่างก็ปรารถนาจะเป็นคนดี ได้คบกับคนดี แต่ว่าขาดกัลยาณมิตรที่เป็นบัณฑิต ผู้ที่จะแนะนำประโยชน์ทั้ง ๒ คือประโยชน์ในภพนี้และภพหน้า เพื่อให้เดินตามเส้นทางของพระอริยเจ้า ทำตนให้บริบูรณ์ด้วยคุณธรรมทั้งภายนอกและภายใน แต่ในโลกปัจจุบันนี้ แม้หลายคนปรารถนาจะเป็นคนดี ก็ยังเผลอไปทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอยู่ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะว่าใจยังไม่เข้มแข็ง ยังขาดกำลังใจ บางคนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการสร้างบารมี ไม่เป็นปฏิรูปเทส ๔  คือ ที่อยู่อาศัย อาหารการกิน บุคคลและธรรมะไม่เป็นสัปปายะ จึงไม่สามารถจะทำความดีได้เต็มที่
 
     คนที่ไม่อยากทำดี ก็เพราะกำลังใจไม่เข้มแข็งพอ และบางทีอาจเป็นเพราะความไม่รู้ว่า ความดีนั้นคืออะไร ทำไปทำไม คิดว่าที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ก็ดีอยู่แล้ว ทำให้ประมาทในชีวิต ต้องตกอยู่ในอำนาจของกิเลสอาสวะ  ถูกกิเลสห่อหุ้มเอิบอาบซึมซาบปนเป็นโดยไม่รู้ตัว และก็ไม่ขวนขวายในการสร้างความดี  ดังนั้น จำเป็นที่เราจะต้องหาวิธี สร้างกำลังใจให้เกิดขึ้น ซึ่งกำลังใจจะเกิดขึ้นได้ก็เพราะเหตุ ๓ ประการ  คือ
 
     ประการแรกเริ่มต้นที่จิตใจ หรือความคิดของเราก่อน ต้องนึกคิดแต่เรื่องที่ดีๆ เรื่องที่สร้างสรรค์ หัดจับแง่คิด มองโลกในแง่ดี โดยใช้ปัญญาพิจารณาไปตามความเป็นจริงของชีวิต ว่ามีเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และก็เสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา จิตใจจะได้ไม่ไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่เป็นสาระแก่นสาร  
 
     เมื่อมีวิกฤตการณ์อะไรเกิดขึ้น ก็ให้เปลี่ยนวิกฤตมาเป็นโอกาสทุกครั้ง เหมือนกับมองเห็นอุปสรรคเป็นขนมหวาน ให้เราเคี้ยวกินอย่างเอร็ดอร่อย เราจะเกิดกำลังใจที่จะต่อสู้กับปัญหา จะเกิดความเพียรพยายามก้าวไปสู่ความสำเร็จ ยิ่งใจเราหยุดนิ่งเป็นสมาธิ(Meditation)ใสสะอาดบริสุทธิ์ ยิ่งจะทำให้เรามองทะลุปรุโปร่งในปัญหาและอุปสรรคต่างๆ เราจะพบช่องทางแห่งความสำเร็จ จิตใจจะเข้มแข็งแต่ไม่แข็งกระด้าง จะอ่อนโยนแต่ไม่อ่อนแอ จะมุ่งมั่นฟันฝ่าไปสู่เป้าหมายเพียงอย่างเดียว  
 
     ประการที่ ๒ เมื่อเราจะพูดคุยปราศรัยกับใคร ควรใช้ถ้อยคำที่เป็นวาจาสุภาษิต เป็นอรรถเป็นธรรม เป็นเรื่องที่เสริมสร้างกำลังใจให้กันและกัน การพูดคุยนั้น ก็จะทำให้เราเกิดกำลังใจ ประเทืองสติปัญญา เราจะเห็นช่องทางในการแก้ไขปัญหา การพูดคุยปรึกษาหารือกัน จะได้รู้ถึงวิธีการแก้ปัญหาของแต่ละคน เราจะได้นำไปปรับปรุงงานของเราให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เพราะฉะนั้น การสนทนาธรรมตามกาล ตามโอกาสอันเหมาะสมจึงเป็นมงคลของชีวิต ผู้มีปัญญาจะรู้ได้ก็ด้วยการสนทนา เมื่อปัญญามา ปัญหาก็หมด เมื่อปัญญาลด ปัญหาก็มี 
 
     ประการที่ ๓ เมื่อเราทำหน้าที่การงานอะไร จะต้องอยู่บนพื้นฐานของสัมมาอาชีวะ คือเป็นอาชีพการงานที่สุจริต ถ้าเราทำอย่างนี้ เราจะอยู่ในแวดวงของกัลยาณมิตร ความสุจริตกาย วาจา ใจ จะทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต สามารถประคับประคองตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้  เราจะสามารถทำความดีได้เต็มที่
 
     
* เหมือนอุบาสกผู้รักในการสร้างบารมี ไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากลำบาก ได้ทุ่มเทกับการสั่งสมบุญบารมีทุกอย่าง สิ่งใดที่รับรู้รับทราบเกี่ยวกับข่าวบุญกุศล ก็ตั้งใจบำเพ็ญกุศลจนสุดหัวใจ อุบาสกท่านนี้มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยากจะสร้างบุญกับพระพุทธองค์ ผู้เป็นเนื้อนาบุญอันเลิศ จึงได้สร้างพระคันธกุฎีถวายพระพุทธองค์ พระคันธกุฎีก็คือที่พักที่อยู่อาศัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านก่อสร้างด้วยวัสดุอุปกรณ์ที่ดีที่สุดและมีกลิ่นหอมชื่นใจ ปลูกดอกไม้ที่มีกลิ่นหอมรอบพระคันธกุฎี
 
     เมื่อสร้างเสร็จก็ทูลอาราธนาพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประทับ และอุปัฏฐากพระพุทธองค์ด้วยความเคารพยิ่ง ได้สร้างบุญกุศลอย่างต่อเนื่อง ทำให้จิตใจนุ่มนวลใสบริสุทธิ์ เพราะใจอยู่กับสิ่งที่เป็นบุญกุศลตลอดเวลา ยิ่งได้ฟังพระธรรมเทศนา ก็ทำให้อุบาสกท่านนี้เกิดความอุตสาหะในการปฏิบัติธรรม ท่านได้ประพฤติธรรมจนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายของชีวิต 
 
     เมื่อละโลกแล้ว ก็ได้ไปบังเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีวิมานทองที่สวยงาม ประดับประดาไปด้วยรัตนที่วิจิตรประณีตตระการตา รุ่งเรืองไปด้วยข่ายแก้วและรัศมีแห่งรัตนะนานาประการ สมบัติอันเป็นทิพย์ของท่านสว่างไสวรุ่งเรืองยิ่งกว่าเทวดาทั้งหลาย
 
     วันหนึ่ง พระมหาโมคคัลลานเถระ เที่ยวไปในเทวโลก ได้เห็นวิมานของเทพบุตร ที่งดงามรุ่งเรืองด้วยบุญฤทธิ์ ดึงดูดตาดึงดูดใจให้เข้าไปชมยิ่งนัก พระเถระได้เข้าไปถามไถ่ว่า “ท่านเทพบุตร วิมานของท่านดูงดงามเหลือเกิน เต็มไปด้วยข่ายแก้วสีทองสุกปลั่ง ตั้งอยู่เหนือยอดภูเขาทอง มีเสา ๘ เหลี่ยมที่ทำด้วยแก้วไพฑูรย์ แก้วผลึก เงิน ทอง แก้วมณี และแก้วมุกดาเปล่งแสงน่าดูชม มีพื้นสะอาดปราศจากธุลี บันไดทั้ง ๔ ด้าน ประดับไปด้วยห้องซึ่งทำด้วยแก้วต่างๆ รุ่งเรืองดุจรัศมีแห่งพระอาทิตย์ยามเที่ยงวัน เราอยากจะถามท่านว่า นี้เป็นผลแห่งกรรมอะไร“
 
     เทพบุตรพอได้ฟังดังนั้นก็ปลื้มใจ จึงตอบพระเถระไปว่า “นี้เป็นผลกรรมที่ได้สร้างพระคันธกุฎีและถวายดอกไม้หอมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”  พระมหาโมคคัลลานเถระ เมื่อได้ฟังเทพบุตรแล้ว ก็ลาจากเทวโลก  ลงมาบอกให้พุทธบริษัทได้ทราบเพื่อรักในการทำความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป จะได้มีสุคติโลกสวรรค์เป็นที่ไป
 
     เพราะฉะนั้น บุญเป็นพื้นฐานของชีวิตที่สำคัญ  ทุกๆ ชีวิตถูกหล่อเลี้ยงมาด้วยบุญทั้งนั้น ถ้าใครทำบุญมาก ความสุขความสำเร็จก็มีมาก ยิ่งใครทำถูกเนื้อนาบุญ ผลบุญย่อมบังเกิดขึ้นอย่างมากมายมหาศาลจะนับจะประมาณมิได้ เหมือนพวกเราทุกคนที่กำลังสั่งสมบุญอยู่ในขณะนี้ ด้วยการทุ่มเทชีวิตจิตใจสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ สภาธรรมกายสากล สุขพิมานสราญรมย์ หรือลานธรรมรอบมหาธรรมกายเจดีย์  สิ่งต่างๆ เหล่านี้ เราทำเพื่อเป็นสมบัติของพระพุทธศาสนา ทำแล้วเราก็ได้บุญติดตัวไปทุกภพทุกชาติ
 
     ดังนั้น ให้รักในบุญกุศล หมั่นประพฤติธรรม ทำใจให้หยุดนิ่ง กำลังใจเราจะได้เข้มแข็ง จะได้ทุ่มเทสร้างบารมีกันอย่างเต็มที่ ทำความดีในทุกที่ทุกสถานและทุกโอกาส ถึงเราจะอยู่ในสภาพแวดล้อมอย่างไรก็ตาม แต่ถ้าเราสร้างสังคมที่เราอยู่ให้ดีได้ ก็จะทำให้เราสร้างบารมีได้สะดวก เริ่มจากตัวเราก่อน แล้วต่อไปก็ขยายไปสู่สังคมรอบข้าง หมู่ญาติสนิทมิตรสหายของเรา ให้ทุกคนเป็นคนดี เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ โลกนี้จะได้มีคนดีเกิดขึ้นมากมาย
 
     เพราะฉะนั้น บ้านกัลยาณมิตรจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก ที่จะสร้างคนดีที่โลกต้องการให้เกิดขึ้น ให้ทุกคนรู้และเข้าใจชีวิตว่า เกิดมาทำไม มีเป้าหมายอย่างไร เมื่อทุกคนมีทัศนคติที่ตรงกันแล้ว ก็จะได้สร้างบารมีร่วมกันอย่างสะดวกสบายอย่างง่ายดาย อุปสรรคต่างๆ ก็จะหมดไป บารมีเราจะแก่กล้า เมื่อเราทำได้อย่างนี้แล้ว โลกนี้จะเป็นโลกแห่งสันติสุข โลกแห่งการสร้างบารมี มองไปรอบทิศมีแต่กัลยาณมิตรรอบตัว จะเกิดความเป็นเพื่อนพ้องพี่น้องกัน ไม่มีเขาไม่มีเรา มีแต่ความสะอาดบริสุทธิ์ ความปรารถนาดี เป็นโลกแก้วที่มีแต่ความสงบสุข สันติภาพที่เกิดจากสันติธรรมก็จะแผ่ขยายไปทั่วโลก  ดังนั้นพวกเราทุกคนจะต้องช่วยกันทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นมาให้ได้ และตั้งใจประพฤติธรรมกันให้ดีทุกๆ คน


พระธรรมเทศนาโดย : พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) 
* มก. เล่ม ๔๘ หน้า ๕๘๘
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.001343035697937 Mins