การแต่งกายเป็นมารยาททั่วๆไปที่ทุกคนต้องปฏิบัติเหมือนกันตามแต่โอกาสที่เหมาะสม เช่น แต่งกายไปทำงาน ไปวัด ไปเล่นกีฬา และงานพิธีต่างๆ หรือการแต่งกายที่อยู่ในเครื่องแบบของนักเรียน นักศึกษา ทหาร ตำรวจ บริษัท ห้างร้านที่กำหนดให้พนักงานแต่งกาย เป็นต้น
ผู้มีมารยาทในการแต่งกายที่ดี ซึ่งมีหลักปฏิบัติอยู่ 3 ข้อดังต่อไปนี้
1. แต่งกายสะอาด
ความสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่ความสะอาดในที่นี้ไม่เกี่ยวกับความเก่าหรือใหม่ เพราะเครื่องแต่งกายที่ใหม่อาจสกปรกก็ได้ ส่วนเครื่องแต่งกายที่เก่ามีรอยปะชุน ก็อาจดูสะอาดได้ หรือเครื่องแต่งกายราคาแพง ก็อาจดูสกปรกได้ ในขณะที่เครื่องแต่งกายราคาถูกก็อาจดูสะอาดได้เช่นกัน ส่วนเราเป็นนักเรียนก็ควรแต่งกายให้ถูกระเบียบของทางโรงเรียนด้วย
2. แต่งกายสุภาพเรียบร้อย
คนแต่ละคนหรือสังคมแต่ละแห่งอาจมีเกณฑ์วัดความสุภาพ เรียบร้อยต่างกันออกไป ในสังคมไทยเราก็มีเกณฑ์วัดความเรียบร้อย ในแบบของไทยเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่หลายคนก็คงจะทราบกันดีอยู่แล้ว คือไม่แต่งกายเปิดเผยให้เห็นส่วนของร่างกายที่ควรสงวน ใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนน่าเกลียด หรือสวมกระโปรงกางเกงที่สั้นมาก เพื่อต้องการแสดงและเน้นสรีระของร่างกาย โดยเฉพาะการแต่งกาย ดังกล่าวข้างต้นไปในสถานที่ควรแก่การสักการบูชา เช่น ศาสนสถาน วัด โบสถ์ หรือสถานที่ราชการ สถานศึกษา ฯลฯ ซึ่งถือว่าไม่สุภาพเรียบร้อย
3. แต่งกายถูกต้องตามกาลเทศะ
นอกจากความสะอาดและความสุภาพเรียบร้อยแล้วการแต่งกายให้เหมาะสมกับสมัยนิยมและให้เหมาะสม
กับสถานที่ก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งนี้ทั้งนั้นการแต่งกายที่ผิดสมัยนิยมนั้น หากสะอาดและสุภาพเรียบร้อยก็อาจจะไม่มีอะไรเสียหายมากแต่อาจถูกมองว่าเชยได้ ดังนั้นการแต่งกายให้ถูกกาลเทศะจึงเป็นเรื่องสำคัญ เราควรแต่งกายให้ถูกกาลเทศะเหมาะสมกับงานที่จะไป เช่น ไม่แต่งชุดดำไปงานแต่งงาน ไม่แต่งสีฉูดฉาดไปงานศพ เป็นต้น แต่งกายให้เกียรติเจ้าภาพของงานตามสมควร เช่น ไปงานเลี้ยงสังสรรค์ระหว่างเพื่อนฝูงอาจแต่งชุดลำลองอย่างไรก็ได้
ลองคิดดู
"หากเราเห็นคนแต่งตัวเรียบร้อย สะอาด มีระเบียบ กับคนแต่งตัวไม่เรียบร้อย สกปรกไม่มีระเบียบ
เราจะรู้สึกอยากเข้าใกล้ใครมากกว่ากัน..."
----------------------------------------
"หนังสือ 5 ห้องชีวิตเนรมิตนิสัย ฉบับสร้างแรงบันดาลใจ
ทีมงานหลักสูตรโครงการฟื้นฟูศีลธรรมโลก"