พระอัญญาโกณฑัญญะพุทธสาวกองค์แรกของโลก

วันที่ 20 กค. พ.ศ.2548

....เมื่อพูดถึงวันอาสาฬหบูชา ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๔๘ พุทธศาสนิกชนส่วนใหญ่จะทราบกันดีว่า เป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาวันหนึ่ง   เพราะว่าเป็นวันที่พระพุทธเจ้าได้แสดงปฐมเทศนา “ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ทำให้โกณฑัญญะ หนึ่งในปัจวัคคีย์เกิดดวงตาเห็นธรรม    แล้วทูลขอบวชเป็นพระภิกษุ  ถือเป็นพุทธสาวกองค์แรกในพระพุทธศาสนา  และทำให้วันนี้เป็นวันที่มีพระพุทธ  พระธรรม และพระสงฆ์    ครบเป็นองค์พระรัตนตรัยครั้งแรกในโลกด้วย   ซึ่งบางแห่งก็เรียกวันอาสาฬหบูชานี้ว่า “ วันพระสงฆ์” เพราะเป็นวันที่มีพระสงฆ์องค์แรกเกิดขึ้นในโลก  แต่บางแห่งก็เรียกว่า “ วันพระธรรม” ด้วยถือว่าเป็นวันที่พระพุทธองค์แสดงธรรมเทศนาเป็นครั้งแรก

ประวัติปฐมสาวก

พระอัญญาโกณฑัญญะ เดิมชื่อ โกณฑัญญะ เป็นบุตรของพราหมณ์มหาศาลผู้ร่ำรวย ท่านเกิดที่หมู่บ้านโทณวัตถุ   กรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ เมื่อเจริญวัยขึ้นก็ได้ศึกษาตามธรรมเนียมของพราหมณ์จนแตกฉานในวิชาความรู้  มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับของคนทั่วไปแม้จะอายุยังน้อย เมื่อคราวที่พระเจ้าสุทโธทนะได้ตรัสเชิญพราหมณ์ ๑๐๘ คนมาเลี้ยงโภชนาการและให้ทำนายพระลักษณะของเจ้าชายสิทธัตถะตอนประสูตินั้น  พราหมณ์โกณฑัญญะยังเป็นหนุ่ม ซึ่งนอกจากจะได้รับเชิญไปงานนี้แล้ว และยังได้รับการคัดเลือกให้เป็น ๑ ใน ๘ พราหมณ์ผู้ตรวจและทำนายพระลักษณะของพระพุทธองค์เมื่อประสูติด้วย  พราหมณ์ ๗ คนต่างทำนายพระมหาบุรุษออกเป็นสองทางคือ    ถ้าทรงเป็นฆราวาส ก็จักได้เป็นพระจักรพรรดิ์  แต่ถ้าเสด็จออกผนวช  จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ส่วนพราหมณ์โกณฑัญญะกลับฟันธงว่า  พระกุมารจะออกผนวชและตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแน่นอน  และตั้งใจว่าถ้าถึงวาระนั้น  หากตนยังมีชีวิตอยู่ก็จะออกบวชตามเสด็จ 

 

“ ปัญวัคคีย์”

ต่อมาเมื่อพราหมณ์โกณฑัญญะได้ทราบข่าวว่า เจ้าชายสิทธัตถะได้เสด็จออกผนวชแล้ว   และกำลังบำเพ็ญทุกรกิริยาอยู่ คือ การทรมานพระวรกาย โดยการกลั้นลมหายใจ  กัดฟัน  อดอาหาร เพื่อหาทางหลุดพ้นตามความเชื่อของคนสมัยนั้น  ก็ได้ชักชวนบุตรของพราหมณ์อื่นๆอีก ๔ คน คือ ภัททิยะ วัปปะ มหานามะ และอัสชิ รวมเป็น ๕ คนออกบวชเป็นบรรพชิตเรียกว่า “ ปัญวัคคีย์” ติดตามไปเฝ้าอุปัฏฐากรับใช้พระมหาบุรุษ   ครั้นเวลาผ่านไป ๖ ปี เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งได้อดอาหารจนซูบผอม และหิวจนสลบไป เมื่อฟื้นขึ้นมา  จึงได้ทรงพิจารณาเห็นว่าการทรมานร่างกายอย่างที่ทำอยู่  น่าจะมิใช่หนทางไปสู่การตรัสรู้เป็นแน่  จึงได้ตัดสินพระทัยเลิกทุกรกิริยา กลับมาเสวยพระกระยาหารดังเดิม เพื่อบำรุงร่างกายให้มีกำลังในการบำเพ็ญเพียรใหม่ พวกปัญวัคคีย์เห็นดังนั้น  ก็สำคัญผิดคิดว่า ทรงท้อแท้ต่อการบำเพ็ญพรตอันเข้มงวด หันกลับมามักมาก จึงสิ้นความเลื่อมใส พากันทิ้งพระองค์หนีไปอยู่ที่ป่าอิสิปตนมฤทายวัน  เมืองพาราณสีฝ่ายพระพุทธองค์เมื่อบำรุงร่างกายจนแข็งแรงแล้ว ก็ได้บำเพ็ญเพียรทางจิต จนได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ และทรงเสวยวิมุตติสุข (ความสุขอันเกิดจากความสงบ) อยู่ ๗ สัปดาห์ ก็ได้ตัดสินใจเสด็จไปโปรดปัญวัคคีย์  ณ ป่าอิสิปตนมฤทายวัน   ซึ่งตอนแรกพวกปัญวัคคีย์ก็แสดงความกระด้างกระเดื่อง  ด้วยคิดว่าพระพุทธเจ้ามาหาเพราะอยากจะหาผู้อุปัฏฐาก  เมื่อพระพุทธเจ้าบอกว่าพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ก็ยังไม่เชื่อ  จนพระองค์ต้องตรัสเตือนว่าพระองค์ไม่เคยกล่าววาจาว่าบรรลุธรรมเช่นนี้มาก่อน    พวกปัญวัคคีย์จึงระลึกได้ว่าไม่เคยตรัสมาก่อนจริงๆ  จึงยอมฟังพระองค์แสดงธรรม 

 

“ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร”

ปฐมเทศนาที่เรียกว่า “ ธรรมจักกัปปวัตนสูตร” ทรงชี้ให้เห็นว่าบุคคล ไม่ควรประพฤติสุดโต่งสองอย่าง ได้แก่ กามสุขัลลิกานุโยค คือ การหมกมุ่นมัวเมาในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค คือ การทรมานตัวให้ลำบาก แต่ให้เดินตามสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา อันเป็นข้อปฏิบัติที่ไม่ตึงหรือหย่อนเกินไป เรียกว่า อริยมรรคมีองค์ ๘ คือ สัมมาทิฏฐิ   ความเห็นชอบ สัมมาสังกัปปะความดำริชอบ  สัมมาวาจา  เจรจาชอบ สัมมากัมมันตะ การประพฤติชอบ   สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีวิตชอบ  สัมมวายะมะ  เพียรชอบ  สัมมาสติ  ระลึกชอบ และสัมมาสมาธิ ตั้งใจมั่นชอบ  จากนั้นทรงสรุปด้วยอริยสัจ ๔ คือ หลักความจริงของชีวิต ซึ่งประกอบด้วย ทุกข์ ความไม่สบายกายและใจ สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์  นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

 

“ อญฺญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ”

เมื่อพระพุทธเจ้าแสดงธรรมจบแล้ว โกณฑัญญะได้เห็นแจ้งในหลักธรรมที่ทรงโปรด   ซึ่งพระพุทธองค์ก็ทรงทราบว่าท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม คือ รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ ๔ จึงทรงเปล่งอุทานว่า “ อญฺญาสิ วต โภ โกณฑัญโญ” แปลว่า โกณฑัญญะได้รู้แล้ว  ดังนั้น ท่านโกณฑัญญะจึงได้ชื่อว่า “ พระอัญญาโกณฑัญญะ”   จากนั้นท่านได้ทูลขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา  ซึ่งพระพุทธเจ้าก็รับสั่งว่า “ เธอจงเป็นภิกษุเถิด  ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว จงประพฤติพรหมจรรย์ เพื่อทำตนให้พ้นทุกข์ด้วยดีเถิด” การกล่าวเช่นนี้ถือได้ว่าท่านผู้นั้นเป็นพระภิกษุที่สมบูรณ์แล้ว และเรียกการบวชที่พระพุทธเจ้าบวชให้ด้วยการเปล่งวาจาเช่นนี้ว่า เอหิภิกขุอุปสัมปทา  ซึ่งพระอัญญาโกณฑัญญะถือเป็นภิกษุองค์แรกที่บวชด้วยวิธีนี้  และเป็นพุทธสาวกองค์แรกในโลกด้วย

 

“ รัตตัญญู” … รู้ราตรีนาน

          ครั้นเมื่อพระพุทธองค์ส่งพระสงฆ์สาวกออกไปประกาศพุทธศาสนาทั่วชมพูทวีป  พระอัญญาโกณฑัญญะก็เป็นหนึ่งในพระธรรมทูตรุ่นแรกที่ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา   และตอนที่ท่านบวชนั้น กล่าวกันว่าท่านน่าจะอายุเกิน ๖๐ปีแล้ว ท่านได้รับการยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่าเป็นเอตทัคคะ  คือ มีความเลิศ หรือมีความรู้ความสามารถพิเศษ เป็น “ รัตตัญญู”  คือ รู้ราตรีนาน หมายความว่า เป็นพระผู้ที่มีประสบการณ์มาก  ได้พบเรื่องราวต่างๆมามาก สามารถให้คำแนะนำและเป็นแบบอย่างแก่ผู้อื่นได้   ท่านจึงเป็นที่เคารพรักของพระภิกษุทั้งหลาย  ในภายหลังท่านได้ไปแสวงหาความสงบในป่า ณ สระฉันททันต์ อันเป็นที่อยู่ของช้างโขลงใหญ่ ท่านอยู่ที่นั้นราว ๑๒ ปี เมื่อเห็นว่าอายุสังขารจะสิ้นแล้ว ท่านก็ได้เข้ามากราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อดับขันธปรินิพพาน เมื่อทรงประทานอนุญาต ท่านก็ได้กลับไปปรินิพานยังป่าที่เดิม  ซึ่งพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงนำอัฐิธาตุของพระอัญญาโกณฑัญญะบรรจุไว้ในพระเจดีย์เพื่อให้เป็นที่สักการะบูชาแก่คนทั้งหลายด้วย

 

สวช. กระทรวงวัฒนธรรม

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.027248581250509 Mins