วัดกัลยาณมิตร : กรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย

วันที่ 21 มิย. พ.ศ.2559

วัดกัลยาณมิตร , กรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย , ปณิธานพระมงคลเทพมุนี , ภารกิจของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ , คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง , พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) , ปณิธานของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) , พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) , เส้นทางในการสร้างบารมี , ปณิธานการสร้างวัดพระธรรมกาย , จากศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมมาเป็นวัดพระธรรมกาย , จุดประสงค์ในการสร้างวัดพระธรรมกาย

วัดกัลยาณมิตร : กรณีศึกษาวัดพระธรรมกาย

     องค์กรกัลยาณมิตรที่จะร่วมมือกันทำงาน ประสานกิจกรรม เพื่อสร้างสังคมให้มีสันติสุขนั้น ดังที่ได้กล่าวแล้วว่ามี 3 องค์กรหลักคือ บ้านกัลยาณมิตร สถาบันการศึกษากัลยาณมิตร และวัดกัลยาณมิตร สำหรับวัดกัลยาณมิตรนั้น ในที่นี้จะกล่าวถึงวัดพระธรรมกาย เพื่อเป็นกรณีตัวอย่าง และในการศึกษาเรื่องของวัดพระธรรมกายโดยทั่วไปในบทต่อไปนี้นั้น ในเบื้องต้นนี้ จะกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของวัด จุด มุ่งหมาย และภารกิจของวัด จากนั้นจะนำเสนอสภาพทางภูมิศาสตร์ซึ่งจะประกอบด้วยลักษณะทางกายภาพและลักษณะการจัดระเบียบสังคมภายในวัดในปัจจุบัน รวมทั้งจะอธิบายถึงความสัมพันธ์ภายในชุมชนของวัดพระธรรมกาย1)


ความเป็นมาและการดำเนินการสร้างวัด

      วัดพระธรรมกายสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2513 ตรงกับวันมาฆบูชา มีพื้นที่ในระยะบุกเบิกสร้างวัด 196 ไร่ อยู่ในพื้นที่ของวัดพระธรรมกาย และอยู่ในพื้นที่ของมูลนิธิธรรมกาย 2,534 ไร่2) ตั้งอยู่ที่ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ได้รับอนุญาตให้ตั้งเป็นวัดโดยสมบูรณ์ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2522 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 96 ตอนที่ 15 เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2522 โดยมีพระอธิการ ไชยบูลย์ ธมฺมชโย (ปัจจุบันเป็นที่ พระราชภาวนาวิสุทธิ์) เป็นเจ้าอาวาส พระเผด็จ ทตฺตชีโว (ปัจจุบันเป็นที่ พระภาวนาวิริยคุณ) เป็นรองเจ้าอาวาส ปัจจุบัน (พ.ศ. 2546) มีพระภิกษุ 642 รูป สามเณร 373 รูป อุบาสก 144 คน อุบาสิกา 492 คน และพนักงาน 750 คน3)

    ในการสร้างวัดพระธรรมกาย การวางรากฐานระบบการบริหารจัดองค์กร และแนวการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัด ล้วนเป็นนโยบายอันเกิดจากปณิธานอันแน่วแน่ของบุคคลสำคัญ 3 ท่านได้แก่ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง4) ผู้เป็นประธานในการสร้างวัดพระธรรมกาย พระราชภาวนาวิสุทธิ์5)  และพระภาวนาวิริยคุณ6)

   สำหรับคุณยายอาจารย์นั้น ท่านเข้ามาเป็นศิษย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระในรุ่นแรกๆ ของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ธนบุรี พระวิปัสสนาจารย์ผู้มี ชื่อเสียง ในการสอนสมาธิภาวนาเพื่อให้เข้าถึง ธรรมกายŽ ซึ่งมีอยู่ในตัวตนเราทุกคน ส่วนพระราช- ภาวนาวิสุทธิ์ และพระภาวนาวิริยคุณนั้น ท่านได้ฝึกการเจริญวิปัสสนากับคุณยายอาจารย์มาตั้งแต่ยังเป็นนักศึกษา

     อาจกล่าวได้ว่าจุดกำเนิดของวัดพระธรรมกาย และการปฏิบัติสมาธิวิชชาธรรมกาย เกิดจาก การสอนของพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ที่ถ่ายทอดวิธีการปฏิบัติธรรมให้แก่คุณยายอาจารย์มหารัตน-อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 และคุณยายอาจารย์ได้สอนวิธีการปฏิบัติธรรมดังกล่าว ให้กับพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) และพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) เมื่อครั้ง ยังเป็นนักศึกษา ในปี พ.ศ. 2506 และพ.ศ. 2509 ตามลำดับ ท่านทั้งสองได้เผยแผ่วิธีการสอนในเวลาต่อมา


ปณิธานพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ

     พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ เกิดเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2427 ตรงกับวันศุกร์ แรม 6 ค่ำ เดือน 11 ปีวอก เป็นคนอำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี เดิมมีอาชีพเป็นพ่อค้าล่องข้าว เหตุที่ท่านตัดสินใจออกบวช เพราะมีความคิดว่า  บิดาของเราได้ตายเหมือนกัน มาล่องข้าว ขึ้นจากเรือข้าวก็เจ็บมาจากตามทางแล้ว เมื่อขึ้นจากเรือข้าวไม่ได้กี่วันก็ถึงแก่กรรม เมื่อถึงแก่กรรมแล้ว เราที่ช่วยพยาบาลอยู่ไม่เห็นเลยที่จะเอาอะไรติดไป ผ้าที่นุ่งและร่างกายของแก เราก็ดูแลอยู่ ไม่เห็นมีอะไรหายไป ทั้งตัวเราแลพี่น้องของเราที่เนื่องด้วยแก ตลอดถึงมารดาของเราก็อยู่ ไม่เห็นมีอะไรเลยที่ไปด้วยแก แกไปผู้เดียวแท้ ๆ ก็ตัวเราเล่าต้องเป็นดังนี้ เคลื่อนความเป็นอย่างนี้ไปไม่ได้แน่Ž7)

    จากนั้นจึงตั้งจิตอธิษฐานให้ได้บวช และจะไม่ลาสิกขาจนตลอดชีวิต ท่านได้อุปสมบทเมื่ออายุได้ 22 ปี ใน พ.ศ. 2449 การตัดสินใจบวชของท่านเกิดจากสาเหตุของการพิจารณาการมีชีวิตอยู่ทั้งเกิด แก่ เจ็บ ตาย ของบุคคลใกล้ตัว และเมื่อตายไปก็ไม่สามารถนำอะไรไปได้ การบวชจึงเป็นวิธีการแสวงหา คุณประโยชน์ให้เกิดกับชีวิตที่ดีกว่าทางโลก เมื่อบวชแล้วท่านเพียรพยายามเรียนทั้งวิปัสสนาธุระและ คันถธุระ จนเวลาผ่านไป 11 ปี ในพรรษา ที่ 12 จึงมีความคิดอยากปฏิบัติธรรมให้เข้าถึง ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็นŽ ครั้นในวันเพ็ญกลางเดือน 10 พ.ศ. 2460 ท่านได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมโดยไม่ลุกจากที่นั่ง ณ อุโบสถ วัดบางคูเวียง (วัดโบสถ์บน)

     ข้อความต่อไปนี้เป็นบันทึกของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (ท่านบันทึกเอง) ลงพิมพ์ใน มงคลสารŽ ปีที่ 1 เล่ม 1 เมื่อ 1 กันยายน 25078) ซึ่งแสดงว่า ท่านบรรลุธรรมภายในตัวท่าน มีใจความดังนี้

    ประมาณครึ่งหรือค่อนคืนไม่มีนาฬิกา ก็เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า ซึ่งมีอยู่ในหนังสือธรรมกาย ที่คุณพระทิพย์ปริญญาเรียบเรียงพิมพ์แจกไปแล้วนั้น ในขณะนั้นก็มาปริวิตกว่า คัมภีโรจายัง9) ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึงต้องทำให้รู้ตรึก รู้นึกรู้คิดนั้น หยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิด ท่านทั้งหลาย นี้เป็นของจริง หัวต่อมีเป็นอยู่ตรงนี้ ถ้าไม่ถูกส่วนดังนี้ ก็ไม่มีไม่เป็นเด็ดขาดŽ

    "เออมันยากอย่างนี้นี่เอง ถึงไม่บรรลุกัน ความเห็น ความจำ ความคิด ความรู้ ต้องรวมหยุดเป็นจุดเดียวกัน เมื่อหยุดแล้วจึงดับ เมื่อดับแล้วจึงเกิดŽ"10)

     วิตกอยู่ดังนี้สักครู่ใหญ่ ก็กลัวว่าความมีความเป็นนั้นจะเลือนไปเสีย จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสักสามสิบนาทีก็เห็นวัดบางปลาปรากฏเหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น แต่พอชัดดีก็รู้สึกตัวขึ้นมา จึงมีความรู้สึกขึ้นมาว่าจะมีผู้รู้ผู้เห็นได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้จะต้องมีผู้รู้ผู้เห็นได้แน่นอน จึงมาปรากฏขึ้นบัดนี้ ต่อแต่นั้นมาก็คำนึงที่ไปสอนที่วัดนั้นอยู่เรื่อยๆ มาจนถึงออกพรรษารับกฐินแล้ว ก็ลาสมภารวัดบางคูเวียงไปสอนที่วัดบางปลา ราวสี่เดือน มีพระทำเป็นสามรูป คฤหัสถ์สี่คน นี้เริ่มต้นแผ่ธรรมกายของจริง ที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้11)

    หลังจากที่มีประสบการณ์ในการเข้าถึงธรรมด้วยตัวเอง ท่านจึงมีความตั้งใจที่จะสอนผู้อื่น ให้ปฏิบัติตามด้วย จึงเริ่มต้นเผยแผ่การเข้าถึงธรรมกายไปยังพระภิกษุ และฆราวาสที่วัดบางปลาในระยะ เริ่มต้น

   การเข้าถึงธรรมภายในของหลวงปู่วัดปากน้ำ ถือได้ว่าเป็นจุดกำเนิดในการเผยแผ่ให้คนได้ปฏิบัติสมาธิในวงกว้าง พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้อธิบายการเข้าถึงธรรมของท่านว่า

    ธรรมกายเป็นสิ่งที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนามีอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ มากมายทีเดียวแต่ไม่มีคัมภีร์ไหนเลยที่บอกว่า ธรรมกายมีลักษณะเป็นอย่างไร อยู่ตรงไหน และจะเข้าถึงได้ด้วยวิธีการใด เมื่อหลวงปู่วัดปากน้ำท่านเข้าถึงธรรมกาย ความเห็นแจ้งกับความรู้แจ้งเกิดขึ้นพร้อมกัน ไม่ก่อน ไม่หลัง คือพอเห็น ธรรมกาย ก็รู้ว่านี่เรียกว่าธรรมกาย ความรู้เหล่านี้ต้องอาศัยการหยุดนิ่งอย่างเดียว ใช้มันสมองคิดอย่างไรก็คิดไม่ออก มีใครบ้างที่ใช้ความนึกคิดหรือศึกษาเล่าเรียน จนเกิดความรู้ได้ว่าภพชาติก่อนๆ นั้นตนเองเคยเกิดเป็นอะไรเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายอยู่ในตระกูลไหนมีความเป็นอยู่อย่างไร คือรู้เรื่องราวของชีวิตในกาลก่อนนั้นได้Ž12)

    การสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำจึงมุ่งให้ผู้ปฏิบัติทำสมาธิ ทำทานและรักษาศีล เชื่อมั่นว่ากรรมมีจริง ส่งผลได้จริง ผลบุญผลบาปมีจริง นรกสวรรค์ โลกนี้โลกหน้ามีจริง

    ต่อมาหลวงปู่วัดปากน้ำได้มาอยู่ที่วัดปากน้ำ ต. ท่าพระ อ. ภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร ในยุคนั้น วัดปากน้ำเป็นพระอารามหลวงวัดหนึ่งในอำเภอนั้น ครั้นเมื่อเจ้าอาวาสลง สมเด็จพระวันรัต (ติสฺสทตฺตเถร) วัดพระเชตุพน ซึ่งขณะนั้นได้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอภาษีเจริญ จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านด้วย จึงแต่งตั้งหลวงปู่วัดปากน้ำ ให้รักษาการเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ในปี พ.ศ. 2459 และได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ เมื่อปี พ.ศ. 246113)


ภารกิจของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ

     ตลอดเวลากว่า 40 ปี ที่ประจำอยู่ ณ วัดปากน้ำ หลวงปู่วัดปากน้ำได้จัดให้มีการศึกษาทางธรรม ทั้งภาคปริยัติ และปฏิบัติแก่พระภิกษุ สามเณรและฆราวาส สำหรับการศึกษาของพระภิกษุและสามเณรได้ส่งเสริมให้เรียนทั้งด้านปริยัติ และปฏิบัติไปพร้อมๆ กัน อย่างสะดวกสบายโดยไม่ต้องกังวลเรื่องการขบฉัน จึงได้จัดตั้งโรงครัวประกอบอาหารเลี้ยงพระภิกษุ สามเณรกว่า 500 รูป และฆราวาสกว่า 1,200 คน ทำให้มีพระภิกษุและสามเณรมาอยู่ที่วัดมากขึ้น ท่านกล่าวว่า

     การศึกษานั้นเปลี่ยนชีวิตผู้ศึกษาให้สูงกว่าพื้นเดิม คนที่มีการศึกษาจะได้อะไรดีกว่า ประณีตกว่าผู้อื่น คนมีวิชาเท่ากับได้สมบัติจักรพรรดิ ใช้ไม่หมดŽ14)

    สิ่งที่ท่านบริหารจัดการภายในวัด ท่านทำควบคู่ไปกับการเจริญภาวนา กล่าวกันว่าพระภิกษุ และแม่ชีสมัยหลวงปู่วัดปากน้ำมีการนั่งสมาธิเป็นหลักทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน ทำให้วัดปากน้ำสมัยนั้นมีชื่อเสียง กล่าวกันติดปากว่า วัดปากน้ำนี้สายปฏิบัติ สายธรรมกายดังมาตั้งแต่สมัยนั้นแล้วŽ15)

     วิธีการสอนของหลวงปู่วัดปากน้ำในสมัยนั้น มุ่งสอนให้คนทั่วไป รักษาศีล ทำทาน และเน้นการนั่งสมาธิ เพื่อให้ผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ ความเข้าใจและเชื่อมั่นในเรื่องกฎแห่งกรรม เชื่อมั่นว่านรกสวรรค์มีจริง ไปถึงได้จริง ท่านจึงเป็นพระภิกษุที่มีกิตติศัพท์มากในสมัยนั้น ครั้นเมื่อคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ได้ยินกิตติศัพท์ของท่าน จึงอยากมาปฏิบัติธรรมที่วัดปากน้ำบ้าง


คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

     คุณยายอาจารย์ (อุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง) เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น 10 ค่ำ เดือนยี่ ปีระกา พ.ศ. 2452 เกิดในครอบครัวชาวนา เป็นคนอำเภอนครไชยศรี จ.นครปฐม คุณยายไม่ได้เรียนหนังสือ จึงอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ เพราะเหตุที่ท่านอยากไปขอขมาพ่อของท่าน ซึ่งเคยแช่งให้ท่านหูหนวกห้าร้อยชาติ ในขณะที่พ่อดื่มสุรา แล้วมีปากเสียงกับแม่ของคุณยาย สาเหตุที่คุณยายโดนพ่อพูดเช่นนั้น เพราะท่านพยายามจะไกล่เกลี่ยมิให้พ่อและแม่ทะเลาะกัน จึงบอกกับพ่อว่า แม่ไม่ได้ว่าอะไรพ่อเลยŽ พ่อจึงบอกว่า ลูกคนไหนไม่ได้ยินที่แม่ (แม่ของคุณยาย) ว่าพ่อ ให้พวกลูกๆ หูหนวกห้าร้อยชาติŽ

     คุณยายมีความเชื่อว่าคำให้พรของพ่อแม่นั้นศักดิ์สิทธิ์ สามารถส่งผลดีจริงตามที่ท่านพูดไว้ ส่วนคำสาปแช่งก็คงต้องศักดิ์สิทธิ์เช่นกัน ท่านจึงตั้งใจจะขอขมาโทษในวาระสุดท้าย ก่อนที่พ่อของท่านจะละโลก แต่ท่านก็ไม่มีโอกาสเพราะเมื่อกลับจากท้องนามาถึงบ้าน พ่อก็สิ้นใจเสียก่อน ความรู้สึกหวาดกลัว ในโทษภัยของคำสาปแช่งของพ่อ จึงทำให้ท่านเกิดความคิดที่จะไปตามหาพ่อในสัมปรายภพ (ภพหลังความตาย) ให้ได้16)

     และในปี พ.ศ. 2470 ขณะนั้นคุณยายอายุได้ 18 ปี ท่านได้ยินข่าวว่าหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สามารถสอนคนให้เข้าถึงธรรมกาย และหากใครเข้าถึงก็สามารถไปนรก ไปสวรรค์ได้ ทำให้คุณยาย เกิดแรงบันดาลใจอย่างมาก ที่จะได้ปฏิบัติสมาธิภาวนากับหลวงปู่วัดปากน้ำ เพื่อไปขอขมาพ่อซึ่งอยู่ใน ภพอื่น หลังจากนั้นคุณยายก็ได้อำลาบ้านเกิด มาทำงานอยู่ที่บ้านเศรษฐีนีใจดีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นลูกศิษย์หลวงปู่วัดปากน้ำ ณ บ้านแห่งนี้เองคุณยายก็ได้พบกับคุณยายอุบาสิกาทองสุกซึ่งเป็นแม่ชีประจำอยู่ที่วัดปากน้ำ และปลีกเวลา ไปสอนสมาธิภาวนาที่บ้านเศรษฐีผู้นั้น ณ บ้านนี้เอง คุณยายได้พยายามหาโอกาสฝึก การเจริญสมาธิภาวนา กับคุณยายทองสุก  การเรียนธรรมะของคุณยาย ใช้ภาวนาในใจว่า สัมมา อะระหังŽ พร้อมกับนึกดวงแก้วหรือพระพุทธรูปแก้ว เป็นนิมิตไว้ที่ศูนย์กลางกาย ซึ่งก็เหมือนกับคนอื่นๆ ที่จะพบปัญหา คือ ความฟุ้งและความเครียด เวลาที่สติอ่อนก็จะฟุ้งคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่พี่น้อง เวลาที่ตั้งใจมาก ก็จะเครียดจนมึนศีรษะเป็นอยู่นาน จนเกิดความคิดว่า ธรรมะเป็นของจริงหรือ ถ้าจริงทำไมเราจึงไม่เห็นŽ คุณยายทองสุกจึงแนะนำว่า ธรรมะเป็นของจริง แต่ตัวเราต่างหากที่ทำไม่จริงŽ และธรรมะเป็นของเย็น ใจที่พบธรรมะได้ต้องเป็นใจที่เยือกเย็นŽการทำใจหยุดนิ่ง ถ้าบังคับใจจะตื่นเตลิด เหน็ดเหนื่อยต้องค่อยประคับประคองไม่สนใจเรื่องที่ผ่านมาในขณะทำสมาธิ เหมือนมีแขกมาบ้าน เมื่อเจ้าของบ้านไม่สนใจ แขกก็จะเก้อเขินกลับไปเอง ให้มองศูนย์กลางกายไปเรื่อยๆ ใจจะรวมตัวถูกส่วนพอดีและหยุดในที่ตั้งของเขาเองŽ17)

      ตามประวัติที่บันทึกไว้ว่า คุณยายพยายามนั่งสมาธิทำความเพียรเริ่มตั้งแต่คิดฟุ้งมาก จนกระทั่งฟุ้งน้อย จากฟุ้งน้อยจนถึงไม่ฟุ้งเลย และจากไม่ฟุ้งเลยมาถึงขั้นรู้สึกโล่ง โปร่ง เบา สบาย ในที่สุด ท่านเห็นจุดสว่างเล็กๆ เหมือนดวงดาวในอากาศเกิดขึ้นภายใน ท่านทำใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ดิ่งเข้ากลางเข้าไปเรื่อยๆ ในที่สุดท่านก็เข้าถึงธรรมภายใน คือ ธรรมกายŽŽ18) ที่บ้านนั่นเองคุณยายเพียรปฏิบัติจนเข้าถึงพระธรรมกาย ใจท่านนิ่งสงบและสว่างมาก ในที่สุดท่านก็สามารถใช้ญาณทัสสนะŽ19) ของธรรมกายไปขอขมา พ่อในสัมปรายภพ และช่วยพ่อให้พ้นจากทุกข์ในอบายภูมิได้สำเร็จŽ20)

      ครั้นต่อมาในปี พ.ศ. 2481 คุณยายอาจารย์ทองสุกได้พาคุณยายไปกราบหลวงปู่วัดปากน้ำ และได้บวชเป็นแม่ชีอยู่ที่วัดปากน้ำโดยไม่ได้กลับไปทำงานที่บ้านเศรษฐีนั้นอีกเลย หลวงปู่วัดปากน้ำ ได้กล่าวกับคุณยายในครั้งแรกที่พบว่า มึงมันมาช้าไปŽ และหลวงปู่วัดปากน้ำก็อนุญาตให้คุณยายเข้าปฏิบัติธรรมในอาคารภาวนา ซึ่งหลวงปู่วัดปากน้ำเรียกว่า โรงงานทำวิชชาŽ ร่วมกับผู้ปฏิบัติอื่นๆ ประกอบด้วย พระภิกษุ และแม่ชี มีการปฏิบัติธรรมเป็นหลัก

       หลวงปู่วัดปากน้ำมรณภาพในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 รวมอายุได้ 74 ปี 53 พรรษา ในบั้นปลายชีวิต ท่านสั่งให้คุณยายสอนสมาธิต่อไป และรออยู่ที่วัดปากน้ำ เพราะจะมีผู้สืบทอดมาเรียนวิชชากับคุณยาย ลุงเตชวัน มณีวรรณวรวุฒิ ซึ่งเคยบวชเป็นสามเณรสมัยหลวงปู่วัดปากน้ำ (เดิมชื่อจุลมณี) เล่าว่า

       หลวงปู่วัดปากน้ำท่านสั่งว่า อย่าเผาศพท่าน ศพของท่านยิ่งเก็บไว้นานเท่าไหร่ วัดจะเจริญ มากขึ้นเท่านั้น เรื่องอดเรื่องจนไม่ต้องห่วง แม้หลวงพ่อจะไม่อยู่ แต่หลวงพ่อจะดูแลลูกๆ ทุกคน อย่าคิดว่าวัดจะเสื่อมวิชชาธรรมกายจะเสื่อมโทรม ให้ปฏิบัติตามหลวงพ่อ และท่านบอกว่า มองๆ ไปมีแต่ลูกจันทร์ ที่จะสืบต่อได้ ลูกจันทร์นี่เป็นหนึ่งไม่มีสอง คนๆ นี้จะสืบต่อวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อต่อไปได้ จนถึงผู้มาสืบทอดได้ จะพบคนที่จะมาช่วยและมาสืบทอดต่อ ถ้าหลวงพ่อละสังขารแล้วอย่าไปไหนให้รออยู่ที่วัดปากน้ำ คนอัศจรรย์ คนสืบทอดนี้จะมาหาŽ21)

    จากนั้นคุณยายได้ใช้เรือนพักของท่านในบริเวณวัดปากน้ำภาษีเจริญ กรุงเทพฯ เป็นที่สอนสมาธิในวันอาทิตย์ และมีลูกศิษย์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บรรดาศิษย์จึงร่วมมือกันสร้างบ้านหลังใหม่ใกล้กับเรือนพักเดิมให้คุณยาย จนต่อมาขยายมาเป็นศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม และเป็นวัดพระธรรมกาย ในปัจจุบัน

     ป้าฉลวย ได้พบหลวงปู่วัดปากน้ำตอนอายุ 17 ปี กล่าวว่า  แม่ชีจันทร์สอนธรรมต่อ ปลูกบ้านอยู่ข้างศาลาเป็นบ้านหลังเล็กๆ ตอนนี้เป็นสวนสาธารณะแล้ว มีนิสิตเกษตรพอเลิกเรียนก็พากันมานั่งสมาธิ มีหนุ่มๆ สาวๆ 5-6 คน ต่อมาก็ชวนกันมาเพิ่มขึ้น เป็นเรื่องจริงที่ว่าแม่ชีจันทร์ไม่รู้หนังสืออ่านไม่ออก เขียนไม่ได้ แต่สามารถทำให้นิสิต นักศึกษาทั้งหลายศรัทธาในวิชชาธรรมกาย เขามานั่งกันที่บ้านธรรมประสิทธิ์ น่านับถือเขียนและอ่านไม่ได้ แต่ทำให้เขาเชื่อถือได้ ถ้าแม่ชีจันทร์ทำไม่ได้ ไม่รู้ไม่เห็นจริง เขาก็คงไม่เชื่อ พวกนิสิต นักศึกษามาเรียนกันมาก เรียนเสร็จก็กลับบ้าน ต่อมาย้ายไปสร้างวัดพระธรรมกาย ลองไปวัดพระธรรมกายดูซิ เขาทำได้ดี คนหนุ่มคนสาว คนมีความรู้ส่วนใหญ่ สำเร็จปริญญามาเป็นหมื่น เป็นแสน เงียบไม่มีเสียง นี่คือความตั้งใจจะเผยแผ่วิชชาไปทั่วโลกŽ22)

    ภารกิจของคุณยาย ณ บ้านธรรมประสิทธิ์ นอกจากการสอนธรรมปฏิบัติแล้ว คุณยายยังสอนให้ลูกศิษย์ในสมัยนั้น ซึ่งก็คือพระภิกษุรุ่นบุกเบิกตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ เลิกสูบบุหรี่ รักความสะอาด ความมีระเบียบ กล่าวได้ว่าบ้านธรรมประสิทธิ์เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมแห่งแรก ที่คุณยายจัดสถานที่ ซึ่งเป็นที่พัก ให้สะอาด เป็นระเบียบ และเป็นที่รวมของหมู่คณะในรุ่นบุกเบิกสร้างวัด ซึ่งเป็นนักศึกษา อุบาสก อุบาสิกาที่เป็นกำลังสำคัญในการสร้างวัดต่อมา


พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

     การปฏิบัติธรรมที่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร) ได้ค้นพบและคุณยายได้นำมาสอนแก่สาธุชนในภายหลัง ทำให้ข่าวการสอนของคุณยายบันทึกอยู่ในหนังสือ วิปัสสนาบันเทิงสารŽ เมื่อหลวงพ่อธัมมชโย (นามเดิมไชยบูลย์ สุทธิผล) สมัยที่ยังเป็นนักเรียนชั้นมัธยมอ่านพบเข้า จึงเกิดความหวังที่จะพบคุณยาย เพื่อตอบคำถามที่มีขึ้นในใจของท่านว่า คนเราเกิดมาทำไม มาจากไหน ตายแล้วจะไปไหน เป้าหมายชีวิตคืออะไร23)

    เมื่อหลวงพ่อมาพบคุณยาย และได้ปฏิบัติธรรมต่อเนื่อง จนเห็นคุณค่าของธรรมปฏิบัติ ทำให้ได้คำตอบที่สงสัยมานานอย่างชัดเจน คือรู้ว่าคนเราเกิดมาทำไม เป้าหมายชีวิตคืออะไร ทั้งยังทำให้ไปพระนิพพาน ได้ ช่วยมนุษย์ให้พ้นทุกข์ได้ เมื่อปฏิบัติธรรมมากเข้า ความตั้งใจในการประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิตก็เกิดขึ้น ภายหลังเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ท่านจึงอุปสมบทด้วยปณิธานมั่นว่าจะประพฤติพรหมจรรย์ตลอดชีวิต เพื่ออุทิศให้แก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาโดยไม่ลาสิกขา ในปี พ.ศ. 2512


ปณิธานของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

   เมื่อหลวงพ่อได้บวชอุทิศชีวิตแก่พระพุทธศาสนาแล้วก็มีความตั้งใจว่า จะนำพระธรรมคำสั่งสอน ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาอบรมสั่งสอนปลูกฝังคุณธรรมลงในจิตใจของเหล่าสาธุชน โดยไม่เลือกเพศ เลือกวัย เลือกเชื้อชาติ เพื่อให้ทุกคนมีศรัทธาในพระพุทธศาสน และมีโอกาสปฏิบัติธรรมให้ได้เข้าถึงธรรมะภายใน ได้พบความสุขที่แท้จริง และมีพระธรรมกายเป็นที่พึ่งของชีวิต นี่คือความปรารถนาลึกๆ ที่อยู่ในใจของหลวงพ่อตลอดเวลาŽ24)

    เมื่อได้ปฏิบัติธรรมจนหลวงพ่อธัมมชโย เกิดประสบการณ์ภายในอันละเอียดลึกซึ้ง ด้วยตนเองแล้ว ท่านกล่าวว่า  ธรรมทั้งหมดนี้มีอยู่แล้วในตัวของเรา ไม่ใช่เป็นเรื่องนอกตัว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านทรงนำเอาเรื่องในตัวที่ท่านได้เข้าถึงมาแนะนำสั่งสอน เปิดเผยให้เราได้ทราบ ให้เราได้เข้าถึงความเป็นจริงของชีวิต เข้าถึงในสิ่งที่มีอยู่แล้ว

      ไม่ว่าจะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นหรือไม่ก็ตาม แสงสว่าง ดวงธรรมภายใน กายภายใน มีอยู่แล้วในตัวเรา ไม่ได้เป็นนิมิต ไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในกลางกายของมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเชื้อชาติไหน ภาษาไหน หรือนับถือศาสนาใด ต่างแต่ว่าใครจะมีความรู้ได้กว้างไกล หรือเข้าถึงได้แค่ไหนเท่านั้น ใครเข้าถึงแค่ไหนก็รู้จักในสิ่งที่ตนเข้าถึง สิ่งที่ตนยังไม่เข้าถึง เขาก็ยังไม่รู้จัก เพราะฉะนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านจึงนำสิ่งที่มีอยู่แล้วที่ไม่เคยมีใครเข้าถึงในยุคของท่านมาเปิดเผย ให้ทุกคนได้รู้จัก ได้เข้าถึง ได้หลุดพ้น และเกิดญาณหยั่งรู้ ได้เข้าถึงความสมบูรณ์ของชีวิตเช่นเดียวกับพระองค์Ž25)

    เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว หลวงพ่อธัมมชโย ก็เริ่มทำหน้าที่สอนการปฏิบัติธรรมแทนคุณยาย ตั้งแต่ที่บ้านธรรมประสิทธิ์ จนกระทั่งมีสาธุชนให้ความสนใจมาปฏิบัติธรรมกันเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นจำนวนร้อย คุณยายจึงคิดหาพื้นที่สัก 50 ไร่ สำหรับสร้างวัด

     หลังจากการสร้างวัดแล้ว ท่านได้ขยายพื้นที่กว่า 2,000 ไร่ เพื่อรองรับการขยายงานพระพุทธศาสนา จนสามารถเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้กว้างขวางออกไปทั้งในประเทศ และต่างประเทศ


พระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

     ในปี พ.ศ. 2509 หลวงพ่อธัมมชโยได้ไปชวนรุ่นพี่คือหลวงพ่อทัตตชีโว ซึ่งขณะนั้นเรียนอยู่คณะเกษตรกรรมและสัตวบาล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาพบคุณยายด้วย

     พระเผด็จ ทตฺตชีโว ถือกำเนิดในครอบครัวชาวไร่ ที่จังหวัดกาญจนบุรี มีประสบการณ์ในการ ฝึกวิชาคงกระพันชาตรี แต่ภายหลังได้เลิกอย่างเด็ดขาดเนื่องจากได้เปลี่ยนมาฝึกสมาธิ หลวงพ่อทัตตชีโวเคยปรารภกับผู้วิจัยว่า ถ้าหลวงพ่อไม่มีโอกาสได้พบกับหลวงพ่อธัมมชโยและคุณยายก็ไม่รู้ว่าจะต้องไป อยู่ขุมไหนในปรโลกŽ การสอนของคุณยาย และการเป็นกัลยาณมิตรของหลวงพ่อธัมมชโย จึงทำให้ หลวงพ่อทัตตชีโว หันมายึดมั่นในพระรัตนตรัย ตั้งใจปฏิบัติธรรม ประพฤติพรหมจรรย์ และบวชอุทิศชีวิตในพระพุทธศาสนา ในปี พ.ศ. 2514  เผด็จ…ขอให้หมั่นรักษาเนื้อรักษาตัวให้ดี ต่อไปข้างหน้า ชื่อของคุณไปถึงไหน พระพุทธศาสนาจะไปถึงนั่นŽ26)

     ไม่ทราบว่าจะเป็นด้วยเพราะมีญาณหยั่งรู้ หรือเพราะดูจากหน่วยก้านของเด็กหนุ่มที่ทุ่มเทเอาจริงกับการฝึกสมาธิว่ามีแววจะเอาดีทางนี้ได้ จึงทำให้หลวงพ่อบุญธรรม วัดเขาแหลม จังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวคำทำนายนี้ไว้ก่อนที่ท่านจะมรณภาพไปเพียงไม่กี่ปี

      วันเวลาผ่านพ้นไปกว่าสี่สิบปีกับบุญบารมีที่ทับทวีมาเป็นลำดับ จากเด็กหนุ่มวัย 17 ปีในวันนั้น จนกระทั่งมาเป็นพระภิกษุวัย 60 ปีในวันนี้ เกียรติคุณของท่าน..พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว) แห่งวัดพระธรรมกาย ก็เลื่องลือไปทั่วทั้งแผ่นดิน

    บนเส้นทางกว่าค่อนโลกที่ท่านย่ำผ่านไป ทำให้มหาชนมากมายได้ดื่มด่ำกับความสว่างไสว และสันติสุขที่ท่านนำไปมอบให้

     ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา ไม่ว่าจะต้องตรากตรำทำหน้าที่หรือมีอุปสรรคมากน้อยเพียงใด ก็ยังไม่เคยมีใครได้ยินคำว่า เหนื่อยŽ หรือ ท้อŽ หลุดออกจากปากของท่านแม้เพียงสักครั้ง

    เพราะท่านถือว่า…นักสร้างบารมีต้องไม่มีข้อแม้ ไม่มีเงื่อนไข ไม่หวั่นไหวย่อท้อต่ออุปสรรคใดๆ ทั้งสิ้น ฉะนั้นท่านจึงได้ทุ่มเททำงานสร้างบารมีอย่างสุดชีวิต ทั้งการฝึกฝนอบรมตนให้งดงามตาม พระธรรมวินัย และการสั่งสอนผู้อื่นให้รู้ตาม ตลอดจนการสร้างวัด สร้างพระ สร้างคน และสร้างสันติสุขแก่ชาวโลก

     จึงกล่าวได้ว่า 60 ปีที่ผ่านมาของท่านคือ 60 ปีทองของการสร้างบารมีโดยแท้

ทัตตชีโวŽ แปลว่า ผู้ถวายชีวิตแล้วแด่พระศาสนาŽ
นั่นคือ มโนปณิธานอันแน่วแน่ของหลวงพ่อผู้เป็นแม่แบบของนักสร้างบารมีท่านนี้


เส้นทางในการสร้างบารมี

     พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว) มีนามเดิมว่า เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ ถือกำเนิดในครอบครัวชาวไร่ในจังหวัดกาญจนบุรี เมื่อวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม พุทธศักราช 2483 เวลา 0 นาฬิกา 30 นาที แต่ทางบ้านไปแจ้งเกิดเมื่อวันที่ 1 มกราคม พุทธศักราช 2484 โยมบิดาชื่อ นายสุน ผ่องสวัสดิ์ โยมมารดาชื่อ นางฮวย ผ่องสวัสดิ์

     อาศัยที่โยมบิดาเป็นคนที่ขยันขันแข็งและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลกว่าชาวไร่ธรรมดาทั่วไป จึงได้พยายามอบรมเคี่ยวเข็ญลูกๆ ทุกคน จนได้ดีทั้งทางด้านการศึกษาและความประพฤติ

      เส้นทางในการสร้างบารมีของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณค่อนข้างจะโลดโผนและ น่าสนใจอยู่ไม่น้อย เพื่อรักษาอรรถรสและข้อมูลที่แท้จริง จึงขอใช้เรื่องราวที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อเคยเล่าให้ฟังมานำเสนอดังต่อไปนี้

      ..เมื่ออาตมามีอายุย่างเข้าวัยรุ่นนั้น อาตมารักการฝึกสมาธิมาก เริ่มต้นมาตั้งแต่ประมาณ ปี พ.ศ.2497-2498 ขณะเรียนหนังสืออยู่ชั้นมัธยม 4 แรกทีเดียวเป็นเพราะได้อ่านวิธีการฝึกสมาธิในคัมภีร์วิสุทธิมรรค ซึ่งรจนาโดยพระพุทธโฆษาจารย์ เมื่อประมาณ พ.ศ. 900 ที่เจอเพราะรักการอ่านหนังสือ เป็นชีวิตจิตใจนั่นเอง อาตมาอ่านหนังสือทุกประเภท อ่านจนหมดห้องสมุดประชาชนประจำจังหวัดกาญจนบุรี พออ่านคัมภีร์วิสุทธิมรรคแล้วก็อยากฝึกสมาธิ แต่ฝึกเองไม่ได้ผล จึงดั้นด้นค้นหาอาจารย์สอนสมาธิ ให้บังเอิญไปพบอาจารย์ที่ฝึกสมาธิเพื่อประโยชน์ทางอิทธิฤทธิ์เข้าก่อน จึงเลยเป็นไปตามฤทธิ์หนุ่ม คือฝึกวิชาหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ สะเดาะกลอน สารพัด ใจมันอยากจะเป็นอย่างขุนแผนกับเขาบ้าง ตอนนั้นไม่รู้เลยว่าวิชาเหล่านี้เป็นวิชามาร คิดว่าเป็นวิชาพระ เพราะมีคาถาประกอบเป็นบทสรรเสริญ พระพุทธคุณบ้าง บทสรรเสริญพระโมคคัลลาน์อัครสาวกผู้มีฤทธิ์บ้าง

      ข้อสำคัญ มีอาจารย์ท่านหนึ่งสรรเสริญคุณงามความดีของขุนแผนและขุนศึกทั้งหลายที่ใช้วิชาเหล่านี้ต่อสู้ศัตรู ปกป้องประเทศชาติบ้านเมืองไว้ได้ อาตมาจึงคิดแต่ว่า จะเอาวิชานี้ไปทำประโยชน์ ให้ประเทศชาติเท่านั้น ยิ่งตอนหลังเกิดหนังเหนียว อยู่ยงคงกระพันขึ้นมาจริงๆ ก็เลยหลงคิดว่า มาถูกทางแล้ว

    โชคดีที่อาตมามีความสนใจใคร่รู้เรื่องนรกสวรรค์มาก ดังนั้นถึงแม้จะได้ร่ำเรียนวิชาที่ทำให้ มีอิทธิฤทธิ์มากเพียงใด วิชาเหล่านี้ก็ไม่สามารถดับความกระหายใคร่รู้เรื่องนรก-สวรรค์ได้เลย อาตมาจึงยังคงเสาะแสวงหาผู้รู้ในเรื่องนี้เรื่อยมา เมื่อมีเวลาว่างก็ดั้นด้นไปตามป่าตามเขา ไปฝึกสมาธิกับ พระเกจิอาจารย์ต่างๆ ได้โอกาสก็ถามท่านเรื่องนรก-สวรรค์เสียทุกคนไป

    แต่ไม่ว่าจะไปถามท่านใดทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสว่า นรกมีจริงไหม สวรรค์มีจริงไหม เทวดานางฟ้ามีจริงไหม ก็ไม่มีใครให้คำตอบที่จริงจังชัดเจน น่าเชื่อตามได้สักรายเดียว

     บางท่านครั้งแรกก็ตอบเสียงแข็งว่าสวรรค์มีจริง นรกมีจริง แต่พอถามว่า ท่านไปเห็นไปพิสูจน์มาแล้วหรือ กลับได้รับคำตอบว่า ยังไม่เคย แต่อ่านเจอในพระไตรปิฎกบ้าง อาจารย์เล่าให้ฟังบ้าง หลวงพ่อเล่าให้ฟังบ้าง พอได้ยินว่าตำราบอก เขาเล่าว่า ไม่เคยเห็นเองสักที อาตมาก็เบ้หน้าหนี แล้วอย่างนี้จะมาสอนให้เราเห็นได้ยังไง บางท่านยังบอก เคยน่ะไม่เคยไปหรอก แต่บางครั้งมันฝันไป ก็ไปเห็นเข้าโดยบังเอิญ ขนาดอ้างถึงความฝัน อาตมาก็หมดศรัทธาแล้ว

     ช่วงนั้นความมั่นใจเรื่องนรก-สวรรค์ เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องเทวดานางฟ้า หรือโอปปาติกา ไม่มีเลย เพราะหาคนที่ยืนยันขันแข็ง และพิสูจน์ให้เห็นไม่ได้ อาตมาจึงเชื่อในสิ่งที่สามารถพิสูจน์ ได้เฉพาะหน้า คือ เชื่อเรื่องหนังเหนียว รูดโซ่ ลุยไฟ เพราะเขาทำให้เราดูได้ และเมื่อเราลองทำ ก็ทำได้จริงอีกด้วย ตอนนั้นรู้สึกภูมิใจมาก

     แต่การไปพบบุคคลที่อาตมาเสาะแสวงหามานานนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะหลวงพ่อธัมมชโย บอกว่า ท่านผู้นี้เป็นแม่ชีสูงอายุ ลูกศิษย์เรียกคุณแม่บ้าง คุณยายอาจารย์บ้าง ท่านเป็นคนรักสงบ ไม่ชอบคนเอะอะมะเทิ่ง แล้วลูกศิษย์ของท่านก็เป็นคนหนุ่มสาวชาวมหาวิทยาลัยเหมือนกับเรา หรือไม่ก็เป็นคนเรียบร้อยกันทั้งนั้น ถ้าวางมาดลูกทุ่งโคบาลเข้าไป เดี๋ยวท่านเกิดรำคาญขึ้นมาก็ จะไม่ยอมรับเป็นลูกศิษย์ แล้วยังเสียชื่อมหาวิทยาลัยอีกด้วย

     เนื่องจากหลวงพ่อธัมมชโยเป็นนิสิตรุ่นน้อง จึงไม่กล้าชี้ข้อบกพร่องของอาตมาตรงๆ เพียงแต่ พูดอ้อมๆ ว่า จะต้องทำตัวอย่างไรบ้าง และรั้งตัวอาตมาไว้อบรมก่อนเกือบ 3 เดือน

    ในขณะเดียวกันท่านก็ได้สอนวิธีนั่งสมาธิเบื้องต้นเพื่อการเข้าถึงธรรมกายให้บ้าง แต่เนื่องจากอาตมาเคยฝึกสมาธิมาหลายสำนัก แบบยุบหนอพองหนอก็ฝึกมาแล้ว แบบอานาปานสติหรือ ทำแบบกำหนดลมหายใจก็ทำมาจนคุ้น พอมาเจอแบบวิชชาธรรมกาย ซึ่งท่านบอกให้กำหนด ดวงแก้วง่ายๆ สบายๆ กลับทำไม่ได้ คอยเผลอกลั้นลมหายใจทุกที บางทีก็เอาวิธีนี้ไปปนกับวิธีนั้น ให้ยุ่งไปหมดโดยไม่รู้ตัว

     ความอยากพบคุณยายอาจารย์มาก อาตมาจึงยอมทำตามคำแนะนำของหลวงพ่อธัมมชโย ทุกอย่าง เมื่อเห็นคุณยายครั้งแรก คุณยายคือแม่ชีวัยเกือบ 60 ปี รูปร่างผอมบาง ผิวคล้ำ แต่ใบหน้าผุดผ่องเป็นนวลตอง เค้าหน้าที่แสนจะธรรมดาของท่าน ทำให้อาตมาลืมคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับผู้ที่อาสา พามาเสียสิ้น จึงถามโพล่งขึ้นว่า

ยาย คุณไชยบูลย์เขาว่า ยายพาไปดูนรก-สวรรค์ได้จริงมั้ยŽ

จริง ยายเคยไปช่วยพ่อขึ้นจากนรกมาแล้วŽ

เจอคำตอบตรงเผงไม่อ้ำอึ้งแบบนี้เข้า อาตมาก็บอกกับตัวเองทันทีว่า เจอคนจริงที่ตามหามานานแสนนานแล้ว ความศรัทธาเกิดขึ้นอย่างท่วมท้น แต่ยังไม่วายถามต่อ

แล้วอย่างผมนี่ ไปดูได้ไหมŽ

คราวนี้คุณยายตอบยาว แถมให้กำลังใจเสร็จสรรพ

ได้ซิ คุณน่ะมีบุญมากอยู่แล้ว ถึงได้มาถึงที่นี่ไงล่ะ อย่างนี้ฝึกไม่นานหรอกŽ

ได้ยินอย่างนี้ใจก็พองโตด้วยความยินดี เพราะแสดงว่าคุณยายรับจะฝึกให้แล้ว วันนั้นเลยขอ ประเดิมนั่งสมาธิรวดเดียว 3 ชั่วโมง ใจมันอยากให้คุณยายรู้ด้วยว่า เราก็เอาจริงเหมือนกัน

    พอคุณยายลงนำนั่งสมาธิ บุคลิกก็เปลี่ยนไปทันที ท่านั่งตัวตั้งของท่านสง่างาม มั่นคงเฉียบขาด เหมือนทวนของขุนพลที่ปักผงาดอยู่บนรถรบ ความศรัทธาของอาตมาที่มีต่อท่านยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ

   นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา จิตใจของอาตมาก็ผูกพันอยู่กับคุณยายอาจารย์ ยอมมอบกายถวายชีวิตให้ท่านอบรมบ่มนิสัยโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น ราวกับเคยอยู่ในปกครองของท่านมาหลายภพหลายชาติ

    การซักไซ้ไล่เรียงเรื่องนรก-สวรรค์ เรื่องนิพพาน ซึ่งข้องใจมานาน ไม่จบง่ายๆ แต่คุณยาย ก็ตอบให้เข้าใจได้เป็นฉากๆ ราวกับจำลองเอาสิ่งเหล่านั้นมาวางไว้ให้ดูต่อหน้าŽ


คุณยายชวนบวช

     หลังจากที่พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว) ได้ตั้งสัจจะประพฤติพรหมจรรย์ เมื่อต้นปี พ.ศ.2513 แล้ว ท่านก็ยังคร่ำเคร่งอยู่กับงานสร้างวัด ไม่คิดถึงเรื่องบวชเลย คุณยายคงกลัว ท่านพลาดพลั้งเสียสัจจะ วันหนึ่งคุณยายจึงเรียกท่านไปเตือนว่า

   คุณเด็จ คุณอยู่ทางโลกไม่ได้หรอกนะ เพราะคุณเป็นคนใจกว้าง มีสมบัติอะไรคุณก็ให้เขาหมด ขืนมีครอบครัวก็จะลำบากŽ คุณยายยังบอกต่อว่า

     คุณเกิดมาเพื่อสร้างบารมีเท่านั้น บวชเสียแล้วจะประสบความสำเร็จทุกสิ่งอย่างที่ต้องการ คุณเป็นคนมีความเพียร คุณมีสิทธิ์จะรู้จะเห็นธรรมได้ เพราะฉะนั้นบวชเถอะ ยายจะกำหนดวันให้Ž

      ต่อมาพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ(หลวงพ่อทัตตชีโว) ได้บวชเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2514 ได้เป็นกำลังหลักในการรองรับงานพระพุทธศาสนาจากนโยบายของพระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) และคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง เป็นอย่างดีเยี่ยม


ปณิธานการสร้างวัดพระธรรมกาย

    ด้วยความตั้งใจที่จะเผยแผ่การปฏิบัติธรรมเพื่อให้คนทั่วไปพบความสุขภายใน คุณยายจึงคิดว่าจะต้องหาแผ่นดินสัก 50 ไร่ เป็นสถานที่ไปมาสะดวก ไม่ห่างไกลตัวเมืองมากนัก และต้องมีบรรยากาศวิเวก สงบร่มรื่น สามารถรองรับคนได้ 100-200 คนเท่านั้น ไว้เป็นสถานที่สำหรับบ้านธรรมประสิทธิ์สร้าง บุญกุศล สำหรับผู้มาปฏิบัติธรรม ซึ่งนับวันจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

    ต่อมาหมู่คณะได้ไปขอซื้อที่ของคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี ซึ่งเป็นมารดาของ คุณวรณี สุนทรเวช จำนวน 50 ไร่ บังเอิญวันที่ไปขอซื้อเป็นวันคล้ายวันเกิดของคุณหญิงประหยัดพอดี ท่านมีจิตศรัทธาเพราะเห็นว่าจะนำไปสร้างเป็นวัด จึงยกที่ดินให้ทั้งแปลง 196 ไร่ 9 ตารางวา ณ ตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ในปลายปี พ.ศ. 2512 และมาสร้างเป็นวัดพระธรรมกายในปัจจุบัน


จากศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมมาเป็นวัดพระธรรมกาย

     ในวันมาฆบูชาที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2513 คณะผู้บุกเบิกได้สร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมให้ชื่อว่า ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมŽ ต่อมาจึงได้ยกฐานะจากศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมขึ้นเป็นวัดตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ได้ และให้ชื่อว่า วัดวรณีธรรมกายารามŽ เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2520 และเพื่อให้สอดคล้องกับการเผยแผ่ธรรมปฏิบัติของวัด จึงเปลี่ยนชื่อวัดเป็น วัดพระธรรมกายŽ เมื่อวันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2524


จุดประสงค์ในการสร้างวัดพระธรรมกาย

      ความตั้งใจแน่วแน่ของคณะผู้บุกเบิกสร้างวัด คือ การอบรมศีลธรรมแก่ประชาชน เพื่อสร้างสันติสุขให้แก่ชาวโลก ได้กำหนดวัตถุประสงค์ ซึ่งถือว่าเป็นอุดมการณ์ของวัด 3 ประการคือ

1.สร้างวัดให้เป็นวัด คือเป็นวัดที่สะอาด สงบ ร่มรื่น สำหรับการประพฤติปฏิบัติธรรมของประชาชน

2.สร้างพระให้เป็นพระ คือ ฝึกอบรมพระภิกษุ ให้ถึงพร้อมด้วยศีลาจารวัตร และคุณธรรมภายใน เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา สามารถเป็นครูสอนศีลธรรมให้แก่ประชาชนได้

3.สร้างคนให้เป็นคนดี คือสร้างคนดีมีศีลธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคมและประเทศชาติและมีความมุ่งหวังให้วัดพระธรรมกาย เป็นโรงเรียนสอนศีลธรรมให้กับประชาชน สร้างคน สร้างวัด27)


พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย) ได้เล่าถึงประวัติการสร้างวัดจนถึงปัจจุบันว่า

    ในการสร้างวัดมีคุณยายท่านเป็นหลักเป็นประธาน และนอกนั้นเป็นทีมงานสร้างวัดกันตั้งแต่ท้องไร่ ท้องนา ตอนแรกคิดว่าจะมีเพียง 21 รูปเท่านั้น พอทำสังฆกรรมได้ โดยเฉพาะอยู่ในปริวาสกรรม ต้องมีสงฆ์ 21 รูป คิดไว้แค่นั้น แล้วก็สร้างกุฏิในวัดกระจายเป็นหลังๆ ต่อมาก็เริ่มทยอยกันบวชเรื่อยๆ หลวงพ่อ ก็สอนธรรมไป ญาติโยมก็มานั่งกันโคนต้นไม้ กลางแดดก็มี อยู่ใต้เต๊นท์ ใต้กลดบ้าง และมีคนสนใจมาปฏิบัติธรรมเพิ่มขึ้น แต่เดิมญาติโยมเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมเป็นเรื่องของพระ ของนักบวช แต่พออธิบายว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว มีความจำเป็นและสำคัญยิ่งของมนุษย์ทุกคนในโลก จะเป็นพระหรือฆราวาสก็เริ่มตื่นตัวมาสนใจนั่งสมาธิ ญาติโยมมามากจนกระทั่งเห็นเขานั่งกลางแดด ทนไม่ไหวเลยต้องสร้างศาลาจาตุมหาราชิกา ซึ่งจุได้ 500 คน

    สอนไปสอนมา ญาติโยมเห็นว่าดีก็ไปชวนกันมาปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว เรามีที่นั่งได้ 500 ที่นั่ง แต่มาวัดกัน 7,000 คน ที่เหลือต้องนั่งตากแดดกันอยู่อย่างนั้น ร่มไม้ไม่ค่อยมี เห็นแบบนั้น จึงสร้างสภาธรรมกายสากลหลังคาจาก (จุได้ 10,000คน) เราสร้างตามความจำเป็นของผู้ที่มา จากนั้นก็ต้องสร้างโรงครัว เพราะพระเยอะขึ้น ญาติโยมเยอะขึ้น ทำอาหารเลี้ยงทั้งพระเณร ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมกันไป ก็ต้องเลี้ยงกันไป สภาจากว่าจุได้มากแล้ว สร้างเผื่อไว้เลย เพื่อจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรม

   กลับมาที่การสร้างโบสถ์ในยุคแรก เราต้องไปยืมโบสถ์วัดกลาง (พระอาจารย์เล็ก ขณะนี้ท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอคลองหลวง) เพื่อลงปาติโมกข์ เพราะเรายังไม่มีโบสถ์ ไปยืมบ่อยๆ ภายหลังต้องสร้างโบสถ์ของวัดพระธรรมกายเอง คือตั้งใจสร้างแบบง่าย ให้แข็งแรง จะไม่ต้องมาซ่อมกันอีก (ทำให้มีการ วิพากษ์วิจารณ์ว่าโบสถ์ที่วัดพระธรรมกายคล้ายโบสถ์คริสต์มาก : ผู้วิจัย)

     เมื่อมีที่นั่งจุได้ 10,000 คน ก็ชวนญาติโยมปฏิบัติธรรมมาอย่างต่อเนื่อง แต่เดิมญาติโยมมาวัดใส่เสื้อสีๆ กันเราก็แนะนำให้ใส่ชุดขาว เพราะปู่ย่าตายายเขาใส่กันมา มันทำให้กายวาจา ใจ มีความรู้สึกสะอาด และสีๆใส่กันสวยงามมาเดี๋ยวมาประกวดประขันกันใจก็จะไม่รวม แรกๆ ก็โดนคนว่า ว่าอวดอุตริ เราก็ค่อยๆ สอนไป และก็ค่อยๆ แนะกันไปที่ละคน สองคน ก็ใส่สีขาวมากันเพิ่มขึ้น ดูแล้วเรียบร้อย จะมีคนอื่นพูดว่าทำไมมาวัดนี้มันต้องยุ่งยาก ที่อื่นไม่เห็นกำหนดแบบนี้

   ภายหลังคนนั่งเต็มศาลา ก็แต่งกายชุดขาวกัน นั่งเรียบร้อยไม่คุยกันเลย รองเท้าก็จัดเป็นระเบียบ คุณยายท่านเริ่มก่อน ท่านไปเอาบุญพิเศษไปจัดรองเท้าก่อน พระทนไม่ไหวก็ต้องลงไปจัดบ้าง โยมเห็นพระจัดรองเท้าทนไม่ไหว โยมก็เลยต้องช่วยกันจัด การวางรองเท้าเลยเรียบร้อยหมด ตอนหลังเด็กๆ ก็มาตีตารางกัน ทุกคนสามารถเรียงรองเท้าตัวเองได้เลย

    ที่นี้พอมีสภาหลังคาจากจุคนได้ 10,000 คน แต่มีคนมาถึง 30,000 คน ที่มาเพิ่มต้องไปนั่งกลางแดดกลางฝน เวลาฝนตกลงมาก็ต้องไปนั่งงอก่องอขิงกัน เห็นแล้วก็ทนไม่ได้อีก หลังสุดท้ายสร้างให้มันใหญ่เลย ขนาดใหญ่กว่าสนามหลวง 2 เท่า เพราะมีชั้นบน และชั้นล่าง สร้างทีเดียวจุได้ 100,000 คน ใช้เนื้อที่ 100 ไร่เศษ ซึ่งมีประโยชน์มากในปัจจุบัน

     ต่อมาคิดว่าโลกยังขาดแคลนแบบอย่างที่ดี สันติภาพของโลกจะต้องเกิดจากสันติสุขภายใน จะต้องมีภาพที่ทำให้โลกเกิดแรงบันดาลใจอยากจะปฏิบัติธรรม อยากจะประพฤติพรหมจรรย์ จึงสร้าง มหาธรรมกายเจดีย์ขึ้น สร้างขึ้นมาเพื่อให้เป็นจุดรวมใจของผู้มีบุญ โดยกำหนดเนื้อที่รอบมหาธรรมกายเจดีย์ไว้หนึ่งล้านตารางเมตร หนึ่งคนต่อหนึ่งตารางเมตร หมายความว่าจะต้องมีผู้มีบุญมาสักการบูชา มหาธรรมกายเจดีย์ หรือปฏิบัติธรรมร่วมกันหนึ่งล้าน ภาพคนหนึ่งล้านคนที่มีระเบียบและประพฤติธรรม สงบเสงี่ยม นี่แหละจะสร้างแรงบันดาลใจให้ชาวโลกทั้งหลาย เกิดความรู้สึกว่าเขามาทำอะไร ทำไมมีระเบียบเรียบร้อย และจะได้เป็นหัวข้อสนทนาว่าที่มานั่งกันนี่เขามาแสวงหาพระรัตนตรัยในตัว ที่พึ่งในตัว ถ้าเข้าถึงแล้วจะมีความสุข ปลอดภัย อบอุ่น และได้รู้เรื่องราวความจริงของชีวิต ก็จะเกิดแรงบันดาลใจอยากประพฤติปฏิบัติธรรมตามไปด้วย จึงได้ชวนสร้างพระ สร้างคนละองค์ สององค์ มหาธรรมกายเจดีย์มีส่วนของสังฆรัตนะ เพื่อที่จะได้กราบนิมนต์พระเถรานุเถระ พระสังฆาธิการ มาร่วมพิธีกัน จะได้ครบ พุทธบริษัทก็ทำกันมามาชะงักตอนเขาคิดว่าเราอยากจะเป็นใหญ่ อยากเด่น อยากดัง แต่ไม่ใช่เลย ขอพูดด้วยความสุจริตใจ ต้องการให้ทุกคนได้มาศึกษาธรรมะ มาปฏิบัติธรรม เราต้องการบุญ และอยากเห็นคนที่เขาประพฤติปฏิบัติธรรมแค่นั้นก็ดีใจแล้ว เราจะได้เก็บเกี่ยวเอาบุญติดตัวกันไปในภพเบื้องหน้า ตายแล้วจะได้ไม่ตกนรก และอยากจะได้บุญ ที่สำคัญอยากเห็นพระพุทธศาสนาขยายไปทั่วประเทศŽ28)

     ในการพิจารณาวิสัยทัศน์นับตั้งแต่หลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อธัมมชโย มีความคิดในการเผยแผ่วิธีการปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงพระรัตนตรัย ในตัว ซึ่งเกิดจากผลการปฏิบัติที่ท่านทั้ง 3 ได้รับประสบการณ์ภายในด้วยตนเอง และเกิดแรงบันดาลใจ ที่จะเผยแผ่การปฏิบัติธรรม ดังกล่าวเพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่นในการดำเนินชีวิตในวงกว้าง

    ภารกิจในการทำงานดังกล่าว มีคุณยายเป็นผู้สืบสานปณิธาน ตั้งแต่เริ่มมีกลุ่มที่เข้ามาปฏิบัติธรรม และมีความตั้งใจเหมือนกัน จัดหาสถานที่ และจัดหาทุนในการก่อสร้าง คุณยายกำหนดหน้าที่ของพระภิกษุแต่ละรูปในการทำงานหลักด้านต่างๆ ของวัด ขณะเดียวกันก็สอนเรื่องที่ทุกคนต้องมีเป้าหมายและการฝึกที่เหมือนกัน ได้แก่การอยู่ร่วมกันในหมู่คณะ ความตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์ การดูแลปัจจัย 4 ให้สะอาด เรียบร้อยและรู้จักใช้ของ รวมทั้งการวางระเบียบกฎเกณฑ์ของวัด และการวางตัวของพระภิกษุ และฆราวาส

 


1) เรียบเรียงจากวิทยานิพนธ์เรื่อง “    การศึกษาเรื่องกระบวนการขัดเกลาทางสังคมและพัฒนาบุคลากรของวัดพระธรรมกาย” , อัชวัน หงินรักษา อักษรศาสตร์มหาบัณฑิต (พุทธศาสตร์ศึกษา) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2546.
2) มูลนิธิธรรมกาย, 29 ปีแห่งการสร้างคนดี วัดพระธรรมกาย, (กรุงเทพมหานคร : ยงวราการพิมพ์, 2543), หน้า 55.
3) ข้อมูลปี พ.ศ. 2545.
4) คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง คือแม่ชี ซึ่งบวชรักษาศีล 8 นามเดิมคุณยายจันทร์ ขนนกยูง และได้สอนการปฏิบัติธรรมให้กับท่านเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และรองเจ้าอาวาสในระยะเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรม จึงได้เรียกนามว่า คุณยายอาจารย์ ส่วนคำต่อว่าท้ายว่า มหารัตนอุบาสิกานั้น ท่านเจ้าอาวาสได้ขนานนามท่านภายหลังมีการสลายร่างท่าน.
5) นามเดิม ไชยบูลย์ สุทธิผล เป็นชาวจังหวัดสิงห์บุรี อุปสมบทเมื่ออายุ 25 ปี พ.ศ. 2512 เกิดวันที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2487 ได้รับฉายา ไชยบูลย์ ธมฺมชโย ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นราชาคณะชั้นสามัญฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “    พระสุธรรมยานเถร” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2534 และได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชคณะชั้นราชฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ “    พระราชภาวนาวิสุทธิ์” เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2539.
6) นามเดิม เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ เป็นชาวจังหวัดกาญจนบุรี อุปสมบทเมื่ออายุ 29 ปี พ.ศ. 2514 ได้รับฉายา พระเผด็จ ทตฺตชีโว เกิดวันที่ 21 ธันวาคม 2483 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “    พระภาวนาวิริยคุณ” เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535.
7) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), (กรุงเทพมหานคร : ฟองทองเอนเตอร์ไพรส์, 2543.
8) วัดพระธรรมกาย, พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย (ม.ป.ท.), (เอกสารเผยแพร่).
9) คมฺภีโร จายํ ธมโม ทุทฺทโส ทุรานุโพโธ สนฺโต ปณีโต อตกฺกาวจโร นิปุโณ ปณฺฑิตเวยนิโย “    ธรรมนี้เป็นสภาพลึก เห็นได้ยาก ตรัสรู้ได้ยาก เป็นธรรมสงบ ประณีต คิดคาดเดาไม่ได้ ละเอียด เป็นวิสัยที่บัณฑิตพึงรู้” อ้างใน วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 10.
10) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 50.
11) วัดพระธรรมกาย, พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย, (มปท.), (เอกสารเผยแพร่).
12) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), “    พรรษาวิสุทธิ์”, (กรุงเทพฯ : ฟองทองเอ็นเตอร์ไพร์ส, 2544), หน้า 66.
13) วโรพร, ตามรอยพระมงคลเทพมุนี (หลวงปู่วัดปากน้ำ), หน้า 36-37.
14) ว.วัชรวีร์, พระมงคลเทพมุนี มหาปูชนียาจารย์, (กรุงเทพฯ : สุขุมวิทการพิมพ์, 2540), หน้า 37-38.
15) สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชา ในที่ระลึกงานมุทิตาฉลองพัดยศ พระครูสัญญาบัตรชั้นโทพระครูมงคลพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์(บน) (ม.ป.ท., 2544), หน้า 27.
16) ประภาศรี บุญสุข (เรียบเรียง), คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย, พิมพ์ครั้งที่ 2 (กรุงเทพฯ : ฟองทองเอ็นเตอร์ไพรส์, 2544), หน้า 14-19.
17) อารีพันธ์ ตรีอนุสรณ์, คืนที่พระจันทร์หายไป, (กรุงเทพฯ : ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์, 2544), หน้า 23-24.
18) ธรรมกาย คือ กายตรัสรู้ธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.
19) ญาณทัสสนะ หมายถึง ปัญญาอันเกิดจากการรู้แจ้งภายใน.
20) พระสุพลิษฐ์ จันทาโภ และคณะ, สมุดภาพคุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง, (กรุงเทพมหานคร : เอส พี เค, 2545), หน้า 5.
21) สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา ในที่ระลึกงานมุทิตาฉลองพัดยศ พระครูสัญญาบัตรชั้นโทพระครูมงคลพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์(บน) (ม.ป.ท., 2544), หน้า 59-60.
22) สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา ในที่ระลึกงานมุทิตาฉลองพัดยศ พระครูสัญญาบัตรชั้นโทพระครูมงคลพัฒนคุณ เจ้าอาวาสวัดโบสถ์(บน) (ม.ป.ท., 2544), หน้า 98.
23) มูลนิธิธรรมกาย, 20 ปีวัดพระธรรมกาย, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2553), หน้า 46.
24) มูลนิธิธรรมกาย, 20 ปีวัดพระธรรมกาย, พิมพ์ครั้งที่ 4, (กรุงเทพฯ : ด่านสุทธาการพิมพ์, 2553), หน้า 61.
25) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย), พรรษาวิสุทธิ์, (กรุงเทพฯ : ฟองทองเอนเตอร์ไพรส์, 2544), หน้า 77.
26) มูลนิธิธรรมกาย, มุทิตาสักการะพระภาวนาวิริยะคุณ ครบรอบ 60 ปี วัดพระธรรมกาย, หน้า 3.
27) มูลนิธิธรรมกาย, 29 ปี แห่งการสร้างคนดี วัดพระธรรมกาย, หน้า 19.
28) พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย), พระธรรมเทศนา ณ สภาธรรมกายสากล, 19 มิถุนายน 2546.

 


หนังสือ DF 303 เครือข่ายองค์กรกัลยาณมิตร
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0010895649592082 Mins