ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา

วันที่ 23 มิย. พ.ศ.2559

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับศาสนา


     อาจจะกล่าวได้ว่า ในประวัติศาสตร์ของมวลมนุษยชาติ ไม่มียุคสมัยใดและไม่มีเผ่าใดเลย ที่ไม่นับถือศาสนา ซึ่งในสังคมปัจจุบันนี้มีประเทศต่างๆ ในโลกมากกว่า 190 ประเทศ และมีประชากรมากกว่า 6,000 ล้านคน ต่างก็นับถือศาสนาด้วยกันแทบทั้งสิ้น ศาสนาจึงมีอิทธิพลและแพร่หลายไปทั่วในสังคมมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่สังคมปฐมภูมิเก่าแก่ที่สุดจนถึงยุคปัจจุบัน ศาสนาจึงเป็นคำที่มนุษย์คุ้นเคยได้ยินมานานและมีความหมายมากที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด อีกทั้งมีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของมนุษย์มากที่สุดด้วย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งที่เราควรจะต้องศึกษาให้เข้าใจถึงภูมิหลังของศาสนาต่างๆ ที่มีมนุษย์นับถือกันอยู่ทั่วโลก


ความหมายของศาสนา

         คำว่า ศาสนาŽ นักปราชญ์ได้นิยามความหมายของศาสนาไว้แตกต่างกันอยู่มาก จึงขอนำเสนอความหมายที่ควรทราบ ดังนี้

1.1 ความหมายตามรูปศัพท์เดิม

      1.1.1 ความหมายตามรูปศัพท์เดิม1) ในภาษาสันสกฤต คือ ศาสนํ และตรงกับในภาษาบาลีว่า สาสนํ แปลว่า คำสั่งสอน คำสอน หรือการปกครอง ซึ่งมีความหมายเป็นลำดับ ได้แก่

1)    คำสั่งสอน แยกได้เป็น คำสั่ง หมายถึง ข้อห้ามทำความชั่ว เรียกว่า ศีล หรือ วินัย คำสอน หมายถึง คำแนะนำให้ทำความดี ที่เรียกว่า ธรรม เมื่อรวมคำสั่งและคำสอน จึงหมายถึง ศีลธรรม หรือศีลกับธรรม นั่นคือมีทั้งข้อห้ามทำความชั่ว และแนะนำให้ทำความดี ซึ่งคำสั่งสอนต้องมีองค์ประกอบ คือ

1.    กล่าวถึงความเชื่อในอำนาจของสิ่งที่มิอาจมองเห็นได้ด้วยตา เช่น

ก.    ศาสนาอิสลามและศาสนาคริสต์ เชื่อในอำนาจแห่งพระเจ้า
ข.    ศาสนาพุทธ เชื่ออำนาจแห่งกรรม
ค.    ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู เชื่ออำนาจแห่งเทพเจ้า

2.    มีหลักศีลธรรม เช่น สอนให้ละความชั่ว สร้างความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์ เป็นต้น

3.    มีจุดหมายสูงสุดในชีวิต เช่น นิพพานในศาสนาพุทธ ชีวิตนิรันดรในศาสนาคริสต์และศาสนาอิสลาม

4.    มีพิธีกรรม เช่น

ก.    พิธีบรรพชาและพิธีอุปสมบท ในศาสนาพุทธ
ข.    พิธีรับศีลล้างบาป ศีลมหาสนิทและศีลพลัง ในศาสนาคริสต์
ค.    พิธีละหมาด พิธีเคารพพระเจ้า ในศาสนาอิสลาม

5.    มีความเข้มงวดกวดขันในเรื่องความจงรักภักดี
 

2)    การปกครอง หมายถึง การปกครองจิตใจของตนเอง ควบคุมดูแลตนเอง กล่าวตักเตือนตนเองอยู่เสมอ และรับผิดชอบการกระทำทุกอย่างของตน บุคคลผู้สามารถปกครองจิตใจของตนได้ ย่อมจะไม่ทำความชั่วทั้งในที่ลับและที่แจ้ง

 

1.2 ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ

        ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ2) ความหมายตามรูปศัพท์ในภาษาอังกฤษ1 คือ Religion มาจากภาษาละตินว่า Religare มีความหมายเป็นภาษาอังกฤษว่า To bind fast (ยึดถือ/ผูกพันอย่างแน่นแฟ้น) กล่าวคือ ผูกพันอย่างเหนียวแน่นต่อพระผู้เป็นเจ้า (God) หรือพระผู้สร้าง (Creator) และอีกศัพท์หนึ่งว่า Relegere แปลว่า การปฏิบัติต่อ หรือการเกี่ยวข้องด้วยความระมัดระวัง เป็นการปฏิบัติตนเพื่อแสดงความเลื่อมใสหรือเกรงกลัวอำนาจเหนือตน ซึ่งในความหมายของชาวตะวันตก3) ตลอดทั้งผู้นับถือศาสนาประเภทเทวนิยม จะเข้าใจศาสนาในลักษณะที่ว่า

1.    มีความเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก สร้างสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลาย

2.    มีความเชื่อว่า หลักคำสั่งสอนต่างๆ มาจากพระเจ้า ทั้งศีลธรรมจรรยาและกฎหมายในสังคมเป็นสิ่งที่พระเจ้าทรงกำหนดขึ้น

3.    มีหลักความเชื่อบางอย่างเป็นอจินไตย คือ เชื่อไปตามคำสอนโดยไม่คำนึงถึง ข้อพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์ แต่อาศัยเทวานุภาพของเทพเจ้า ผู้อยู่เหนือตนเป็นเกณฑ์

4.    มีหลักการมอบตน คือมอบการกระทำของตนและอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับตนให้พระเจ้าด้วยความจงรักภักดี

       ส่วนคำว่า ศาสนาŽ ตามความหมายของชาวตะวันออก4) โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธ หมายถึง คำสั่งสอนของท่านผู้รู้ คำสั่ง คือ วินัย คำสอน คือ ธรรม หรือธรรมะ รวมเรียกว่า ธรรมวินัย ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับคำว่า ReligionŽ ของทางสังคมตะวันตก คือ

1.    ไม่มีหลักความเชื่อว่า พระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก แต่มีหลักความเชื่อว่า กรรมเป็น ผู้สร้างโลกและสร้างสรรพสิ่ง (กมฺมุนา วตฺตตี โลโก - สัตวโลกย่อมเป็นไปตามกรรม)

2.    ไม่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ มาจากพระเจ้า แต่มีหลักความเชื่อว่า คำสอนต่างๆ ผู้รู้ คือ พุทธ เป็นผู้สั่งสอน (สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺต ปริโย-ทปนํ เอตํ พุทฺธานสาสนํ - การไม่ทำชั่วทั้งปวง การทำความดีให้ถึงพร้อม การทำใจให้ผ่องแผ้ว นี่คือคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า)

3.    ไม่มีหลักความเชื่อไปตามคำสอนโดยไม่คำนึงถึงข้อพิสูจน์ แต่มีหลักให้พิสูจน์คำสอนนั้น (สนฺทิฏฺิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ - อันผู้ปฏิบัติจะพึงเห็นชัดด้วยตัวเอง ไม่จำกัดด้วยกาล ควรเรียกให้มาดู ควรน้อมเข้ามา อันวิญญูชน พึงรู้เฉพาะตน)

4.    ไม่มีหลักการยอมมอบตนให้แก่พระเจ้า แต่มีหลักการมอบตนให้แก่ตนเอง (อตฺตา หิ อตฺตโน นาโถ - ตนแล เป็นที่พึ่งของตน)

       ตามที่กล่าวมานี้ จะเห็นได้ว่า ศาสนา ตามความหมายของทางตะวันออก โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธ กับคำว่า Religion ตามความหมายของทางตะวันตก ย่อมมีลักษณะแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของศาสนาในแต่ละประเภท ศาสนาตามความหมายของทางตะวันออก โดยเฉพาะทางศาสนาพุทธนั้น มีจุดยืนตั้งอยู่บนหลักของเหตุและผล รวมทั้งเป็นเรื่องของมนุษย์กับธรรมชาติโดยตรง ส่วนศาสนาของทางตะวันตก มีจุดยืนอยู่ที่ศรัทธาหรือความเชื่อในสิ่งนอกเหนือธรรมชาติ ซึ่งเหตุผลต่างๆ ย่อมถูกนำมาสนับสนุนความเชื่อต่างๆ โดยไม่ต้องมีการพิสูจน์

 

1.3 ความหมายตามพจนานุกรม

      ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 25425) ศาสนา คือ ลัทธิความเชื่อถือของมนุษย์อันมีหลัก คือแสดงกำเนิดและความสิ้นสุดของโลกเป็นต้น อันเป็นไปในฝ่ายปรมัตถ์ประการหนึ่ง แสดงหลักธรรมเกี่ยวกับบุญบาปอันเป็นไปในฝ่าย ศีลธรรมประการหนึ่ง พร้อมทั้งลัทธิพิธีที่กระทำตามความเห็นหรือตามคำสั่งสอนในความ เชื่อถือนั้นๆ

 

1.4 ในทรรศนะของพระยาอนุมานราชธน

      ในทรรศนะของพระยาอนุมานราชธน6) ให้ความหมายว่า ศาสนา คือ ความเชื่อซึ่งแสดงออกมาให้ปรากฏเห็นเป็นกิริยาอาการของผู้เลื่อมใส ว่ามีความเคารพเกรงกลัว ซึ่งอำนาจอันอยู่เหนือโลกหรือพระเจ้า ซึ่งบอกให้ผู้เชื่อรู้ได้ด้วยปัญญา ความรู้สึกเกิดขึ้นเองโดยสัญชาตญาณ ว่าต้องมีอยู่เป็นรูปร่างอย่างใดอย่างหนึ่งและต้องเป็นผู้สร้าง และเป็นผู้กำหนดวิถีชีวิตของมนุษย์ให้มีอยู่ เป็นอยู่ กล่าวกันง่ายๆ ศาสนา คือ การบูชาพระเจ้า ผู้ซึ่งมีทิพยอำนาจ อยู่เหนือธรรมชาติด้วยความเคารพกลัวเกรง

.

1.5 ในทรรศนะของหลวงวิจิตรวาทการ

      ในทรรศนะของหลวงวิจิตรวาทการ7) ให้ความหมายว่า ศาสนาเป็นเรื่องที่ถือว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ มีคำสอนทางจรรยา มีศาสดา มีคณะบุคคลที่รักษาความศักดิ์สิทธิ์และคำสอนไว้ เช่น พระหรือนักบวช และมีการกวดขันเรื่องความจงรักภักดี

 

1.6 ในทรรศนะของ Emile Durkheim

      ในทรรศนะของ Emile Durkheim8) ให้ความหมายว่า ศาสนา คือ ระบบรวม ว่าด้วยความเชื่อและการปฏิบัติเพื่อความสัมพันธ์ในสิ่งศักดิ์สิทธิ์

 

1.7 ในทรรศนะของ A.C Bouget

      ในทรรศนะของ A.C Bouget9) ให้ความหมายว่า ศาสนา หมายถึง ความสัมพันธ์ อันแนบแน่นระหว่างมนุษย์กับสิ่งที่มิใช่มนุษย์ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหนือธรรมชาติ สิ่งที่สามารถดำรงอยู่ได้ด้วยตนเองหรือพระเจ้า แต่สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องกับขบวนการมากกว่าเกี่ยวข้องกับบุคคล ศาสนา คือ หนทางอย่างหนึ่งซึ่งแสดงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับจุดมุ่งหมาย จุดประสงค์ความเชื่อของเขา

         จากทรรศนะต่างๆ ที่กล่าวมาทั้งหมดในตอนต้นนั้น สามารถสรุปให้ครอบคลุม ความหมายของศาสนาทั้งที่เป็นเทวนิยมและอเทวนิยมได้ว่า ศาสนา คือ คำสอนที่ศาสดานำมา เผยแผ่ สั่งสอน แจกแจง แสดงให้มนุษย์ละเว้นจากความชั่ว กระทำแต่ความดี เพื่อประสบสันติสุขในชีวิต ทั้งในระดับธรรมดาสามัญและความสุขสงบนิรันดร ซึ่งมนุษย์ยึดถือปฏิบัติตามคำสอนนั้นด้วยความเคารพเลื่อมใสและศรัทธา คำสอนดังกล่าวนี้ จะมีลักษณะเป็นสัจธรรมที่มีอยู่ในธรรมชาติแล้วศาสดาเป็นผู้ค้นพบ หรือจะเป็นโองการที่ศาสดารับมาจากพระเจ้าก็ได้
 

 

 


1) สุชีพ ปุญญานุภาพ, ประวัติศาสตร์ศาสนา, 2532 หน้า 1.
2) Reese, W.L. Dictionary of Philosophy and Religion Easterm and Westem and Thought, 1980 p .488-489.
3) C.Braden. The World's Religions, 1994 P.16-17.

4) เดือน คำดี, ศาสนาเบื้องต้น, 2531 หน้า 26-27.
5) ราชบัณฑิตยสถาน, พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542, 2546 หน้า 1100.
6) อนุมานราชธน, พระยา. ประวัติศาสตร์โลกสมัยโบราณ, 2515 หน้า 15.
7) วิจิตรวาทการ, หลวง. ศาสนาสากล, 2510 หน้า 15.
8) Emile Durkheim. The Elementary Form of The Religious Life, 1964 P.47.
9) A.C. Bouget. Comparative Religion, 1954 P .12.

 

 


หนังสือ DF 404 ศาสนศึกษา
กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.032222934563955 Mins