ห้องอาหาร ห้องพัฒนานิสัย ประมาณในการพูด และการใช้ทรัพย์

วันที่ 04 เมย. พ.ศ.2559

ห้องอาหาร
ห้องพัฒนานิสัย ประมาณในการพูด และการใช้ทรัพย์

 

1. เตรียมพร้อมก่อนรับประทานอาหาร

ห้องอาหาร , ห้องพัฒนานิสัย , ประมาณในการพูด , การใช้ทรัพย์ , รับประทานอาหาร , ห้องอาหาร , ห้องครัว , หิว , อิ่ม ,

"เริ่มต้นดี มีชัยไปกว่าครึ่ง"
    เอ...กินข้าวมันยิ่งใหญ่ขนาดนั้นเลยหรือ...ยิ่งใหญ่แน่นอนเพราะ อาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ขาดไม่ได้ของมนุษย์ทุกคน เมื่อเราไม่ได้อยู่ในโลกนี้คนเดียวก่อนรับประทานอาหารแต่ละมื้อจึงมีข้อควรปฏิบัติดังนี้

เชื้อเชิญให้พร้อมหน้า
   ไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนเสน่ห์ง่ายๆ คือ เชิญชวนทุกคนให้มารับประทานอาหารด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าอยู่ที่บ้านต้องให้ครบทุกคนถึงจะเรียกว่าครอบครัวอบอุ่น

แสดงน้ำใจ
     แสดงน้ำใจโดยการช่วยจัด ช่วยวาง รินน้ำเปล่า แจกระดาษเช็ดปาก วางช้อนส้อม และช้อนกลาง

ประมาณในการรับ
    ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า "อย่าสั่งอาหารตอนหิว" เพราะสั่งตอนหิวทีไรรับประทานกันไม่หมดทุกที เราอยู่กับท้องของเราทุกวันลองฝึกการประมาณ ตั้งแต่การตักข้าวกันนะ เป็นเรื่องที่เราต้องเจอทุกวันต้องทำทุกวันอยู่แล้ว ถ้าเรายังวางแผนประมาณการอาหารที่เราทานยังไม่ได้ แล้วเราจะวางแผนเรื่องอื่นๆในชีวิตเราได้อย่างไร

ให้เกียรติผู้ใหญ่ 
   มารยาทแต่ละประเทศต่างกัน ในเรื่องนี้ ถ้าเป็นญี่ปุ่นการให้เกียรติผู้ใหญ่ต้องให้ผู้น้อยทุกๆคนนั่งให้พร้อมที่โต๊ะอาหาร แล้วจึงเชิญผู้ใหญ่ แต่ถ้าเป็นของคนไทยจะรอผู้ใหญ่มาก่อน เมื่อผู้ใหญ่นั่งโต๊ะแล้วทุกคนจึงจะเข้ามานั่งพร้อมๆกัน  และในฐานะผู้น้อยต้องดูแลบริการตั้งแต่เปิดประตูให้ท่าน เชิญนั่งในมุมที่ดีที่สุด ของโต๊ะอาหาร ดูทางเดินว่าเข้าออกได้สะดวก คอยเลื่อนเก้าอี้ให้ท่านได้นั่งสะดวก เป็นเรื่องเล็กน้อยทั้งนั้น แต่สร้างความรู้สึก ที่แตกต่างให้กับผู้ใหญ่ที่เราทำการต้อนรับ

วางตนให้เหมาะกับฐานะ
    ถ้าเราเป็นผู้น้อยต้องทำตัวอย่างผู้น้อย คือไม่ลงมือรับประทานอาหารก่อนผู้ใหญ่ ให้สังเกตว่าผู้ใหญ่ที่สุดในที่นั้นคือใคร ให้ท่านเริ่มรับประทานอาหารก่อนเราถึงจะเริ่มรับประทานอาหารตาม ในทางกลับกันถ้าเราเป็นผู้ใหญ่ก็ควรให้ความเป็นกันเองกับผู้ร่วมรับประทานอาหาร เช่นก่อนรับประทานอาหารให้เชื้อเชิญทุกท่านที่ร่วมวงด้วย และให้ทราบว่าเราต้องเริ่มรับประทานอาหารก่อนเพราะผู้น้อยจะเกรงใจถ้าเรายังไม่เริ่มรับประทานอาหาร 

ดูแลผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ
    ถ้าเรามีสมาชิกร่วมรับประทานอาหารที่สะดวกน้อยกว่าท่านอื่น เช่นผู้สูงอายุ สตรีมีครรภ์ คนป่วย หรือบาดเจ็บควรให้ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ เช่นที่นั่งเหมาะสมหรือไม่ อยากได้อะไรเพิ่มที่อยู่ไกล เราควรแสดงความช่วยเหลือ

พิจารณา
  เป็นอริยประเพณีของพุทธศาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านมีพระวินัยให้พระภิกษุพิจารณาภัตตาหารก่อนขบฉันบทพิจารณาภัตตาหารของพระภิกษุมีใจความว่า อาหารที่รับประทานนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัดเวทนาเก่า(ความหิว) และไม่ให้เกิดเวทนาใหม่ (ความจุก) เพื่อให้ร่างกายคงอยู่ได้เป็นปกติ จะไม่รับประทานเพื่อเล่น เพื่อสวยงาม เพื่อประดับตกแต่ง นี่คือเนื้อหาบางส่วน ของบทพิจารณาภัตตาหารของพระ ส่วนฆราวาสก็มีการพิจารณาซึ่งแต่ละสถานการณ์อาจมีเนื้อหาต่างกันออกไป เช่น "ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้าง เป็นของมีค่า ผู้คนอดอยาก มีมากหนักหนา สงสารบรรดา เด็กตาดำๆ"แบบนี้ก็นับเป็นการพิจารณาแบบเด็กนักเรียนได้เหมือนกัน 

บูชาข้าวพระ
    เป็นประเพณีโบราณของชาวพุทธ เพื่อระลึกถึงสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้ท่านปรินิพพานไปนานแล้วที่หลายๆคนเรียกกันว่า "บูชาข้าวพระพุทธ" คือน้อมจิตระลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนเราได้น้อมถวายภัตตาหารกับพระองค์ท่านในสมัยที่ท่านยังทรงพระชนมายุพิธีนี้มักอยู่ในงานบุญต่างๆ เช่นขึ้นบ้านใหม่ ทำบุญบ้านประจำปี โดยมีบทกล่าวขึ้นต้นว่า "อิมัง สูปะพยัญชะนะ..."แต่สำหรับการรับประทานอาหารประจำวันของเราไม่จำเป็นต้องมีบทกล่าวเหมือนในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ก็ได้ เพียงแต่หลับตาทำสมาธิก่อนรับประทานอาหารน้อมจิตระลึกเหมือนเราถวายภัตตาหารท่าน นึกอธิษฐานจิตจากบุญที่เกิดขึ้นแล้วกล่าวคำลาข้าวพระว่า "เสสังมังคะลัง ยาจามิ" (ใช้ "ยาจามะ" หากอยู่กันหลายๆคน) แล้วเริ่มรับประทานอาหาร

 

2. รับประทานอาหารอย่างไรให้ดูดี

ห้องอาหาร , ห้องพัฒนานิสัย , ประมาณในการพูด , การใช้ทรัพย์ , รับประทานอาหาร , ห้องอาหาร , ห้องครัว , หิว , อิ่ม ,

    การรับประทานอาหารไม่ใช่การตักอาหารเข้าปากเท่านั้นแต่การรับประทานอาหารนั้นเป็นสิ่งที่ แสดงออกถึงการฝึกฝนอบรมตนเองของแต่ละคน เรามาดูวิธีการรับประทานอาหารแบบดูดี ดังนี้

ปิดเสียงโทรศัพท์มือถือ
  นอกจากเรื่องเสียงดังแล้ว ในโต๊ะอาหารไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือไม่ว่าจะรับสาย โทรออก หรือพิมพ์ส่งข้อความ ถือว่าเป็นกิริยาแสดงความเป็นส่วนตัวมากเกินไป เป็นการไม่ให้ความสนใจกับคนที่ร่วมรับประทาน

ชักชวนสนทนา
    การนั่งรับประทานอาหารอย่างเดียวโดยไม่สนใจคนรอบข้างเลย เราก็จะได้รสอาหารอย่างเดียว แต่ไม่ได้รสแห่งมิตรภาพเลย หากนั่งใกล้คนที่ไม่รู้จักควรเริ่มต้นจากการแนะนำตัวเองก่อน เพื่อแสดงออกถึงมนุษยสัมพันธ์อันดี ระหว่างรับประทานอาหารควรดูจังหวะในการชวน สนทนาให้เหมาะสม เช่น ระหว่างนั่งรออาหารชุดต่อไปเป็นช่วงที่ควรชวนสนทนา ช่วงที่ไม่ควร เช่นตักอาหารเข้าปาก หรือมีอาหารอยู่เต็มปาก จะทำให้คู่สนทนารู้สึกอึดอัดได้ รวมถึงเรื่องที่ควรสนทนาในโต๊ะอาหารควรเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคู่สนทนามากกว่าเรื่องของตัวเราเอง เช่น เรื่องงานอดิเรก กีฬาที่ชื่นชอบ สำหรับการสนทนากับคนแปลกหน้ายังไม่คุ้นเคยกัน ไม่ควรแสดงอาการปฏิเสธหรือเห็นต่างจนมากเกินไป เพราะจะทำให้เกิดบรรยากาศที่ไม่ดีต่อกัน

    รับประทานเสร็จพร้อมกัน
    หากเราเป็นคนรับประทานอาหารเช้า ก็ควรเร่งความเร็วในการรับประทานเพราะถ้าผู้ใหญ่ในโต๊ะหรือเจ้าภาพรับประทานเสร็จ แล้วแต่เรายังไม่เสร็จก็จะดูไม่ดี หรือในทางกลับกันเรารับประทานอาหารเสร็จเร็วมากๆ ก็ทำให้เราต้องมานั่งเฉยๆ ในโต๊ะอาหารก็จะดู กดดันคนอื่นที่ยังรับประทานไม่เสร็จ

ไม่วางของบนโต๊ะอาหาร
     ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ กระเป๋า เอกสาร อะไรก็ตามที่เป็นของใช้ส่วนตัวของเรา ให้หาที่วางที่อื่นนะ

ดูแลคนข้างเคียง
    หากมีเครื่องปรุง เมื่อเรานำมาปรุงแล้ว ให้ถามคนที่นั่งข้างๆ ด้วยว่าต้องการเครื่องปรุงหรือไม่ ถ้าเขาต้องการให้หยิบมาวางให้ใกล้ตัวเขา ไม่ส่งให้กับมือ แต่ให้วางไว้ที่โต๊ะแล้วถ้าเขาจะใช้ให้เขาหยิบเอง

ไม่เป่าน้ำซุป
   การเป่าน้ำซุปถือว่าเป็นกิริยาที่ไม่น่าดู กรณีที่ซุปยังร้อนอยู่ให้ใช้วิธี ตักทีละน้อย ถ้าร้อนจนรับประทานไม่ได้จริงๆ ให้ปล่อยเอาไว้ก่อนสักครู่แล้วค่อยรับประทาน 

ไม่ซดน้ำซุปเสียงดัง
   ถ้าเป็นจีน หรือญี่ปุ่น ต้องดังๆ ไม่ดังแสดงว่าไม่อร่อย โดยเฉพาะญี่ปุ่น น้ำซุปไม่มีช้อนให้ยกถ้วยขึ้นซดเลย แต่ถ้าเป็นมาตรฐานสากลต้องเบาๆ ใช้วิธีตักเข้าปาก ไม่ซดจากช้อน แค่นี้เสียงน้ำซุปก็จะไม่ดังแล้ว 

ไม่เคี้ยวอาหารอ้าปาก
    คงพอนึกออกว่าน่าสยองขวัญแค่ไหน รวมถึงอาหารที่จะกระเด็นไปเผื่อคนข้างๆ และเสียงดังจับๆ อย่างกับหมูกินผัก ดังนั้นเคี้ยวหุบปากกันเถอะนะ

พอดีคำ
    ไม่ว่าจะเอาอะไรเข้าปาก ต้องหั่นให้พอดีคำก่อนเข้าปาก ไม่กัดไม่แลบลิ้นเลีย และแต่ละคำต้องไม่ใหญ่เกินไปจนทำให้อ้าปากกว้าง

หั่น ตัก เฉลี่ย อย่าให้เสียงดัง
     รับประทานอาหารอย่างมีมารยาทต้องเสียงเบา การหั่น การเกลี่ยในจาน ให้ค่อยๆทำ

เมื่ออิ่มแล้วให้แสดงสัญลักษณ์
     มาตรฐานในร้านอาหารมีสัญลักษณ์ให้เก็บจานได้ คือ รวบช้อนส้อม แสดงว่าจานนั้น เราพอแล้ว

  ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ควรทำก่อนรับประทานอาหารแบบวัฒนธรรมชาวพุทธทุกตัวหนังสือข้างต้นไม่อาจเกิดประโยชน์อันใดถ้าหากเราไม่ได้นำไปใช้ในชีวิตประจำวันขอให้พวกเราได้ลองฝึกตามที่ได้แนะนำมาแล้วเราจะพบกับความแตกต่างที่สัมผัสได้ด้วยจิตใจของเราเอง

 

3. อะไรคืออิ่ม

ห้องอาหาร , ห้องพัฒนานิสัย , ประมาณในการพูด , การใช้ทรัพย์ , รับประทานอาหาร , ห้องอาหาร , ห้องครัว , หิว , อิ่ม ,

    อะไร คือ หิว เชื่อว่าเข้าใจได้ไม่ยาก แต่อะไรคือ อิ่ม หลายคนมีปัญหาว่ามันเกิดขึ้นอย่างไร อิ่ม ตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายไว้ว่าเต็มแล้ว พอแล้ว หายหิว หายอยาก ดังนั้นอิ่มไม่ใช่จุกอิ่มไม่ใช่แน่น เราจึงควรรับประทานอาหารให้แค่อิ่มไม่แน่นจนทรมาน

 ในพระไตรปิฎกก็มีการกล่าวถึงความอิ่มในการฉันภัตตาหารของพระภิกษุเอาไว้ในพระสุตตันตปิฎกขุททกนิกาย เถรคาถา สารีปุตต เถรคาถา ว่า...
     "ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตาม ไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่อง มีอาหารพอประมาณมีสติอยู่ การบริโภคอาหารยังอีก 4-5 คำจะอิ่มควรงดเสียแล้วดื่มน้ำ เป็นการสมควรเพื่ออยู่สบายของภิกษุผู้มีใจเด็ดเดี่ยว "

      อธิบายง่ายๆว่า เมื่อรู้สึกว่าอีก 4-5 คำจะอิ่มให้ดื่มน้ำตามเพื่อไม่ให้เป็นการไม่ติดในรสอาหาร ไม่มัวเมาในรสของอาหารที่ได้รับ ไม่มัวเมาในรสของอาหารที่ได้ฉัน

หากเราได้ลองทำตาม เราจะได้พบกับความอิ่มที่พอดี ตามวัตถุประสงค์ในการรับประทานที่ว่า
        "บรรเทาทุกขเวทนาเก่า (ความหิว)  และไม่ให้เกิดทุกขเวทนาใหม่ (ความจุกแน่น)"

   "ภิกษุเมื่อบริโภคอาหารจะเป็นของสดหรือของแห้งก็ตามไม่ควรติดใจจนเกินไป ควรเป็นผู้มีท้องพร่องมีอาหารพอประมาณ มีสติอยู่การบริโภคอาหารยังอีก 4-5 คำจะอิ่มควรงดเสียแล้วดื่มน้ำ"

 

4. เวลาอาหารเวลาแห่งการพบปะพูดคุย

ห้องอาหาร , ห้องพัฒนานิสัย , ประมาณในการพูด , การใช้ทรัพย์ , รับประทานอาหาร , ห้องอาหาร , ห้องครัว , หิว , อิ่ม ,

     เวลาที่เรากินข้าวในบ้าน มักเป็นเวลาสบายที่ทุกคนในครอบครัวมีโอกาสได้เจอกัน ปรึกษาและแบ่งปันความเห็นต่างๆร่วมกัน ดังนั้นบทฝึกในห้องอาหารที่สำคัญ คือ การฝึกพูดให้กำลังใจนั่นเอง "เปลี่ยนแม่น้ำทั้งสาย ย้ายภูเขาทั้งลูก" นี่คืออานุภาพของคำพูด คำพูดสร้างกำลังใจอาจเปลี่ยนชีวิตให้ประสบความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ 

         คำว่า ปิยวาจา แปลว่า วาจาเป็นที่รัก วาจาดูดดื่มน้ำใจหรือวาจาซาบซึ้งใจ คือ กล่าวคำสุภาพไพเราะอ่อนหวาน ทำให้เกิดความสมานสามัคคี ผู้ฟังเกิดไมตรี และความรักใคร่นับถือตลอดถึงคำแสดงประโยชน์ประกอบด้วยเหตุผลเป็นหลักฐานจูงใจให้ยอมตาม ลักษณะของปิยวาจามี ดังนี้

เป็นความจริง
      การพูดให้กำลังใจนั้นไม่ใช่การชมเชยแต่เพียงอย่างเดียวแต่เป็นการ "ชมในเรื่องที่เค้าเป็นจริงๆ" นี่คือลักษณะของคำให้กำลังใจที่ยอดเยี่ยม เพราะคนที่ได้รับฟังก็จะทราบว่าเป็นเรื่องจริง เค้าทำได้อย่างนั้นจริง ๆ

ยกใจให้สูง
         เป็นคำพูดที่ฟังแล้วใจไม่ตกต่ำ เช่น ฉันเชื่อว่าเธอทำได้ ส่วนคำที่ทำให้ใจตกต่ำ เช่น อย่างเธอจะทำได้เหรอ

เป็นไปได้จริง
         การให้กำลังใจในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้แน่นอนนั้นไม่ได้ช่วยสร้างกำลังใจ แต่กลับทำให้สัมผัสได้ถึงความไม่จริงใจ
 

เกิดความสามัคคี
        ไม่เป็นคำกล่าวโทษผู้อื่น หรือพาดพิงใคร

เกร็ดความรู้
      บาร์บารา ฟีส นักวิจัยกล่าวว่า จากผลวิจัย 17 ชิ้นที่ทำการศึกษาเรื่องพฤติกรรมการกินและโภชนาการ ซึ่งทำการศึกษาเด็กและวัยรุ่นทั้งหมด 200,000 คน เธอพบว่าวัยรุ่นที่กินข้าวพร้อมครอบครัวอย่างน้อย 5 มื้อต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงต่อพฤติกรรมการกินผิดปกติน้อยลง 35 %

 

5. ฝึกประมาณเรื่องใกล้ตัวจากการรับประทานอาหาร
      การประมาณในการรับประทานอาหารมีในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ในภาษาบาลีว่า "โภชเนมัตตัญญุตา" พื้นฐานของการรู้จักประมาณนั้นเริ่มจากมีปัญญารู้ว่า การบริโภคอาหารก็เพียงเพื่อประทังชีวิตให้อยู่ได้ในแต่ละวัน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องกะปริมาณอาหารในจานให้พอดี เพื่อไม่ให้มีเหลือทิ้งเหลือขว้าง อันเป็นความสิ้นเปลืองและเพาะนิสัยไม่ดีให้เกิดขึ้นตามมาอีกมากมาย เช่นความมักง่าย ความเห็นแก่ตัว เป็นต้น

         ผู้ที่ฝึกความรู้ประมาณในโภชนาหารอย่างสม่ำเสมอ ย่อมทำให้เกิดผลดี 2 ทาง คือ 

     ทางกาย  ย่อมทำให้สุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บที่เกิดจากการบริโภคเกินจำเป็น จากการตามใจปากตามใจท้อง หรือจากอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เป็นโทษต่อร่างกาย

       ทางใจ  ย่อมทำให้กิเลสไม่สามารถอาศัยช่องทางที่ร่างกายถูกบังคับให้ต้องเติมธาตุ 4 เล็ดลอดเข้ามาบีบคั้นใจให้เกิดความทุกข์ได้ทำให้ใจไม่เกิดความอยากได้ในสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามอำนาจกิเลส ทำให้ทุกข์ในชีวิตประจำวันลดลง อาศัยข้าวเพียงไม่กี่ทัพพีก็ดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นภาระในเรื่องการหาอาหาร เมื่อถึงคราวเจริญภาวนาก็ทำให้ใจสงบนิ่งได้เร็วไม่ฟุ้งซ่านด้วยตัณหา ทำให้สามารถบรรลุธรรมได้เร็วไว

 

6. หนึ่งอิ่มของเราต้องใช้เงินเท่าไร

ห้องอาหาร , ห้องพัฒนานิสัย , ประมาณในการพูด , การใช้ทรัพย์ , รับประทานอาหาร , ห้องอาหาร , ห้องครัว , หิว , อิ่ม ,

       ลองตอบคำถามง่าย ๆ ว่า ใน 1 มื้ออาหารของคน 1 คน เราใช้เงินเท่าไหร่

50 บาท        1 คน 1 อิ่ม เป็นไปได้ที่ร้านข้าวแกงทั่วไป

500 บาท      1 คน 1 อิ่ม ก็เป็นไปได้ที่ร้านอาหารในห้องอาจเป็นอาหารญี่ปุ่น พิซซ่า สุกี้ หรือบุฟเฟ่ต์ใน                      โรงแรม

5,000 บาท   1 คน 1 อิ่ม ก็เป็นไปได้ที่ร้านอาหารหรู อาหารโต๊ะจีน

50,000 บาท 1 คน 1 อิ่ม ก็เป็นไปได้ที่สุดยอดภัตตาคารอิตาลี ภัตตาคารที่มีพ่อครัวระดับโลก

      แล้วเท่าไหร่ที่เราควรใช้สำหรับค่าอาหารในชีวิตเรา โดยเฉพาะการเป็นนักเรียนที่ยังไม่สามารถหาเงินเองได้ เราควรประมาณในการใช้ทรัพย์ ถ้ากินล้างกินผลาญมีเท่าไฟร่ก็ไม่พอ ถ้ากินเป็นกินประหยัดทรัพย์สมบัติจะมากมีเพราะเราอยู่กับการกินวันละ 2-3มื้ออาหาร

       ไม่ว่าจะกินอาหารมื้อละ 50 หรือ มื้อละ 50,000 สุดท้ายก็ออกมาทางเดียวกัน ทวารหนัก ทวารเบา ล้วนสิ้นสุดเป็นของเสียจากร่างกายจนมีคำคมที่ว่า

"หากใช้เงินอย่างเศรษฐี จะไม่มีวันเป็นเศรษฐี หากใช้เงินอย่างคนจนจะไม่มีวันจน"

 

เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับห้องอาหาร
ทำอย่างไรให้ห้องอาหาร เป็นห้องแห่งการสร้างบุญ 
    คำนิยามที่แท้จริงของห้องอาหาร คือ ห้องพัฒนานิสัยรู้ประมาณในการพูดและการใช้ทรัพย์

    หลักธรรมประจำห้องอาหาร คือ สัมมาวาจา หมายถึง พูดถูกต้องประมาณในการพูดและสัมมากัมมันตะหมายถึง ฝึกการกระทำทางกายให้ถูกต้องห้องอาหารมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ห้องมหาประมาณ"

 

หน้าที่หลักของห้องอาหาร
    1. ปลูกฝัง สัมมาวาจา การพูดถูกต้อง ได้แก่การไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ เลือกพูดแต่สิ่งดีงาม 
    2. ปลูกฝังสัมมากัมมันตะ การกระทำถูกต้อง ได้แก่ ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ประพฤติผิดในกาม เลือกทำแต่สิ่งดีงาม

 

ประโยชน์จากการใช้ห้องอาหารอย่างถูกต้อง
ทางใจ
    1. รู้จักประมาณในการรับประทานอาหาร คือระลึกอยู่ว่าเรารับประทานอาหารเพื่อให้ชีวิตดำรงอยู่ได้ จะได้นำเรี่ยวแรงไปทำความดี
   2. รู้จักประมาณในการใช้ทรัพย์ คือ รู้จักการกำหนดรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้ จะได้มีทรัพย์เหลือเก็บไว้ใช้ในคราวจำเป็นและใช้บริจาคสร้างบุญกุศลอันเป็นหนทางไปสู่สุคติในสัมปรายภพ
   3. รู้จักประมาณในวาจา คือ การใช้คำพูดที่นุ่มนวล มีเหตุผล มีประโยชน์ เหมาะแก่กาลเทศะในสถานการณ์ต่างๆ

ทางกาย
    1. ใช้ห้องอาหารสำหรับประกอบอาหาร
    2. ใช้เป็นที่ประชุมสมาชิกพร้อมหน้าพร้อมตา
    3. ใช้ห้องอาหารเป็นที่รับประทานอาหาร
    4. ใช้ห้องอาหารเป็นที่เก็บอาหาร
    5. ใช้ห้องอาหารเป็นที่ต้อนรับแขก

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015406648317973 Mins