หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๑๘)
สิ่งสำคัญประการหนึ่งของการเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ดีคือ ความเอาใจใส่ในทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว ดังนั้นความละเอียดรอบคอบ และความช่างสังเกตจึงเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ในใจเสมอ หลวงพ่อธัมมชโยจะตอกย้ำเจ้าหน้าที่ของวัดว่า “ การที่เราทำสิ่งหยาบ ๆ ได้ดี จะส่งผลไปถึงธรรมะภายใน ”
กล่าวคือ ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไรก็ตาม ยิ่งมีความละเอียดรอบคอบมากเท่าไร จะทำให้เกิดนิสัยที่ดีและมีผลไปถึงการปฏิบัติธรรมของเราด้วย
จากความตระหนักในโอวาทของหลวงพ่อธัมมชโย ทำให้หลวงพ่อทัตตชีโว ท่านคอยดูแลมาจ้ำจี้จ้ำไชในรายละเอียดต่าง ๆ เพื่อให้ลูก ๆในองค์กรทำให้ได้ดังที่หลวงพ่อธัมมชโยท่านปรารถนาคือ อยากจะให้ลูก ๆ ทุกคนเป็นต้นแบบของชาวโลก
ในช่วงที่อาตมารับบุญเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณร นอกจากจะถูกหลวงพี่สุรพลเคี่ยวเข็ญอบรมแล้ว หลวงพ่อทั้งสองยังคอยมาดูแล ถามข่าวคราวอยู่เสมอ แม้ท่านจะมีภารกิจมากไม่มีเวลามาดู แต่ท่านจะได้รับทราบเรื่องราวของสามเณรทุกวัน เนื่องจากหลวงพี่สุรพล มอบหมายให้อาตมาเป็นผู้บันทึกเหตุการณ์ประจำวันที่แผนกสามเณร แล้วนำไปถวายหลวงพ่อทัตตชีโว เมื่อหลวงพ่ออ่านจบ ท่านจะเขียนคำแนะนำไว้ว่าให้ทำอะไรต่อ ทำให้ความผูกพันของหลวงพ่อกับสามเณรเป็นเสมือนพ่อกับลูก
อย่างที่เคยกล่าวไว้ว่า หลวงพ่อทั้งสองท่านมีความคิดตรงกัน และได้ตอกย้ำกับพระพี่เลี้ยงเสมอว่า
“ สามเณรก็คือ เด็กเล็ก ๆ ที่ทิ้งพ่อทิ้งแม่ ทิ้งบ้านทิ้งช่องมาอยู่กับเรา หากพระพี่เลี้ยงไม่ดูแลเอาใจใส่ให้ดี แล้วเขาจะพึ่งใครได้ ”
หลวงพ่อทัตตชีโวท่านเคยบอกอาตมาในวันที่ไปถวายสมุดบันทึกว่า “ พวกท่านต้องดูแลสามเณรให้ดีนะ สามเณรในวันนี้ หากเราปั้นเขาให้ดี ต่อไปพระศาสนาจะได้อาศัย ช่วยเป็นหูเป็นตาแทนหลวงพ่อทั้งสองด้วย ”
คำกล่าวของหลวงพ่อเมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว ณ วันนี้ก็เป็นความจริง สามเณรหลายรูป จบเปรียญธรรม ๙ ประโยค หลายรูปก็ไปเป็นเจ้าอาวาสที่ต่างประเทศ ขยายงานพระพุทธศาสนาไปสู่ชาวท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี
อาตมาจำได้ติดตาถึงวิธีการฝึกสามเณรของหลวงพ่อทัตตชีโว บางครั้งท่านก็จะนิมนต์หลวงพี่สุรพลไปพบและแนะนำวิธีฝึกให้ เช่น ให้สามเณรฝึกเดินให้สง่า ให้เป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธา
“ ดูให้ดีนะ เวลาหลวงพ่อธัมมะเดิน เป็นไง เห็นแล้วน่าศรัทธา ท่านเดินตัวตรง หลังตรง ก้าวจังหวะพอเหมาะ ไม่ช้า ไม่เร็ว นั่นเป็นผลจากการที่คุณยายเคี่ยวเข็ญท่าน หลวงพ่อเองก็ฝึกเดินบนไม้กระดาน เพราะฉะนั้นไปฝึกให้สามเณรเดินให้เป็น ”
บางครั้งหากหลวงพ่อทัตตชีโวท่านมีเวลา ท่านก็จะมาฝึกสามเณรด้วยตนเอง เช่น มีครั้งหนึ่งอาตมาพาสามเณรไปเก็บเพชรพลอย (ก็ขยะนั่นแหละ แต่ที่วัดเรียกเพชรพลอย ต้องรีบบอก เดี๋ยวจะมีใครมโนว่าที่วัดมีเตาเผาถลุงเพชรพลอยซะก่อน) หลวงพ่อท่านเดินตรวจวัดพอดี ท่านเรียกให้สามเณรเข้าแถวเรียงหน้ากระดาน เดินเก็บเพชรพลอยไปจนสุดทาง โดยหลวงพ่อก็ทำไปด้วย เมื่อถึงปลายทางท่านก็ถามว่า
“ เก็บหมดหรือยังลูก ”
“ หมดแล้วครับ ” สามเณรพากันตอบ
หลวงพ่อยิ้ม ๆ แล้วบอกว่า “ เอ้า ! เดินย้อนกลับไปใหม่ ลองดูซิ จะมีเพชรพลอยอีกไหม ”
จำได้ว่าวันนั้น หลวงพ่อให้เดินกลับไปกลับมาอยู่ ๕ เที่ยว และแต่ละเที่ยวก็จะเก็บเพชรพลอยได้เสมอ
มีสิ่งหนึ่งที่เป็นบทฝึกสำหรับลูก ๆ ในองค์กรคือ หลวงพ่อมักจะถามว่า " ได้ข้อคิดอะไร " ครั้งนี้ก็เช่นกัน หลวงพ่อก็ถามสามเณรว่า
“ เป็นไงบ้าง เก็บไปเก็บมาหลายเที่ยวได้ข้อคิดอะไร ”
พอเห็นสามเณรแย่งกันตอบ หลวงพ่อท่านก็ยิ้ม ท่านจะพอใจหากมีคนกล้าตอบ แต่ถ้าพากันเงียบ ท่านจะรู้สึกว่าทำไมไม่ฝึกคิดกัน
“ ลูกเอ้ย ! การจะทำอะไรให้มันดีไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนที่เดินเก็บไปรอบแรก พวกเราก็บอกว่าหมดแล้ว แต่พอเก็บไปเก็บมาหลายรอบก็ยังมีเพชรพลอยให้เก็บ และหลวงพ่อก็เชื่อว่า หากให้เก็บอีกรอบพวกเราก็จะสามารถเก็บได้อีก สิ่งที่แตกต่างในแต่ละรอบคืออะไร คือ ความละเอียดที่เกิดขึ้น จากรอบแรกเราจะเห็นแต่ชิ้นใหญ่ ๆ พอรอบที่สองที่สาม มันจะเล็กลงเรื่อย ๆ นั่นฟ้องถึงความละเอียดในใจเรามันเกิดขึ้นแล้ว และนี่แหละจะมีผลอย่างที่หลวงพ่อธัมมะเคยบอกพวกเราไว้ ฝึกไว้นะลูก ทำของหยาบให้ดี แล้วจะทำให้ลูกนั่งธรรมะกันได้ดี ”
จากบทฝึกอย่างเข้มข้นทำให้เด็กต่างจังหวัดตัวเล็ก ๆ ในวันนั้น กลายมาเป็นเพชรเม็ดงามที่ตั้งใจทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพันในวันนี้
ทุกสิ่งทุกอย่างของความสำเร็จล้วนเกิดจากฝีมือของช่างปั้นเอกของโลกคือ หลวงพ่อทั้งสองนั่นเอง
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๖ ส.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae