หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๒๐)
ใครที่เคยเป็นพ่อแม่คนย่อมจะเข้าใจดีว่า การเลี้ยงลูกให้ดีนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ ซึ่งเราก็คงจะเห็นมีข่าวอยู่เสมอตามหน้าหนังสือพิมพ์ว่า พ่อแม่กลุ้มอกกลุ้มใจที่ลูกไปติดยาหรือไปเกะกะเกเร บางครั้งก็ทำร้ายร่างกายพ่อแม่เสียเอง นั่นเพียงเลี้ยงลูกไม่กี่คนยังลำบากยากเย็นขนาดนั้น ลองหลับตานึกว่าหากเรามีลูกเป็นร้อยจะเกิดอะไรขึ้น
ที่วัดพระธรรมกายเมื่อ ๒๐ กว่าปีที่แล้ว ในช่วงที่อาตมาเป็นพระพี่เลี้ยงสามเณร จะมีสามเณรอยู่ ๑๒๑ รูป หลวงพ่อทั้งสองท่านมอบหมายให้หลวงพี่สุรพลเป็นหัวหน้า และมีพระพี่เลี้ยงเป็นผู้ช่วย โดยที่ท่านคอยติดตามดูแลอย่างใกล้ชิด ไม่ใช่เฉพาะเพียงการรับฟังจากการรายงาน แต่เมื่อไรที่ท่านมีเวลาหากไม่เรียกให้พระพี่เลี้ยงไปพบเพื่อให้คำแนะนำ ท่านเองก็จะมาที่แผนกสามเณรเข้าออกตามกุฏิต่าง ๆ ตรวจดูตามตู้เก็บของ ชั้นวางของ รวมทั้งห้องน้ำห้องท่า ดูการตากผ้า ดูลานสรงน้ำ
สิ่งที่ท่านจะเตือนอยู่บ่อย ๆ คือ การดูแลสุขภาพของสามเณร
“ สามเณรยังเด็ก ดูแลสุขภาพตัวเองยังไม่เป็นหรอกท่าน หลวงพ่อคิดว่าอยู่ที่บ้านก็ไม่มีใครแนะนำ เพราะฉะนั้นพวกท่านต้องคอยดูแลตั้งแต่ตื่นนอนจนกระทั่งเข้านอน ”
นอกจากจะสั่งพระพี่เลี้ยงแล้ว หลวงพ่อจะจัดให้มีการตรวจสุขภาพของสามเณรเป็นระยะ ๆ และหาวิทยากรมาอธิบายให้ความรู้ โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพฟัน ซึ่งอาตมาคิดว่า สามเณรมีบุญมากจริง ๆ ที่รู้จักการใช้ไหมขัดฟันตั้งแต่ตัวเล็ก ๆ ในขณะที่อาตมาเองมาเริ่มใช้ เมื่ออายุปาเข้าไปเกือบ ๒๐ แล้ว
หลวงพ่อท่านเอาใจใส่เรื่องนี้มาก ท่านจะคอยย้ำอยู่เสมอว่า “ อย่าดูเบานะท่าน เรื่องสุขภาพฟันมันเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่กวดขัน ฉันอะไรไปแล้วไม่แปรงฟัน ก็จะเป็นเหตุให้ฟันผุ เดี๋ยวเถอะจะมีโรคอะไรต่อมิอะไรตามมาอีกเยอะ ”
หลวงพี่สุรพลท่านจึงให้พระพี่เลี้ยงคอยดูอย่างใกล้ชิด โดยให้พระพี่เลี้ยงจัดแบ่งอุปกรณ์สำหรับการแปรงฟันเป็นชุด ๆ เฉพาะบุคคล แยกแปรงแต่ละสีแต่ละกุฏิ เวลาแปรงฟันทั้งตื่นเช้า หรือก่อนเข้านอน พระพี่เลี้ยงก็จะมาคอยดูว่า แปรงฟันถูกวิธีและใช้เวลานานพอเพียงหรือไม่
เมื่อพูดถึงเรื่องฟันก็จะเกี่ยวพันไปเรื่องของการขบฉัน สิ่งนี้อาตมากล้ายืนยันได้ว่า ยากจะหาพ่อคนไหนที่เอาใจใส่ลูกเหมือนที่หลวงพ่อเอาใจใส่สามเณร แม้แต่โยมพ่อของอาตมายังไม่เคยทำแบบที่หลวงพ่อทำ อยากรู้แล้วสิว่าท่านทำอย่างไร อาตมาอยากจะเรียกว่า วันเหม็นแห่งชาติ
มีอยู่วันหนึ่งท่านสั่งให้พระพี่เลี้ยงเอาตลับขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางราว ๑ นิ้ว มาให้สามเณรทุกรูปแล้วสั่งว่า ให้เอาอุจจาระของตนเองใส่ลงไป นึกแล้วก็ขำ อาตมาพลาดเองไม่ได้บอกให้ชัดเจนว่าต้องเอามามากน้อยแค่ไหน สามเณรบางรูปใส่มาซะเต็มขอบตลับ ต้องไล่ไปเอาออก
อาตมาเข้าใจว่า หลวงพ่อท่านคงจะให้เอาไปตรวจตามปกติ แต่ที่ไหนได้ หลวงพ่อมาเอง แล้วให้สามเณรแต่ละรูปเอาตลับอุจจาระของตนเองออกมาดู หลวงพ่อเดินตรวจด้วยตนเอง แล้วท่านก็มาสรุปให้สามเณรฟังว่า
“ สามเณรหลายรูปที่ฉันสักแต่ว่าฉัน ไม่รู้จักสังเกต หลวงพ่อเองถูกโยมพ่อฝึกมา เวลาเคี้ยวต้องเคี้ยวให้ละเอียด ไม่ใช่ว่าฉันข้าวโพดแล้วก็ออกมาเป็นเม็ด ๆ แทบจะเหมือนเดิม การที่เคี้ยวไม่ละเอียดจะทำให้ลำไส้ต้องทำงานหนักขึ้น เพราะฉะนั้นไม่ต้องรีบร้อน ให้เคี้ยวให้ละเอียด จะได้ไม่มีปัญหาเรื่องท้องเรื่องลำไส้ในวันข้างหน้า ”
อีกเรื่องหนึ่งที่อาตมาอยากจะถามคุณพ่อคุณแม่ทั้งหลายว่าเคยทำหรือไม่ แต่ที่แน่ ๆ สิ่งที่จะเล่าต่อไปนี้ทำให้อาตมาต้องตระหนักในหน้าที่ของพระพี่เลี้ยงมากขึ้น
มีอยู่คืนหนึ่งดึกมากแล้ว เกือบเที่ยงคืน อาตมายังไม่จำวัดจึงเดินรอบ ๆ แผนกสามเณรเพื่อดูความเรียบร้อย ผ่านกุฏิหลังหนึ่งซึ่งเป็นกุฏิสามเณรเล็ก เห็นมีเงาตะคุ่ม ๆ มองไปจะว่าเป็นพี่เลี้ยงก็ไม่น่าใช่ เลยเดินเข้าไปดู ต้องตกใจเพราะเป็นหลวงพ่อทัตตชีโว เมื่อเห็นอาตมาท่านก็บอก
“ บอกพระพี่เลี้ยงด้วยนะ ก่อนนอนต้องคอยดู สามเณรนอนกันเรียบร้อยไหม นี่หลวงพ่อเห็นบางองค์ขาออกมานอกมุ้ง เดี๋ยวยุงมันจะกัดเอา ”
พ่อแม่จะเลี้ยงลูกสักคนให้เป็นคนดีนั้นยากแสนยาก แต่หลวงพ่อทั้งสองเลี้ยงลูกเณรของท่านเป็นร้อยให้ดีได้ ณ วันนี้หลายองค์กลายเป็นพระผู้ใหญ่ระดับรองเจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ รองเจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบลไปแล้ว
มีบุญจริงหนอ สามเณรวัดพระธรรมกาย
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๘ ส.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae