หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๕๑)
การเป็นผู้นำ
ในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ ผู้นำ ” คือ องค์ประกอบสำคัญที่จะผลักดันให้องค์กรหรือทีมงานก้าวไปสู่จุดหมายได้
การเป็นผู้นำที่ดี ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่าย ๆ เพราะนอกจากจะเป็นต้นแบบ เป็นตัวอย่างให้ลูกทีมแล้ว ผู้นำจะต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถประเมินสถานการณ์และแก้ไขปัญหาได้อย่างฉับไว
ในอดีตนั้น ผู้นำจะไม่ใช่ผู้ที่นั่งคอยวางแผนการรบอย่างเดียว แต่จะต้องเป็นผู้ที่ออกหน้า ยามบ้านเมืองเกิดศึกสงคราม นั่นแสดงว่า ความกล้าหาญก็เป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นเดียวกัน
หลวงพ่อทัตตชีโว เคยชี้ให้ลูก ๆ ในองค์กรเห็นถึงภาวะผู้นำของหลวงพ่อธัมมชโยว่า ไม่ว่าจะมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใด หลวงพ่อธัมมชโยท่านจะนิ่ง เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หน้าหลวงพ่อท่านจะไม่มีเปลี่ยนสี
หลวงพ่อทัตตชีโวกล่าวว่า สิ่งที่ทำให้หลวงพ่อเคารพ รักหลวงพ่อธัมมชโย เพราะท่านมีคุณสมบัติสำคัญคือ ทำอย่างไรพูดอย่างนั้น พูดอย่างไรทำอย่างนั้น
นอกจากจะให้ลูก ๆ ดูพระพุทธเจ้า หลวงปู่ หลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอาจารย์ เป็นแบบอย่างในการสร้างบารมีแล้ว หลวงพ่อทัตตชีโว ยังได้ให้ข้อคิดกับลูก ๆ ว่า
“ การเป็นผู้นำที่ดี จะต้องมีความรับผิดชอบ คำนี้จะต้องแยกให้ชัด เพราะประกอบดัวย รับผิดและรับชอบ
รับผิด หมายความว่า เมื่อมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น ผู้นำจะต้องแอ่นอกรับ อย่าโยนความผิดให้ผู้อื่น
ในทำนองเดียวกันหากมีความชอบเกิดขึ้น ก็อย่าเหมาเป็นความชอบที่ตนเองรับไว้คนเดียว ต้องกระจายความชอบให้กับทีมงาน ”
จากคำสอนของหลวงพ่อประเด็นนี้ อาตมาเคยสังเกตเห็นว่า หัวหน้าคนไหนก็ตาม เมื่อเกิดข้อผิดพลาดแล้วโยนความผิดให้ลูกน้อง นับวันทีมงานก็จะลดลงเรื่อย ๆ เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของตนเอง
ตรงกันข้าม หัวหน้าคนไหนก็ตามที่พร้อมจะแอ่นอกรับผิดทุกเรื่องราว จะเป็นที่รักของทีมงาน เป็นศูนย์รวมใจของหมู่คณะ ที่ทุกคนพร้อมจะทุ่มเททำงานให้ เพราะมั่นใจว่าหากอยู่กับท่านนี้แล้ว ปลอดภัยแน่นอน
อาตมาเคยติดตามหลวงพ่อทัตตชีโวไปกราบพระผู้ใหญ่ พร้อมกับเพื่อนพระภิกษุหลายรูป ทุกครั้งที่มีพระผู้ใหญ่ชื่นชมการทำงานของวัดพระธรรมกาย และบอกว่าเป็นฝีมือการบริหารงานของหลวงพ่อ มักจะได้ยินคำพูดของหลวงพ่อเสมอว่า
“ พระเดชพระคุณครับ ลำพังผมเองทำอะไรไม่ได้มากหรอกครับ ก็อาศัยหลวงพ่อธัมมะท่านให้นโยบายมา แล้วก็ได้พระพวกนี้แหละครับ คอยช่วยแบ่งเบาภาระ ทำให้งานสำเร็จลุล่วงไปได้ครับ ”
เพราะมีหลวงพ่อทั้งสองเป็นต้นแบบของการเป็นผู้นำนี่เอง จึงทำให้ลูก ๆ ในองค์กรทุ่มเทเอาชีวิตเป็นเดิมพันสร้างบารมีเพื่อให้พระพุทธศาสนาวิชชาธรรมกายแผ่ขยายไปทั่วโลก ให้สมกับมโนปณิธานที่มหาปูชนียาจารย์ได้ตั้งใจเอาไว้
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๒ ก.ย. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae