หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๓) การประคับประคองคน (ตอนที่ ๑)

วันที่ 12 ตค. พ.ศ.2559

หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๓)
การประคับประคองคน (ตอนที่ ๑)

     

    ในเรื่องของการบริหารซึ่งประกอบด้วยบริหารงาน บริหารเงิน บริหารคน การบริหารคนนับว่าเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนมากที่สุด เพราะคนมีชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกนึกคิด จึงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการดูแล
 

     หลวงพ่อทั้งสองเป็นยอดของนักบริหารคน ที่สามารถทำให้ลูก ๆ ในองค์กรซึ่งมาจากร้อยพ่อพันแม่ มาจากสภาพครอบครัว สภาพแวดล้อม สถานะทางการศึกษาที่แตกต่างกัน มาอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

     อย่าว่าแต่ความเชื่อที่เหมือนกันเลย แม้แต่ต่างความเชื่อ หลวงพ่อยังสามารถทำให้เขาอยู่อย่างมีความสุขได้
 

     ครั้งหนึ่งหลวงพ่อธัมมชโยเคยเล่าว่า มีชาวต่างชาติมาพักค้างปฏิบัติธรรมที่วัด แล้วแม่ของเขาโทรมาถามว่า ยังเป็นชาวคริสต์ที่ดีอยู่หรือไม่ เขาไม่รู้จะตอบอย่างไร ท่านแนะให้ตอบไปเลยว่า ได้ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนาทุกวัน ทำให้แม่ของเขาพอใจมาก

     เมื่ออาตมาไปทำงานเผยแผ่ที่อเมริกา อาตมาประทับใจและทึ่งในโอวาทของหลวงพ่อทั้งสอง เนื่องจากเข้าไปกราบหลวงพ่อธัมมชโยก่อน แล้ววันจะเดินทางค่อยไปกราบหลวงพ่อทัตตชีโว แต่โอวาทของท่านกลับเหมือนกันแทบจะคำต่อคำ 

     “ ...ให้ท่านทำความเข้าใจว่า ในตัวของมนุษย์ทุกคนมีพระธรรมกายในตัวอยู่ ดังนั้นให้พาเขาปฏิบัติธรรมให้เข้าถึงความจริงภายในอันนี้ หลวงพ่อไม่ต้องการให้ท่านไปเปลี่ยนแปลงความเชื่ออะไรของเขา ให้เขามีความสุขกับการมาพบหมู่คณะ...”

     จากโอวาทนี้จึงเป็นนโยบายสำคัญที่หมู่คณะนำไปใช้ในการทำงาน ปัจจุบันจึงมีชาวท้องถิ่นหลายท่านเข้ามาช่วยงานที่วัดทั้งช่วยทำเอกสาร แปลโอวาทหลวงพ่อ
 

     หลวงพ่อทัตตชีโวจะคอยย้ำอยู่บ่อย ๆ ให้ประคับประคองเขาให้ดี

     “ หลวงพ่อครับ แล้วจะประคับประคองเขาอย่างไรดีครับ ”

     “ เอ็งก็ต้องสร้างสัปปายะ ๔ ให้ดี ทั้งอาวาส อาหาร บุคคล ธรรมะ ต้องให้พร้อม ให้เขามาแล้วรู้สึกว่าเขาได้อะไร อย่าลืมว่าโดยทั่วไปคนตะวันตกเขาก็จะถือตัวว่าเขาเหนือกว่าคนตะวันออกอยู่แล้ว หากเราไม่สามารถสร้างมาตรฐานให้เท่ากับหรือดีกว่าเขาได้ ก็ยากที่เขาจะยอมรับ หากเขาไม่ยอมรับแล้วจะเอาวิชชาธรรมกายไปได้อย่างไร ”
 

     ฟังดูเหมือนจะง่าย แต่เอาเข้าจริงเมื่อลงมือจัดการเรื่องสัปปายะ ไม่ง่ายอย่างที่คิดเลย เพราะจะต้องมีการปรับภายในของเราเองก่อน

     ๑. เรื่องสถานที่ ก็ต้องดู ต้องใช้มาตรฐานของที่เขาใช้กัน จะเอาเราเป็นเกณฑ์ไม่ได้ 

    ๒. เรื่องอาหาร ก็ต้องมีทั้งสำหรับชาวเอเซีย และชาวท้องถิ่น เวลาจัดงานก็ต้องมีที่อุ่นอาหาร รักษาอาหารให้ได้อุณหภูมิที่เขากำหนด ต้องระวังไม่ให้มีแมลงวัน แมลงสาบ และต้องไม่เอาอาหารที่มีกลิ่นแรง ฯลฯ

     ๓. เรื่องบุคคล ก็ต้องมาปรับคนของเรา ที่เคยทำอะไรตามแบบไทย ๆ ก็ต้องมาปรับ อาตมาเคยหน้าแตกมาแล้ว จัดงานแล้วไม่เป็นไปตามกำหนดการ ชาวท้องถิ่นเขาหันไปซุบซิบกัน “ Thai time ” (เวลาไทย) 
     แม้แต่การปฏิบัติธรรมก็ต้องจัดแยกคนของเรากับคนท้องถิ่น เนื่องจากมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน 

    ๔. เรื่องธรรมะ นี่ก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะต้องไม่ให้ไปกระทบความเชื่อของเขา ต้องให้เขาใจเปิดในการเรียนรู้
 

     อ่านถึงตรงนี้ พวกเราอาจจะคิดว่าน่าหนักใจ แต่ขอบอกว่า ทีมงานไม่ได้หนักใจอะไรเลย หากอยากรู้ว่าทำไมจึงไม่หนักใจ
 

โปรดติดตามตอนต่อไป...


ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๙ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042346000671387 Mins