หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๗๗)
ทำอย่างไรจะไม่ให้มีทิฏฐิมานะ
ในการอยู่ร่วมกันในสังคมของคนที่มาจากพื้นฐานที่แตกต่างกัน ย่อมจะหลีกเลี่ยงการมีความเห็นที่ขัดแย้งกันไม่ได้ หากมีความเห็นต่างเกิดขึ้นแล้วมีการยอมกัน เรื่องก็คงจะสงบ แต่หากดื้อดึงจะเอาชนะกัน เรื่องคงจะไม่จบง่าย ๆ
บางครั้งแม้มีผู้ที่ปรารถนาดี มาชี้ขุมทรัพย์ให้ แต่ด้วยทิฏฐิมานะหรือความถือตัว ก็อาจจะทำให้เราไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ขัดอกขัดใจได้
หลวงพ่อทั้งสอง เป็นต้นแบบของผู้ที่รับฟังความคิดเห็นผู้อื่น หลายครั้งที่ท่านให้โอกาสพวกเราในการแสดงความเห็น แล้วท่านยอมตามความเห็นของพวกเรา แม้ภายหลังก็ต้องกลับมาใช้วิธีการของท่าน
“ หากเป็นเรื่องงานหยาบที่ดูแล้ว เมื่อผิดพลาดก็แก้ไขได้ หลวงพ่อก็จะยอมตามหมู่คณะ แม้ในที่สุดจะกลับมาใช้วิธีของหลวงพ่อก็ตาม แต่หากเป็นงานละเอียด เป็นเรื่องของวิชชา อันนี้หลวงพ่อยอมไม่ได้ ”
นั่นคือ แนวทางที่ชัดเจนของหลวงพ่อธัมมชโย
สำหรับหลวงพ่อทัตตชีโวนั้น อาตมาได้เคยกราบเรียนถามท่านว่า
“ หลวงพ่อมีวิธีฝึกตัวอย่างไรครับ จึงทำให้หลวงพ่อยอมรับฟังความเห็นของลูก ๆ ทั้งที่โดยสถานะของหลวงพ่อ สามารถที่จะสั่งให้ลูก ๆ ทำอะไรก็ได้ ผมเองยังเคยค้าน ไม่เห็นด้วยกับหลวงพ่อ ก็ไม่เห็นหลวงพ่อจะแสดงอาการไม่พอใจแต่อย่างใด ”
หลวงพ่อท่านหัวเราะ แล้วพูดว่า
“ หลวงพ่อได้ครูดี หลวงพ่อไม่เคยเห็นยายทะเลาะกับใคร ไม่เคยเห็นยายมีปากเสียงกับใคร ท่านมีแต่นิ่ง หรือหากจะดูในสมัยพุทธกาลนะ ไปศึกษาเรื่องพระสารีบุตรให้ดี ท่านไปไหนก็ตาม ระมัดระวังตัวเองตลอด ไม่มีความถือตัวว่า ท่านเป็นถึงอัครสาวกเบื้องขวา
แต่พอมีใครกล่าวตู่ว่าท่านไม่เห็นหัวเขา เดินให้ชายจีวรโดนเขาได้ ท่านบอกเลยว่า ท่านทำตัวให้เหมือนแผ่นดิน ใครจะทิ้งของเสีย ของหอม ของเหม็น แผ่นดินก็ไม่รู้สึกอึดอัดอะไร หรือทำเหมือนโคเขาขาด ไปไหนก็สงบเสงี่ยม ก็เขามันไม่มีแล้วจะไปกร่างกะใครเขาได้ ”
ล่าสุดเมื่อคืนวันที่ ๑๑ ต.ค. อาตมากับพระอีกรูปหนึ่งได้ไปกราบเรียนถามธรรมะ ท่านได้ตั้งคำถามกับหลวงพ่อว่า
“ หลวงพ่อครับ ในจำนวนพระที่อยู่ด้วยกันก็มีทั้งผู้ที่มีอายุมาก แต่เพิ่งมาบวช บางครั้งก็ไม่รู้จะบอกกันอย่างไร เพราะท่านก็เคยประสบความสำเร็จทางโลกมาแล้ว ก็มีความภูมิใจ ความถือตัวอยู่ ทำอย่างไรจะมีแนวทางในการลดทิฏฐิมานะได้ครับ ”
“ ตัวอย่างที่ดีมากเลย คือ พระสารีบุตรนะ พระสารีบุตรนี่ ขนาดเณรเตือนท่านเลยนะ ท่านยังยอมแก้ไข ”
เนื่องจากอาตมาไม่เคยเจอเรื่องนี้จึงรีบถามหลวงพ่อว่าเรื่องนี้อยู่ที่ไหน ทำให้เห็นคุณธรรมของหลวงพ่อ ในความเป็นครู
จากเดิมที่หลวงพ่อนั่งที่เก้าอี้ ท่านรีบนั่งลงกับพื้น ค้นแฟ้มข้างโต๊ะทำงาน ทำให้อาตมาต้องรีบเข้าไปนั่งใกล้ แล้วท่านก็ส่งแฟ้มมาให้
“ มันแก่แล้วชักจะลืม ถ้าเป็นเมื่อก่อน ถามว่าอยู่ตรงไหน หลวงพ่อบอกได้ทันที แต่เดี๋ยวนี้ ต้องให้ดูจากเอกสารนี่แหละ แล้วไปค้นดูรายละเอียดจากพระสูตรดูนะ
นี่แหละดูไว้ พระอัครสาวกเบื้องขวานะ แต่ไม่ได้มีความถือตัวเลย เณรน้อยอายุแค่ ๗ ขวบ บอกท่าน แล้วท่านเห็นประโยชน์ รีบไปแก้ไข แล้วมาขอบคุณด้วย ”
ในฐานะของนักสร้างบารมีที่รักการฝึกตัว เราก็ได้เห็นตัวอย่างจากพระสารีบุตรแล้ว เห็นตัวอย่างจากหลวงพ่อของเราแล้ว ดังนั้นทิฏฐิมานะใดก็ตามที่จะทำให้การสร้างบารมีของเราเนิ่นช้า ก็ให้รีบแก้ไขโดยเร็ว เพราะนอกจากจะเกิดประโยชน์กับตนเองแล้ว ยังจะก่อให้เกิดประโยชน์อันยิ่งใหญ่ต่อหมู่คณะอีกด้วย
ขอขอบคุณบทความดี ๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ
๑๓ ต.ค. ๕๙
anacaricamuni.blogspot.ae