การดูแลเรื่องอาหาร " การดื่มน้ำ "

วันที่ 13 พค. พ.ศ.2560

การดูแลเรื่องอาหาร
" การดื่มน้ำ "

GB 410 การรักษาสุขภาพตามพุทธวิธี , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , การดูแลเรื่องอาหาร , การดื่มน้ำ

      โดยทั่วไปคนเราสามารถอดอาหารได้นานเป็นสัปดาห์ๆ แต่ถ้าร่างกายขาดน้ำเพียง 1-2 วัน ก็ถึงขั้นปางตายได้ ดังนั้นน้ำจึงมีความสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างมาก แต่ก็มีหลายคนไม่เห็นความสำคัญในเรื่องการดื่มน้ำ

1. ความสำคัญของน้ำ
    คนเรามีส่วนประกอบที่เป็นน้ำถึง 2 ใน 3 ส่วนของร่างกาย และน้ำยังเป็นส่วนสำคัญในการทำงานของทุกระบบภายในร่างกาย เช่น

      ช่วยทำปฏิกิริยาทางเคมี ให้เกิดเป็นพลังงานแก่ร่างกาย เพื่อใช้ในการดำรงชีวิต

     ช่วยให้ระบบการไหลเวียนของเลือดสามารถลำเลียงอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้อย่างทั่วถึง

      ช่วยให้ระบบการหายใจทำงานได้อย่างสมบูรณ์

      ช่วยให้ระบบทางเดินอาหารสามารถย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหารได้โดยสะดวก

    ช่วยให้ระบบขับถ่ายสามารถกำจัดของเสียออกจากร่างกาย โดยทางปัสสาวะ อุจจาระและทางเหงื่อ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

      ช่วยหล่อลื่นอวัยวะต่างๆ เช่น ดวงตา ข้อต่อ ช่องท้อง เยื่อหุ้มปอด เป็นต้น

      ช่วยรักษาอุณหภูมิของร่างกาย

   เราเคยเรียนรู้มาจากวิชาวิทยาศาสตร์แล้วว่า "น้ำเป็นตัวนำความร้อนที่เลว" ตัวอย่างเช่นถ้าเราใส่น้ำลงในภาชนะประเภทแก้วใสๆ แล้วเอาไปต้มสักครู่หนึ่งจะสังเกตเห็นว่า น้ำในบริเวณด้านล่างภาชนะนั้นเดือดปุดๆ แต่ผิวน้ำด้านบนยังเย็นอยู่ ตรงกันข้ามกับโลหะ ถ้าเรานำเหล็กความยาวเท่ากับภาชนะแก้วใสที่ใช้ต้มน้ำใบนั้น นำปลายข้างหนึ่งไปเผาไฟ ใช้เวลาเผาเท่ากับเวลาที่เราต้มน้ำ เมื่อเห็นน้ำด้านล่างภาชนะเริ่มเดือดปุดๆ จะพบว่าปลายอีกข้างหนึ่งของเหล็กจะร้อนอย่างมาก ทั้งนี้ก็เพราะโลหะเป็นตัวนำความร้อนที่ดี ดังนั้นถ้าในร่างกายของ
เรามีน้ำเพียงพอ น้ำจะทำหน้าที่ห่อหุ้มรักษาอุณหภูมิของเซลล์ต่างๆ ไว้เป็นการสร้างฉนวน หรือสร้างภูมิต้านทานให้แก่ตัวเราได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าอุณหภูมิภายนอกจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร อวัยวะภายในของเราจะไม่ถูกกระทบกระเทือน ตัวอย่างเช่น เมื่อแขนของเราถูกแดดเผาก็จะร้อน แต่ผิวหนังด้านหลังแขนเท่านั้น แต่ท้องแขนไม่ได้ร้อนตามไปด้วย ทั้งนี้เพราะน้ำซึ่งปนอยู่กับเลือดที่ไหลเวียนอยู่ในแขนของเรานั้น เป็นตัวนำความร้อนที่เลวนั่นเอง ตรงกันข้ามสมมุติว่าแขนของเราเป็นเหล็ก ถ้าแดดเผาทางหลังแขนสักครู่เดียวก็จะร้อนถึงท้องแขน

      ช่วยลดแรงสั่นสะเทือน แรงกระทบกระแทกจากภายนอก

      ช่วยให้ผิวพรรณสดใสผิวตึง มีน้ำมีนวล ไม่เหี่ยวแห้ง หยาบกระด้าง ฯลฯ

    เมื่อเป็นเช่นนี้อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ ดื่มน้ำให้มากเพียงพอ น้ำก็จะช่วยประคับประคองสุขภาพของเราให้ดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข


2. ร่างกายขาดน้ำทำให้เกิดผลเสียอย่างไร
     เนื่องจากน้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญของการทำงานทุกระบบในร่างกาย ถ้าระบบต่างๆ ขาดน้ำก็จะทำให้การทำงานผิดปกติ ก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกาย ผลเสียจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับปริมาณและระยะเวลาที่ขาดน้ำว่ามากน้อยต่อเนื่องยาวนานแค่ไหน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างผลเสียซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาดน้ำ

1) อวัยวะภายในทำงานหนัก
     ระบบทางเดินอาหารขาดน้ำ กระเพาะอาหารและลำไส้ก็ต้องทำงานหนักมากขึ้น ทั้งนี้เพราะในการบีบตัวเพื่อย่อยอาหารแต่ละครั้ง กระเพาะอาหารและลำไส้ต้องออกแรงมากทำนองเดียวกับเราบีบดินแห้งๆ ให้แตก ต้องออกแรงมากกว่าดินเปียกๆ หรือดินโคลน ในไม่ช้ากระเพาะและลำไส้ก็หมดแรง ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     ระบบการไหลเวียนของเลือดขาดน้ำมีผลทำให้เลือดข้น เพราะเลือดมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 90 เมื่อเป็นเช่นนี้การไหลเวียนของเลือดข้นจึงส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะที่สำคัญต่างๆ เช่น

    หัวใจต้องทำงานหนักมากขึ้น เหมือนกับการที่เรานำเครื่องปัมน้ำไปปัมโคลน ปั๊มเลนเครื่องปัมน้ำก็จะพังเร็ว เพราะว่าโคลนมันข้นและหนืดกว่าน้ำหลายเท่าตัว

   ปอดต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะในการแลกเปลี่ยนออกซิเจนเพื่อฟอกเลือด ต้องใช้น้ำเป็นส่วนประกอบสำคัญ เพื่อเปลี่ยนจากเลือดดำมาเป็นเลือดแดง เมื่อเลือดข้น การแลกเปลี่ยนออกซิเจนก็ไม่สมบูรณ์ เลือดดำก็ไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเลือดแดงได้ครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์ครั้นเมื่อเลือดดำหมุนเวียนกลับมาใหม่ ปอดก็ยิ่งต้องทำงานหนักมากขึ้นไปอีก เพื่อจะเปลี่ยนให้เป็นเลือดแดงได้มากที่สุด

  ไตต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะไตต้องกรองเอาของเสียออกจากเลือดข้นๆ และต้องดูดน้ำกลับเข้าสู่ร่างกายใหม่ ปล่อยให้น้ำหลุดออกไปเป็นปัสาวะน้อยที่สุดเพื่อรักษาสมดุลของน้ำภายในร่างกาย ใครที่ปัสสาวะสีเหลืองข้นบ่อยๆ เป็นประจำ ระวังไตจะพิการเร็ว และกระเพาะปัสสาวะก็จะอักเสบบ่อยเพราะของเสียที่มาพักอยู่มีความเข้มข้นมาก เยื่อบุกระเพาะปัสสาวะจึงถูกของเสียที่เข้มข้นกัดและทำลายตลอดเวลาที่ปัสาวะตกค้างอยู่ ฯลฯ


2) ปวดศีรษะ
    คนที่ขาดน้ำ มักจะมีอาการปวดศีรษะตุ๊บๆ เพราะการขาดน้ำทำให้เลือดข้น ปริมาตรของเลือดทั่วร่างกายจึงลดลง ระบบรักษาสมดุลของร่างกายจึงกระตุ้นเส้นเลือดให้หดตัว และเพิ่มอัตราการบีบตัวของหัวใจ เพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกายให้เพียงพอ แต่เนื่องจากในเส้นเลือดแต่ละเส้นจะมีเส้นเลือดฝอยเล็กๆ และเส้นประสาทพันรอบเส้นเลือดด้วย พอเส้นเลือดหดตัวจึงส่งผลให้เส้นเลือดฝอยๆ และแขนงเส้นประสาทถูกบีบ ทำให้เกิดอาการปวดขึ้น เพื่อส่งสัญญาณเตือนให้รีบหาทางแก้ไข

    ตามธรรมดาการสูบฉีดเลือดจากหัวใจขึ้นไปสู่ศีรษะ จะถูกแรงโน้มถ่วงของโลกต้านไว้เลือดที่ข้นและมีจำนวนน้อย จึงไปถึงศีรษะได้น้อยกว่าปกติ นอกจากนี้ที่ศีรษะมีเส้นประสาทอยู่เป็นจำนวนมาก จึงไวต่อความรู้สึกปวดมากกว่าส่วนอื่น

     จงพยายามสังเกตตัวเอง ขณะใดที่มีอาการดังกล่าวนี้ ให้รีบดื่มน้ำเข้าไปมากๆ เพื่อเพิ่มปริมาตรของเลือดให้กลับสู่ปกติ เส้นเลือดก็จะได้กลับสู่ ภาพเดิม อาการปวดตุบๆ ก็จะหายไปโดยไม่ต้องพึ่งยาเลย


3) คัดจมูก
   ในขณะที่ร่างกายขาดน้ำ น้ำที่มีอยู่ในตัวก็ร้อนราวกับจะเดือดขึ้น ทำให้มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ผู้ที่ไม่เข้าใจมักจะคิดว่าตนมีปริมาณน้ำในตัวมากเกินไปจึงล้นออกมา แต่ความจริงไม่ใช่อย่างนั้น ให้นึกถึงหม้อน้ำรถยนต์ เวลาน้ำในหม้อน้ำแห้งลงไปมาก น้ำที่เหลือก็จะเดือดน้ำและไอน้ำก็จะทะลักออกมา ราวกับว่าน้ำในหม้อน้ำมีมากจนล้น


4) ไข้จากการขาดน้ำ
   อาการไข้เป็นภาวะที่ภายในร่างกายมีความร้อนสูงเกินกว่าปกติ (ความร้อนภายในร่างกายปกติเท่ากับ 37 องศาเซลเซียส) ความร้อนที่สูงเกินกว่าปกตินี้ เกิดได้จากหลายสาเหตุที่พบบ่อยคือ เกิดจากการได้รับเชื้อโรคชนิดใดชนิดหนึ่ง และการขาดน้ำก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการไข้ได้

     กลไกของไข้สูงจากการขาดน้ำ เข้าใจได้ง่ายๆ โดยลองนึกถึงหม้อน้ำรถยนต์ที่ไม่ค่อยได้เติมน้ำ เมื่อรถยนต์วิ่งไปนานๆ จนน้ำในหม้อน้ำแห้ง ตัวเครื่องยนต์จึงไม่มีน้ำไปหล่อเลี้ยงในการช่วยระบายความร้อน จึงมีสัญญาณปรากฏโดยอัตโนมัติขึ้นที่หน้าปัด เพื่อเตือนว่าขณะนี้ตัวเครื่องยนต์มีความร้อนขึ้นสูงมาก ต้องรีบหาทางแก้ไขด่วน ร่างกายของเราก็ทำนองเดียวกัน มีความร้อนที่เกิดจากการเผาผลาญพลังงานออกมาตลอดเวลา จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ร่างกายกระทำ เมื่อน้ำในร่างกายเหือดแห้งลง ไม่มีน้ำไปช่วยหล่อเลี้ยงและระบายความร้อนออกอย่างทันท่วงที ความร้อนของร่างกายจึงสะสมขึ้นสูง ที่เรียกว่า เป็นไข้


5) แผลร้อนใน คออักเสบ และทอนซิลอักเสบ
    แผลร้อนใน คออักเสบ และทอนซิลอักเสบ เกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหนึ่งที่มักจะเกิดได้บ่อย คือ การขาดน้ำ

    เมื่อขาดน้ำ ความร้อนภายในร่างกายก็เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เซลล์ก็ขาดน้ำหล่อเลี้ยงจึงขาดฉนวนคุ้มกันความร้อน เยื่อบุผิวบริเวณใดได้รับผลกระทบดังกล่าวมาก ก็เกิดปัญหาตามมามาก เพื่อให้เข้าใจง่าย ลองนึกถึงผิวหนังบริเวณที่ถูกน้ำร้อนลวก ผิวหนังบริเวณนั้นจะมีลักษณะบวมแดง ถ้ารุนแรงมากก็จะโป่งพอง เป็นถุงใสๆ หากถุงเหล่านั้นแตกเมื่อใดก็จะเป็นแผลปวดแสบสำหรับแผลภายในร่างกายที่เราเห็นกันได้บ่อยๆ ก็คือ ในช่องปาก ขั้นแรกก็บวมแดง แล้วเกิดเป็นตุ่มใสๆ ครั้นต่อมาแตกแล้วก็จะเป็นจุดแผลในช่องปาก มีอาการเจ็บปวดขณะที่รับประทานอาหารอะไรก็จะปวดแสบยิ่งขึ้น ปู่ย่าตาทวดของเราเรียกแผลในช่องปากนี้ว่าแผลร้อนใน ถ้าเกิดขึ้นในลำคอ ก็ทำให้คออักเสบ หรือถ้าเกิดขึ้นที่ทอนซิล ก็ทำให้ทอนซิลอักเสบ

   เนื่องจากในลำคอมีโอกาสติดเชื้อโรคได้ง่ายจากเชื้อโรคที่ปนเปอนอยู่ในช่องปากบ้างเชื้อโรคที่ปนเปื้อนอยู่ในทางเดินหายใจบ้าง ก็อาจจะกลายเป็นคออักเสบติดเชื้อหรือทอนซิลอักเสบติดเชื้อได้ มีไข้ เจ็บคอ ไอ เสมหะเขียวข้นตามมา ต้องหายาฆ่าเชื้อโรคมารักษาค่าใช้จ่าย ก็เพิ่มตามมาอีก


6) ท้องผูกริดสีดวงทวารหนัก
   ลำไส้ใหญ่มีอีกหน้าที่หนึ่งที่สำคัญ คือ ดูดน้ำจากกากอาหารกลับคืนเข้าสู่กระแสเลือดหากร่างกายขาดน้ำ ร่างกายก็สั่งให้ลำไส้ ใหญ่ดูดน้ำกลับคืนจากกากอาหารให้มากขึ้นกว่าเดิมอีกอุจจาระจึงแข็ง ยิ่งดูดน้ำออกมาก อุจจาระก็ยิ่งแข็งมาก หากในกากอาหารนั้นไม่มีอาหารพวกเส้นใยอยู่เลย ก็ยิ่งอัดแน่นแข็งมากขึ้นไปอีก ครั้นถึงเวลาขับถ่าย ลำไส้บีบให้ออกก็ออกยากท้องจึงผูก แล้วเวลาถ่าย ความแข็งของอุจจาระก็ไปบาดครูดเนื้อเยื่อทวารหนัก เกิดการอักเสบหรือเป็นแผลบ่อยๆ เข้า ในที่สุดก็เป็นริดสีดวงทวารหนัก


7) นิ่ว
   ถ้าดื่มน้ำน้อย คนเราก็จะไม่ใคร่รู้สึกปวดปัสาวะ กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือ การขับถ่ายปัสสาวะจะทิ้งช่วงห่าง เนื่องจากปัสาวะยังมีปริมาณน้อย จึงไม่สามารถกระตุ้นให้ร่างกายรู้สึกปวดปัสาวะแล้วขับออกมาได้ จึงต้องค้างอยู่ในระบบทางเดินปัสสาวะเป็นเวลานาน ตะกอนที่อยู่ในปัสสาวะจึงตกค้างและค่อยๆ จับตัวกันเป็นก้อน ในที่สุดก็เกิดเป็นนิ่วในไต หรือนิ่วในท่อไตหรือนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเป็นอันตรายมาก


8) เส้นยึด
    ร่างกายขาดน้ำ ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้กล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และพังผืดเหี่ยว เสมือนพืชผักสวนครัว ถ้าหากวันใดไม่ได้รดน้ำ ก้าน ใบ แม้กระทั้งลำต้นก็จะเหี่ยวเฉา เพราะในกล้ามเนื้อมีน้ำเป็นส่วนประกอบถึงร้อยละ 80

   เมื่อเส้นเอ็นและพังผืดเหี่ยวก็จะเกาะติดกันเป็นแผง มิหนำซ้ำบางเส้นยังไขว้กันอีกด้วยแม้ต่อมาจะพยายามออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้นเท่าไร บริหารยืดเส้นยืดสายอย่างไร อาการเส้นเอ็นและพังผืดยึดก็ยากที่จะหลุดออกจากกันกลับคืนสู่สภาพปกติ เพราะฉะนั้นใครที่เส้นยึดใครที่เท้าแพลงบ่อยๆ ขอให้ทราบเถิดว่าสาเหตุหนึ่งที่สำคัญ คือ ท่านไม่ค่อยเห็นคุณค่าของการดื่มน้ำ


9) ตื่นแล้วไม่สดชื่น
     บางคนเมื่อตื่นนอนตอนเช้า ก็ยังรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน ไม่อยากจะลุกขึ้น ทั้งๆ ที่นอนมาทั้งคืนแล้ว จึงมักจะคิดว่าตนคงจะเพลียมาก ยังพักผ่อนไม่เพียงพอ แต่จริงๆ แล้วสาเหตุที่ทำให้รู้สึกเช่นนี้ ก็เพราะเขาสูญเสียน้ำขณะหลับไปตลอดทั้งคืน ครั้นตื่นเช้าขึ้นมา ร่างกายจึงขาดน้ำ แต่ถ้าตื่นขึ้นมาแล้วรีบดื่มน้ำเข้าไปสัก 23 แก้ว เซลล์ก็จะกลับชุ่มชื่นขึ้น เราก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นมาทันที เพราะฉะนั้นใครก็ตามเมื่อตื่นนอนแล้วรู้สึกหงอยเหงา ขอนอนบิดขี้เกียจต่ออีก เพราะรู้สึกว่ายังนอนไม่พอ ก็ขอเตือนว่า ให้รีบลุกขึ้นเร็วๆ แล้วดื่มน้ำเข้าไปสัก 23 แก้ว อาการเพลียก็จะหาย ความสดชื่นก็เข้ามาแทนที


10) อิ่มแล้วง่วง
    บางคนรับประทานอาหารเสร็จแล้วก็ง่วง ถ้านั่งสมาธิ ก็จะหลับสัปหงกสาเหตุที่สำคัญคือดื่มน้ำน้อยไปหรือรับประทานอาหารมากไป จนไม่มีช่องว่างสำหรับน้ำ ทำให้อาหารในกระเพาะข้นมาก ยากต่อการย่อย

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนไว้ว่า ทุกครั้งที่รับประทานอาหารให้เตือนตนว่า อีก 4-5 คำ จะอิ่มให้หยุดเสีย แล้วก็ดื่มน้ำเข้าไปสักแก้วหนึ่ง ใครก็ตามขณะที่รู้สึกว่า อีก 4-5 คำจะอิ่มความจริงคืออิ่มแล้ว เพราะอาหาร 4-5 คำที่เรารู้สึกว่ายังขาดนั้นกำลังเดินทางแต่ยังไม่ถึงกระเพาะ ในทันทีที่ทั้งหมดถึงกระเพาะจะรู้สึกอิ่มพอดี บางคนพอพบกับข้าวอร่อยถูกปาก ทั้งที่อิ่มแล้ว ยังขอแถมอีก 4-5 คำ นั่นแสดงว่า เมื่อดื่มน้ำแล้ว ก็เกินไปตั้ง 9 คำ 10 คำ

   ทำไมพระองค์จึงทรงสอนเช่นนั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้มีที่ว่างในกระเพาะและลำไส้พอที่น้ำจะแทรกเข้าไปได้ อาหารก็จะเหลวลง ซึ่งจะช่วยให้การบีบตัวของกระเพาะและลำไส้สะดวก ไม่ต้องออกแรงมาก ร่างกายจึงไม่เพลีย ไม่ล้า การย่อยอาหารดำเนินไปได้โดยง่าย อิ่มแล้วก็ไม่ง่วงนั่งสมาธิก็ไม่สัปหงก


3. สาเหตุของการขาดน้ำ
      สาเหตุที่ร่างกายของคนเราขาดน้ำที่พบบ่อยๆ คือ

1) ไม่ทราบกลไกและความสำคัญของน้ำที่มีต่อร่างกายแต่ละระบบ จึงดื่มน้ำน้อยทำให้ไม่พอเพียงกับความต้องการของร่างกาย

2) ความพลั้งเผลอ เมื่อต้องไปทำงานอยู่กลางแดด หรือถูกลมโกรก หรืออยู่หน้าพัดลมนานๆ หรืออยู่หน้าเตาไฟ แม้ดื่มน้ำในปริมาณเท่ากับในเวลาปกติ ก็ทำให้ร่างกายขาดน้ำได้

3) ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ กล้ามเนื้อและพังผืดจึงหดเกร็งอยู่ตลอดเวลา ทำให้การดูดซึมน้ำไม่ดี แม้จะดื่มน้ำเข้าไปมากก็ดูดซึมได้น้อย จึงเก็บน้ำไม่อยู่ ขับถ่ายออกเร็วและปัสสาวะถี่ ทำนองเดียวกับดินที่ไม่ได้พรวน ย่อมดูดซึมน้ำที่ราดลงไปได้น้อย รดน้ำลงไปมากเท่าไรก็ไหลไปที่อื่นหมด ร่างกายจึงขาดน้ำ

4) ดื่มน้ำเย็นจัด ตามธรรมดาถ้าร่างกายแข็งแรงไม่เจ็บป่วย แม้จะดื่มน้ำเย็นก็มักไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อใดร่างกายอ่อนแอ ถ้าดื่มน้ำเย็นจัดโดยเฉพาะน้ำใส่น้ำแข็ง หรือน้ำในตู้เย็นเข้าไปแล้ว ก็จะทำให้กล้ามเนื้อ กระเพาะ และลำไส้หดเกร็ง จึงดูดซึมได้ไม่ดี เพราะฉะนั้นพอดื่มน้ำเย็นจัดไม่ถึง 5 นาที น้ำที่ดื่มเข้าไปส่วนใหญ่ก็จะถูกขับออกมาเป็นปัสสาวะ ร่างกายจึงขาดน้ำไปโดยปริยาย

5) เมื่อต้องเดินทางไปต่างประเทศ ในช่วงฤดูหนาวที่มีอากาศเย็นมาก ซึ่งมี ภาพอากาศแห้งอยู่แล้ว หากต้องพักอยู่ในห้องที่ใช้เครื่องทำความร้อน (Heater) จึงทำให้ร่างกายยิ่งขาดน้ำ บางครั้งถึงกับทำให้เส้นเลือดฝอยแตก เลือดกำเดาออก


4. วิธีสังเกตอาการที่ร่างกายขาดน้ำ
    อาการที่ร่างกายขาดน้ำสามารถสังเกตได้จากอาการปากแห้ง คอแห้ง กระหายน้ำปากแตก ผิวแตก เสียงแหบ ท้องผูก ร้อนใน ฯลฯ

     อาการดังกล่าวนี้เป็นสัญญาณเตือนว่า ขณะนี้ร่างกายมีน้ำไม่เพียงพอ นั่นก็คือ ร่างกายได้ขาดน้ำแล้ว ยิ่งกว่านั้นยังเป็นสิ่งที่เตือนว่า นิสัยที่ไม่ดี คือ ขาดความสังเกต มักง่าย เอาแต่ใจตัวเอง อย่างใดอย่างหนึ่งได้เกิดขึ้นแล้ว

     อนึ่ง ยังมีวิธีสำรวจตรวจสอบตัวเองง่ายๆ ว่า ร่างกายขาดน้ำหรือไม่ก็คือ หากปัสสาวะแล้วมีสีเหลือง ยิ่งถ้าเหลืองเข้ม เหมือนกับน้ำชาชงแก่ๆ แสดงว่าขาดน้ำอย่างมากส่วนผู้ที่ปัสาวะสีเหลืองอ่อนหรือปัสสาวะใสแสดงว่าร่างกายมีน้ำเพียงพอ


5. ดื่มน้ำอุ่นดีอย่างไร
    ร่างกายดูดซึมน้ำอุ่นได้ง่ายกว่าน้ำเย็นเพราะน้ำอุ่นมีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกาย (อุณหภูมิปกติของร่างกาย 37 องศาเซลเซียส) ส่วนน้ำเย็นมีอุณหภูมิต่ำกว่าอุณหภูมิภายในร่างกาย

    กล้ามเนื้อหรืออวัยวะภายในเมื่อถูกน้ำเย็นจัดมากเท่าไรก็หดตัวมากเท่านั้น พอหดตัวการดูดซึมน้ำก็ไม่ดี การดูดซึมจะเริ่มดีขึ้นก็ต่อเมื่อร่างกายได้ปรับน้ำเย็นนั้นให้มีอุณหภูมิใกล้เคียงกับร่างกาย แต่ถ้าเราดื่มน้ำอุ่น หรือจิบน้ำร้อนเข้าไป ร่างกายก็จะดูดซึมได้ทันที

    หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้จากการเดินทางไปประเทศจีนว่า ครั้งหนึ่งในขณะที่ต้องเดินทางผ่านทะเลทราย ซึ่งอากาศแห้งจัด ทั้งๆ ที่ระมัดระวังตัวเรื่องการฉันน้ำให้เพียงพออยู่แล้ว แต่ก็ยังมีอาการขาดน้ำกะทันหัน คือ ปากแตก หน้าแตก ปัสสาวะเหลืองอ๋อย พอรู้ตัวว่ามีอาการดังนี้ ก็รีบฉันน้ำอย่างรวดเร็ว แต่เป็นน้ำเย็นไม่ว่าดื่มมากเท่าไรๆ มันก็ออกหมด ดื่มน้ำไปสัก 5 นาที 10 นาที ก็ต้องเข้าห้องน้ำ ปัสสาวะออกหมด ร่างกายไม่เก็บน้ำ จึงยังมีอาการขาดน้ำอยู่จนทำท่าจะมีอาการไข

    ทันใดนั้นท่านก็ฉุกคิดถึง มัยที่ท่านยังเป็นเด็ก เคยเห็นผู้ใหญ่รุ่นพ่อรุ่นก๋ง ชอบจิบน้ำชาร้อนๆ และนั่งสนทนากันได้เป็นเวลานานๆ โดยไม่มีใครลุกไปเข้าห้องน้ำ จึงขอน้ำอุ่นมาฉันไม่น่าเชื่อเลยว่า การเข้าห้องน้ำทุกๆ 10 นาที ได้ยืดเวลาออกไปเป็น 20 นาที ครั้นฉันน้ำอุ่นเข้าไปเรื่อยๆ ทำให้ยืดเวลาไปได้ถึง 1 ชั่วโมงจึงเข้าห้องน้ำ ต่อมาก็ยืดเวลาออกไปได้ถึง 3 ชั่วโมง ครั้นแล้วอาการขาดน้ำก็หายไป

    จากประสบการณ์ในครั้งนั้น ท่านจึงได้ข้อคิดว่า ครั้งใดก็ตาม เมื่อรู้ตัวว่าขาดน้ำ รู้ตัวว่าป่วยรู้ตัวว่ามีอาการไข้ ร่างกายเริ่มไม่ปกติ อย่าได้ดื่มน้ำเย็นเข้าไปเป็นอันขาด ถ้าเราดื่มน้ำยิ่งเย็นมากเท่าไร ร่างกายจะยิ่งดูดซึมได้ไม่เต็มที่เท่านั้น เพราะว่าอุณหภูมิต่างกันมาก ร่างกายจึงขับทิ้งแต่ถ้าดื่มน้ำอุ่นหรือจิบน้ำร้อนอุณหภูมิใกล้เคียงกัน ร่างกายจึงดูดซึมได้เต็มที่ และกลับฟื้นตัวสดชื่นได้เร็ว


6. การดื่มน้ำให้เพียงพอ
     การดื่มน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายนั้น อย่าไปกำหนดเพียงว่า วันนี้ต้องได้ปริมาณของน้ำ 10 แก้ว หรือ 20 แก้วแล้วพอ แต่ให้คำนึงถึงสภาพดินฟ้าอากาศแวดล้อมตัวเราและกิจกรรมที่เราทำในแต่ละวันเป็นเกณฑ์ ตัวอย่างเช่น สมมุติว่า ปกติในแต่ละวัน เราดื่มน้ำ 10 แก้วก็เพียงพอ แต่ถ้าวันใดไปยืนกลางแดดนานๆ หรือนั่งอยู่ในร่มแต่ถูกพัดลมเป่าทั้งวัน หรือ ออกกำลังกายทำให้เสียเหงื่อมากๆ อย่างนี้ดื่มน้ำ 10 แก้วไม่พอแล้ว อาจจะต้องเพิ่มเป็น 14-15 แก้ว เป็นต้น

    มีวิธีสังเกตอย่างง่ายๆ ก็คือ ปัสสาวะมีสีใสเหมือนน้ำที่ดื่มเข้าไป แสดงว่า การดื่มน้ำในวันนั้นเพียงพอแน่นอน แต่ถ้าปัสสาวะขุ่นคลั่กเหลืองอ๋อย หรือเป็นสีชาชงแก่ๆ ต้องดื่มน้ำเพิ่มเข้าไปอีกให้มากพอ

    ในการดื่มน้ำให้มากพอ ไม่ใช่ตลอดทั้งวันดื่มน้ำเพียง 2-3 ครั้ง โดยดื่มครั้งละมากๆ ถึง 34 แก้ว ถือว่ารวมแล้ววันนั้นก็ได้สิบกว่าแก้ว อย่างนี้ไม่เกิดประโยชน์ ลองนึกถึงการรดน้ำต้นไม้ในกระถาง ถ้าตักน้ำมา 1 ถัง แล้วรดลงไปครั้งเดียวจนหมดถัง ผลคือ น้ำส่วนใหญ่ไหลออกนอกกระถาง มาแฉะอยู่ที่พื้นดินใต้กระถาง แต่ถ้าน้ำ 1 ถังเท่ากัน ใช้ขันตักน้ำรดลงไปครั้งละ 1 ขัน รดไปเป็นระยะๆ ตลอดทั้งวัน ต้นไม้ในกระถางก็สามารถดูดซึมน้ำได้อย่างเต็มที่น้ำที่ล้นทิ้งนอกกระถางจึงแทบไม่มี น้ำ 1 ถังเท่ากัน แต่ประโยชน์ที่ต้นไม้ได้รับกลับไม่เท่ากันเราเองก็เช่นกัน ต้องดื่มน้ำให้เป็น ถ้าดื่มน้ำไม่เป็น คือ ดื่มน้อยครั้ง แต่ครั้งละมากๆ เมื่อไปนั่งสมาธิภาวนาก็เดือดร้อน เพราะต้องเข้าห้องน้ำบ่อยๆ เดินทางไปทำงานก็เดือดร้อน หรือแม้แต่เวลานอนกลางคืนก็เดือดร้อน เพราะต้องลุกขึ้นมาเข้าห้องน้ำบ่อยๆ ไม่เป็นอันหลับนอน

      คนที่ดื่มน้ำเป็น พอตื่นเช้าขึ้นมา เขาจะรีบดื่มน้ำอุ่น 2-3 แก้วทันที เพื่อให้ร่างกายสดชื่นเร็วที่สุด

    ก่อนรับประทานอาหารเช้า อาจจะดื่มน้ำอีกสักแก้ว ครึ่งแก้วก็ได้ แต่ไม่ควรมากกว่านั้น เพราะจะทำให้น้ำย่อยที่ออกมาตามเวลาเจือจางมาก ถึงกับทำให้รับประทานอาหารไม่ลงรวมทั้งทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยอาหารลดลงไปมาก ครั้นหลังรับประทานอาหารเสร็จให้ดื่มน้ำตามไปสัก 1 แก้วทันที เพราะว่ากระเพาะและลำไส้เริ่มย่อยอาหารแล้ว จำเป็นต้องได้น้ำ ไปช่วยทำให้อาหารเหลวลง เหมือนกับเวลาโม่แป้งถ้าไม่หยอดน้ำเลย จะฝดโม่ไม่ค่อยไปแต่พอหยอดน้ำแล้วหมุนโม่คล่องเชียว เพราะฉะนั้นหากเราไม่ดื่มน้ำเข้าไปเลย กระเพาะและลำไส้ต้องใช้แรงบีบแรงเค้นมาก แต่น้ำแก้วนั้นที่ดื่มตามเข้าไป จะช่วยบรรเทาแรงบีบตัวให้กระเพาะและลำไส้ไปได้เยอะ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าวันไหนรับประทานเนื้อสัตว์มาก เช่น รับประทานขาหมูเข้าไปถึงหนึ่งขา ขาไก่อีกห้าขา เต็กอีกชิ้นเบ้อเร่อ อย่างนี้ต้องดื่มน้ำตามไปอีกมากพอสมควร ไม่อย่างนั้นกระเพาะและลำไส้จะออกแรงบีบจนล้า ยิ่งไปกว่านั้น นักวิจัยค้นพบว่า ในขบวนการย่อยโปรตีน ต้องใช้น้ำในการทำปฏิกิริยาทางเคมีมากกว่าการย่อยแป้งและไขมันเสียอีก

     ทำไมไม่รีบดื่มให้ครบ 23 แก้วตั้งแต่ทีแรก ทั้งนี้เพราะถ้าดื่มรวดเดียวตั้งแต่ทีแรก น้ำย่อยจะเจือจางเกินไป น้ำเพียง 1 แก้ว ในขั้นแรกก็พอที่จะช่วยให้กระเพาะและลำไส้บีบตัวได้ง่ายขึ้นเมื่อน้ำย่อยเข้าไปแทรกอยู่ในอาหารเรียบร้อยแล้ว ถึงแม้อาหารจะยังไม่ละเอียด ก็ไม่เป็นไรถ้าดื่มน้ำตามเข้าไปอีก 12 แก้ว โดยทิ้งระยะเป็นช่วงๆ กระเพาะและลำไส้ก็จะสามารถบีบตัวย่อยอาหารได้ง่าย จึงทำให้เราไม่ง่วงไม่เพลีย

     สำหรับคนที่ต้องเดินทางออกจากบ้านในตอนเช้า เมื่อรับประทานอาหารเช้าเสร็จก็ดื่มน้ำเพียง 1 แก้วก็พอ ในช่วงเวลา 1 ชั่วโมงต่อจากนั้น ถ้าไม่กระหายนัก ก็อย่าเพิ่งดื่ม ถ้ารู้สึกกระหายก็แค่จิบน้ำเพียงนิดหน่อยเป็นระยะๆ ถ้าทำได้เช่นนี้ก็จะไม่ลำบาก เรื่องการเข้าห้องน้ำระหว่างทางครั้นถึงที่หมายแล้ว จะดื่มน้ำอีกกี่แก้วก็ดื่มได้ตามความพอใจ ไม่กระทบต่อระบบการย่อยอาหาร

     ก่อนนอนก็เช่นกัน ก่อนนอน 2 ชั่วโมงอย่าดื่มน้ำมาก ถ้าในระหว่าง 2 ชั่วโมงนี้ กระหายน้ำก็ดื่มเพียงเล็กน้อย มิฉะนั้น จะต้องลุกเข้าห้องน้ำในตอนดึกอีก

     ในกรณีบุคคลที่ไม่สามารถดื่มน้ำได้มากเหมือนคนทั่วไป เช่น ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไต ผู้ที่ป่วยเป็นโรคหัวใจขั้นร้ายแรง (หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวาย) เป็นต้น คนไข้เหล่านี้ ถ้าดื่มน้ำมากๆ อาจจะทำให้เกิดอาการบวม หรืออาการเหนื่อยหอบได้ วิธีการดื่มน้ำอย่างไรให้เพียงพอ คงต้องปรึกษาแพทย์เป็นกรณีพิเศษ


7. ประสบการณ์ที่ได้จากการดื่มน้ำ
     หลวงพ่อเล่าถึงประสบการณ์ที่ได้จากการดื่มน้ำว่า วันหนึ่งเมื่อรู้ตัวว่าเป็นไข้หวัด ปวดหัวตุ๊บๆ หลวงพ่อได้ฉันน้ำเป็นระยะๆ ค่อนข้างถี่ ภายใน 2 ชั่วโมง หมดไป 2 - 4 ลิตร ครั้งแรกฉันไป 3 แก้ว (แก้วหนึ่งประมาณ 400500 ซี.ซี.) ก็เกือบลิตรครึ่ง อีก 10 นาที ต่อมา ฉันตามไปอีก 1-2 แก้ว โดยฉันแบบจิบไปเรื่อยๆ ชั่วโมงแรกผ่านไป หลวงพ่อก็ฉันน้ำได้ประมาณ 3 ลิตร เมื่อรู้สึกง่วงก็ไปเอนหลัง แต่เอนหลังได้ไม่นาน มันปวดปัสสาวะต้องตื่นเข้าห้องน้ำ เข้าห้องน้ำเสร็จก็ฉันน้ำต่ออีก ประมาณสองชั่วโมงเศษๆ อาการไข้หวัดอันตรธานหายไปเหมือน ปลิดทิ้ง ถ้าเปรียบร่างกายคนเรากับต้นไม้ เวลาต้นไม้เหี่ยว ทำท่าเหงาๆ เพราะขาดน้ำ ถ้าเรารดน้ำสักหน่อยเดี๋ยวมันก็จะสดชื่นขึ้นมาโดยง่ายฉันใด ถ้าวันใดเรามีความรู้สึกว่าเป็นไข้หวัด ก็ให้รีบดื่มน้ำถี่ๆ ให้มากพอ น้ำนั้นก็จะส่งผลให้เซลล์ทั่วร่างกายและไตทำงานได้เต็มที่อาการไข้หวัดก็จะทุเลาลงอย่างรวดเร็ว จนหายไปในที่สุด

     คุณสมบัติสำคัญของน้ำอีกประการหนึ่ง ก็คือ เป็นยาระบาย ถ้าต้องการให้น้ำช่วยเป็นยาระบาย เมื่อตื่นนอนขึ้นมา รีบดื่มน้ำอุ่นให้ได้มากที่สุด จนรู้สึกว่า ถ้าเกินกว่านี้ก็จุก หรืออาจดื่มน้ำในปริมาณที่ตัวเองดื่มได้มากที่สุดในขณะนั้น ครั้นแปรงฟันล้างหน้าเสร็จแล้ว ให้ดื่มน้ำซ้ำอีกหลายๆ แก้ว การใช้น้ำเป็นยาระบาย ต้องดื่มน้ำในช่วงเช้าหลังตื่นนอนให้มาก เพราะท้องของเราอยู่ในสภาวะที่ว่างมากที่สุดและน้ำย่อยก็ยังไม่หลั่งออกมา เมื่อร่างกายของเราไม่สามารถดูดซึมน้ำเข้าสู่เส้นเลือดได้ทั้งหมด น้ำที่เหลือในปริมาณมากจึงไหลไปตามเส้นทางของทางเดินอาหารผ่านกระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ไปจนถึงลำไส้ตรง (ลำไส้ส่วนสุดท้ายก่อนถึงทวารหนัก) แล้วก็เดินไปเดินมาสักพัก การเคลื่อนไหวร่างกายของเราก็จะทำให้ลำไส้บีบตัวถี่ขึ้น บวกกับน้ำที่ซึมเซาะเข้าไปในอุจจาระ ทำให้อุจจาระฟูขึ้นจนกระทั่งกึ่งแข็งกึ่งเหลว (นึกถึงก้อนดินที่นำไปจุ่มในอ่างน้ำแล้วใช้มือบีบๆ จากที่เป็นก้อนแข็งๆ ก็จะกึ่งแข็งกึ่งเหลวจนกลายเป็นโคลน) ถ้าดื่มน้ำได้ในปริมาณที่มากพอจนเกิดขบวนการดังกล่าว ไม่นานนักก็จะมีอาการปวดอุจจาระ แล้วอย่าไปอั้นอุจจาระอีก รีบขับถ่ายออกไป จะรู้สึกสบายตัวทันที

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 410 การรักษาสุขภาพตามพุทธวิธี
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015389597415924 Mins