ความหมายของดุลยภาพบำบัด

วันที่ 14 พค. พ.ศ.2560

ดุลยภาพบำบัดในสมัยพุทธกาล
" ความหมายของดุลยภาพบำบัด "

GB 410 การรักษาสุขภาพตามพุทธวิธี , ความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา , DOU , ดุลยภาพบำบัดในสมัยพุทธกาล , ดุลยภาพบำบัด

     ดุลยภาพ หมายถึง ความเท่ากัน ความเสมอกัน  ส่วนดุลยภาพบำบัด หมายถึง วิธีการป้องกันบำบัดรักษาโรค และบำรุงสุขภาพด้วยการปรับความสมดุลโครงสร้างของร่างกาย ซึ่งมีองค์ประกอบ 4 ประการคือ

     1. การระวังรักษาอิริยาบถต่างๆ ให้สมดุลตลอดเวลา หมายถึง ในการนั่ง นอน ยืน เดิน วิ่ง ทำงานหรือกิจกรรมใดๆ ก็ตาม ต้องฝึกตัวเองให้มีสติระวังรักษาแนวกระดูกสันหลังให้อยู่ในแนวแกนปกติของร่างกายอยู่เสมอคืออยู่ในแนวตรงตามธรรมชาติ

    2. การบริหารจัดโครงสร้างของร่างกายให้สมดุล หมายถึง การบริหารร่างกายเพื่อจัดการให้โครงสร้างของร่างกายอยู่ในภาวะสมดุลเสมอ

      3. การออกกำลังกายเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการรักษาสมดุล

    4. การผ่อนคลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น เพื่อให้เกิดการไหลเวียนที่ดี ซึ่งมีอยู่หลายวิธี เช่น การนวด โยคะ ฤษีดัดตน การฝังเข็ม เป็นต้น

 หากจะหาร่างกายของบุคคลที่มีลักษณะได้ดุลยภาพหรือสมดุลในทุกส่วนแล้วคงไม่มีใครเกินพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะพระวรกายของพระองค์ได้ลักษณะมหาบุรุษเป็นปริมณฑล ดุจต้นไทร วาของพระองค์เท่ากับพระกายของพระองค์ พระกายของพระองค์เท่ากับวาของพระองค์ทรงมีพระกายตรงเหมือนกายพรหม มีพระทนต์เรียบเสมอกัน เป็นต้น พระวรกายของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงเป็นต้นแบบของร่างกายมนุษย์ มีความสมบูรณ์แข็งแรงแม้จะทรงบำเพ็ญทุกรกิริยาอย่างหนักอย่างที่ไม่มีใครทำได้แต่ก็ไม่ทรงสิ้นพระชนม์

 ส่วนร่างกายของพุทธบริษัทและชาวโลกทั้งหลายอาจกล่าวได้ว่าเป็นร่างกายที่ยังบกพร่องทั้งสิ้นเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับมาตรฐานคือกายมหาบุรุษ แม้กายมนุษย์ของชาวโลกจะไม่สมบูรณ์ มีร่างกายไม่ตรงเหมือนกายพรหม เป็นต้น แต่ก็มีความสำคัญต่อการสร้างบุญบารมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงตรัสอนให้ดูแลรักษาร่างกายให้ดี โดยสังเกตได้ว่าพระองค์ทรงเน้นย้ำพระภิกษุทุกครั้งในเวลานั่งสมาธิเจริญภาวนาว่า "ให้ตั้งกายให้ตรง" ดังพระดำรัสว่า "ภิกษุในธรรมวินัยนี้ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างดี นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก..." จากการค้นข้อมูลในพระไตรปิฎกพบคำสอนในลักษณะเดียวกันนี้จำนวน 89 แห่ง จึงชี้ให้เห็นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้ความสำคัญกับ "การตั้งกายให้ตรง" มาก

    ในเสขิยวัตรก็ยังปรากฏสิกขาบทเกี่ยวกับการเดินและนั่งในบ้านด้วยท่าที่ไม่สมควรคือไม่เดินโคลงกาย ไม่เดินกระโหย่งเท้า ไม่นั่งโคลงกาย ไม่นั่งรัดเข่า และไม่เอามือค้ำกายนั่งในบ้านเป็นต้น3 จุดประสงค์ของของสิกขาบทเหล่านี้นอกจากเพื่อยังศรัทธาให้เกิดขึ้นแก่ประชาชนที่พบเห็นแล้ว การไม่เดินและไม่นั่งอย่างนี้ยังช่วยรักษาสรีระให้ตรง สง่างามอีกด้วย

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ GB 410 การรักษาสุขภาพตามพุทธวิธี
กลุ่มวิชาความรู้ทั่วไปทางพระพุทธศาสนา

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.00098856687545776 Mins