หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๑๑๖) อย่าเอาใจของคนพาล มาตัดสินใจของบัณฑิต

วันที่ 30 มิย. พ.ศ.2561

หลวงพ่อสอนอะไร (ตอนที่ ๑๑๖) 
อย่าเอาใจของคนพาล มาตัดสินใจของบัณฑิต

 เมื่อได้เห็นข้อความที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์บางฉบับว่า “หมอมโนแฉพระธัมมชโย จิตใจบอบช้ำ ร่างกายอ่อนแรง หลังถูกถอดสมณศักดิ์” 

     ทำให้อาตมานึกถึงประโยคหนึ่งที่มีผู้รู้ได้กล่าวไว้ว่า “อย่าเอาใจของคนพาล มาตัดสินใจของบัณฑิต”

    ทำไมจึงกล่าวอย่างนั้น? ก็เพราะว่าขึ้นชื่อว่าใจของคนพาลนั้น คิดได้อยู่อย่างเดียวคือ คิดชั่ว เนื่องจากมีใจที่ขุ่นมัว มืดดำ อยู่ตลอดเวลา จึงคิดไปว่า ใจของคนอื่นก็เป็นเช่นเดียวกับใจของตน

    หากใครที่เป็นพระวัดพระธรรมกายตัวจริง(ไม่ใช่ประเภทแอบอ้าง)จะไม่มีวันพูดประโยคเบื้องต้นนั้นเด็ดขาด เพราะพวกเราถูกปลูกฝังกันมารุ่นต่อรุ่นในเรื่องสมณศักดิ์ว่า “หากผู้ใหญ่ท่านเมตตาให้มา ก็รับไว้เพื่อเอามาทำงาน แต่จะไม่ดิ้นรนแสวงหาด้วยความทะยานอยาก”


    เมื่อครั้งที่อาตมาบวชใหม่ ๆ จะไม่ค่อยได้พบหลวงพ่อธัมมชโย เวลาเห็นก็เห็นเดือนละครั้ง ในวันบุญพิธีบูชาข้าวพระในวันอาทิตย์ต้นเดือน ซึ่งอาตมาเก็บความสงสัยไว้ไม่ได้ จึงได้กราบเรียนถามหลวงพ่อทัตตชีโว ซึ่งหลวงพ่อได้เมตตาแก้ความสงสัยว่า “ที่เป็นอย่างนั้นเพราะหลวงพ่อธัมมะท่านรักการปฏิบัติธรรม ท่านต้องการใช้เวลากับการปฏิบัติให้มากที่สุดเพื่อจะได้เอาบุญมาดูแลหมู่คณะได้และอีกประการคือ หลวงพ่อท่านต้องการให้คนรู้จักวัดพระธรรมกาย ไม่ใช่ให้รู้จักเจ้าอาวาส เพราะท่านเห็นตัวอย่างหลาย ๆ วัด ที่มีคนไปมากในช่วงที่เจ้าอาวาสยังมีชีวิตอยู่ แต่เมื่อเจ้าอาวาสเดิมมรณภาพไป คนก็หาย กลายเป็นวัดร้าง ท่านไม่ต้องการให้วัดพระธรรมกายเป็นอย่างนั้น”

     ต่อมาเมื่ออาตมาได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อธัมมชโยเป็นเวลาถึง ๑ ปีเต็ม จึงได้เห็น ได้เข้าใจว่า หลวงพ่อท่านให้ความสำคัญกับการปฏิบัติธรรมหรือการนั่งธรรมะเท่านั้น (ซึ่งเรื่องนี้ “อดีตคนเคยอยู่วัด” คงไม่เข้าใจ เพราะมีบางช่วงที่หลวงพ่อให้เขาไปนั่งธรรมะ ก็จะไม่ค่อยนั่ง พอคนอื่นหลับตาก็จะแอบลุกไปเดินเที่ยว ใจเลยไม่เคยใสเลยสักครั้ง)

     สิ่งที่หลวงพ่อได้ตอกย้ำหมู่คณะตลอดเวลาคือ  “ในการปฏิบัติธรรมจะให้ใจบริสุทธิ์นั้น  จะต้องไม่อยากเด่น ไม่อยากดัง ไม่ติดในคำชมไม่ติดในลาภ สักการะ...” ซึ่งเรื่องนี้ก็เช่นกัน พวกเราล้วนแต่ยึดมั่นในคำสอนของหลวงพ่อ มีแต่ “เขา” ที่ทนฟังหลวงพ่อชมคนอื่นไม่ได้ หากรู้ว่าใครที่เก่งกว่า มีความรู้ความสามารถมากกว่า ก็จะหาทางใส่ความ แม้แต่พระรุ่นน้องก็ไม่เว้น จนทำให้พระอาจารย์บางรูปต้องไปเรียนที่ต่างประเทศจากการถูกใส่ร้าย แต่กลับกลายเป็นผลดีต่อวัด เพราะท่านไปเรียนด้วย เผยแผ่ด้วย จนทำให้เกิดวัดสาขาเพิ่มขึ้นมาอีกหลายวัด แถมวิทยานิพนธ์ที่ท่านทำ ได้รับการยอมรับจากมหาวิทยาลัย เป็นที่ชื่นชมของครูบาอาจารย์อีกด้วย เลยยิ่งทำให้อดีตคนเคยอยู่วัด แค้นแทบกระอักเลือด เพราะตนเองไม่เคยมีผลงานอะไรออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม
 

    นอกจากจะไม่มีผลงานแล้ว หลังจากที่หลวงพ่อทัตตชีโวได้พาหมู่คณะซื้อวัดพุทธเมย์วูด “อดีตคนเคยอยู่วัด” ซึ่งตอนนั้นยังไม่ลาสิกขาแต่ได้ออกจากวัดไปแล้ว ยังกล้ามาถามหาเอกสารการก่อตั้งองค์กรกับอาตมาเพื่อจะเอาไปสร้างเครดิตให้กับตัวเอง เพราะคิดว่าตนเองต้องมีชื่อในชุดผู้ก่อตั้ง แต่เมื่ออาตมาได้ดูเอกสารแล้ว ดูไม่รู้กี่รอบ ก็หาได้มีชื่อของเขาไม่ มีแต่ชื่อของญาติโยมรุ่นบุกเบิกที่เป็นคณะกรรมการ เลยเกิดอาการหัวฟัดหัวเหวี่ยงกลับไป(ก็ไม่เคยไปช่วยเขาหาปัจจัย มีแต่ใช้อย่างเดียว จะให้เขาใส่ชื่อเป็นกรรมการได้อย่างไร)

    ประเด็นสำคัญที่สุดที่ “อดีตคนเคยอยู่วัด” คงไม่มีวันเข้าใจคือ หลวงพ่อทั้งสองนอกจากจะสอนให้พระลูกชายในองค์กรมีเป้าหมายชีวิตที่ชัดเจน มีเป้าหมายของการบวชอย่างชัดแจ้งแล้ว ท่านยังทำตัวให้เป็นต้นแบบในทุกด้าน จึงทำให้พระวัดพระธรรมกายมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งล่าสุดก็มีจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ รูปแล้ว 

    อาตมาเป็นเพียงแค่พระธรรมดา ๆ รูปหนึ่งในวัดพระธรรมกาย ยังไม่เคยจะสนใจกับตำแหน่งหรือยศศักดิ์ นับประสาอะไรกับครูบาอาจารย์ของอาตมาที่ฝึกตัวมาดีกว่าอาตมาไม่รู้กี่ร้อยกี่พันเท่า จะมาหวั่นไหวกับเรื่องเหล่านี้

    โดยเฉพาะหลวงพ่อทัตตชีโว จะคอยสอนเสมอว่า “จะมีตำแหน่งหรือไม่มีตำแหน่ง เราก็ทำงานของเราไป ทำไปให้เต็มที่ ทำแบบเอาชีวิตเป็นเดิมพัน เพราะเราเกิดมาสร้างบารมี” 

 

 

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก
อาสภกันโต ภิกขุ 
๑๐ มิ.ย. ๖๑ 

http://anacaricamuni.blogspot.com

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012704491615295 Mins