เรื่องเดิมพันด้วยชีวิต

วันที่ 04 ตค. พ.ศ.2562

 

เรื่องเดิมพันด้วยชีวิต

            จำไม่ได้จริงๆ ว่าเวลานั้นเป็น พ.ศ. ใด รู้แต่ว่าตลาดนัดใหญ่ประจำวันอาทิตย์ของชาวกรุงเทพฯ ยังอยู่ที่บริเวณรอบสนามหลวง  ส่วนข้าพเจ้าเองยังพักอาศัยอยู่บ้านหลังที่ปลูกเป็นลักษณะตึกแถว ๓ คูหาริมถนนในซอย เนื่องจากบ้านพักมีขนาดใหญ่เกินกว่าที่เรา ๓ คนแม่ลูกจะอยู่ จึงได้แบ่งคูหาที่สามให้อาจารย์สตรีโสดท่านหนึ่งพักโดยเสียค่าเช่าถูกกว่าที่อื่นๆ ครึ่งหนึ่ง อยู่กันอย่างญาติ
 

วันเกิดเหตุเป็นเวลาประมาณเกือบ ๔ โมงเย็น มีเสียงเด็กอายุไม่เกิน ๔ ขวบ ร้องไห้ไม่หยุด "แง้ แง้ แง้ " ร้องดังสุดเสียงอย่างขวัญเสีย  เสียงผู้ชายคนหนึ่ง ผู้หญิงอีกสองคนทะเลาะกันเสียงดัง คือเสียงอาจารย์สตรีผู้เช่าบ้านข้าพเจ้าและน้องสาวน้องเขยซึ่งเป็นบิดามารดาของเด็ก ทั้งสามมาเยี่ยมผู้เป็นป้าของเด็ก พักอยู่ได้ ๒ วันแล้ว และวันนี้สามคนพ่อแม่ลูกพากันไปเที่ยวตลาดนัด สนามหลวงมา


"ฉันบอกแกทั้ง สองคนแล้ว ว่าก่อนพาลูกไปเที่ยวสนามหลวงให้ถอดสายสร้อยเก็บเสียก่อนแกก็ไม่เชื่อ เห็นมั้ยคนร้ายมันกระตุกเอาไปหมดเลย สร้อยนากน่ะไม่เสียดายนักหรอกไม่กี่ร้อยบาท แต่พระองค์เล็กเลี่ยมทองที่แขวนให้ไว้น่ะ เป็นพระใบมะขามจังหวัดพิจิตรเชียวนะ เก็บไว้หลายสิบปีแล้ว เอามาทำเป็นของขวัญให้หลาน หายไปยังงี้จะไปหาซื้อที่ไหนมาแทนก็ไม่ได้ ทองหยองซื้อที่ไหนก็ซื้อได้ แต่พระน่ะจะไปเช่าจาก
ที่ไหน !" เสียงอาจารย์สาวใหญ่เอ็ดน้องสาวน้องเขยเสียงดังลั่น


"หนูก็บอกให้เค้าเดินหน้า หนูจะเดินตามหลัง เค้าก็ไล่ให้หนูออกข้างหน้าอยู่เรื่อย บอกว่ากลัวคนกระตุกสร้อยคอหนู" เสียงน้องสาวชี้แจง  ปรับโทษสามี เสียงสามีก็เถียงว่า
 

"ก็ผมห่วงคุณนี่ ของที่คอของคุณแพงกว่าของลูก เพราะมันเป็นทองคำแท้ๆ ไม่ใช่นาก แล้วลูกผมก็อุ้มแกอยู่กับตัว แหมมันร้ายจริงๆเอาไปได้ต่อหน้าต่อตา"
 

"ฉันไม่สนใจเรื่องห่วงทองคำห่วงนากอะไรนั่นหรอก ชั้นห่วงพระที่ห้อยคอนั่นต่างหาก แกมันไม่รู้ค่าว่าอะไรเป็นอะไร ชุ่ยทั้งสองคนน่ะแหละ"  เสียงอาจารย์ผู้เป็นพี่ตวาดแหวต่อ
 

ยิ่งคนใหญ่เสียงดังเท่าใด หนูน้อยคนนั้นก็ยิ่งแผดเสียงดังเป็นระยะๆ ไม่ยอมหยุด ไม่มีใครปลอบเด็กเลย มัวแต่โต้เถียงกันไม่เลิกราราวกับว่าเถียงกันแพ้ชนะจบแล้วจะได้ของคืนมาอย่างนั้นแหละ เสียงเด็กที่ร้องอย่างไม่มีที่พึ่งอย่างนั้นข้าพเจ้าทนฟังไม่ได้ บีบคั้นหัวใจจริงๆ  มันเป็นอาการของเสียงร้องที่ข้าพเจ้าเคยทำเมื่อตอนอายุเท่าเด็กน้อยคนนี้  คือประมาณ ๔ ขวบ ไม่ผิดกันเลย  คนใหญ่ทั้งสามคนปล่อยให้เด็กร้องอยู่ตามลำพัง พวกเขาก็เถียงกันไม่ยอมจบ

 

ข้าพเจ้าฟังรู้ความตลอดดีแล้วว่าอะไรเป็นอะไร  ยืนตัดใจอยู่ครู่ใหญ่จึงขึ้นไปบนบ้านชั้นบน เปิดลิ้นชักที่เก็บของมีค่าหยิบพระเครื่ององค์เล็ก เป็นพระของขวัญของพระเดชพระคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ รุ่นที่สอง ซึ่งมีเหลืออยู่เพียงสององค์ หยิบออกมาองค์หนึ่ง  ในเวลานั้นมีราคาไม่ต่ำกว่า ๕ พันบาท เดินถือไปมอบให้ในมือเด็ก

 

ต่อหน้าคนใหญ่ทั้งสาม บอกกับหนูน้อยนั้นว่า
"บุ๋มจ๋า เงียบนะคนดี พระองค์นั้นหายไปแล้ว ไม่เป็นไร ป้าใหญ่ให้หนูใหม่ องค์นี้องค์โตกว่าด้วย ราคาก็แพงกว่าด้วย ป้าใหญ่มีหลานตั้งหลายคนยังไม่ให้หลานตัวเองเลย แต่ป้าใหญ่เอามาให้หนูเพราะสงสารหนู
มากจ้ะ นี่ของดีกว่าที่หายไปนั่นอีกนะ ไม่เชื่อบุ๋มถามป้าไพของหนูดูซี"

 

ทั้งสามคนหยุดส่งเสียงเถียงกัน เงียบกริบราวปลิดทิ้ง คงจะพากันแปลกใจเต็มที่ เพราะต่างก็รู้ถึงค่าของพระของขวัญที่ข้าพเจ้าหยิบยื่นให้เด็ก ข้าพเจ้าจึงพูดขึ้นว่า
"อย่าเถียงกันเลย ของก็หายไปแล้ว ยิ่งทะเลากันก็ยิ่งเสียใจเพิ่มขึ้นเปล่าๆ ที่น่าเป็นห่วงคือขวัญของเด็กนี่ต่างหาก แกตกใจตอนขโมยมันกระตุกสายสร้อยนั่นก็มากเต็มทีแล้ว ยังมาตกใจที่เห็นพวกคุณทะเลาะ ทุ่มเถียงเอาเป็นเอาตายกันนี่อีก นึกว่าฟาดเคราะห์ไปเถอะนะไม่งั้นเรา ไม่รู้ว่าเราจะเจออันตรายอะไร อาจแย่ยิ่งกว่านี้ เช่นรถชน ขโมยปล้นบ้าน อะไรก็ได้"


ข้าพเจ้าตักเตือนให้สติพวกเขาด้วย โอบกอดเด็กไว้ในอ้อมแขนด้วย เด็กกอดคอข้าพเจ้าไว้แน่นเหมือนหาที่พึ่ง แกหยุดร้องไห้แล้วแต่ยังสะอื้น ฮักๆ ค้างอยู่ ข้าพเจ้าปลอบเด็กต่อ
 

"ขวัญมาอยู่กับเนื้อกับตัวนะลูกนะ ไอ้ขโมยนั่นมันคงไม่มีงานทำเหมือนคุณพ่อคุณแม่ของหนูหรอก มันจึงไม่มีเงินซื้อข้าวซื้อขนมกิน ต้องมาแย่งของเราไปขายซื้อข้าวกิน มันเอาไปแล้วก็ช่างมันเถอะนะลูก ต่อไปเราก็ไม่ต้องใส่มันอีก นี่ยังดีมันไม่ตีหัวพ่อของหนูด้วย ป้าใหญ่เคยมีเพื่อนเป็นคนโตๆ เท่าป้ายังงี้แหละ เขาใส่สาย สร้อยเหมือนคุณแม่หนู ขโมยมันมากระชากด้วย แล้วมันก็ตบหน้าด้วย ตบเสียหกล้มลงไปบนถนนเลย
มันจะไม่ให้สู้มันแล้วก็ไม่ทันร้องให้คนช่วยไงล่ะ กว่าจะลุกขึ้นจากถนนได้ มันหนีเปิดไปแล้ว ตำรวจมาจับไม่ทันเลย"

 

ฟังคำพูดดูแล้วเหมือนข้าพเจ้าปลอบเด็ก แต่เนื้อความนั้นข้าพเจ้าสอนคนทั้งสามไปในตัวว่า พบเรื่องร้ายแค่นี้นับว่านิดเดียว คนอื่นเจอกันมากกว่านี้ เป็นอุบายปลอบใจคนใหญ่ด้วย แล้วยังทิ้งท้ายด้วยคำพูดให้เก็บไปคิดอีกว่า
 

"เกิดเรื่องยังงี้ขึ้นควรถือว่าเป็นโชคดีนะ ถ้าไม่มีเรื่องนี้ป้าใหญ่ก็ไม่สงสารบุ๋มจนถึงต้องให้พระของขวัญนี่หรอก พระนี่ไม่มีอีกแล้ว ทางวัดแจกจนหมดแล้ว จะหาซื้อที่ไหนก็ไม่ได้ แล้วก็ศักดิ์สิทธิ์มาก ใครๆ ก็อยากได้กันทั้งนั้น นี่ป้าไม่ให้คุณพ่อคุณแม่หรือคุณป้าของหนูเลย แต่ป้าให้หนูคนเดียว ลูกมีพระองค์นี้แล้วต้องเป็นเด็กดี ตั้งใจเรียนหนังสือไม่ดื้อ  แล้วพระจะคุ้มครองลูกให้มีความสุขความเจริญ"


ข้าพเจ้าพูดให้ผู้ใหญ่ทั้งสามเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ให้เห็นเรื่องร้ายนั้นกลายเป็นโชคดีไป ขวัญของพวกเขาจะได้ดีไปด้วย มิฉะนั้นคงจะหน้าตาบูดบึ้งใส่กันไปอีกหลายวัน ทุกคนเรียกข้าพเจ้าว่าอาจารย์แต่ให้ลูกของเขาเรียกข้าพเจ้าว่า "ป้าใหญ่" ตามอย่างหลานๆ ของข้าพเจ้าซึ่งเป็นเด็กรุ่นเดียวกัน จริงตามที่ข้าพเจ้าต้องการ ทุกคนหายเสียใจได้อย่างรวดเร็ว อีกไม่กี่นาทีต่อมาเขาก็อยู่กันโดยปกติเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
 

ท่านคงจะสงสัยการกระทำของข้าพเจ้าเต็มที่ ว่าทำไมจึงแก้ปัญหาด้วยวิธีการอย่างนั้น ไม่เสียดายพระของขวัญหรือ เดี๋ยวนี้ค่าเช่าองค์ละเป็นหมื่นแล้ว ก็ขอตอบตามตรงไม่เสแสร้ง ข้าพเจ้ารู้สึกเสียดายแน่นอน เสียดายมากด้วย หยิบไว้ในมือแล้วก็เดินถอยหน้าถอยหลังลังเลอยู่ครู่ใหญ่ทีเดียว  แต่เสียงร้องไห้ชนิดขวัญเสียของเด็กมีอำนาจมาก

 

ข้าพเจ้านึกถึงความรู้สึกของตนเองที่ตกอยู่ใน ภาพของเด็กคนนี้ถึง ๒ ครั้งในชีวิต  บอกไม่ถูกว่าเป็นความรู้สึกอย่างไร ทั้งตกใจ หวาดกลัว เสียดายของ  ยิ่งเห็นอาการตื่นตกใจของคนที่ตนรักคือพ่อแม่ก็ยิ่งใจเสียหนักยิ่งขึ้น  รวมแล้วคืออาการที่เรียกว่าเสียขวัญหรือขวัญเสียเป็นอย่างนั้น ความเห็นใจเด็กเกิดขึ้นเป็นอันดับแรกห้ามความตระหนี่หวงแหนในใจให้หมดไป
 

นอกจากนั้นข้าพเจ้ายังใช้อุบายอีกประการหนึ่งโดยให้คิดถึงบุญคุณของอาจารย์ สตรีผู้นั้นว่า เช่าบ้านอยู่ด้วยกันมานานไม่เคยค้างค่าเช่า มีกับข้าวอะไรอร่อยๆ ก็มักแบ่งให้ข้าพเจ้ากินด้วยเสมอ เพราะเธอเป็นคนชอบทำกับข้าวกินเอง นอกจากนั้นบางทีเมื่อมารดาของเธอมาพักอยู่ด้วยเป็นครั้งละหลายๆ เดือน ก็เท่ากับช่วยเฝ้าบ้านตอนกลางวันให้ครอบครัวของเราด้วยกัน
 

โดยที่ข้าพเจ้าเป็นโรคชนิดหนึ่งในสันดานคือ ถ้ารู้เห็นว่าใครมีบุญคุณแล้ว จะมีน้อยมีมากแค่ไหนก็ตาม หากอยู่ในวิสัยจะตอบแทนได้แล้ว  ข้าพเจ้าจะพยายามทำอย่างเต็มใจและเต็มที่จนสุดความสามารถ ในกรณีนี้เมื่อนึกว่าได้ตอบแทนบุญคุณให้เขาไปเสียบ้างก็ค่อยสบายใจ คิดเอาว่าถ้ามีใครมางัดบ้าน ขโมยข้าวของไปในขณะที่เราไปทำงาน เราก็จะสูญเสียทรัพย์สินไปมากกว่านี้ นี่เราได้คุณแม่ของเขามาเฝ้าบ้านให้  ปีละตั้งหลายๆ เดือน โดยเราไม่ต้องจ่ายค่าจ้าง ถือเป็นบุญคุณยิ่งแล้ว  เสียสละสิ่งของสำคัญเพียงเท่านั้นจะเป็นอะไรไป
 

ข้าพเจ้าอยากจะเล่าถึงตนเองเมื่อครั้งอายุเท่าเด็กหญิงบุ๋มคนนี้  คือ ๔ ขวบ วันนั้นเป็นวันสำคัญอะไรก็นึกไม่ออก รู้แต่ว่ามีงานทำบุญเลี้ยงพระที่บ้าน ตอนเช้าแม่เอาสายสร้อยห้อยพระเลี่ยมทองหนัก ๑ บาท มาแขวนคอข้าพเจ้า ลูกศิษย์คนหนึ่งของแม่ตักน้ำใส่โอ่งล้างเท้าไว้ล้นปรี่  ข้าพเจ้าชอบเล่นน้ำนัก จึงเอากะลามะพร้าวตักน้ำเล่นง่วนอยู่คนเดียว  พักใหญ่มีพระภิกษุจากวัด ๙ รูป เดินทางมาถึง ท่านขึ้นไปบนบ้านหมดแล้ว
พวกลูกศิษย์วัดก็ขึ้นตาม ลูกศิษย์คนสุดท้ายรีรออยู่คนเดียว พอไม่มีใครเห็นมันก็ตรงเข้าปลดสายสร้อยที่คอข้าพเจ้าทันที


ข้าพเจ้าตกใจถึงที่สุด ร้องไห้เสียงดังลั่นขึ้นมาเดี๋ยวนั้น ผู้ใหญ่พากันวิ่งมาถาม ข้าพเจ้าก็ชี้หน้าลูกศิษย์วัดคนนั้น   "แม่ แม่จ๋า ไอ้คนนี้เอาสายสร้อยของหนูไป ฮือ ฮือ แม่จ๋า  ไอ้คนนี้มันเอาสายสร้อยหนูไป" คนใหญ่ตรงเข้าจับตัวลูกศิษย์วัดคนนั้น  ค้นกันจนทั่วตัว หาเท่าไรๆ ก็ไม่พบ ตอนมันถูกค้นตัวข้าพเจ้ายังไม่นึกเสียใจมาก แต่ตอนที่หาเอาคืนไม่ได้ข้าพเจ้าใจเสีย จึงร้องไห้อย่างขวัญเสีย


แม้จะเป็นเด็กเล็กก็รู้ว่าของนั้นมีค่า เพราะเด็กคนอื่นๆ ไม่มีใส่ แม้คนโตๆส่วนใหญ่ก็ไม่มี ต้องเป็นคนมีฐานะดีจึงจะมี ยังโชคดีที่พ่อกับแม่ผลัดกันอุ้มข้าพเจ้าปลอบว่า
"โอ๋ โอ๋ เงียบเถอะลูก ไม่เป็นไรแล้ว อีกหน่อยแม่จะเก็บตังค์ซื้อให้ลูกใหม่ ลูกจำคนผิดหรือเปล่า"
"คนนี้ คนนี้ มันเอาสายสร้อยของหนูไป"

 

ข้าพเจ้ายืนยัน แต่เมื่อไม่มีพยานหลักฐานก็เป็นอันต้องเลิกแล้วกันไป ตลอดเวลาหลายวันต่อจากนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกผวาตกใจอยู่เสมอ เห็นเงา อะไรๆ ก็หวั่นหวาดว่าจะเป็นคนมาทำร้าย มาขโมยข้าวของอยู่ร่ำไป 

 

นึกย้อนไปถึงตอนข้าพเจ้าอายุ ๒-๓ ขวบ แม่ก็ใส่สายสร้อยคอให้ข้าพเจ้าแบบนี้ไปซื้อของกันในตัวเมือง ขณะกำลังรอลงเรือกลับบ้านอยู่นั่นเอง ได้มีคนร้ายมาดึงสายสร้อยที่คอข้าพเจ้าไป ตอนนั้นพ่อกำลังอุ้มข้าพเจ้าอยู่เหมือนหนูบุ๋ม ข้าพเจ้าร้องบอกพ่อ พ่อวางข้าพเจ้าวิ่งกวดไป พร้อมกับเพื่อนบ้านอีก ๒-๓ คน แต่ก็ไม่ทัน เพราะคนร้ายรู้ทางหนีทีไล่ในตลาดดีกว่า ในตอนนั้นข้าพเจ้ารู้สึกเกลียดคนร้ายพวกนี้จับใจ ทำไมเขาจึงต้องทำสิ่งที่น่าเกลียดดังนี้ คนทั่วไปรู้จักทำมาหากินกันทั้งนั้น

 

คนพวกนี้มีจิตใจเป็นอย่างไรจึงเอาเปรียบคนอื่น กล้าทำให้เจ้าของทรัพย์ มีความเสียใจ มีทุกข์โศก
"ของของใครเค้าก็ต้องรักของเค้า เราจะไม่คิดเอาของของใครเลยเป็นอันขาด เจ้าของที่ถูกคนร้ายแย่งเอาไปเขาจะต้องเสียใจเหมือนที่เรากำลังเป็นอยู่นี่ทุกคนแน่ๆ เลย" เวลานั้นข้าพเจ้าจำความรู้สึกนึกคิด
ของตนเองได้ และเกลียดชังคนหากินทุจริตแบบนี้เหลือประมาณ

 

เสียใจอยู่หลายวันโดยไม่ปริปากบอกพ่อกับแม่ เพราะรู้สึกว่า  ท่านก็ไม่สบายใจเหมือนตนเอง และยังคลางแคลงอยู่ว่าข้าพเจ้าจำคนผิด  หลังจากเกิดเรื่องได้ประมาณ ๗ วัน พระภิกษุซึ่งมีเด็กคนนั้นเป็นลูกศิษย์
ได้มาเล่าให้พ่อแม่ฟังว่า

 

วันรุ่งขึ้นเด็กคนนั้นได้ขอลาไปหาญาติที่กรุงเทพฯ ได้นำสายสร้อยทองคำไปขายที่ร้านทอง เมื่อถูกญาติคาดคั้นซักถาม จึงได้บอกว่าขโมยถอดไปจากคอของข้าพเจ้า แล้วกลืนกินลงไปในท้อง เมื่อถูกค้นตัวจึงหากันไม่พบ แม้จะถูกญาติจับได้เด็กก็ไม่ยอมคืนเงินให้และหนีต่อไปอยู่ที่อื่น ญาติผู้นั้นได้ส่งข่าวแจ้งให้พระภิกษุทราบ
พ่อกับแม่พูดว่า "มันลงทุนขนาดกลืนของกลางเข้าไป ถ้าถ่ายไม่ออกก็อาจทำให้กระเพาะลำไส้มีอันตรายอย่างแรงถึงตายทีเดียวใจคอมันไม่กลัวตายขนาดนี้เทียวนะ ช่างหัวมัน"


ถึงจะไม่ได้ของคืน ข้าพเจ้าก็ยังดีใจว่า ข้าพเจ้าไม่ได้โกหกพ่อกับแม่ เด็กลูกศิษย์วัดคนนั้นเป็นคนเอาไปจริงๆ

 

จากหนังสือ จากความทรงจำเล่ม2

อุบาสิกาถวิล วัติรางกูล

ชื่อเรื่องเดิม ชิงสร้อย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0017024834950765 Mins