มีบุญวาสนามาก่อน

วันที่ 08 มีค. พ.ศ.2547

.....ที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพุทธศาสนา ก็ต้องอาศัย ปุพเพกตปุญญตา ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน จงอุตส่าห์พยายามทำความดีให้หนักขึ้นไป ให้เป็นบุญนิธิหนักขึ้นไป เมื่อจะทำได้ด้วยวิธีให้ทาน ก็ให้ทานหนักขึ้นไป เมื่อจะทำได้ด้วยวิธีรักษาศีล ก็รักษาศีลให้หนักขึ้นไป เมื่อจะทำได้ด้วยวิธีการเจริญภาวนา ก็เจริญภาวนาให้หนักขึ้นไป จะทำได้ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง ก็จงอุตส่าห์พยายามทำให้สุดความสามารถของตน สิ่งที่เป็นที่ตั้งกองการบำเพ็ญกุศล พระบรมทศพลได้ทรงตรัสเทศนาไว้เป็นเอนกประการว่า ทาน การให้ ก็ได้ชื่อว่า ทานมัย บุญสำเร็จด้วยการบริจาคทาน ศีล การรักษา ได้ชื่อว่า ศีลมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการรักษาศีล ภาวนา การทำให้มีทำให้เป็น ก็ได้ชื่อว่า ภาวนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา ประพฤติตกต่ำยำเกรงต่อตระกูลผู้เจริญกว่า ก็ได้ชื่อว่า อปจายนมัย บุญสำเร็จด้วยการประพฤติถ่อมตนต่อผู้ใหญ่หรือผู้เจริญกว่า การช่วยเหลือในกิจที่ชอบ เรียกว่า ไวยาวัจมัย บุญสำเร็จด้วยการขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ความดีแก่ผู้อื่นได้ชื่อว่า ปัตติทานมัย บุญสำเร็จด้วยการให้ความดีแก่ผู้อื่น การอนุโมทนาความดีไม่อิจฉาริษยาเขา ที่เรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการอนุโมทนากับผู้อื่น การสดับตรับฟังเทศนาของเราท่านในบัดนี้ เหมือนภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ฟังอยู่ ณ บัดนี้ ได้ชื่อว่า ธรรมะสวนมัย บุญสำเร็จได้ด้วยการสดับตรับฟังธรรมเทศนา บุญที่ได้ด้วยการแสดงธรรมให้แก่ผู้อื่นฟัง ได้บุญกุศลเหมือนผู้เทศน์นี้ ได้ชื่อว่า ธรรมเทศนามัย บุญสำเร็จได้ด้วยการแสดงธรรมให้แก่ผู้อื่น ทั้ง ๙ อย่างได้ชื่อว่าเป็น ทิฏฐุชุกรรม เป็นการทำความเห็นให้ตรงร่องรอยความประสงค์ของทางพุทธศาสนา เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม การทำความเห็นของตนให้ตรง

.....สิ่งเป็นที่ตั้งของการบำเพ็ญบุญมีถึง ๑๐ ประการ ในวันหนึ่งๆ เราบำเพ็ญหลายประการ เหมือนเราท่านในบัดนี้ก็ได้บำเพ็ญหลายอย่างด้วยกัน ทานมัยให้ทานแล้วก็มารักษาศีล เรียกว่า ศีลมัย รักษาศีลแล้วก็ไปเจริญภาวนา เรียกว่า ภาวนามัย แล้วไปอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ เรียกว่า อปจายนมัย การช่วยทำครัวเลี้ยงพระเจ้าพระสงฆ์อย่างนี้ ก็เรียกว่า ไวยาวัจมัย ให้คนโน้นเขาประเคนบ้าง ให้คนนี้เขาประเคนบ้าง สิ่งของของตนให้คนอื่นเขาให้ทานบ้าง เรียกว่าปัตติทานมัย เห็นเขาดีก็อนุโมทนาเขา นั้นเรียกว่า ปัตตานุโมทนามัย การสดับตรับฟังเช่นนี้ เรียกว่า ธรรมสวนมัย การแสดงธรรมให้บุคคลผู้อื่นฟัง จำได้เรื่องนั้นเรื่องนี้ก็ไปแสดงให้ผู้อื่นฟังบ้าง เรียกว่า ธรรมเทศนามัย การทำความเห็นของตนให้ตรงต่อความประสงค์ทางพุทธศาสนา เรียกว่า ทิฏฐุชุกรรม

.....ที่ได้ชี้แจงแสดงมาในมงคลคาถาทั้ง ๓ ข้อนี้ ข้อต้นว่า อยู่ในประเทศอันสมควร ข้อที่สองว่า ได้กระทำความดีไว้ในปางก่อน และข้อที่สามว่า ได้ตั้งตนไว้ชอบ ประกอบด้วยองค์คุณทั้ง ๓ ประการนี้ เอตม?มง?คลมุต?ตมํ เป็นเหตุเครื่องถึงซึ่งความเจริญอันสูงสุดนี้ ตามวาระพระบาลีคลี่ความเป็นสยามภาษา ตามมตยาธิบาย พอเป็นเครื่องปฏิการประคับประคองสนองศรัทธา ประดับสติปัญญาคุณสมบัติของท่านพุทธบริษัท ทั้งคฤหัสถ์บรรพชิต บรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมา พอสมควรแก่เวลา ด้วยอำนาจสัจจวาจาที่ได้อ้างธรรมเทศนาตั้งแต่ต้นจนอวสานนี้ ขอความสุขสวัสดีจงบังเกิดมีแก่ท่านทั้งหลาย บรรดาที่มาสโมสรในสถานที่นี้ทุกถ้วนหน้า อาตมภาพชี้แจงแสดงมาพอสมควรแก่เวลา สมมติว่ายุติธรรมิกถาโดยอรรถนิยมความเพียงแค่นี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้ ฯ
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0054802179336548 Mins