พระสารีบุตร...ผู้เป็นครูต้นแบบ

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2563

พระสารีบุตร...ผู้เป็นครูต้นแบบ

 

                    เพื่อให้เราได้เห็นแนวทางของครูต้นแบบอย่างเป็นรูปธรรม จึงขอยกตัวอย่างกิจวัตรของ       พระสารีบุตร ผู้เป็นพระอัครสาวกเบื้องขวาผู้เป็นธรรมเสนาบดี และผู้เป็นเลิศด้านปัญญาในพระศาสนาของ       พระสมณโคดมสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ ดังที่ปรากฎอยู่ในอรรถกถาเทวทหสสูตร

 

                   “ได้ยินว่า พระเถระไม่ไปบิณฑบาตแต่เช้าตรู่เหมือนภิกษุเหล่าอื่น เมื่อภิกษุทั้งปวงไปแล้ว ก็เดินตรวจไปตามลำดับทั่วสังฆาราม กวาดที่ที่ไม่ได้กวาด ทิ้งหยากเยื่อที่ยังไม่ได้ทิ้งเก็บงำ เตียงตั่ง เครื่องไม้และเครื่องดินที่เก็บไว้ไม่ดีในสังฆาราม

 

                    ถามว่า เพราะเหตุไร ?


                    แก้ว่า เพราะประสงค์ว่า อัญญเดียรถีย์ผู้เข้าไปวิหารเห็นเข้า อย่ากระทำความดูหมิ่น                                     

                   แต่นั้นได้ไปยังศาลาภิกษุไข้ ปลอบใจภิกษุไข้ถามว่าต้องการอะไรจึงหาภิกษุหนุ่ม และสามเณรของภิกษุเหล่านั้นไปเพื่อประโยชน์ตามที่ประสงค์ แล้วแสวงหาเภสัชด้วยภิกขาจารวัตรหรือในที่ที่คนชอบพอกัน ถวายแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงส่งภิกษุเหล่านั้นไปด้วยกล่าวว่า ขึ้นชื่อการบำรุงภิกษุไข้ พระพุทธเจ้าและพระปัจเจกพุทธเจ้าสรรเสริญแล้ว ไปเถิด ท่านสัปปุรุษ

 

                   พวกท่านอย่าเป็นผู้ประมาท แล้วตนเองก็เที่ยวไปบิณฑบาตหรือกระทำภัตกิจ                         ในตระกูลอุปัฏฐาก แล้วไปสู่วิหาร ข้อนี้เป็นเพราะพระเถระนั้นเคยประพฤติมาในสถานที่อยู่ประจำก่อน

 

                   ก็เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จจาริกไป พระเถระคิดว่า เราเป็นพระอัครสาวกจึงไม่เดินสวมรองเท้ากั้นร่มไปข้างหน้า           

       

                   ก็ในบรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุเหล่าใดเป็นผู้แก่ เป็นผู้ไข้ หรือยังหนุ่มนัก พระเถระก็ให้เอาน้ำมันทาที่เจ็บของภิกษุเหล่านั้น แล้วให้ภิกษุหนุ่มและสามเณรของตนถือบาตรและจีวร วันนั้นหรือวันรุ่งขึ้นก็พาภิกษุเหล่านั้นไป”       

 

                     จากข้อวัตรปฏิบัติของพระสารีบุตรที่ทั้งทำให้ดูและพูดให้ฟังของท่าน พอที่จะสรุปออกมาเป็นข้อปฏิบัติได้ดังนี้           

   

                      ๑) ทุกเช้าพระสารีบุตรเดินตรวจตราภายในวัด หลังจากที่พระภิกษุอื่นผู้มีพรรษากาล         ออกบิณฑบาตกันไปแล้ว


                      ๒) นำพระภิกษุผู้บวชใหม่ ปัดกวาดบริเวณ ที่ยังไม่สะอาดเรียบร้อย


                      ๓) นำขยะที่ยังไม่ได้ทิ้งไปทิ้งเสีย


                      ๔) นำเก็บเตียง ตั่ง ของใช้ที่ถูกทิ้งไว้


                      ๕) นำเติมน้ำฉัน น้ำใช้ไว้ทั่วอาราม


                      ๖) นำเยี่ยมพระภิกษุผู้อาพาธภายในวัด

 

                      ๗) ให้โอวาทแก่พระภิกษุใหม่ในการรักษาพยาบาล


                      ๘) จัดหาเภสัชและอุปกรณ์รักษาพยาบาลแก่พระภิกษุผู้อาพาธ


                      ๙) ออกบิณฑบาต


                      ๑๐) เดินตามท้ายหมู่สงฆ์ ในคราวติดตามพระผู้มีพระภาคเจ้า

 

                    จากอรรถกถาเทวทหสูตรนี้ ทำให้เห็นถึงความเป็นต้นแบบของพระสารีบุตร ในการทำให้ดูและพูดให้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นข้อวัตรปฏิบัติในการดูแลความเรียบร้อยภายในวัด การดูแลพระภิกษุผู้อาพาธ           การวางตัวในหมู่สงฆ์ และด้วยผลแห่งการปฏิบัติตามวัตรดังกล่าวนี้ ย่อมเป็นเหตุให้พระภิกษุผู้อยู่ในอาวาส ได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้น อย่างน้อย ๓ ประการ ดังต่อไปนี้

 

                    ๑) ทิฐิมานะของเหล่าพระภิกษุใหม่ที่มาจากต่างชั้นวรรณะถูกปรับเข้าหากันอย่างรวดเร็ว

 

                     ๒) พระภิกษุใหม่สามารถเรียนรู้การทำงานเป็นทีม ตั้งแต่พรรษาแรก   

 

                     ๓) พระภิกษุใหม่สามารถซึมซับความเป็นผู้มีปัญญาจากพระสารีบุตรได้โดยง่าย

 

              "ครูที่ดีต้องเป็นต้นแบบที่ดีให้กับลูกศิษย์ ทั้งพูดให้ฟังพร้อมทำให้ดู อธิบายได้และทำเป็นแบบอย่างได้"

 

เชิงอรรถ อ้างอิง

๑ สํ.ข.อ. ๒๗/๒๓-๒๔ (แปล.มมร)

จากหนังสือ ที่สุดแห่งธรรม ถึงได้ด้วยความเคารพ 3 

โดยคุณครูไม่เล็ก

 

                         

 

                          

                

                        

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.042286765575409 Mins