๒ การยกย่องบูชาคนดีเป็นความดีจริง ควรกระทำ

วันที่ 25 มีค. พ.ศ.2563

๒ การยกย่องบูชาคนดีเป็นความดีจริง ควรกระทำ         

 

                  ก้าวที่สองของสัมมาทิฏฐิ พระองค์ท่านใช้คำนี้คือ การยกย่องบูชาคนดี เป็นความดีจริง ควรกระทำ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสั่งให้ทำเป็นล่ำเป็นสัน ตรงนี้เองถ้าใครได้ทำอย่างถูกวิธี  ตัวเองก็จะเย็นใจ ครอบครัว ก็จะร่มเย็น บ้านเมืองก็จะอยู่เย็นเป็นสุขตามไปด้วย สำหรับการยกย่องบูชา คำๆ นี้เราได้ยินกันมานาน หลวงพ่อได้ยินมาตั้งแต่หัวเท่ากำปั้น

 

                   แต่ว่าต่อมา เมื่อบวชได้ ๕ พรรษา จึงรู้ว่าตัวเองไม่รู้ คือเข้าใจผิด หรือว่ารู้ไม่ตลอด ในเรื่องของการบูชา นี่ถ้าไม่บวชก็คงโง่จนตาย การบูชาคืออะไร ? ในภาษาไทยมีความหมายว่า นับถือ เทิดทูน ยกย่อง นับ คือ การคำนวณว่าเท่านั้นเท่านี้ เช่น นับหนึ่งสอง สาม สี่

 

                  เพราะฉะนั้น เขามีความดีเท่าไร นับออกมาให้ได้ ส่วน ที่ไม่ดีของเขาอย่าไปนับ นับได้แล้วก็ถือเอาไว้ด้วย ถือ คือ ไม่ปล่อยให้ตกหล่น เพราะฉะนั้น นับถือ คือ คำนวณดูว่าคุณความดีของ เขามีเท่าไร  แล้วถือเอามาปฏิบัติให้ได้เหมือนอย่างกับเขา ถ้าให้ยิ่งกว่านับถือนั้น คือ เทิดทูน เทิด คือ ยกขึ้น  ทูน คือ เอาไว้เหนือหัวเลย แล้ว ก็เอาความดีของเขามายกย่องด้วย เช่น นับดูว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรามีความดีเท่าไร  แล้วก็เอามาถือปฏิบัติ ให้ได้เหมือนอย่างกับท่าน แล้วก็เทิดทูนยกย่องท่านไว้เหนือ หัวเลย เพราะฉะนั้น บูชาเป็นเรื่องการค้นหาความดีของผู้อื่นให้เจอ ไม่ใช่การจับผิด ไปควาน ไปค้น ไปหาความดีของ ผู้มีคุณธรรม

             

                 เมื่อหาเจอแล้วทำอย่างไร? นับด้วย ว่าเขามี ความดีอะไรบ้าง  นับครบแล้วปฏิบัติตามเขาด้วย นั่นคือ บูชา  แล้วการที่เราถือปฏิบัติตามเขานั่น ก็เลยกลายเป็นเอา คุณธรรมความดีเพิ่มเข้าไปในตัวของเรา นั่นคือความลึกซึ้ง ของคำว่าบูชา เมื่อเรามองลึกไปในทางปฏิบัติแล้ว จะเห็นว่าการบูชา ยกย่องคนดีนั้นเกิดประโยชน์มหาศาล แล้วบางทีเราก็มี ความบกพร่องในสิ่งเหล่านี้เอง  ซึ่งมีผลทำให้การทำงานของ เราบางครั้งมันสะดุด  ทำให้บางครั้งแม้ในครอบครัวของเรา 


                   ก็ชักจะไม่ค่อยเรียบร้อย ธรรมเนียมไทยแต่โบราณมีกุศโลบายอยู่ว่า  เมื่อ ลูกเรียก "พ่อ" เรียก "แม่" ได้ชัดแล้ว สิ่งแรกที่ท่านให้ ทำคือ ให้สวดมนต์ นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธสะ  เป็นการยกย่องพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่จริงๆ แล้ว ถามว่าเด็กเข้าใจไหม? ไม่เข้าใจหรอก เด็กก็ทำไปอย่างนั้นเอง แต่ไม่เป็นไร

 

                    เพื่อเริ่มปลูกฝังการบูชา คนดีไว้ในใจก่อน เท่านั้นยังไม่พอ ในครอบครัวคนไทยหรือครอบครัว ชาวพุทธที่เคร่งครัด  หลวงพ่อเคยไปเจอมาตั้งแต่เล็ก เขา สวด นะโม ตัสสะ เสร็จเรียบร้อย ก็กราบพระพุทธรูป พร้อมกับคุณพ่อคุณแม่ ถามว่าเด็กได้อะไรไหม ? ไม่ได้หรอก  เพราะว่า ที่จริงแล้วไม่รู้เรื่องอะไรเลย เจอพระก็ "ธุ" ซึ่งนั่นมาจาก คำว่า "สาธุ" แม่บอกให้ "ธุ ๆ" เด็กไม่รู้อะไร ก็ไหว้พระ กราบ พระไป สาธุ แปลว่าอะไร ? ดีแล้ว ถูกต้องแล้ว พอเด็ก เจอพระ ยกมือไหว้สาธุ ปู่ย่าตาทวดมีวิธีปลูกฝังมาอย่างนี้ในขั้นต้น และเป็น การฝึกให้ทำตามคำสั่งในขั้นต้น หลังจากเด็กกราบไหว้บูชาพระทุกคนๆ ก่อนนอน แล้ว เมื่อการพัฒนาทางด้านจิตใจก้าวหน้าไปถึงระดับหนึ่ง 


                    เด็กจะถามแม่แล้วว่า "แม่ ทำไมต้องกราบพระด้วย"  ถ้า เมื่อไรลูกถามอย่างนี้ ให้ถือว่าวันนี้เป็นวันสำคัญมาก  พ่อ กับแม่ต้องตอบให้ดี  เพราะจะเข้าถึงจุดสูงสุดของการบูชา คนดีก็วันนี้ ถ้าตอบดี วันนี้เป็นวันปิดทองพระ ถ้าตอบไม่ดี วันนี้จะเป็นวันรื้อหิ้งพระ ถ้าพ่อแม่ตอบว่า "ลูกเอ๊ย องค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ให้หวยแม่น" นั่นคือเผาหิ้งพระแล้ว ถ้าตอบว่า "ลูกเอ๊ย ตั้งแต่แม่ได้องค์นี้มา ขโมยไม่ เคยขึ้นบ้านเลย" ตอบแบบนี้ก็เผาหิ้งพระ ใช้ไม่ได้ แต่ถ้าตอบว่า "ลูกเอ๊ย องค์นี้ไม่เคยคิดร้าย ไม่เคย พูดร้ายทำร้ายใครเลย ลูกเอ๊ย  ท่านดีจริงๆ      สกัดสิทธิ์หลือเกิน" ตอบอย่างนี้ถูก

                     

                      เพราะแสดงพระบริสุทธิคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ลูกก็จะได้ถูกปลูกฝังแบบอย่างที่ดีในวันนี้เอง "ลูกเอ๊ย เมื่อเกิดมาเป็นคนแล้ว ถ้าจะให้มีความ ศักดิ์สิทธิ์ ให้คนเขาเคารพทั้งบ้านทั้งเมือง ต้องไม่คิดร้าย ไม่พูดร้าย ไม่ทำร้ายใครเลยลูก" ตอบแบบนี้ ลูกได้รู้จัก การบูชาคนดีแล้ว อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันไม่วัดรอยเท้า พ่อ ไม่ได้เป็นลูกทรพี แล้ววันหลัง ถ้าลูกถามอีกแล้วว่า "แม่ ทำไมต้อง ไหว้พระ กราบพระด้วย"  ก็มีแง่มุมอื่นอีก เช่น "ลูกเอ๊ย องค์นี้ฉลาดที่สุดในโลกเลย เพราะว่าท่านตั้งใจเล่าเรียนเขียน อ่านศึกษาธรรมะมาเยอะ เพราะฉะนั้นลูกแม่ต่อไปข้างหน้า ขยันเรียนนะ แล้วโตขึ้นบวชให้แม่ด้วย"  หรืออะไรทำนอง นี้ก็ว่ากันไป

 

                      นี่ก็เข้าเป้าของการบูชาคนดีอีก เพราะแสดงถึง พระปัญญาธิคุณของพระองค์ "ลูกเอ๊ย..องค์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ชอบช่วยเหลือคนทั้งโลก เลย ตลอดชีวิตมีแต่ชอบช่วยเหลือคน" ตอบอย่างนี้ก็เข้าเป้า บูชายกย่องคนดีอีก เพราะเป็นการแสดงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระองค์ นี่เป็นการปูพื้นฐานในด้านการบูชา ที่ปู่ย่าตาทวด ใช้มา โดยยึดเอาพระพุทธคุณเป็นหลัก เมื่อเด็กได้พื้นแล้ว วันที่ลูกถามนั่นแหละ  แสดงว่าลูกเริ่มมีปัญญาแล้ว  และ เมื่อวันที่ลูกถามวันนั้น เพิ่มงานให้ลูกอีกอย่างหนึ่งด้วย ให้ บูชาพ่อนั่นแหละ  สอนให้กราบพ่อก่อนนอนได้แล้ว ถ้าลูกถามอีก "ทำไมต้องกราบพ่อด้วย ? " "ลูกเอ๊ย พ่อของลูกน่ะ  ไม่เคยคิดร้ายกับลูกเลย แม้เมื่อเช้านี้เฆี่ยนซะหลังลาย  ก็ไม่ได้คิดร้ายนะ  ลูกดื้อ ลูกเกเรพ่อก็เลยเฆี่ยนเอา" วันดีคืนดีถ้าลูกถามอีก "ทำไมต้องกราบพ่อด้วย ?" "ลูกเอ๊ย.. พ่อของลูกน่ะฉลาดเหลือเกิน จึงทำให้มี ยศฐาบรรดาศักดิ์ มีหน้าที่การงาน เพราะว่าพ่อเองก็ดำเนิน รอยตามพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ลูกกราบมาทุกคืน

                     

                       ต่อไป ข้างหน้าลูกตั้งใจเรียนนะ อย่าดื้อนะ"  เราทำความดีอะไรไว้ ก็สอนลูกไป นี่เป็น       การปูพื้นฐานสัมมาทิฏฐิอย่างหนึ่งที่ปู่ย่า ตาทวดทำกันมา หรือถ้าลูกถามอีกว่า  "ทำไมต้องกราบพ่อด้วย ?" 

 

                       เป็นหน้าที่ที่พ่อแม่ต้องตอบให้ชัด  "ลูกเอ๊ย  เวลานี้อะไรที่ แบ่งเบาภาระพ่อได้ ลูกต้องทำแล้ว  เพราะว่าที่พ่อเหนื่อย ทุกวันนี้ เหนื่อยเพราะลูกนะ  เพราะฉะนั้น อย่าทำอะไร ให้พ่อต้องหนักใจ เหนื่อยใจกว่านี้ ตั้งใจเรียนไม่ดื้อ ไม่ซน" เมื่อพ่อแม่ตอบแล้ว เขาก็มีหน้าที่กราบพ่อของเขา ไม่ว่าแม่ จะใช้ลูกไปกราบพ่อ พ่อใช้ลูกไปกราบแม่  เขาจะทำด้วย ความเข้าใจ ในที่สุด ทั้งแม่ทั้งพ่อเป็นพระประจำบ้านของลูกไป ในตัว  นี่เป็นการปูพื้นฐานในลักษณะหนึ่งคือ การจับถูก ไม่จับผิด คนเราจะเจริญได้ต้องจับถูกคนอื่น หรือแสวงหา ความดีที่มีอยู่ในบุคคลอื่นให้เจอกัน เจอแล้วนับให้ได้แล้ว เอามาปฏิบัติตามอย่างนี้เจริญแน่ๆ

                     

                      แล้ว การจับผิดมันจะได้ หมดไปจากแผ่นดินไทยเสียที พวกงานการไม่ทำ นั่งเขียนบัตรสนเท่ห์กันไปเถอะ มนุษย์พวกนี้ถ่วงความเจริญ ทำไมเป็นอย่างนี้ ? โบราณ เขาพูดถูก บอกว่า พ่อแม่มันไม่สั่งสอน  คือไม่สั่งสอนให้ จับถูก จับดี หรือให้บูชายกย่องคนดี  โตขึ้นมาถึงได้คอย จับผิดชาวบ้าน งานการไม่ทำ  เอาแต่เขียนบัตรสนเท่ห์  นั่น คือที่มาที่ไป เพราะฉะนั้น ป่ยู่าตาทวดจึงได้สอนให้รู้จักใช้กุศโลบาย ในการสอนให้ลูกรู้จักจับดี เมื่อลูกยังถูกสอนมาในลักษณะนี้ เมื่อโตขึ้นก็สอนให้ลูกได้ศึกษาธรรมะ  ค้นหาความดีของ   ลุงป้าน้าอา ปู่ย่าตาทวด ไล่กันไปตามลำดับวงศาคณาญาติ กันไปจนถึงครูบาอาจารย์  ในที่สุด ลูกของเราจะมองโลก ในแง่ดี จะหาความดีจากสิ่งต่างๆ บุคคลต่างๆได้มากมาย มหาศาล ความเจริญก็จะเป็นของเรา  แล้วความสุข ความเจริญก็จะเข้ามาในบ้าน ที่ทำงาน ที่เราบริหารปกครอง ด้วยเหตุนี้ 

 

                       พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงได้สรรเสริญ การยกย่องการบูชาคนดีว่าเป็นสิ่งที่ต้องกระทำ เพราะฉะนั้น เมื่อลูกน้องของเราทำดี การที่เราจะ ประกาศจะยกย่องให้เกียรติ ก็เป็นสิ่งที่ควรทำ แล้วขอให้ทำ กันอย่างต่อเนื่องในทุกระดับ แม้ที่สุดตัวของเราเอง ก่อนนอน ก็ขอให้กราบพระ  ระลึกถึงคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการบูชา  แล้วก็ตั้งใจที่จะปฏิบัติตามพระองค์  ทำอย่างนี้ ทุกคืนๆ นี้ก็เป็นความถูกต้องที่ต้องทำ คราวนี้ ต้องถามว่ามีใครบ้างไหมที่ตั้งแต่ต้นปีมานี้ สวดมนต์ไหว้พระก่อนนอนทุกคืน ? มีข้อคิดอยู่ว่า เราจะทำความดีตลอดชีวิตก็ไม่เกิน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรอก แต่ความดีขนาดพระพทุธองค์เรา

 

                   ยังไม่ได้คิดจะยกย่องสรรเสริญท่านเลย เพราะฉะนั้น ถ้าต่อไปนี้ ตลอดชาติเราทำงานไป ก็ว่า สุดฝีมือแล้ว ไม่มีใครยกย่องให้เกียรติตัวเรา ก็อย่าแปลกใจ เพราะขนาดพระพุทธองค์ เรายังไม่อยากจะไหว้เลย  แล้ว เราก็ไม่เคยไปเคี่ยวเข็ญให้ลูกให้หลานไหว้พระพุทธองค์ ซึ่ง ทรงมีพระคุณเหลือหลาย แล้วพระคุณของเราในการบริหาร หน้าที่การงาน  เมื่อเทียบกับพระคุณของพระพุทธองค์ สิ่ง ที่เราทำมันก็เหมือนกับหิ่งห้อยกับดวงจันทร์  เพราะฉะนั้น ถ้าใครเขาไม่เห็นความดีของเรา อย่าแปลกใจ

 

                   เพราะเขาเป็น โรคเดียวกับเรา คราวนี้ ถ้าไม่ได้กราบพระพุทธเจ้ายกไว้ ขอถามว่า ตั้งแต่ต้นปีมานี้ ใครได้กราบพ่อกราบแม่ทุกคืนไม่ขาดเลย? ขอฝากข้อคิดไว้นิดหนึ่ง โบราณพูดหนักหน่อย ท่านให้ถือเป็นหลักในการคบคน ท่านบอกว่า"ถ้าจะคบคน จะเลี้ยงคนใดก็ตาม  ถ้าคนๆ นั้น แม้แต่พระคุณพ่อ พระคุณแม่ เขายังนึกไม่ออกเลย เจ้าอย่าไปยุ่งกับเขานะ เพราะถึงแม้เจ้าจะทำดีอย่างไร ก็ไม่เกินพ่อ ไม่เกินแม่ของ เขา แต่พ่อแม่ของเขาเอง เขาก็ยังมองคุณไม่ออก เจ้าอย่า ไปยุ่งกับเขานะ"  นี่คือเรื่องที่มีการอบรมสั่งสอนในทัศนะ หนึ่งเกี่ยวกับเรื่องการบูชายกย่องคนดี ที่ปู่ย่าตายายของเรา ได้รับคำสอนมาจากพระพุทธศาสนา

 

จากหนังสือ สัมมาทิฏฐิ รากฐานการพัฒนาชีวิต

                                                                                โดยคุณครูไม่เล็ก
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.037902084986369 Mins