ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

วันที่ 18 พค. พ.ศ.2563

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

อยู่ที่แคบแต่กว้าง

กว่าใด

อยู่ที่กว้างกลับแคบไซร้

แปลกแท้

เรื่องทั้งหมดอยู่ที่ใจ

ใช่สิ่ง ใดนา

หยุดอยู่ฐานเจ็ดแล้

หลุดไร้พรมแดน

                                                                                                        ตะวันธรรม

                     เมื่อเราได้สวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยกันเสร็จเรียบร้อยแล้วต่อจากนี้ไปตั้งใจให้แน่แน่วมุ่งตรง ต่อหนทางพระนิพพานกันทุก ๆ คนนะ ให้นั่งขัดสมาธิ โดยเอาขาขวาทับขาซ้าย มือขวาทับมือซ้าย ให้นิ้วชี้ของมือข้างขวาจรดนิ้วหัวแม่มือข้างซ้าย วางไว้บนหน้าตักพอสบาย ๆ

 

                    หลับตาของเราเบา ๆ หลับแค่ค่อนลูก อย่าถึงกับปิดสนิทนะ พอสบาย ๆ คล้าย ๆ กับตอนที่เราใกล้จะหลับ อย่าไปบีบเปลือกตา อย่ากดลูกนัยน์ตา

 

                 แล้วก็ทำใจของเราให้เบิกบาน แช่มชื่น ให้สะอาด บริสุทธิ์ผ่องใส ไร้กังวลในทุกสิ่ง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอะไรก็ตาม ให้ปลดปล่อย วาง ทำใจให้ว่าง ๆ แล้วก็มาสมมุติว่าภายในร่างกายของเรานั้นปราศจากอวัยวะ ไม่มีปอด ตับ ม้าม ไต หัวใจ เป็นต้นให้เป็นที่โล่ง ๆ ว่าง ๆ เป็นปล่อง เป็นช่อง เป็นโพรง กลวงภายใน คล้าย ๆ ท่อแก้ว ท่อเพชรใส ๆ

 

ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

                คราวนี้เรามาทำความรู้จักฐานที่ ๗ ของเราภายใน ฐานที่ ๗ เป็นฐานที่ตั้งดั้งเดิมของใจเรา เป็นที่อยู่ของใจที่ถูกต้อง ถ้าใจเราอยู่ตรงนี้ จะมีแต่ความผาสุก สงบ เบิกบานแช่มชื่น แต่ว่าใจเราเตลิดเปิดเปิงออกไป เพราะมีสิ่งที่มาดึงใจเราออกจากที่ตั้งดั้งเดิมตรงนี้ ให้ไปติดในเรื่องราวภายนอก ทำให้เราไม่ได้พบความสุขที่แท้จริง แม้เราปรารถนา

 

               บางครั้งเรารู้สึกอยากอยู่เงียบ ๆ เพราะเราเบื่อสิ่งแวดล้อมเบื่อภารกิจประจำวันที่จำเจซ้ำซาก หรือบางทีมันก็เบื่ออย่างไม่มีสาเหตุ เราอยากไปอยู่ในที่ไกลๆ ที่ไหนสักแห่งที่เงียบๆต่เราก็ไม่รู้ว่ามันอยู่ที่ไหน บางคนถึงกับเข้าใจว่า มันคงอยู่ต่างประเทศ ถ้าได้ออกนอกบ้าน ออกนอกประเทศ ไปต่างประเทศ

 

               ที่ไกล ๆ เราคงจะเจอที่เงียบ ๆ ที่ทำให้ใจเราสงบสุข แต่พอเราไปแล้ว เราก็ไม่เจอนะ ได้แต่ความเหนื่อยกลับมา

 

               จริง ๆ แล้ว ความสงบสุขที่เราแสวงหา หรือที่เงียบ ๆ ที่แตกต่างจากชีวิตประจำวัน ที่เรา
จำเจอยู่กับการงาน กับผู้คน กับสัตว์ สิ่งของต่าง ๆ เหล่านั้น มันอยู่ตรงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้เอง แค่เราหลับตาเบา ๆ ทำใจให้เบิกบาน สบาย แล้วให้เรารู้ว่าฐานที่ ๗ อยู่ที่ตรงไหน เราก็จะพบในสิ่งที่เราต้องการ

 

              ฐานที่ ๗ นั้นอยู่ในกลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ฐานที่ ๗ นี้ เราเห็นได้ แต่จะเห็นได้ต่อเมื่อใจมันหยุด ไม่ไปไหนแล้ว หยุดนิ่งได้สนิทติดตรงกลางท้องเหมือนเอากาวชั้นดีมาทาใจติดตรึงเอาไว้ตรงนั้น นั่นแหละถึงจะเห็น เห็นชัดเหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอกอย่างนั้นนะแต่ถ้าใจไม่หยุด ก็ไม่เห็น

 

              อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องศึกษาเอาไว้ว่า ฐานที่ ๗ อยู่ในกลางท้อง เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ โดยสมมติว่า เรามีเส้นด้าย ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้าน หลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้าย

 

              ให้เส้นด้ายทั้งสองตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดจะเล็กเท่ากับปลายเข็ม ให้เอานิ้วชี้กับนิ้วกลางมาวางซ้อนกัน แล้วก็ไปตั้งตรงจุดตัดของเส้นด้ายทั้งสอง สูงขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ตรงนี้เรียกว่า ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นต่อไปถ้าหลวงพ่อพูดถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หรือไปได้ยินที่ไหนก็ตาม ก็หมายเอาตรงนี้นะ

 

ความสำคัญของฐานที่ ๗

 

              พระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย ท่านค้นพบว่า ฐานที่ ๗ เป็นที่เกิด ที่ดับที่หลับ ที่ตื่น เกิด ดับ หลับ ตื่นตรงนี้

 

              เวลามาเกิด เริ่มต้นจากบิดามามารดา โดยเริ่มต้นจากฐานที่ ๑ (ปากช่องจมูก) ของบิดา ไล่เรื่อยไป ฐานที่ ๒ (ที่หัวตา) ฐานที่ ๓ (กลางกั๊กศีรษะ ในระดับหัวตาของเรา) ฐานที่ ๔(เพดานปาก ช่องปากที่อาหารสำลัก) ฐานที่ ๕ (ปากช่องคอเหนือลูกกระเดือก) ฐานที่ ๖ (ตรงจุดเส้นด้ายตัดกัน) แล้วก็มาอยู่ที่ฐาน ๗ ของบิดา คือ เราเป็นกายละเอียด ไม่ว่าจะมาจากภพภูมิไหนก็แล้วแต่ เมื่อได้จังหวะที่ต้องมาเกิดเป็นมนุษย์
ก็ต้องเข้าทางนั้นโดยผ่านมาทางบิดาก่อนแล้วก็จะดึงดูดเข้าหา

 

             มารดา มันจะเป็นอัตโนมัติเลย ถ้าเราตั้งอยู่ในกลางบิดาก็จะต้องดูดเข้าไปหากันเพื่อที่จะถ่ายทอดประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบ แล้วกายละเอียดเราจะได้อาศัยเมื่อประกอบธาตุธรรมส่วนหยาบได้ถูกส่วน เราก็จะหลุดจากฐานที่ ๗ ไปตามฐานต่าง ๆ ออกมาฐานที่ ๑ แล้วเข้าปากช่องจมูกของมารดา มาอยู่ฐานที่ ๗ นี่จำคร่าว ๆ อย่างนี้ก่อน

 

            แล้วก็หล่อเลี้ยงด้วยธาตุหยาบของมารดา ใจของเรากับมารดาจะเป็นอันเดียวกันเลยตรงฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นมาเกิดก็มาเกิดตรงนี้

 

            ทีนี้สิ่งที่น่าศึกษาต่อไป ซึ่งเราจะต้องใช้ นั่นคือ ตายก็ต้องตายตรงนี้ ตรงฐานที่ ๗

 

            ไม่ว่าจะตายแบบไหนก็ตาม จะตายด้วยอุบัติเหตุ หรือเจ็บไข้ได้ป่วยตาย จะต้องเริ่มตรงฐานที่ ๗ เพราะฉะนั้นฐานที่ ๗ จึงเป็น ตำแหน่งที่สำคัญมาก เพราะเกี่ยววกับชีวีตของเรา เป็นสิ่งที่เราจะต้องเจอ แล้วตอนนั้นใครจะมาช่วยอะไรเราไม่ได้ ใครจะมาทำให้เราเป็นในสิ่งที่เราอยากจะเป็นนั้นไม่ได้ เราต้องทำเองแต่เราศึกษาเราเรียนรู้ เราฝึกฝนได้ หลักวิชชามีอยู่ว่า ใจใสไปสวรรค์ ใจหมองไปนรก         

 

            เราจะต้องฝึกใจให้ใส ๆ เอาไว้ที่ฐานที่ ๗ อยู่เรื่อย ๆอย่าให้ใจขุ่นมัว ให้ใจดี อารมณ์ดี เป็นกุศลธรรม

 

           ใจต้องเป็นกุศลธรรมถึงจะเรียกว่าใจดี อารมณ์ดีไม่ใช่ว่าเราไปดูเขาเล่นตลกแล้วเราหัวเราะขำๆ จะกลายเป็น คนอารมณ์ดีอย่างนั้นไม่ใช่นะ นั่นแค่คลายความเครียด แต่อารมณ์ยังไม่ดี

 

           อารมณ์จะดีอยู่ที่ใจมีกุศลธรรม จำง่าย ๆ คือ “มีบุญ” ได้สั่งสมบุญ ด้วยทาน ศีล ภาวนา จนกระทั่งเห็นความใสของใจคำว่า “เห็น” ในที่นี้ ก็เหมือนเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก เห็นคนสัตว์ สิ่งของ ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ต้นหมากรากไม้ภูเขาเลากาอย่างนั้นนะ ต้องเห็นความใสของใจที่บริสุทธิ์ มันจะเป็นดวงใส ๆ อยู่ที่ฐานที่ ๗

 

            เวลาเราตายก็จะเริ่มตรงนี้ คือ เริ่มออกจากฐานที่ ๗ ไป ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ จะตายอย่างกะทันหัน หรือจะตายด้วยวิธีไหนก็แล้วแต่ ถ้ากะทันหันก็หลุดไปเร็ว แต่หากเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะค่อยเป็นค่อยไป

 

            เพราะฉะนั้น ที่เกิด ที่ดับ ที่หลับ ที่ตื่น ก็ต้องเริ่มที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗

 

            และนอกจากนี้ ถ้าจะไปพระนิพพาน ก็ต้องเริ่มตรงนี้เหมือนกัน ถ้าจะไปเกิดก็เดินนอกออกไป คือ เดินไปตามฐาน  ๗, ๖, ๕, ๔, ๓, ๒, ๑ กายละเอียดออกไปทางปากช่องจมูกตามปกติของสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

            ทีนี้ถ้าไม่อยากจะมาเกิดอีกแล้ว เพราะเห็นโทษภัยในวัฏสงสาร เห็นจนเบื่อหน่ายสุดขีด ไม่ใช่เบื่อ ๆ อยาก ๆเบื่อแล้ว หมดความจำเป็นแล้วในภพสาม เป็นอะไรมาเกือบหมดทุกอย่างแล้ว เป็นคนเคยรวย หรือรวยจนเคย เราก็เป็นมาแล้ว

 

            ชีวิตก็มีแต่ขึ้น ๆ ลง ๆ ชาติไหนไม่ประมาท ไม่ตระหนี่สั่งสมบุญกุศลเอาไว้ ชาติถัดมาชีวิตก็สูงส่ง ถ้าชาติไหนเกิดบุญเก่าส่งผลให้มาประสบความสำเร็จในชีวิต ในธุรกิจการงานเพราะตัวอธิษฐานไว้ขอให้รวยอย่างเดียว พอเกิดมารวย ทำอะไรก็สำเร็จทุกอย่าง จนกระทั่งเกิดความมั่นใจในตัวเองเกินไป มีความคิดว่า ที่เรารวยก็เพราะว่าขยันหมั่นเพียร ประหยัดอดออม อดทน มีกำลังใจ สติปัญญา มีความรอบรู้เรื่องธุรกิจ
การงาน จึงประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็นึกว่าเป็นเพราะความสามารถของเรา เลยไม่เชื่อเรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องภพชาติ การเวียนว่ายตายเกิด

 

           พอไม่เชื่อก็ดำเนินชีวิตด้วยความประมาท ชะล่าใจ ประหยัดเสียจนเคย จนกลายเป็นความตระหนี่ แม้การสร้างบุญก็ตระหนี่หวงแหนทรัพย์ เพราะคุ้นเคยกับการลงทุน ทรัพย์ได้มานั้นต้อง

 

          เปลี่ยนไปเป็นเม็ดเงินที่แปรกลับมา ๑ เม็ดเงินไป ต้อง ๑๐๐ เม็ดเงินมา มันก็จะคุ้นเคยกับสิ่งเหล่านี้จนหมดเวลาของชีวิต

 

          พอเกิดมาอีกชาติหนึ่ง ความเป็นอยู่มันไม่เหมือนเดิมแล้วเกิดใหม่ก็ลืมสิ่งเก่า ๆ ไปหมด เหมือนเรารับประทานอาหารเมื่อวาน วันนี้เรายังลืมว่าทานอร่อยอย่างไร รสชาติเป็นอย่างไรพอมันลืม ชีวิตก็ทุกข์ระทม กลายเป็นคนเคยรวย หรือประมาทพลาดพลั้งก็ไปอบาย

 

          เมื่อเห็นชีวิตขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ เกิดความเบื่อหน่ายอย่างแรงกล้า อยากจะพ้นทุกข์ พ้นจากภพสาม พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด อยากไปนิพพาน ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีแต่เอกันตบรมสุข สุขอย่างยิ่ง อย่างเดียว เมื่อคิดอย่างนี้แล้วก็ต้องแสวงหาหนทาง ซึ่งบทสรุปก็คือ ต้องเริ่มต้นที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ โดยเดินในเข้าไป เข้ากลางไปเรื่อย ๆ

 

          ทีนี้จะเข้ากลางได้ก็ต้องเห็นกลาง ถ้าชีวิตแบบธรรมดามันไม่ได้เห็นกลาง มันไปตามฐาน แต่ว่าผู้ที่จะไปนิพพานต้องเห็นกลาง ต้องเข้ากลางของกลางไปเรื่อย ๆ ต้องเดินในเส้นทางมัชฌิมาปฏิปทา หนทางสายกลางภายใน ทางแห่งความบริสุทธิ์ หมดจดจากสรรพกิเลสทั้งหลาย เป็นเส้นทางของพระอริยเจ้าที่เรียกว่า อริยมรรค

 

           อริยมรรค หนทางของพระอริยเจ้าจะเริ่มต้นตรงฐานที่ ๗ โดยการวางใจหยุดนิ่งเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ ไม่ใช่อย่างลำบาก ๆ แค่วางใจนิ่ง ๆ นุ่ม ๆ ละมุนละไมที่กลางกาย จะนึกเป็นภาพให้เป็นหลักยึดของใจในเบื้องต้นก่อนก็ได้ เพื่อให้ใจไม่ไปคิดเรื่องอื่น เป็นภาพองค์พระบ้าง ดวงแก้วบ้าง เป็นเพชรเป็นพลอย ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว ของใส ๆ ของสูง ๆสูงทั้งมูลค่า สูงทั้งคุณค่า และสูงทั้งที่สูง อย่างดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดวงดาว เป็นต้น ไว้ในกลางกายฐานที่ ๗ ก็ได้ วิธีนี้เหมาะสำหรับ คนช่างฟุ้ง ฟุ้ง ฝัน หรือคุ้น เคยกับ การนึกคิด ก็ต้องแปรมาให้นึกภาพสิ่งเหล่านี้แทนภาพธุรกิจการงาน คน สัตว์ สิ่งของ

 

           หรือบางคนสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้ แล้วก็เป็นคนมีอัธยาศัย ถ้านึกเป็นภาพแล้วอดกดลูกนัยน์ตาลงไปดูในกลางท้องไม่ได้ อดที่จะเค้นภาพให้ทะลักมาในกลางท้องไม่ได้เป็นเหตุให้ศีรษะ บางคนก็ขี้สงสัยว่า ที่เห็นขึ้นมานี่ เพราะเรานึกไปเองมั้งถ้าเป็นคนประเภทอย่างนี้ ก็ไม่ต้องนึกเป็นภาพ ให้วางใจนิ่งเฉย ๆนุ่ม ๆ ละมุนละไม แค่ทำความรู้สึกว่า ใจอยู่ในกลางท้อง ในระดับเหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ไม่ต้องกังวลเลยว่า ตรงฐานที่ ๗หรือไม่ โดยทึกทักเอาเลยว่า กลางท้องก็ใช่แล้ว ตรงนั้นแหละทำเป็นสาวมั่น หนุ่มมั่น มั่นใจว่า ใช่เลย ใช่แล้ว แล้วก็วางใจนิ่งเฉย ๆ อย่างนั้น

 

             จะประคองใจด้วยบริกรรมภาวนา สัมมา อะระหัง ไปด้วยก็ได้ ประคองใจไป ภาวนาไป แต่ไม่ใช่ท่องนะ ภาวนาในใจคล้าย ๆ เป็นเสียงเพลงที่เราคุ้นเคยที่ดังขึ้นมาเองอย่างนั้นหรือบทสวดมนต์ที่เราชอบ อย่างเช่น องค์ใดพระสัมพุทธฯอย่างนั้น ให้เสียงเหมือนเป็นเสียงสำนึกละเอียดมาจากที่ลึก ๆไกล ๆ ภายในกลางท้องของเรา นี่ถ้าเราจะภาวนา สัมมา อะระหังประคองใจ ต้องทำอย่างนี้นะ

 

             เราภาวนาไปจนกว่าไม่อยากจะภาวนาต่อไป ถ้าเมื่อไรเกิดความรู้สึกไม่อยากจะภาวนาต่อไป อยากวางใจเฉย ๆ อยากอยู่นิ่ง ๆ เงียบ ๆ โดยไม่มีเสียงอะไรเลย และก็ไม่มีความคิดอื่นใดอย่างนี้ก็ได้ จะนึกแล้วนิ่งก็ได้ จะนิ่งโดยไม่ต้องนึกก็ได้ได้ทั้งสองวิธีนะ วัตถุประสงค์ต้องการให้ใจหยุดนิ่งตรงฐานที่ ๗กลางท้องนี่แหละ หยุดเป็นตัวสำเร็จ ที่จะทำให้เราเข้าถึงความสุขที่แท้จริง

 

            ความสงัดจะสงัดจากกายวิเวก จิตวิเวก และอุปธิวิเวก สงัดกาย อยากอยู่เงียบ ๆ ก็หลับตาเสีย มันก็ไม่เห็นอะไรแล้ว อยากจะให้จิตวิเวกก็อย่าไปคิดเรื่องอะไร ทำ นิ่ง เฉย ๆเดี๋ยวอุปธิวิเวกก็จะเกิดขึ้นมาเอง

 

            ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้ คือสถานที่ที่เราจะต้องไปมีระยะทางแค่ศอกเดียว จากปากช่องจมูกถึงศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ไม่ต้องเสียเงินเสียทอง เสียค่าพาสปอร์ต วีซ่า

 

           ไม่ต้องเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า แค่หลับตาเบา ๆ ทำใจให้สบายให้หยุด ให้นิ่ง เดี๋ยวก็จะเข้าไปถึงดวงธรรมภายใน ซึ่งเป็นดวงธรรมที่สุกใส ใสเหมือนกับเพชรหรือยิ่งกว่านั้น

 

          เบื้องต้นอาจจะใสเหมือนน้ำ เหมือนกระจกคันฉ่องส่องเงาหน้า หรือเหมือนเพชรที่เจียระไนแล้ว ลักษณะทรงกลม มีความใส นุ่มเนียนตา ละมุนละไม เกิดขึ้นมาตรงกลาง เป็นดวงใสๆ ยิ่งเรานิ่งก็ยิ่งใส ใสในใส ใสในใส ใสมาก นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นที่จะไปสู่อายตนนิพพาน

 

           ความสุขจะพรั่งพรูออกมา เป็นความสุขที่แท้จริง ที่แตกต่างจากที่เราเคยเข้าใจว่าเป็นความสุข และเราจะพ้นจากความกังวลใจว่า ชีวิตนี้เราเคยกังวลว่า เราจะต้องพึ่งคนโน้นคนนี้เพื่อให้เราหายเหงาในชีวิต ความคิดต่าง ๆ เหล่านี้จะหมดไปเลย

 

           เพราะที่พึ่ง ที่เราเข้าใจว่า คนนั้นคนนี้จะเป็นที่พึ่งแก่เรา ไม่ว่าจะหนุ่ม จะสาว แก่เฒ่า ชรา มีทรัพย์มาก ทรัพย์น้อยก็ตาม ในที่สุดก็เหลวทั้งนั้นพึ่งไม่ได้ เพราะมันมีไซด์เอฟเฟ็ค (side effect) มีผลข้างเคียง เนื่องจากมนุษย์เป็นที่รวมของปัญหาอยู่ในตัว มันจะสำแดงออก หรือไม่สำแดงออกเท่านั้น มันมีระเบิดเวลาอยู่ในตัวทุกคนในโลก

 

            หวังไปพึ่งมนุษย์ที่มีระเบิดเวลาอยู่ในตัว ตอนที่ยังไม่ระเบิด ก็ดูอารมณ์ดี พอระเบิดตูมมา          อารมณ์เสียเข้า ความเครียดก็ระบาด ระบาดมาถึงเราผู้อยู่ใกล้ชิดที่สุดกับเขา อย่างนี้มันก็กลุ้มนะ

 

           แสดงว่าสิ่งนั้นก็ไม่ใช่ที่พึ่ง ที่เราคิดว่าจะช่วยให้หายเหงา มันหายเหงาใจ แต่มันกวนใจตลอดทำให้ใจเราขุ่น แล้วก็กลุ้ม เวลาเจอสังคมภายนอกก็ต้องหน้าชื่นอกตรม ต้องยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะพูดเล่าให้ใครฟังไม่ได้ เดี๋ยวเขาสมน้ำหน้าเอาจะเอาไฟในออกไฟนอกเข้าก็ผิดหลักวิชชา ก็ต้องอดทน ทนกลุ้มกันไปอย่างนั้น

 

          เพราะฉะนั้น นั่นก็ไม่ใช่ที่พึ่งอันเกษม ไม่ใช่ที่พึ่งอันประเสริฐเพราะมันมีระเบิดเวลาอยู่ในตัว มีความโลภ ความโกรธ ความหลงอยู่ในตัวเขา ของมนุษย์ของสัตว์ทั้งหลาย พอถึงเวลาก็ระเบิดตูมขึ้นมา 

 

           อย่าว่าแต่มนุษย์เลย แม้แต่สัตว์เลี้ยง เช่น สุนัขบางตัวเลี้ยงไว้อย่างดี น่ารัก ไม่ดุ อยู่ ๆ ก็กัดเจ้าของ เอาอาหารอย่างดีไปเลี้ยง พาไปตกแต่งร่างกาย ไปทำสปาสุนัขบ้าง แมวบ้าง มันยังกัดเอาอย่างนั้นนะ นั่นไม่ใช่เครื่องแก้เหงา

 

          แต่สิ่งที่จะเป็นที่พึ่งภายใน ดวงใส ๆ ในตัวนี่แหละ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราคาดไม่ถึง นึกไม่ถึง แล้วไม่เคยเฉลียวใจเลยว่า สิ่งนี้จะเป็นที่พึ่งที่ระลึกของเราได้

 

           จากดวงธรรมนี้จะนำให้เราเข้าไปถึงกายภายใน แล้วก็ไปถึงพระธรรมกาย ซึ่งเป็นพระรัตนตรัยในตัว พระรัตนตรัยในตัวนี่แหละ เป็นที่พึ่งที่แท้จริงของเรา พอไปถึงตรงนั้นแล้วจะมีความสุข สดชื่น เบิกบาน อบอุ่น มั่นใจ ปลอดภัย ไร้กังวล ใจจะสบ๊าย สบาย นั่ง นอน ยืน เดินก็เป็นสุข

 

           เหมือนพระมหากัปปินะ เมื่อท่านเข้าถึงแล้ว ถึงกับเปล่งอุทานในทุกหนทุกแห่งว่า สุขจังเลย สุขจริงหนอ ทั้ง ๆ ที่ท่านเคยเป็นพระราชามาก่อนบวช แสดงว่าราชสมบัตินั้นไม่ได้ให้ความเต็มเปี่ยมของชีวิตเลย ไม่ให้ความสมบูรณ์พร้อมของชีวิตแม้อุดมไปด้วยลาภยศ สรรเสริญ พรั่งพร้อมด้วยอำนาจวาสนาข้าทาสบริพาร แต่ก็ไม่ได้มีความสุข เพราะสิ่งเหล่านั้น อำนาจวาสนา หน้าที่การงาน ทรัพย์ บริวาร เขามีเอาไว้ให้ใช้แก้ปัญหาส่วนรวมของคนทั้งเมือง ซึ่งล้วนแต่มีปัญหาทุกคน

 

             การแก้ปัญหามันสร้างแรงกดดันให้กับผู้ที่แก้ปัญหา เพราะฉะนั้นสมัยเป็นพระราชาท่านถึงกลุ้ม แต่ว่าเมื่อมาเป็นนักบวชปฏิบัติเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัว จึงรำพึงออกมาในทุกสถานที่ว่า สุขจังเลย สุขจริงหนอ นี่เป็นอย่างนี้นะลูกนะ

 

             วันนี้วันพระต้องละนิวรณ์ จะเป็นพระ เป็นเณร เป็นโยมอุบาสก อุบาสิกา สาธุชน คนทั่วโลก ต้องละนิวรณ์ ละกามฉันทะ ตรึกในเรื่องเพศบ้าง เรื่องสตางค์บ้าง สตรี สตางค์บุรุษ เรื่องความขุ่นมัว ความโกรธ ความขัดเคือง ความฟุ้ง ความสงสัย ความง่วง

 

             วันนี้เลิกง่วงสักวันนะ อย่ามานั่งหลับสัปหงก ละนิวรณ์เสีย ความท้อใจ หดหู่ใจ เศร้า ซึม เซ็ง เครียด เบื่อ กลุ้ม วันนี้เลิกกันไปวันหนึ่ง เพราะวันนี้เป็นวันพระต้องละนิวรณ์ จำง่าย ๆก็คือ ทำใจให้ใส ๆ ให้หยุด ให้นิ่งนะ

 

            เช้านี้อากาศกำลังสดชื่น เบิกบาน เป็นใจให้ลูกทุกคน ผู้มีบุญทั่วโลก จะได้เข้าถึงพระรัตนตรัย เพราะฉะนั้นต่อจากนี้ไปให้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรม ฝึกใจให้หยุด ให้นิ่ง นุ่ม ๆละมุนละไม อย่างสบาย ๆ ที่กลางกายนะ ให้ลูกทุกคนสมหวังดังใจในการเข้าถึงพระรัตนตรัยในตัวทุก ๆ คน ต่างคนต่างนั่งกันไปเงียบ ๆ นะ

 

 พระเทพญาณมหามุนี
วันอาทิตย์ที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

จากหนังสือ ง่ายเเต่ลึก เล่ม 2
                                                                                                โดยคุณครูไม่ใหญ่

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0079255819320679 Mins