ตอนที่13 กากะเยีย ขั้นกะเยีย ผสานศิลป์ ถิ่นอีสาน

วันที่ 21 กย. พ.ศ.2563

ตอนที่13  กากะเยีย ขั้นกะเยีย
ผสานศิลป์  ถิ่นอีสาน

‘-กา- -กะ- -เยีย-’

                      ชื่อที่ไม่คุ้นหู รูปลักษณ์ก็ดูแปลกตา วัตถุศิลป์ชิ้นนี้มีประวัติความเป็นมาย้อนไปไกลถึงสมัยล้านช้าง แล้วคนโบราณใช้กากะเยียเพื่ออะไร ติดตามได้ใน

20074-1.jpg

                 ช่วงพุทธศตวรรษที่ 19-22 ดินแดนลุ่มแม่น้ำโขงแถบประเทศลาว ตลอดจนภาคอีสานของไทยเคยเป็นที่ตั้งของอาณาจักรล้านช้างที่มีความรุ่งเรืองด้านการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม

                 โดยเฉพาะรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้างเป็นยุคที่มีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับอาณาจักรล้านนา จึงได้น้อมรับเอาอิทธิพลทางพระพุทธศาสนาและวัฒนธรรมการจารคัมภีร์ใบลานด้วยอักษรธรรมตามแบบฉบับล้านนา มาพัฒนาจนเป็นอักษรธรรมอีสานหรืออักษรธรรมลาวเพื่อใช้จารจารึกคัมภีร์ในอาณาจักรล้านช้าง

 

ep13-1.jpg

                ปัจจุบันในแดนดินถิ่นอีสานยังปรากฏคัมภีร์ใบลานเป็นหลักฐานความรุ่งเรืองเมื่อครั้งอดีต มีทั้งหนังสือก้อมหรือลานก้อม คือ หนังสือใบลานขนาดเล็ก ความยาวประมาณ 1 ฟุต

                 จารึกคดีทางโลก เช่น คาถาอาคม ตำรายา หรือพิธีกรรม เป็นหนังสือส่วนบุคคลที่นิยมเก็บไว้ตามบ้าน และหนังสือผูกหรือลานผูก ซึ่งจารจารึกคดีทางธรรม เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา จัดเก็บรักษาตามวัดวาอาราม

20074-2.jpg

                    ลักษณะการวางและการเก็บรักษาหนังสือใบลานก่อให้เกิดวัฒนธรรมท้องถิ่นรวมทั้งวัตถุศิลป์รูปแบบหลากหลายที่คนสมัยก่อนประดิษฐ์ขึ้นเพื่อรองรับคัมภีร์ใบลานให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยอีกด้วย

                    กากะเยีย เป็นอุปกรณ์สำหรับวางเพื่ออ่านคัมภีร์ เป็นเสมือนโต๊ะอ่านใบลาน ทำด้วยไม้ 8 ชิ้น ร้อยเป็นโครงไขว้กันด้วยเชือก สามารถกางออกและพับเก็บได้ง่าย สะดวกในการพกพา

20074-3.jpg

                       การออกแบบสอดคล้องกับวัฒนธรรมการนั่งบนพื้นเรือน ให้เอื้อต่อการเล่าเรียนเขียนอ่าน เพราะสามารถเปิดหน้าลานวางบนกากะเยียให้แผ่นคัมภีร์อยู่สูงจากพื้นโดยไม่ต้องประคองไว้ให้หนักมือ

                      เป็นการถนอมรักษาคัมภีร์ใบลานไปในตัว เพราะการถือใบลานนานๆ เหงื่อและน้ำมันจากมือจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใบลานเสื่อมสภาพ

20074-4.jpg

                       ทั้งยังเป็นการแสดงออกถึงความเคารพโดยยกแผ่นลานให้สูง ไม่วางราบไปกับพื้นเรือน ในแถบอีสานพบกากะเยียที่มีฐานไขว้กันเหมือนโต๊ะพับ และตกแต่งด้วยศิลปะกลุ่มวัฒนธรรมลาวชาวอีสาน

 

ep13-2.jpg

กากะเยียจากจ.อุบลราชธานี อายุราวต้นพุทธศตวรรษที่ 25

 

                     อุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานอีกประเภทหนึ่งที่พบในถิ่นอีสาน บางตำราเรียก ขั้นกะเยียแบบขั้นบันได มีลักษณะคล้ายแผงขั้นบันได ใช้จัดเก็บวางคัมภีร์เพื่อเตรียมใช้งาน ไม่ใช่เพื่อการอ่าน

                     โดยห่อผ้าหรือกล่องคัมภีร์จะวางอยู่บนโครงสร้างไม้ที่ยื่นออกมารับน้ำหนัก มีจำนวนขั้นเป็นเลขคี่ ซึ่งเชื่อมโยงกับการสร้างบันไดตามคติโบราณว่า เลขคู่บันไดผี เลขคี่บันไดคน ขั้นกะเยียแบบขั้นบันไดวางคัมภีร์ได้ 3-9 มัด และมีการแกะสลักลวดลายหรือประดับด้วยกระจกสีเพื่อตกแต่งส่วนยอดและส่วนฐานเพื่อความงดงาม

20074-5.jpg

ขั้นกะเยียแบบอย่างขั้นบันได สำหรับวางใบลานจำนวน 5 มัด

                       ตัวอย่างเช่น ขั้นกะเยียสายสกุลช่างพื้นเมืองแบบช่างลาวหลวง ณ วัดมหาธาตุ จ.ยโสธร เป็นหนึ่งในวัตถุศิลป์ถิ่นอีสาน ที่มีความงดงามสมบูรณ์ที่สุดชิ้นหนึ่ง มีสิงห์กะโล่เทินแผงขั้นกะเยียไว้บนหลัง และส่วนยอดประดับด้วยลวดลายแกะสลักแบบศิลปะล้านช้าง

 

ep13-3.jpg

                       นอกจากนี้ยังมีขั้นกะเยียขนาดใหญ่ เป็นอุปกรณ์วางคัมภีร์ใบลานเพื่อการจัดเก็บ เป็นเสมือนตู้เก็บคัมภีร์ใบลาน มีลักษณะเป็นชั้นวางคัมภีร์โปร่งๆ สร้างไว้ภายในห้องโถงกลางหอไตร สามารถวางคัมภีร์ได้เป็นจำนวนมาก

 

ep13-4.jpg

                      ความสูงของชั้นขึ้นอยู่กับความสูงของหลังคาหอไตร ซึ่งสัมพันธ์กับระบบระบายอากาศ ที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิความชื้นจากสระน้ำโดยรอบที่นิยมขุดไว้รอบหอไตร ช่วยให้ใบลานไม่แห้งกรอบเนื่องจากความร้อนของสภาพอากาศ

ep13-5.jpg

                       กากะเยียและขั้นกะเยีย....วัตถุศิลป์รูปแบบของวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานตามสมัยนิยม มีแนวคิดโดดเด่นเฉพาะตนในการดูแล เก็บรักษา และวิธีการนำคัมภีร์มาเล่าเรียนอ่านเขียน เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ย้อนไปไกลถึงสมัยล้านช้าง สืบทอดต่อมาให้ลูกหลานแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้เห็นถึงความเคารพศรัทธาที่เปี่ยมล้นในพระพุทธศาสนา

                      และไม่ว่าพระพุทธศาสนาจะไปปักหลักอยู่ ณ ถิ่นใด การทุ่มเทสติปัญญาสร้างรูปแบบในการธำรงไว้ซึ่งคำสอนของพระพุทธองค์ให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นแต่ละแห่ง เป็นกระจกสะท้อนให้นำคำสอนที่จารจารึกในคัมภีร์ใบลานมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต และมองศิลปวัตถุเป็นมรดกศิลป์แบบอย่างแห่งศรัทธาที่มอบไว้ให้ด้วยความเมตตาของบรรพบุรุษ

ติ๊ก แสนบุญ, พุทธหัตถศิลป์อีสาน เนื่องในวัฒนธรรมทางภาษาของ “คัมภีร์ใบลาน” , ๒๕๕๒

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.01147141456604 Mins