น้อยแต่มาก

วันที่ 12 มีค. พ.ศ.2565

น้อยแต่มาก

หลายคนยึดติดกับภาพที่ว่ารสนิยมดีต้องจ่ายแพง ต้องใช้สินค้า ใส่เสื้อผ้า ถือกระเป๋าแบรนด์แนม แต่ความจริงเราก็มีรสนิยมดีแบบประหยัดรายจ่ายได้

111.jpg

                 ก่อนอื่นต้องตระหนักว่า การเป็นผู้มีรสนิยม มองในแง่หนึ่ง คือ มีภาพลักษณ์ที่ดีด้วย

                 ยกตัวอย่าง มีข้าราชการระดับอธิบดีคนหนึ่ง เขาเป็นคนทำงานเก่ง โดดเด่น ชอบแต่งตัวแบบสบาย ๆ ไม่คิดอะไรมาก มีโอกาสได้ไปออกงานที่มีผู้ใหญ่มาร่วมงานมากมาย เขาแต่งตัวมาแบบสบาย ๆ ตามที่เคย

                 พอเข้างานได้พบกับผู้ใหญ่ท่านหนึ่งยศสูงกว่า อาวุโสกว่า ท่านสบตาครั้งแรกก็เกิดความรู้สึกว่าไม่ประทับใจ แต่ท่านก็รักษาอาการเอาไว้ ถ้าเป็นคนในที่ทำงานเดียวกัน คุ้นเคยกันมาก่อนอาจจะรู้สึกเฉย ๆ แต่พอต้องไปพบปะผู้ใหญ่ในสังคมที่กว้างขึ้น หากไม่ให้ความสำคัญกับการแต่งตัวให้เหมาะสมกับโอกาส ย่อมเสียภาพลักษณ์ได้

                จะมีคนสักกี่คนที่มองทะลุผ่านผ้าขี้ริ้วเข้าไปถึงทองคำข้างในได้แบบชัดเจนตั้งแต่ครั้งแรกที่พบเห็น  คนส่วนใหญ่มองจากภาพภายนอกเป็นหลัก เพราะฉะนั้น เราจะมองข้ามความสำคัญของภาพลักษณ์นี้ไปไม่ได้

               ถ้าให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์อีกนิด ไม่ต้องหรูหรา แค่ให้ดูสุภาพเรียบร้อย ถูกกาลเทศะ ก็จะส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนเองให้ดูดีตั้งแต่ครั้งแรกที่พบได้ไม่ยากเลย

               แม้แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ก็ยังให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ ดูได้จากศีลของพระภิกษุ 227 ข้อ หมวดสุดท้ายว่าด้วยเรื่องมารยาท ซึ่งเป็นหมวดใหญ่ทีเดียว มีมากถึง 75 ข้อ จากทั้งหมด 227 ข้อ

               ในครั้งพุทธกาล พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วมาก เป็นที่จ้องจับผิดของศาสนาอื่น ๆ ศาสนาอื่นที่เกิดก่อนพยายามหาช่องโจมตี วิพากษ์วิจารณ์พระพุทธศาสนาสารพัดต่าง ๆ นานา ภาพลักษณ์ของคณะสงฆ์จึงมีความสำคัญมาก

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงหยิบยกเรื่องมารยาทมาไว้ในหมวดที่ภิกษุต้องมีปฏิสัมพันธ์กับประชาชนมาสู่พระปาติโมกข์ ที่ให้ความสำคัญโดยคณะสงฆ์ต้องทวนกันทุกเดือน เพื่อตรวจสอบย้ำแล้วย้ำอีก โดยมีเป็นหมวดย่อย ๆ เริ่มตั้งแต่การครองผ้า นุ่งสบง ห่มจีวร

222.jpg

              จากนั้นเป็นเรื่องของมารยาทในการเดินเข้าสู่บ้าน จากนั้นเป็นมารยาทในการรับบิณฑบาต รับกิจนิมนต์ มารยาทในการขบฉัน มารยาทในการเทศน์ รวมทั้งการพูดคุย มารยาทในการใช้ห้องสุขา

              ทั้งหมด คือ กระบวนการตั้งแต่เริ่มครองจีวรจนกระทั่งเข้าบ้าน ฉัน เทศน์ เข้าห้องน้ำ จนกลับถึงวัด ถ้าเราเข้าใจขั้นตอนทั้งหมดอย่างนี้ เราจะจำเนื้อหาได้แบบทีเดียว แล้วไม่ลืมไปตลอดชีวิต เพราะมองเห็นเป็นภาพทั้งหมดว่าสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง

              ขนาดพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังให้ความสำคัญกับเรื่องของภาพลักษณ์คณะสงฆ์ขนาดนี้ เราเองก็อย่ามองข้าม อย่าคิดว่าเรื่องรสนิยม หรือภาพลักษณ์เป็นเรื่องเปลือกนอก ไม่สำคัญ เราเอาแก่น ถ้าเปลือกไม่เอื้อให้ แก่นก็ไม่รอด

              ต้นไม้ถ้าเราลอกเปลือกออกหมดให้เหลือแต่แก่น ต้นไม้ก็ตายเหมือนกัน ถ้าภาพลักษณ์ไม่ดี คนมองแล้วเขายี้ใส่ เขาไม่เปิดใจรับ ต่อให้เราเก่งเท่าไรเขาก็มองข้าม

               เรานำแบบอย่างนี้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปใช้ได้ คือ การมีรสนิยมดีไม่จำเป็นต้องใช้ของแพงเสมอไป เครื่องแต่งกายของพระสงฆ์มีแค่สบงจีวรสังฆาฏิ ซึ่งทำมาจากเศษผ้าที่เขาทิ้งแล้วมาเย็บต่อกัน แล้วนำไปย้อมสี

333.jpg

             พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้เน้นของแพง บางครั้งก็มีคนนำผ้าผืนใหญ่มาถวาย คณะสงฆ์ยังต้องนำไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ ก่อน จึงนำมาเย็บต่อกันเพื่อให้ราคาตก ไม่เน้นสวมใส่ผ้าราคาแพง จะได้ไม่เป็นเป้าหมายล่อใจโจรด้วยอย่างหนึ่ง

              ภิกษุมีผ้าไว้เพื่อครองให้สุภาพเรียบร้อย ไม่อุจาด ป้องกันร้อนหนาว กันเหลือบไร ริ้น ยุง และแมลง แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่ว่านำเศษผ้ามาเย็บต่อกันแล้วปล่อยให้เลอะเทอะเปรอะเปื้อน

              พระองค์ให้ย้อมสีผ้าด้วยแก่นไม้ เช่น ไม้ขนุน นำมาย้อมเพื่อให้ผ้ามีสีเดียวกันทั้งผืน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ความสำคัญกับความสุภาพพอสมควร แม้ราคาตกก็ไม่เป็นไร แต่ให้มีสีเหมาะสม ดูเรียบร้อย

              ถ้าถามว่า ทำไมสีจีวรพระจึงมีหลายโทนทั้งเหลือง ส้ม น้ำตาล ความจริงแล้วพระองค์อนุญาตทั้งนั้น เพราะสมัยโบราณ สีจีวรย้อมมาจากแก่นไม้ ย่อมมีโทนสีที่ไม่เท่ากันเสียทีเดียว

               ส่วนเครื่องประดับนั้น ไม่อนุญาตให้พระภิกษุใช้แต่อย่างใด เพราะฉะนั้น ความมีรสนิยมและ ภาพลักษณ์ที่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับเครื่องประดับราคาแพง แต่ขึ้นอยู่กับเครื่องแต่งกายที่ไม่ต้องมีมากชิ้น เพราะภิกษุก็มีเพียง “ชุดนอน ชุดเที่ยว ชุดเดียวกัน”

444.jpg

             จีวรพระ เป็นแฟชั่นที่ยั่งยืนที่สุด ยาวนานมาเป็นเวลากว่า 2,500 ปีแล้ว ก็ยังใช้กันอยู่จนปัจจุบัน ทั้งเรียบหรู ดูดี และประหยัด ไม่พึ่งพาเครื่องประดับ แต่ภาพลักษณ์คณะสงฆ์ก็ยังดีอยู่เสมอมา

             พระราชาเห็นยังต้องกราบต้องไหว้ เพราะความสงบเสงี่ยม สุภาพเรียบร้อย จากการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเน้นย้ำทั้งเรื่องการรักษาเอกลักษณ์ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี

              เราเองก็สามารถทำได้เช่นกัน เน้นเลือกซื้อเสื้อผ้าที่มีการออกแบบและโทนสีสุภาพ สามารถนำมาใช้ได้ยาวนานเป็นอมตะ ไม่ตกยุคสมัย

              ส่วนเสื้อผ้าที่ออกแบบตามแฟชั่น ฮิตอยู่ 1-2 ปี ไม่นานก็ตกกระแส ต้องไปซื้อแบบใหม่ ๆ อีกเรื่อย ๆ

             สรุปคือเสื้อผ้าเต็มตู้แต่ใส่ไม่ได้ แต่ถ้าเราเน้นซื้อเสื้อผ้าน้อยชิ้น เน้นสีสุภาพ ไม่ตามกระแสนิยมมาก ก็ใส่ได้นาน ไม่ตกยุค ไม่จำเป็นต้องมีมากชิ้น เลือกซื้อแบบที่มีเนื้อผ้าดี ๆ ใส่ทน ๆ ก็เพียงพอแล้ว

              ที่สำคัญต้องฝึกตนเองให้มีอากัปกิริยาและการพูดที่ดี รู้จักกาลเทศะ ทำทุกอย่างให้เหมาะสมพอดี จัดแต่งทรงผมให้สุภาพเรียบร้อย ไม่ปล่อยรุงรัง แล้วภาพลักษณ์เราจะออกมาดี มีรสนิยม ที่สำคัญประหยัดรายจ่าย

เจริญพร
พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.035419682661692 Mins