ชั่วโมงกลาง

วันที่ 27 มีค. พ.ศ.2567

270367b01.jpg
 

ชั่วโมงกลาง
๓ มีนาคม ๒๕๓๔
พระธรรมเทศนาเพื่อการปฏิบัติธรรม วัดพระธรรมกาย
โดย... พระราชภาวนาวิสุทธิ์ (หลวงพ่อธัมมชโย)

 

                เมื่อเราปรับท่านั่งของเราได้ถูกส่วนแล้ว ต่อจากนี้ก็วางใจให้เฉย ๆ ให้สบาย ๆ ให้ปลอดโปร่งว่างเปล่าจากความคิดทั้งหลายทั้งมวล ทำใจให้นิ่งเฉย ๆ ประหนึ่งว่าเราไม่เคยมีความคิดมาก่อน ไม่เคยมีภารกิจไม่เคยมีเครื่องกังวลใจ ทำให้นิ่ง ๆ ทำใจเฉย ๆ สบาย ๆ ให้นิ่ง ๆ เฉย ๆ นะ ยังไม่ต้องคิดอะไรทั้งนั้น นิ่ง ๆ สัก ๑ หรือ ๒ นาทีนะ นิ่ง ๆ แล้วก็ปรับท่านั่ง ปรับเปลือกตา วางใจให้เบา ๆ สบาย ๆ โดยที่ไม่กังวลกับสิ่งแวดล้อม อากาศจะอบอ้าวแค่ไหนก็ตาม ที่นั่งไม่นุ่มนวลก็ช่างมัน ทำเฉย ๆ ประหนึ่งว่าเป็นคนไม่รู้ร้อนไม่รู้หนาว เฉย ๆ นิ่ง ๆ

 


                แล้วก็ทําใจให้เบิกบานให้แช่มชื่น ให้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยในพระพุทธ ในพระธรรม ในพระสงฆ์ซึ่งเป็นสรณะอันประเสริฐ เป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึกของเราได้ สิ่งอื่นยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เราเป็นชาวพุทธจะต้องยึดทั้ง ๓ อย่างนี้ เป็นสรณะเป็นที่พึ่งจริง ๆ เป็นที่พึ่งทางใจ คือใจต้องผูกพัน ต้องยึดท่านเอาไว้เป็นหลักของชีวิตพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นี้ยึดเอาไว้ให้ดีนะ ให้มีความเลื่อมใส สิ่งอื่นไม่สนใจเลย ไม่ผูกพันเป็นสรณะ ไม่ว่าใครเค้าจะบอกว่าที่ไหนศักดิ์สิทธิก็ตาม ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อารามศักดิ์สิทธิ์ จอมปลวกที่ศักดิ์สิทธิ์อะไรก็แล้วแต่ที่นอกเหนือจากนี้ไม่เอาใจใส่ไม่สนใจ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันประเสริฐ ไม่ใช่เป็นที่พึ่งอันเกษม ยึดถือเอาไว้เป็นหลักของใจแล้ว ไม่สามารถทำให้พ้นจากความทุกข์ทั้งหลายได้ เพราะว่าสิ่งเหล่านั้นจะต้องมีอาการแปรปรวนไปในที่สุด เกิดขึ้นตั้งอยู่แล้วก็เสื่อมสลาย ภูเขาศักดิ์สิทธิ์ อารามศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ช้ามันก็เสื่อมมันสลายไป

 


                 เพราะฉะนั้นไม่ใช่ที่พึ่ง ที่พึ่งที่สำคัญคือพุทธรัตนะ ธรรมะรัตนะ สังฆรัตนะ พระพุทธเจ้าของเรา คำสอนของพระองค์ท่าน ที่ทำให้ท่านพ้นจากความทุกข์ เข้าถึงความสุขที่แท้จริง แล้วก็พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จนกระทั่งรู้แจ้งเห็นจริง เป็นพยานในการตรัสรู้ธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ นี่แหละเป็นสรณะ เป็นที่พึ่งที่เราจะต้องนึกถึง เอาใจจดจ่อทำความเลื่อมใสเคารพสักการบูชาเสมอ เมื่อทำได้อย่างนี้แล้วถึงจะเรียกว่าเป็นชาวพุทธ ชาวพุทธที่แท้จริงต้องยึดอย่างนี้ นี่เป็นสรณะที่เป็นไปภายนอก ส่วนพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ที่เป็นไปภายในนั้นลึกซึ้งหนักเข้าไปอีก

 


                พุทธรัตนะ พระพุทธเจ้า หมายเอาธรรมกายที่อยู่ในกลางกายของพระพุทธเจ้า ของตัวของเราเอง อันเป็นพุทธรัตนะ เป็นพระพุทธเจ้าภายในตัวของเรา ธรรมรัตนะก็คือดวงธรรมที่รักษาทางเอาไว้ซึ่งพุทธรัตนะ เป็นที่รวมของคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ความรู้ทั้งหลายหลั่งไหลออกมาจากในกลางดวงธรรมนั้น สังฆรัตนะรักษาธรรมะนั้น ให้คงอยู่สืบไป ปฏิบัติตามความรู้ที่พระพุทธเจ้าท่านสอน สังฆรัตนะที่เป็นภายในนั้นหมายถึงธรรมกายละเอียดที่อยู่ในกลางนั้นออกไปอีก ละเอียดลงไปเรื่อย ๆ

 


                รัตนะทั้ง ๓ นี่แหละเราชาวพุทธจะต้องส่งใจให้เข้าไปถึงให้ได้ ต้องเข้าไปสู่ให้ได้ ที่ท่านใช้คำว่าไตรสรณคมน์ ไตรแปลว่า สาม สรณะที่พึ่งที่ระลึก คมน หมายถึงแล่นไปอาการที่ส่งใจเข้าไปถึงท่าน จนกระทั่งพบพุทธรัตนะ พบธรรมรัตนะ พบสังฆรัตนะ มีธรรมกายปรากฏเกิดขึ้นเห็นได้ชัดเจน แจ่มใส เหมือนกับเราลืมตาเห็นวัตถุภายนอก แล้วก็เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับท่าน นั่นแหละเรียกว่า เราเข้าถึงไตรสรณคมน์ มีพุทธรัตนะ ธรรมรัตนะ สังฆรัตนะ ทั้ง ๓ เป็นที่พึ่งที่ระลึก ติดแน่นอยู่ในกลางใจของเราทีเดียว ชาวพุทธปฏิบัติต้องให้เข้าถึงตรงนี้ เริ่มต้นจากตรงนี้แหละถึงรัตนะทั้ง ๓ ตรงนี้ 

 


                เพราะฉะนั้นวันนี้เราจะต้องทำความเลื่อมใสในรัตนะทั้ง ๓ นี้ เอาไว้เป็นหลักยึดของใจแล้วก็พยายามตั้งใจมั่น ว่าเราจะต้องส่งใจที่เรียกว่า คมน แล่นให้ไปถึงรัตนะทั้ง ๓ นี้ให้ได้ วันนี้จะสอนวิธีการให้เข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ รัตนะทั้ง ๓ นี้อยู่ในกลางกายของเรา เป็นกายที่ละเอียดที่สุดซ้อนอยู่ในกลางกายของเรา กายมนุษย์หยาบที่เราเห็นนั่งเข้าที่ กายเนื้อของเราเนี่ยจริง ๆ แล้ว ไม่ใช่มีเพียงกายเดียวที่เราเห็นด้วยตาเนื้อนี้เท่านั้น ผู้ที่มีธรรมจักขุท่านพบว่ามีกายที่ละเอียดกว่าซ้อนกันอยู่ภายในเรียกว่ากายในกาย กายภายในในกายภายนอก ภายภายในในกายภายในซ้อนกันอยู่ คือ กายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ในกลางกายมนุษย์หยาบ 

 


                กายมนุษย์ละเอียดลักษณะเหมือนกับตัวของเรา ท่านหญิงก็เหมือนท่านหญิง ท่านชายก็เหมือนกับท่านชาย ซ้อนอยู่ในกลางกายของเรา ตรงฐานที่ ๗ ฐานที่ ๗ ก็เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือในกลางกาย ในกลางกายมนุษย์ละเอียด มีกายทิพย์ซ้อนอยู่ภายในเป็นกายที่ละเอียดกว่ากายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์เป็นกายที่ละเอียดกว่ากายมนุษย์ละเอียดซ้อนอยู่ภายใน เป็นกายที่สวยงามมาก ซ้อนอยู่ในกลางนั้น ในกลางกายทิพย์มีอีกกายหนึ่งซ้อนอยู่คือกายรูปพรหม ซ้อนอยู่ในกลางกายทิพย์ ในกลางกายรูปพรหมมีกายอรูปพรหมซ้อนอยู่ในกลางนั้น นี่ซ้อนเป็นลำดับเข้าไปเรื่อย ๆ ในกลางกายอรูปพรหม มีกายธรรมซ้อนอยู่ 

 


                กายธรรมที่กล่าวไว้เมื่อเบื้องต้นเนี่ยเป็นพุทธรัตนะ ลักษณะสวยงามมาก งามไม่มีที่ติเกตุดอกบัวตูม นั่งขัดสมาธิใสบริสุทธิ์ยิ่งกว่าเพชรคือใสเกินความใสใด ๆ ในโลก ใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติ พุทธรัตนะองค์นี้แหละที่เราจะต้องส่งใจให้เข้าไปถึง จนกระทั่งพบพระองค์ท่านอยู่ในกลางกายถึงอย่างนี้จึงจะได้ชื่อว่า มีพุทธรัตนะเป็นที่พึ่งเป็นที่ระลึก เข้าถึงแล้วเราจะพบความสุขที่แท้จริง ว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร คำว่าความสุขได้ยินได้ฟังมาบ่อยว่าความสุข เราจะรู้จักอย่างแท้จริง มนุษย์ทั่วไปไม่รู้จักคำว่าความสุขที่แท้จริง ได้แต่ความสุขที่จอมปลอม ยังไม่ใช่ของจริง ก็ขอยืมเอาคำว่าความสุขนี้ไปใช้ก่อน 

 


                บางคนบอกเล่นไพ่เป็นสุข กินเหล้าเป็นสุข เที่ยวบาร์เที่ยวคลับเป็นสุข เล่นการพนันเป็นสุข หรือนอกเหนือจากนี้เป็นสุข แต่ว่าเมื่อพบพุทธรัตนะแล้ว สิ่งที่แต่เดิมนั้นเข้าใจว่าเป็นความสุข ก็จะเปลี่ยนแปลงความคิดทันที หายสงสัยเกิดความเข้าใจใหม่ว่า ความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นอย่างนี้ ส่วนที่ผ่านมานั้นแค่เป็นความเพลิน เพลินให้หมดไปวัน ๆ หนึ่ง ให้ลืมความทุกข์ไปชั่วคราว แค่เพลิน ๆ สนุกสนานเพลิดเพลิน มีได้มีเสียกัน เพราะฉะนั้นความสุขที่แท้จริงนั้น จะรู้จักได้ต่อเมื่อเข้าถึงพุทธะรัตนะ ถึงพระธรรมกายที่ใสบริสุทธิ์ ใสเกินใส สวยเกินสวย งามไม่มีที่ติ อยู่ในกลางกายนั่นแหละ นั่นคือความสุขที่แท้จริง 

 


                ความรู้อะไรก็ตามที่เราร่ำเรียนมาในทางโลกตั้งแต่เกิดจนกระทั่งบัดนี้ ไม่มีความรู้อะไรที่จะยิ่งใหญ่เท่าความรู้ที่จะสอนตัวของเราเองให้เป็นคนดี เป็นคนมีศีลมีธรรม เป็นคนที่สมบูรณ์รู้แจ้งเห็นแจ้งแทงตลอดในชีวิต เข้าถึงความสุขที่เป็นอมตะ ที่ไม่มีความทุกข์เจือเลย นั่นแหละเป็นความรู้ที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไรจะมาเสมอเหมือนได้ ความรู้ชนิดนี้แหละเป็นความรู้ที่เราควรยึดควรเป็นที่พึ่ง เอาเป็นแบบแผนเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตของเรา ความรู้นี้จะเกิดขึ้นได้ เมื่อมีพระพุทธเจ้าท่านบังเกิดขึ้น ท่านประสบพบความรู้อันบริสุทธิ์นี้ด้วยตัวพระองค์เอง แล้วก็นำมาสั่งสอน ที่เราเรียกว่า ธรรมรัตนะนั้นแหละ ธรรมรัตนะความรู้อันบริสุทธิ์ถูกต้องดีงาม ที่จะทำให้เราพ้นจากความทุกข์เข้าถึงความสุขอมตะ ความรู้นี้จึงเป็นสรณะอันประเสริฐ

 


                เพราะฉะนั้นในฐานะเราเป็นชาวพุทธจะต้องทำความเลื่อมใสทั้ง ๓ อย่างนี้ให้ยิ่งกว่าความเลื่อมใสใด ๆ ทั้งสิ้นในโลก เราจะต้องทำความรู้จักให้แจ่มแจ้งให้ซาบซึ้ง พยายามหมั่นตรึกนึกระลึกนึกถึงอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะนั่ง จะนอน จะยืน จะเดิน หรือจะทำภารกิจอะไรก็ตามอย่าให้ใจนั้นห่างจากรัตนะทั้ง ๓ ทีนี้สำหรับผู้ที่ยังเข้าไม่ถึงรัตนะทั้ง ๓ นั้นจะทำอย่างไร เราก็อยู่ในระดับที่เราขอถึง ขอถึงรัตนะทั้ง ๓ คือ หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นคิดให้ใจนั้นวนเวียนอยู่กับพระรัตนตรัยอย่างนี้นี่เรียกว่าขอถึง ขอถึงบ่อย ๆ หนักเข้าก็จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ภายในตัวได้สักวันหนึ่ง จะเข้าถึงรัตนะทั้ง ๓ ที่เป็นทางลัดที่สุดนั้น มีวิธีอยู่วิธีหนึ่งคือ การวางใจให้หยุดนิ่งอยู่ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ให้เอาใจของเราน่ะมาหยุดมานิ่งอยู่ที่ตรงนี้ 

 


                ความเห็นความจำ ความคิด ความรู้ สี่อย่างรวมหยุดเป็น จุดเดียวกันไม่ส่งใจไปที่อื่นเลย ให้มองเห็นสิ่งอื่น ส่งใจไปก็ไม่มีประโยชน์ ไม่มีสาระไม่มีแก่นสาร ใจเอามาหยุดอยู่ที่ตรงนี้ หยุดที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หยุดแล้วก็หมั่นตรึก หมั่นนึก หมั่นวางใจนิ่ง ๆ ไว้อยู่ที่ตรงนี้เรื่อย ๆ โดยกำหนดบริกรรมนิมิตขึ้นมา เอาไว้เป็นที่ยึดที่เกาะของใจเรา คือนึกถึงดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์หรือเพชรสักเม็ดหนึ่งน่ะ เพชรลูกสักเม็ดหนึ่งที่ใสบริสุทธิ์กลมรอบตัว โตเท่ากับแก้วตาของเรา นึกถึงภาพดวงแก้วที่ใสเหมือนกับเพชร นึกแล้วก็ค่อย ๆ ทำความรู้สึกว่าเพชรเม็ดนี้เนี่ยะ วางอยู่ที่กลางท้องของเรา ในระดับที่เหนือจากสะดือขึ้นมา๒ นิ้วมือ สำหรับท่านที่มาใหม่อาจจะยังไม่เข้าใจก็ให้สมมุติว่าเราหยิบเส้นเชือกขึ้นมา ๒ เส้น นำมาขึงให้ตึง เส้นหนึ่งขึงจากสะดือทะลุไปด้านหลัง อีกเส้นหนึ่งขึงจากด้านขวาทะลุไปด้านซ้ายให้เส้นเชือกทั้ง ๒ ตัดกันเป็นกากบาท จุดตัดเล็กเท่ากับปลายเข็ม เหนือจุดตัดนี้ขึ้นมา ๒ นิ้วมือถึงจะเรียกว่าศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ตรงนี้แหละ เราจะต้องนึกวาง วางใจของเราน่ะ คือเอาใจของเรามานึกคิดตรงนี้ 

 

 

                พร้อมกับนึกถึงความใสของเพชรลูกที่เจียระไนแล้วไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ให้นึกอย่างสบาย ๆ คล้าย ๆ เรานึกถึงภาพดอกกุหลาบ ดอกบัว น้ำที่กลิ้งอยู่บนใบบัว หรือน้ำค้างปลายยอดหญ้า ให้นึกอย่างสบาย ๆ อย่างนั้น ทำความรู้สึกของเราให้เบา ๆ ให้สบาย ๆ ใหม่ ๆ ในการนึกถึงบริกรรมนิมิต ที่เป็นดวงแก้วใส ๆ นี้เราอาจจะยังนึกได้ไม่ชัดเจน เพราะว่ายังเป็นของใหม่สำหรับเราซึ่งพึ่งจะเริ่มต้น ก็ขอให้หมั่นนึกบ่อย ๆ เราจะต้องยอมรับว่า เราไม่เคยนึกมาก่อนเลย หรือนาน ๆ นึกทีหนึ่งเนี้ยะ จู่ ๆ จะให้ชัดเจนเหมือนนึกทุก ๆ วันเนี่ยะ มันคงเป็นไปได้ยาก ยกเว้นบางท่านซึ่งสั่งสมความนึกคิดนี้ มาจากภพในอดีตมาถึงปัจจุบัน สิ่งที่เคยทำบ่อย ๆ นั้นก็เกิดความคุ้นเคย เกิดความชำนาญก็นึกได้ง่าย แต่จำนวนท่านที่นึกได้ง่ายอย่างนี้น่ะมีไม่มาก ส่วนใหญ่แล้วร้อยละ ๕๐ จะนึก ใหม่ ๆ นั้นจะนึกไม่ค่อยได้ เราต้องยอมรับว่านี่เป็นของธรรมดา สำหรับเราซึ่งเพิ่งเริ่มที่จะนึก ถึงตอนนี้เราจะต้องทำใจเย็น ๆ 

 

 

                โดยค่อย ๆ นึกถึงดวงแก้วที่ใสบริสุทธิ์ ประดุจเพชรลูกที่เจียระไนแล้ว ไม่มีขนแมว โตเท่ากับแก้วตา ต้องค่อย ๆ นึกนะจ๊ะ ค่อย ๆ นึกไปอย่างสบาย ๆ อย่าให้สูญเสียความสบายหรืออารมณ์เย็นในการที่เราจะค่อย ๆ นึก ทำยากสักนิดหนึ่ง สำหรับผู้ที่อารมณ์จิตยังหยาบ มีความคุ้นเคยกับทางโลกที่อยากจะได้อะไรก็ให้ได้ดังใจให้ได้เร็ว ๆ มักจะตั้งใจเป็นพิเศษในการนึกคิดถึงดวงแก้ว เมื่อเอาวิธีการทางโลกมาใช้ในการนึกคิด ดวงแก้วซึ่งเป็นของละเอียด จึงไม่ประสบความสำเร็จไม่ได้ผลแล้วก็จะเกิดการท้อแท้เบื่อหน่ายในการนั่ง ที่เป็นอย่างนี้เพราะว่าทำไม่ถูกวิธี แต่ถ้าทำถูกวิธีอย่างที่หลวงพ่อแนะ คือยอมรับว่าเรายังไม่คุ้นเคยต่อการนึกคิด เราจะต้องให้เวลากับตัวของเราเอง กับใจของเราเอง ในการทำความคุ้นเคยกับบริกรรมนิมิต ดวงแก้วใสบริสุทธิ์เหมือนเพชรนี้ โดยให้เวลากับตัวเองทุก ๆ วัน อย่างสม่ำเสมอ ให้บ่อย ๆ

 

 

                พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ภาวิตา ภาหุลีกตา นึกบ่อย ๆ คิดบ่อย ๆ ทำเนือง ๆ นั่งนึก ยืนนึก เดินนึก นึกไปเรื่อย ๆ นอนก็นึกไป จะทำภาระกิจอันใดก็แล้วแต่มีเวลาว่างเป็นนึก ให้โอกาสแก่ตัวเองในการปรับใจที่จะทำความคุ้นเคยกับบริกรรมนิมิต ดวงแก้วใสบริสุทธิ์เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า ภาพนั้นก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมาในใจเราทีละเล็กทีละน้อย จากลัว ๆ ลาง ๆ จากมืด ๆ ค่ำ ๆ คุ้ม ๆ ค่ำ ๆ ก็ค่อย ๆ ลัว ๆ ลาง ๆ พอกําหนดได้ว่ามันมีวัตถุอยู่ภายใน จากลัว ๆ ลาง ๆ ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นชัดขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่ากับเวลาที่เราให้ความคุ้นเคยกับการวางใจตรงกลาง พูดง่าย ๆ คือต้องมีชั่วโมงกลาง ต้องมีชั่วโมงวางใจตรงกลาง ให้มาก ๆ เหมือนชั่วโมงบินของนักบินอย่างนั้น มีชั่วโมงกลางมีชั่วโมงวางใจ นึกถึงบริกรรมนิมิตบ่อย ๆ ในทุกอิริยาบถเมื่อทำได้อย่างนี้ สักวันหนึ่งพอใจเราคุ้นกับที่ศูนย์กลางกาย ไม่ช้าความสมหวังก็จะเกิดขึ้น นิมิตในตอนแรก ๆ ที่เรานึกไม่ออก ก็จะชัดเจนจนกระทั่งเรายอมรับว่า นี่คือการเห็นทางใจ เช่นเดียวกับการเห็นวัตถุภายนอกด้วยตาเนื้อ มันจะมีความชัดเจนจริง ๆ เหมือนลืมตาเห็นวัตถุภายนอก จนกระทั่งชัดเจนยิ่งกว่าตาเห็นคือ ปกติตาเห็นวัตถุภายนอกนั้นน่ะ  

 

 

                พระพุทธเจ้าท่านใช้คำว่า ภาวิตา ราหุลีกตา นึกบ่อย ๆ คิดบ่อย ๆ ทำเนือง ๆ นั่งนึก ยืนนึก เดินนึก นึกไปเรื่อย ๆ นอนก็นึกไป จะทำภาระกิจอันใดก็แล้วแต่มีเวลาว่างเป็นนึก ให้โอกาสแก่ตัวเองในการปรับใจที่จะทำความคุ้นเคยกับบริกรรมนิมิต ดวงแก้วใสบริสุทธิ์เพราะฉะนั้นเมื่อเราทำอย่างนี้บ่อย ๆ เข้า ภาพนั้นก็จะค่อย ๆ ปรากฏขึ้นมาในใจเราทีละเล็กทีละน้อย จากลัว ๆ ลาง ๆ จากมืด ๆ ค่ำ ๆ คุ้ม ๆ ค่ำ ๆ ก็ค่อย ๆ ลัว ๆ ลาง ๆ พอกําหนดได้ว่ามันมีวัตถุอยู่ภายใน จากลัว ๆ ลาง ๆ ก็ค่อย ๆ ชัดเจนขึ้นชัดขึ้นไปเรื่อย ๆ เท่ากับเวลาที่เราให้ความคุ้นเคยกับการวางใจตรงกลาง พูดง่าย ๆ คือต้องมีชั่วโมงกลาง ต้องมีชั่วโมงวางใจตรงกลาง ให้มาก ๆ เหมือนชั่วโมงบินของนักบินอย่างนั้น มีชั่วโมงกลางมีชั่วโมงวางใจนึกถึงบริกรรมนิมิตบ่อย ๆ ในทุกอิริยาบถเมื่อทำได้อย่างนี้ สักวันหนึ่งพอใจเราคุ้นกับที่ศูนย์กลางกาย ไม่ช้าความสมหวังก็จะเกิดขึ้น นิมิตในตอนแรก ๆ ที่เรานึกไม่ออก ก็จะชัดเจนจนกระทั่งเรายอมรับว่า นี่คือการเห็นทางใจเช่นเดียวกับการเห็นวัตถุภายนอกด้วยตาเนื้อ มันจะมีความชัดเจนจริง ๆ เหมือนลืมตาเห็นวัตถุภายนอก จนกระทั่งชัดเจนยิ่งกว่าตาเห็น คือปกติตาเห็นวัตถุภายนอกนั้นน่ะ   

 

 

                มันก็เห็นได้ชัดเท่าที่ขอบเขตของตาเนื้อจะมองเห็น แต่คำว่ายิ่งกว่าลืมตาเห็นนั้น มันคล้าย ๆ กับเราเอากล้อง แว่นกล้องเป็นพิเศษที่มีกำลังขยายมาก ๆ ส่องดูวัตถุ ขยายมากเท่าไหร่ก็จะเห็นความชัดเจนของวัตถุนั้นมากขึ้น นี่คือคำที่ ที่มาของคำว่า ยิ่งกว่าลืมตาเห็น นี่คือความอัศจรรย์ที่จะเกิดขึ้นกับตัวของเราเอง เมื่อเราสามารถทำได้ถึงขนาดนี้ ทันทีที่ภาพนิมิตปรากฏชัดยิ่งกว่าลืมตาเห็นความสุขทั้งหลายก็พรั่งพรูเข้ามาในตัวของเราเหมือนเราไปเปิดก๊อกแห่งความสุขนั้นน่ะ จนกระทั่งพอเราเปิดถูกส่วนก็อกแห่งความสุขก็ไขความสุข พรั่งพรูเข้ามา ความสุขนั้นก็จะขยายไปทุกอนูทุกเซลของร่างกายเรา ทุกขุมทุกขน จะสัมผัสความสุขได้หมดมันจะเกิดปีติเกิดความปราโมทย์ใจ กายเบาใจเบา กายที่นั่งหนัก ๆ จะมีความรู้สึกเหมือนไร้น้ำหนัก ฟองเบาคล้าย ๆ กับลอยอยู่ในอากาศ กายที่หนา ๆ ก็จะบางจนกระทั่ง ละเอียดเท่ากับอากาศ เข้ากับบรรยากาศโดยรอบตัว กระทั่งเรามีความรู้สึกว่าเราไม่มีตัวตน ไม่มีร่างกาย ใจนั่นจะบริสุทธิ์อย่างที่เราไม่เคยบริสุทธิ์มาก่อน 

 

 


                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ เอาล่ะต่อจากนี้ไปให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เอาใจหยุด ๆ ที่ตรงเนี้ยะ อย่าส่งใจไปที่ตรงอื่นนะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ ให้ท่านที่มาใหม่ นึกวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้นึกถึงดวงใสตรึกนึกถึงดวงใส หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส อย่างเบา ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนึกถึงดวงใสควบคู่กันไปด้วย สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ควบคู่กันไปนะจ๊ะ เราจะภาวนาสัมมาอะระหังอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดความรู้สึก ๆ ว่าไม่อยากจะภาวนา อยากจะวางใจนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่กลางกาย 

 

 

                เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้ เอาล่ะต่อจากนี้ไปให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจ สัมมาอะระหัง ๆ ๆ เอาใจหยุด ๆ ที่ตรงเนี้ยะ อย่าส่งใจไปที่ตรงอื่นนะจ๊ะ ต่างคนต่างทำกันไปเงียบ ๆ นะ ให้ท่านที่มาใหม่ นึกวางใจไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ที่เหนือจากจุดตัดของเส้นเชือกทั้ง ๒ ขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ให้นึกถึงดวงใส ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดเข้าไปที่จุดกึ่งกลางของความใส อย่างเบา ๆ อย่างสบาย ๆ ใจเย็น ๆ พร้อมกับประกอบบริกรรมภาวนา สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ภาวนาสัมมาอะระหังไปเรื่อย ๆ พร้อมกับนึกถึงดวงใสควบคู่กันไปด้วย สัมมาอะระหัง ๆ ๆ ควบคู่กันไปนะจ๊ะ เราจะภาวนาสัมมาอะระหังอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะเกิดความรู้สึก ๆ ว่าไม่อยากจะภาวนา อยากจะวางใจนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่กลางกาย 

 


                เพราะวางใจนิ่งเฉย ๆ อยู่ที่กลางกายโดยไม่ภาวนานี่น่ะรู้สึกว่ามันสบายกว่าน่าพอใจกว่า ถ้าความรู้สึกชนิดนี้เกิดขึ้นเราก็หยุดคำภาวนาสัมมาอะระหัง ไม่ใช่ภาวนาเรื่อยเปื่อยไปน่ะ ก็ต้องให้รู้ว่าภาวนาไปจนกว่าจะหมดความจำเป็น คือในสภาวะตอนช่วงนั้นใจ อยากจะอยู่เฉย ๆ ไม่อยากนึกไม่อยากคิดอะไรทั้งสิ้น กระทั่งคำภาวนาและความคิดอื่นก็ไม่เข้ามาแทรกใจวางนิ่งเฉย ๆ อยู่ในกลางกายตอนนี้ปรากฏการณ์อะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นอย่าไปฝืนนะจ๊ะ ปล่อยให้มันเป็นไปตามธรรมชาติอย่าฝืน อย่าไปกลัวปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่มีอันตรายอันใดทั้งสิ้น จะมีแต่จะดีอย่างเดียว เช่น บางคนมีความรู้สึกว่าตัวโยกตัวโคลง ตัวเบาเหมือนจะเหาะจะลอยน่ะ ตัวขยายใหญ่เต็มศาลา ตัวยึดสูงขึ้นไปเลยกระทั่งติดหลังคาน่ะ หรือย่อลงมาติดพื้น หรือหล่นวูบวาบเหมือนตกจากที่สูง ขนลุกซู่ซ่าบ้าง น้ำหูน้ำตาไหลบ้าง หรืออะไรที่นอกเหนือจากนี้

 


                อย่าไปฝืนอาการเหล่านั้นนะจ๊ะ ปล่อยมันไปตามธรรมชาติ อย่าไปกลัว ไม่มีอันตรายอะไร อย่าไปตื่นเต้นกับสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ เพราะว่ามันเป็นของธรรมดา เมื่อสภาวะจิตเราฝึกมาถึงขนาดนี้มันเดินทางมาถึงตรงนี้ มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ มันก็ธรรมดาจงปล่อยมันไปตามธรรมชาติ พอถึงเวลามันหยุดของมันเอง มันก็จะทิ้งอาการเหล่านั้นของมันไปเอง เมื่อมันถึงฝั่งของศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ แล้ว ถึงฝั่งของปฐมมรรคแล้ว มันก็จะหยุดเองอาการเหล่านั้น จะโยกจะโคลงก็หยุด จะหล่นจากที่สูงก็หยุดหมด อาการยืดอาการย่อ อาการขยายก็จะหยุดหมด มันหยุดของมันเอง เรามีหน้าที่วางใจเฉย ๆ อย่างเดียว ปล่อยมันลงไป บางครั้งแสงสว่างเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความตื่นเต้นมั่งน่าปิติมั่งตกใจมั่ง สิ่งที่เราควรทำคือทำเฉย ๆ ดูเฉย ๆ นึกว่ามันเป็นสิ่งธรรมดาที่จะต้องเกิดขึ้น เมื่อเราฝึกมาถึงตรงนี้ เข้าถึงจุดนี้มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราก็เฉย ๆ พอถึงเวลามันก็หยุดเองพอหยุดถูกส่วนเข้าเท่านั้นน่ะ หยุดถูกส่วนเนี่ยะ มันหยุดจริง ๆ นะหยุดนิ่งเลย จะรู้จักเมื่อเราเข้าถึง ถ้ายังเข้าไม่ถึงก็ไม่รู้จัก แต่พอถูกส่วนแล้ว อาการอย่างอื่นมันหมดไปเลย ไม่มีเหลือ เกลี้ยงเลย ก็จะเห็นดวงใสเนี่ยะ จะเห็นดวงใสเกิดขึ้นมาในกลางนั้นน่ะนั่นแหละถูกส่วนแล้ว   

 


                         เห็นดวงใสลอยเกิดขึ้นมาจากกลางกาย อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางก็ขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ก็ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน เกิดขึ้นมาในกลางกายใสแจ่ม งาม ไม่มีที่ติทีเดียว พอเกิดขึ้นมาแล้วเราควรจะทำอย่างไร ก็มองดูไปเฉย ๆ ไม่ต้องไปตื่นเต้น ไม่ต้องไปยินดี ไม่ต้องไปเอ๊ะ ไปอ๊ะ อะไรดูเฉย ๆ วางสบาย ๆ เป็นของธรรมดา ถ้าใจเราหยุดถูกส่วน พอเหมาะพอดี มันก็ต้องเป็นอย่างนี้ เราก็ดูไปเฉย ๆ แล้วไม่ต้องไปลุ้น เข้ากลางไม่ต้องไปลุ้นอะไรทั้งนั้นน่ะ ดูเฉย ๆ พอถูกส่วนเข้า ปฐมมรรคจะขยายส่วนกว้างออกไป ขยายกว้างออกไปจะเปิดเผยถึงความรู้อันบริสุทธิ์ที่เราไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อน คือเข้าถึงดวงธรรมต่าง ๆ น่ะ และก็เข้าไปถึงกายภายใน จะเห็นกายในกายต่าง ๆ ตอนนี้เริ่มสนุกแล้ว เห็นกายภายในยิ่งสนุก มีความรู้สึกว่านั่งเท่าไรก็ไม่อิ่ม ไม่เบื่อ ไม่ปวดไม่เมื่อย บุญบันเทิงเริ่มเกิดขึ้นแล้วเมื่อถึงในยามนี้ เพราะฉะนั้นเบื้องต้นทำให้ถูกวิธีซะก่อน 

 


                เมื่อเราทำถูกวิธีในเบื้องต้นแล้ว ท่ามกลางและเบื้องปลายก็ง่าย ให้จำเอาไว้นะจ๊ะ เมื่อเราเข้าใจอย่างนี้เอาล่ะ ต่อจากนี้ไปให้ตรึกนึกถึงดวงใส หยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ พร้อมกับภาวนาในใจสัมมาอะระหัง ๆ ๆ เอาใจหยุดอยู่ที่ตรงเนี้ยะ อย่าส่งใจไปที่อื่นนะจ๊ะ ต่างคนต่างทำไปเงียบ ๆ นะ คราวนี้เราก็เอาใจของเราหยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ท่านที่มาใหม่ก็ตรึกนึกดวงใสเอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของความใสบริสุทธิ์ ของบริกรรมนิมิต ท่านที่เข้าถึงปฐมมรรค เคยเห็นดวงธรรมนั้นชัด ใส แจ่ม บริสุทธิ์ อย่างเล็กขนาดดวงดาวในอากาศ อย่างกลางขนาดพระจันทร์ในคืนวันเพ็ญ อย่างใหญ่ขนาดพระอาทิตย์ตอนเที่ยงวันก็ให้เอาใจหยุดไปที่จุดกึ่งกลางของปฐมมรรค ให้หยุดในหยุด นิ่งในนิ่งลงไปนะ ให้ชัดให้ใส บริสุทธิ์ทีเดียว ท่านที่เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดเห็นตัวเองอยู่ในกลางกาย นั่งขัดสมาธิ หันหน้าออกไปทางเดียวกับเรา ก็เอาใจหยุดในหยุด ๆ ลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายมนุษย์ละเอียด ให้ชัดให้ใสให้บริสุทธิ์ เห็นชัดเจนแจ่มใสทีเดียวนะ จนกระทั่งเข้าไปเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายมนุษย์ละเอียด 

 


                ท่านที่เข้าถึงกายทิพย์ เห็นกายทิพย์สวยงามมาก มีเครื่องประดับประดาพร้อมงามไม่มีที่ติ งามแบบกายทิพย์ ก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายทิพย์ ให้หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง ลงไปตรงกลางนั้น และก็ทำให้ชำนาญ ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับกายทิพย์ ท่านที่เข้าถึงกายรูปพรหมก็เอาใจหยุดไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายรูปพรหมให้ใจหยุดในหยุด นิ่งในนิ่ง ตรงกลางของกายรูปพรหมให้ชัดใสบริสุทธิ์ทีเดียว ท่านที่เข้าถึงกายอรูปพรหม ก็เอาใจให้หยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหมวางเบา ๆ นะจ๊ะ ให้หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่งลงไปในกลางนั้น ฐานที่ ๗ ของกายอรูปพรหม วางใจอย่างสบาย ๆ ท่านที่เข้าถึงกายธรรมก็เอาใจหยุดลงไปที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ ของกายธรรม หยุดในหยุด ๆ นิ่งในนิ่ง วางใจเบา ๆ นะ ทุกคน วางใจเบา ๆ มองให้ชัด มองให้ใสบริสุทธิ์อย่างสบาย ๆ อย่าลืมคำนี้น่ะ มองให้ใส มองให้ชัดอย่างสบาย ๆ 

 


                ถ้ามีความรู้สึกว่าไม่สบายในการมอง ก็ให้เปลี่ยนปรับวิธีใหม่จนกว่าจะได้อารมณ์ที่สบาย ๆ อารมณ์สบาย คืออารมณ์ที่พอเหมาะพอดี ไม่ตั้งใจเกินไปโดยใช้กำลังของกล้ามเนื้อ หรือกดลูกนัยน์ตาลง มันสบาย อารมณ์มันสบาย ๆ เฉย ๆ นั่นแหละอารมณ์ที่ถูกต้องวิธีการที่ถูกต้อง ที่นี้เรามองให้ชัดใครที่สามารถมองเห็นได้ทุก ๆ กาย ดังกล่าวแล้ว กายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม กายธรรม แล้วก็กายธรรมในกายธรรม ก็มองทีเดียวให้ตลอดใครสามารถเข้ากลางได้ก็ปล่อยเข้ากลางอย่างสบาย ๆ ตัวมันจะค่อย ๆ เลื่อนไป อย่างสบาย ๆ บางคนก็เลื่อนไปในกายนั้น บางคนก็อยู่นิ่ง ๆ แล้วองค์พระหรือกายต่าง ๆ สวนขึ้นมา อย่างใดอย่างหนึ่งในสองอย่างใช้ได้ทั้งนั้นนะ วางไปตรงกลางสบาย ๆ หัดทำใจให้สบาย ๆ เนี่ยะให้เป็น เดี๋ยวจะเห็นภาพ จะเห็นความอัศจรรย์ทีเดียววางสบาย ๆ ไม่สนใจข้างนอก ให้สนใจแต่ข้างในพระพุทธเจ้าพระอรหันต์ ท่านก็วางอารมณ์อย่างนี้แหละ 

 


                โดยท่านปล่อยวางอารมณ์ภายนอกซึ่งท่าน พิจารณาอยู่เสมอทุกวันว่าสรรพสัตว์ สรรพสิ่งทั้งหลาย จะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ เป็นเหตุการณ์เป็นเรื่องราวอะไร ต่าง ๆ ล้วนแต่ไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นมาก็ตั้งอยู่ได้ชั่วคราว แล้วก็เสื่อมสลายไปในที่สุดไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่ของจังอะไรทั้งนั้นน่ะ ท่านพิจารณาอย่างนี้คือนึกคิดอย่างนี้บ่อย ๆ จนกระทั่งเกิดความเบื่อหน่าย พอเข้าใจซาบซึ้งแจ่มแจ้งแล้วก็เบื่อหน่าย พอเบื่อหน่ายมันก็ปล่อยวางอารมณ์ที่เคยนึก จิตก็หลุดพ้นจากความนึกคิดเหล่านั้น เมื่อจิตหลุดพ้นก็กลับเข้ามาสู่กลางกาย บริสุทธิ์ ตั้งมั่นทีเดียว เห็นความบริสุทธิ์ ตั้งแต่ปฐมมรรคเรื่อยไปเลย และก็เห็นความบริสุทธิ์ยิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ ความบริสุทธิ์ในปฐมมรรค ในศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ ความบริสุทธิ์ของกายมนุษย์ละเอียด กายทิพย์ พรหม อรูปพรหม ความบริสุทธิ์ของกายธรรม และก็กายธรรมในกายธรรมนี้ปล่อยเข้าไปเรื่อย ๆ 

 


                เข้าถึงกายมนุษย์ละเอียดกายทิพย์ กายพรหม กายอรูปพรหม เรียกว่าฌานลาภีบุคคล บุคคลผู้มีฌานสมาบัติเป็นอารมณ์ พอเข้าถึงกายธรรมโคตรภู ก็เรียกว่า โคตรภูบุคคล มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง ที่ระลึก ที่เรียกว่าถึงไตรสรณคมน์ ที่พระเจ้าพิมพิสาร ๑๒ ส่วนน่ะ ฟังธรรมพระพุทธเจ้า ๑๑ ส่วนเป็นพระอริยะบุคคล อีก ๑ ส่วเป็นผู้เข้าถึงไตรสรณคมน์ก็คือผู้เข้าถึงธรรมกายโคตรภูนี่เอง เป็นโคตรภูบุคคล ถ้าเข้าถึงกายธรรมพระโสดาก็เป็นพระโสดาบันเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เข้าถึงกายธรรมพระสกิทาคามี เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันละกิเลสได้ไปตามลำดับ จะเป็นพระสกิทาคามีบุคคล เข้าถึงพระอนาคามีก็เป็นพระอนาคามีบุคคล ละกิเลสไปเรื่อย ๆ เข้าถึงกายธรรมอรหัตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กิเลสหมดสิ้นไปก็เป็นพระอรหันต์ ถ้าสูงขึ้นไปละเอียดขึ้นไปก็เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นกายธรรมก็ละเอียดขึ้นไปเรื่อย โตใหญ่ขึ้นไปเรื่อย ๆ นี่ท่านเดินอย่างนี้ 

 


                เดินจิตอย่างนี้ ปล่อยวางจิตอย่างนี้ เข้าไปตามลำดับกายในกายเข้าไปเรื่อย ๆ เป้าหมายก็คือกายธรรมอรหัตที่หมดกิเลสหมดอาสวะ กิเลสไม่เข้าไปเจือปนในนั้นเลย ความโลภ ความโกรธความหลงกิเลสทั้ง ๓ ตระกูลนี้หมดสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ เศษก็ไม่มีเหลือเลยแวบเดียวหายหมด กายธรรมอรหันต์ก็ขยายส่วนกว้าง หน้าตัก ๒๐ วา สูง ๒๐ วา ใสเป็นแก้ว งามไม่มีที่ติ ใจท่านบริสุทธิ์หมด กิเลสอาสวะไม่มีครอบงำเลย สว่างตลอดยิ่งกว่าดวงอาทิตย์ตอนเที่ยงวัน สุขที่เกิดจากการหลุดพ้นที่เรียกว่า วิมุตติสุขก็พรั่งพรูมาท่วมท้น มีความสุขจนกระทั่งเปล่งอุทานว่าสุขจริงหนอ ๆ น่ะ เข้าถึงอย่างนี้ พระพุทธเจ้าพระอรหันต์เดินอย่างนี้นะ เดินกลางของกลางไป เมื่อพิจารณาว่าชีวิตตั้งแต่เกิดมาพื้นฐานนั้นมีแต่ความทุกข์ และสรรพสัตว์สรรพสิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นตั้งอยู่ เสื่อมสลายมันวกวน ๆ เวียน ๆ อย่างนี้แหละ 

 


                คิดบ่อย ๆ ก็เบื่อหน่าย พอซาบซึ้งกับแจ่มแจ้งก็เบื่อหน่าย เบื่อหน่ายก็คลายความกำหนัด พอคลายความกำหนัด ปล่อยวาง จิตก็หลุดพ้น หลุดพ้นก็บริสุทธิ์ บริสุทธิ์ก็เข้ากลางเรื่อยไปเลยตลอดนี้ ชีวิตมีแต่การเข้ากลาง กลางของกลางนั่งทีเดียว ๓ วัน ๓ คืนไม่ถอนถอยเลย เข้าแต่กลางของกลางอย่างเดียว กายธรรมอรหันต์เข้ากลางของกลางไปเรื่อย ๓ วัน ๓ คืนที่เรียกว่าเข้านิโรธสมาบัติเนี่ยะเข้ากลางนั้น ดับหยาบไปหาละเอียดไปเรื่อยเลย เสวยสุขที่เกิดจากการเข้านิโรธสมาบัติ สุขอยู่ในนั้น พอครบ 7 วันก็ถอยออกมาเลย มาอยู่ในกายธรรมอรหัต มีความสุข กระแสธารแห่งบุญก็เต็มเปี่ยม ใครได้ทำบุญกับท่านในตอนนั้น บุญก็ทะลัก กระแสบุญก็ทะลักจากตัวท่านถึงศูนย์กลางกายของบุคคลนั้น ได้ผลบุญเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็นทีเดียว นี่ท่านเข้าอย่างนี้นะ 

 


                แล้วปล่อยกายเข้าไปสู่อายตนนิพพาน กลางของกลางเข้าไป ถึงอนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานถอดกายซึ่งมีแต่ธรรมกายล้วน ๆ สว่างไสวอยู่ในนั้นน่ะ เต็มไปหมดเลยมีแต่ธรรมกายทั้งนั้นอย่างอื่นไม่มี มีแต่ธรรมกายสว่างไสว นั่งเข้านิโรธสมาบัติ สงบนิ่ง ที่เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าก็มีสาวกล้อมรอบเต็มหมด ที่เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าก็ไม่มีสาวก อยู่องค์เดียวโดด ๆ และก็ถอยห่างกันออกไปน่ะ แล้วแต่บารมี องค์ไหนมากก็อยู่ตรงกลางองค์ไหนน้อยก็ขยับเขยื้อน ถอยห่างออกไป จนกระทั่งสุดอายตนนิพพาน มีพระพุทธเจ้านับพระองค์ไม่ถ้วนทีเดียว วันนี้เราจะบูชาข้าวพระอย่างนี้แหละ เอาของเครื่องไทยธรรมหยาบ กลั่นเป็นของละเอียดไปถวาย พอเราถวายทานขาดจากใจนะ ปุญญาภิสันธา ท่อธารแห่งบุญก็บังเกิดขึ้นที่ศูนย์กลางกายของเรานะ 

 


                กระแสธารแห่ง บุญจากพระพุทธเจ้าก็ถึงศูนย์กลางกายเรา และกราบทูลพระพุทธเจ้าขอบุญบารมีรัศมีกำลังฤทธิ์ อำนาจสิทธิจากพระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ว่าข้าพระองค์ทั้งหลายยังเป็นคนยากมีบุญบารมีน้อย นำเครื่องไทยธรรมเป็นธรรมบรรณาการถวายแด่พระองค์ท่านเพื่อหวังประโยชน์และความสุข และมรรคผล นิพพาน ขอกระแสธารแห่งบุญจากพระผู้มีพระภาคเจ้าทุก ๆ พระองค์ให้หลั่งไหลมาที่ศูนย์กลางกายของพวกข้าพระองค์ทั้งหลาย ขจัดทุกข์ ขจัดโศก ขจัดโรค ขจัดภัยสรรพเคราะห์เสนียดจัญไรต่าง ๆ ละลายหายสูญให้หมด ให้มีแต่ความสุขมีแต่ความเจริญมีแต่ความสำเร็จในชีวิต ให้ได้ผลบุญในปัจจุบันทันตาเห็น ให้มีธาตุธรรมที่สะอาดบริสุทธิ์จิตใจเบิกบานแจ่มใสสว่างไสว มีสติมีปัญญาเฉลียวฉลาดแตกฉาน แทงตลอดทั้งทางโลกทางธรรม ร่างกายแข็งแรงอย่าได้เจ็บ อย่าได้ป่วย อย่าได้ไข้ ให้อายุยืนยาว สร้างบารมีไปนาน ๆ ผิวพรรณวรรณผ่องใส มีความสุขกายสุขใจกำลังใจที่เข้มแข็งกำลังกายกำลังใจที่เข้มแข็ง ปฏิภาณความเฉลียวฉลาดให้บังเกิดขึ้น พวกพ้องบริวารก็ซื่อสัตย์สุจริต บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ให้เข้าใกล้ ให้มีสายสมบัติ ที่จะมาสร้างบารมีไม่รู้จักหมด ไม่รู้จักสิ้น 

 


                สมบัติเมื่อบังเกิดขึ้นกับพวกข้าพระองค์อย่าได้มีข้อแม้ อย่าได้มีเงื่อนไข ไม่ว่าสถานการณ์ของโลกจะเป็นอย่างไรก็ตาม ให้กระแสธารแห่งบุญ ที่บังเกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระ และจากวันมาฆบูชาที่คุณยายเป็นประธานใหญ่ ให้บุญนั้นถึงแก่ทุก ๆ คนเลยตั้งแต่ประธานรองทุกท่าน ประธานกองย่อย คณะกรรมการและก็ผู้มาร่วมงานบุญ ไม่ว่าเค้าจะทำบุญมากบุญน้อยเท่าไหร่ขอให้ได้มีผลบุญอัศจรรย์ทันตาเห็น ที่เค้าปรารถนาในสิ่งไรก็ตาม ที่เป็นสัมมาทิฐิ ที่ถูกที่ควรที่ชอบก็ให้สำเร็จเป็นอัศจรรย์ทันตาเห็น อย่าได้มีอุปสรรคอันใดเกิดขึ้น ให้คุณยายทับทวีบุญพวกเราก็อธิษฐานจิตให้ดีนะ นึกถึงบุญที่เกิดขึ้นจากการบูชาข้าวพระ และบุญที่เกิดขึ้นจากการทอดผ้าป่าวันมาฆบูชา เพราะกระแสธารแห่งบุญจะหลั่งไหลต่อเนื่องกันอยู่ให้นึกกันเอาไว้ให้สำเร็จ ๆ ๆ ในทุกเรื่องที่เราปรารถนา 

 


                ให้ได้บรรลุมรรคผลนิพพานให้ได้เข้าถึงวิชชาธรรมกายให้จิตใจอย่าได้หวั่นไหว ในการสร้างความดี กำลังกาย กำลังใจเข้มแข็งไม่หวั่นไหว ทำความดีเรื่อยไป แล้วคุณยายก็ทับทวีอาหารทิพย์เนี่ยะ มาแจกจ่ายแก่ชาวสวรรค์ทั้งหลาย ให้ทั่วถึงอย่างที่คุณยายเคยทำแล้วเอาไปไว้ที่วิมานของพวกเราทุกคน ละโลกไปแล้วเมื่อยังไปพระนิพพานไม่ได้ก็ต้องไปเสวยสุขอยู่ในสุคติภูมิ เป็นชาวสวรรค์ก็จะต้องมีอาหารทิพย์ของสวรรค์ เหมาะสมกับรูปทิพย์ของชาวสวรรค์เอาไปไว้ตามวิมานของพวกเราทุก ๆ คน ละโลกแล้วเนี่ยะ จะได้ไปเสวยสุขอยู่บนโน้น นั่งหลับตาทำภาวนาศึกษาวิชชาธรรมกายกันต่อไป เมื่อยังมีชีวิตอยู่ในโลกนี้ก็ให้มีสุข ให้เป็นนักสร้างบารมีที่ไม่มีท้อถอย ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นไม่คิดว่าสิ่งนั้นเป็นอุปสรรค คิดว่าสิ่งนั้นเป็นเครื่องช่วยเสริมให้มีกำลังใจกล้าแข็ง เข้มแข็งที่จะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปเรื่อย ๆ ให้คุณยายทับทวีไป คลุมบุญกันไป พวกเราได้ทั่วถึงหมดทุกคน ๆ เลย พวกเราก็อธิษฐานจิตตามใจชอบนะจ๊ะ คุณยายก็คลุมบุญไปเรื่อย ๆ  


 

 

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034254765510559 Mins