การตีความกับการเทศน์

วันที่ 06 กค. พ.ศ.2567

 

670706_b78.jpg

 

การตีความกับการเทศน์


                การเทศน์เป็นการเผยแผ่ศาสนาที่สำคัญและศักดิ์สิทธิ์กว่าวิธีการอื่น เพราะเป็นวิธีที่พระพุทธเจ้าทรงเลือกใช้ในการสั่งสอนผู้คนอันเป็นการเผยแผ่ธรรม และทรงปฏิบัติเช่นนี้ด้วยพระองค์เองมาโดยตลอดจนถึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน แม้จะทรงสั่งสอนด้วยวิธีอื่นบ้างก็น้อยครั้ง แสดงว่าทรงให้น้ำหนักแก่การเทศน์มากกว่าวิธีเผยแผ่ศาสนาแบบอื่น

 

                ที่เป็นดังนี้อาจวิเคราะห์ได้ว่าการเทศน์นั้นเป็นกิจกรรมที่จะดำรงพระศาสนาไว้ได้ ด้วยทำให้เกิดการฟังอย่างมีระบบ ผู้ฟังจะตั้งใจฟัง ฟังด้วยความเคารพ ด้วยเห็นว่าพระผู้เทศน์นั้นคือผู้แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงจัดที่นั่งเทศน์ที่เรียกว่าธรรมาสน์ให้อย่างสวยงามเหมือนเป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และในการเทศน์แต่ละครั้งเล่าจะมีผู้ฟังเป็นจำนวนมาก ทำให้ได้สมาชิกศาสนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทั้งการเทศน์ยังเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างศาสนิกคือภิกษุผู้เทศน์กับอุบาสกอุบาสิกาผู้ฟังด้วย เพราะต่างเห็นว่าอีกฝ่ายหนึ่งให้ความสำคัญแก่ตน คือฝ่ายผู้เทศน์ก็เห็นว่าผู้ฟังให้ความสนใจที่จะฟัง จึงพากันมาฟังจำนวนมาก ทำให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเทศน์ให้ดีที่สุด มีการเตรียมพร้อมก่อนที่จะเทศน์ เป็นต้น


               ฝ่ายผู้ฟังก็เห็นว่าผู้เทศน์ให้ความอนุเคราะห์ เสียสละศึกษาค้นคว้าข้อธรรมมาอธิบายขยายความให้ฟัง ทำให้เกิดปัญญา ทำให้ได้บุญได้อานิสงส์แห่งการฟังธรรม และได้ทำหน้าที่พุทธศาสนิกที่ดี จึงต่างก็มีไมตรีจิตต่อกัน และก็สมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้แสดงก็ได้ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรม ฝ่ายผู้ฟังก็ได้อานิสงส์แห่งการฟังธรรมเมื่อการเทศน์มีความสำคัญดังนี้ การเทศน์จึงยังเป็นที่นิยมของผู้คนอยู่ ผู้คนยังให้ความสำคัญกับการเทศน์ไม่ต่างจากอดีตเป็นแต่ว่าในที่บางแห่งทำกันพอเป็นพิธีหรือพอเป็นกิริยาบุญเท่านั้นทั้งนี้อาจเป็นเพราะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายลดบทบาทของตัวเองลง เช่น ฝ่ายผู้เทศน์ไม่พร้อมที่จะเทศน์บ้าง ไม่มีความรู้ที่จะเทศน์บ้าง ไม่ได้เตรียมการเทศน์ล่วงหน้าบ้าง ไม่มีความกระตือรือร้นในการเทศน์บ้าง ทำให้เทศน์แบบเสียไม่ได้ เทศน์พอให้เสร็จพิธีไปไม่ได้มุ่งให้เกิดศรัทธาและปัญญาแก่ผู้ฟังประการใด เป็นต้น

 

               ฝ่ายผู้ฟังเล่าก็ไม่พร้อมที่จะฟังบ้าง ไม่ศรัทธาในตัวผู้เทศน์บ้าง เคยฟังมาแล้วแต่ฟังไม่รู้เรื่องบ้าง ไม่ตรงกับความต้องการบ้าง ได้ฟังแต่เรื่องที่มีเนื้อหาไม่น่าสนใจบ้าง จึงทำให้เบื่อที่จะฟังเทศน์ ที่จำต้องฟังเพราะหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วยเป็นเจ้าของงานเองหรือถูกเชิญให้ไปร่วมงานก็ฟังไปพอเป็นพิธี พอให้ไม่น่าเกลียด ดังนี้เป็นต้น เมื่อเป็นดังนี้ความสำคัญของการเทศน์จึงลดความนิยมลง ทั้งที่ความสำคัญและศักดิ์สิทธิ์ของการเทศน์ยังมีอยู่และผู้คนอีกส่วนหนึ่งยังได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเทศน์อยู่
 

                การตีความย่อมมีบทบาทต่อการเทศน์ไม่น้อย เพราะการตีความเป็นการอธิบายขยายความข้อธรรมที่ผู้เทศน์ยกขึ้นมาแสดงให้แจ่มแจ้ง ทำให้ผู้ฟังเข้าใจเนื้อหาแห่งข้อธรรมนั้นอย่างชัดเจน และไม่เบื่อที่จะฟังธรรมในโอกาสต่อไป ด้วยว่าได้ฟังธรรมครั้งใดก็ได้ปัญญาได้ความรู้เพิ่มขึ้นทุกครั้ง ศรัทธาในการฟังธรรมก็พอกพูนมากขึ้นตามลำดับแท้ที่จริง การเทศน์นั้นก็คือการตีความนั่นเอง กล่าวคือการเทศน์นั้นนิยมยกพุทธศาสนสุภาษิตบทใดบทหนึ่งหรือข้อความธรรมตอนใดตอนหนึ่งขึ้นมาเป็นบทตั้ง ซึ่งมีชื่อเรียกในวิธีการเทศน์ว่า“อุเทศ” หรือ “นิกเขปบท” แล้วอธิบายขยายความข้อธรรมบทนั้นตอนนั้นให้ประจักษ์ชัด แบ่งแยกเป็นหัวข้อ เป็นประเภท แสดงเหตุและผลรองรับ และมีอุปมา มีตัวอย่างประกอบ ขั้นตอนนี้เรียกว่า“นิเทศ”

 

                 ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการตีความ ต่อจากนั้นก็เก็บประเด็นความมาสรุปเพื่อเป็นหลักปฏิบัติซึ่งเรียกว่า “ปฏินิเทศ” ทั้งสามขั้นตอนนี้เป็นกระบวนการตีความที่สมบูรณ์แบบ ดังนั้น ในการเทศน์แต่ละครั้งหรือแต่ละกัณฑ์ หากผู้เทศน์ได้พยายามรักษาแนวปฏิบัติ ใช้สติปัญญา ความสามารถ ความชำนาญ และจิตใจที่เป็นกุศลเข้ามาเป็นองค์ประกอบที่จะทำให้เทศน์กัณฑ์นั้นมีความสำคัญประทับใจผู้ฟัง โน้มน้าวจิตใจของผู้ฟังให้เห็นแจ้ง อาจหาญ ร่าเริง ด้วยธรรมีกถา และจดจำน้อมนำไปปฏิบัติเป็นรูปธรรมต่อไป ผู้เทศน์เองก็ได้รับความนิยมยกย่องได้รับศรัทธาเลื่อมใสจากผู้ฟังและน้อมรับเป็นครูเป็นอาจารย์ต่อไปด้วย นับเป็นความสำเร็จในการเผยแผ่ธรรมด้วยการเทศน์อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้น

 

                  การตีความจึงต้องเป็นคู่อยู่กับการเทศน์ไปตลอดจะขาดจากกันเสียมิได้ หาไม่แล้วการเทศน์จะกลายเป็นอัตโนมัติอธิบาย คือว่าไปตามความคิดเห็นของตนเป็นหลัก ซึ่งบางครั้งอาจห่างจากวัตถุประสงค์ของบทธรรมไปไกลจนสุดกู่ หรือไม่ก็ผิดเพี้ยนจนจับหลักจับสาระไม่ได้ไปเลย แบบนี้ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้ฟังเกิดความเบื่อหน่ายที่จะฟังเทศน์ หรือฟังแล้วไม่ได้ประโยชน์อันเป็นสาระแก่นสารแท้จริงแห่งธรรม ทั้งที่ฟังเทศน์ฟังธรรมกันมาแต่น้อยคุ้มใหญ่เพราะหาฝั่งฝาแห่งธรรมไม่พบ
 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.003217351436615 Mins