การตีความตามแนวเทสนาหาระ

วันที่ 16 กค. พ.ศ.2567

การตีความตามแนวเทสนาหาระ

 

670717_b95.jpg

                ได้กล่าวมาแล้วว่าการตีความพระพุทธพจน์หรือพุทธศาสนสุภาษิตเพื่อการเทศนานั้นจะยึดแนวการตีความที่ท่านแสดงไว้ใน เนตติปกรณ์ โดยเลือกเฉพาะส่วนที่แสดงไว้ในเทสนาหาระเท่านั้น เพราะตรงกับวัตถุประสงค์ของเรื่องคือเพื่อนำไปใช้ในการเทศน์ในการสอนซึ่งต้องมีการอธิบายขยายความข้อธรรมในพระพุทธพจน์ หรือพุทธศาสนสุภาษิตที่ยกขึ้นมาเป็นหัวข้อเพื่อแสดงธรรมแต่จะแสดงในแง่มุมของการตีความเพื่อประโยชน์แก่การเทศนาเป็นหลักเว้นเพื่อการศึกษาเรียนรู้เชิงวิชาการเสีย มิเช่นนั้นอาจจะเฝือไป
 

                 สำหรับท่านที่ต้องการเรียนรู้เพื่อการเทศนาเพียงอย่างเดียว แต่หากว่าต้องการศึกษาเรียนรู้โดยละเอียดย่อมสามารถศึกษาค้นคว้าจากคัมภีร์เนตติปกรณ์และคัมภีร์ประกอบได้โดยตรง เพราะปัจจุบันมีท่านผู้รู้ได้แปลถ่ายทอดเป็นภาษาไทยง่ายต่อการเข้าใจและจัดพิมพ์เป็นรูปเล่มแพร่หลายแล้วอันดับแรกพึงเรียนรู้ จดจำ และเข้าใจเกี่ยวกับชื่อและหัวข้อในเทสนาหาระก่อน เพราะมีความเกี่ยวโยงกันตลอดสาย ทำให้ง่ายต่อการอธิบายและการทำความเข้าใจ ตลอดถึงการนำไปใช้ในการเทศนา
 

เทสนาหาระ คืออะไร
                 เทสนาหาระ คือหลักการหรือวิธีการอธิบายขยายความเทศนาหรือพระพุทธพจน์ เพื่อกำจัดความไม่รู้ ความสงสัย ความเข้าใจผิดในเทศนานั้นโดยวิธีแยกแยะอธิบายทั้งโดยพยัญชนะคือตามอักษรศัพท์ที่ปรากฏและโดยอรรถคือชี้ให้เห็นถึงเนื้อหาสาระสำคัญของเทศนานั้นโดยภาพรวมทั้งหมดเทสนาหาระท่านแยกประเภทไว้ ๖ อย่าง ตามบทนิทเทสว่า

 

                                   อสฺสาทาทีนวตา                                   นิสฺสรณมฺปิ จ ผลํ อุปาโย จ
                                   อาณตฺตี จ ภควโต                               โยคีนํ เทสนาหาโร ฯ


อัสสาทะ ๑ อาทีนวะ ๑ นิสสรณะ ๑ ผละ ๑ อุปายะ ๑ อาณัตติ ๑ ของพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับโยคีผู้บำเพ็ญเพียร ชื่อว่า เทสนาหาระ ฯ หลัก ๖ ประการนี้มีรายละเอียดเนื้อหาดังนี้
 

(๑) อัสสาทะ
                 อัสสาทะ คือ ภาวะที่น่ายินดี ความยินดี ความพอใจ ข้อดี ด้านดี คุณลักษณะ ส่วนที่เป็นคุณ และภาวะที่ทำให้เกิดความยินดีซึ่งได้แก่สุข โสมนัส อิฏฐารมณ์ ตัณหา และวิปลาส หมายความว่า เทศนาที่เป็นพระพุทธพจน์บางข้อบางบทมีเนื้อหาสาระที่แสดงถึงอัสสาทะไว้ชัดเจนโดยตรงบ้าง โดยอ้อมคือ แฝงอยู่บ้าง แสดงไว้ในรูปของภาวะที่น่ายินดีได้แก่สุข โสมนัส และอิฏฐารมณ์บ้าง ในรูปของภาวะที่เป็นเหตุให้เกิดความยินดีได้แก่ ตัณหาและวิปลาสบ้าง เทศนาที่อยู่ในลักษณะเช่นนี้จัดอยู่ในกลุ่ม อัสสาทะ ดังพระพุทธพจน์ที่ท่านยกมาแสดงไว้เป็นตัวอย่างว่า


                                     กามํ กามมยมานสฺส                 ตสฺส เจตํ สมิชฺฌติ
                                     อทฺธา ปีติมโน โหติ                  ลทฺธา มจฺโจ ยทิจฺฉติ ฯ


               เมื่อสัตว์ปรารถนากามอยู่ หากสิ่งที่ปรารถนานั้นสำเร็จแก่เขาสัตว์ก็จะอิ่มเอมใจเพราะได้สิ่งที่ตนปรารถนา ฯ ในพระคาถานี้ กาม หมายถึงวัตถุกาม จัดเป็นอัสสาทะในความหมายว่าเป็นภาวะที่น่ายินดี และเมื่อสำเร็จแก่คนที่ปรารถนาอยู่ก็ทำให้เขายินดีพอใจ จัดเป็นอัสสาทะในความหมายว่าเป็นภาวะที่ทำให้เกิดความยินดี
 

(๒) อาทีนวะ
               อาทีนวะ คือโทษ ส่วนที่เป็นโทษ ข้อเสีย ด้านที่เสีย สิ่งที่ไม่น่ายินดีไม่น่าพอใจ ได้แก่ทุกข์ โทมนัส อนิฏฐารมณ์ ซึ่งตรงกันข้ามกับอัสสาทะข้างต้นหมายความว่า ในเทศนาที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงนั้น บางบทบางข้อได้กล่าวถึงอาทีนวะคือสิ่งที่เป็นโทษไว้อย่างชัดเจน บางบทกล่าวถึงทุกข์ทางกาย บางบทกล่าวถึงโทมนัสซึ่งหมายถึงทุกข์ทางใจและบางบทกล่าวถึงอนิฏฐารมณ์คือสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่ายินดีทั้งทุกข์ โทมนัส และอนิฏฐารมณ์ ล้วนเป็นส่วนที่เป็นโทษ เป็นข้อเสียซึ่งไม่เป็นที่ปรารถนาของคนทั่วไปทั้งสิ้น ดังพระพุทธพจน์ที่ท่าน
ยกมาแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า

                                     ตสฺส เจ กามยมานสฺส                 ฉนฺทชาตสฺส ชนฺตุโน
                                     เต กามา ปริหายนฺติ                    สลฺลวิทฺโธว รุปฺปติ ฯ

             ถ้ากามทั้งหลายของสัตว์ผู้ปรารถนากามอยู่และเกิดความพอใจ แล้วนั้นเสื่อมหายไป สัตว์นั้นย่อมเดือดร้อนเหมือนถูกยิงด้วยลูกศร ฯ ในพระคาถานี้ แสดงว่าเมื่อกามซึ่งเป็นอัสสาทะสิ่งที่น่ายินดีเสื่อมหายไป ย่อมทำให้สัตว์ผู้หลงใหลติดใจกามนั้นอยู่เดือดร้อนอันความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นนั้นคืออาทีนวะซึ่งเป็นโทษของกาม เป็นการแสดงภาวะของกามอีกมุมหนึ่งซึ่งตรงกันข้ามกับนัยในพระคาถาแรกซึ่งแสดงภาวะของกามในแง่มุมที่ดี น่าปรารถนา

(๓) นิสสรณะ
               นิสสรณะ คือธรรมเป็นเครื่องนำออกจากทุกข์ หรือธรรมที่หลุดออกจากอาทีนวะรวมทั้งอัสสาทะได้แล้ว ได้แก่ อริยมรรคและนิพพานหมายความว่า นิสสรณะคือหนทางหรือแนววิธีที่ประเสริฐ สำหรับดับอาทีนวะคือทุกข์ โทมนัส และอนิฏฐารมณ์ อันทำให้ผู้ดำเนินไปบรรลุถึงโพธิคือความตรัสรู้เป็นพระอริยบุคคลได้ ซึ่งได้แก่ อริยมรรค โพธิปักขิยธรรม อนุปัสสนา และหมายถึงผลแห่งการหลุดพ้นจากอาทีนวะและอัสสาทะทั้งปวงได้เด็ดขาดด้วยการดำเนินตามอริยมรรคเป็นต้น ซึ่งได้แก่พระนิพพาน ดังพระพุทธพจน์ที่ท่านยกมาแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า

                                           โย กาเม ปริวชฺเชติ               สปฺปสฺเสว ปทา สิโร
                                           โสมํ วิสตฺติกํ โลเก                สโต สมติวตฺตติ ฯ

ผู้ใดหลีกเว้นกามทั้งหลายได้ เหมือนบุคคลเดินหลีกหัวงูไปฉะนั้น ผู้นั้นจัดว่าเป็นผู้มีสติ ย่อมล่วงพ้นตัณหานี้ในโลกได้ ฯ

               ในพระคาถานี้ แสดงถึงนิสสรณะคือการออกจากกามซึ่งเป็นอาทีนวะ (โทษ) ด้วยการเว้นกามทั้งหลายเป็นเบื้องต้นและด้วยการก้าวล่วงตัณหาเสีย การเว้นและการก้าวล่วงนั้นจัดเป็นหนทางหรือแนววิธีการออกจากทุกข์ เป็นการสื่อถึงอริยมรรคซึ่งมีหน้าที่ในทางนี้โดยตรงมีตัวอย่างแห่งเทศนาที่แสดงถึงอัสสาทะ อาทีนวะ และนิสสรณะไว้รวมกัน คือ


                                            เขตฺตํ วตฺถุ หิรัญฺญํ               วา คฺวาสสํ ทาสโปริสํ
                                            ถิโย พนฺธู ปุถู กาเม              โย นโร อนุคิชฺฌติ ฯ   (๑)
                                            อพลา นํ พลียนฺติ                  มทฺทนฺเตนํ ปริสฺสยา
                                            ตโต นํ ทุกฺขมเนฺวติ               นาวํ ภินฺนมิโวทกํ ฯ    (๒)
                                            ตสฺมา ชนฺตุ สทา สโต           กามานิ ปริวชฺชเย
                                             เต ปหาย ตเร โอฆํ               นาวํ สตฺวาว ปารคู ฯ (๓)

 

นรชนใดย่อมปรารถนาไร่นา ที่ดิน เงิน โค ม้า ทาส บุรุษ สตรี พวกพ้อง หรือกามวัตถุทั้งหลายเป็นอันมาก (๑)

กิเลสทั้งหลายอันมีกำลังน้อยย่อมครอบงำนรชนนั้น อันตรายทั้งหลายย่อมย่ำยีนรชนนั้น เพราะถูกครอบงำและถูกย่ำยีนั้น ทุกข์ย่อมติดตามนรชนนั้นไปเหมือนน้ำไหลเข้าเรือที่แตกแล้วฉะนั้น (๒)

เพราะเหตุนั้น สัตว์จึงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ พึงเว้นขาดจากกามทั้งหลาย ครั้นละกามเหล่านั้นได้แล้ว ก็พึ่งข้ามโอฆะได้ เหมือนบุคคลวิดเรือได้แล้ว ก็ไปถึงฝั่งได้ฉะนั้น ฯ (๓)

ใน ๓ พระคาถานี้ พระคาถาที่ ๑ แสดงถึงอัสสาทะคือสิ่งที่น่าปรารถนา พระคาถาที่ ๒ แสดงถึงอาทีนวะคือโทษหรือสิ่งที่ไม่พึงปรารถนา และพระคาถาที่ ๓ แสดงถึงนิสสรณะคือแนววิธีการออกจากอาทีนวะ

(๔) ผละ
               ผละ คือผล อานิสงส์ ประโยชน์ที่ได้รับ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหรือวัตถุประสงค์แห่งการฟังธรรมและการปฏิบัติตามธรรมที่ได้ฟังมาแล้วทั้งผลที่พึงได้ในชาติปัจจุบันและในภพชาติต่อๆ ไป ซึ่งได้แก่ปัญญามนุษย์สมบัติ และสวรรค์สมบัติ หมายความว่า การฟังธรรมนั้นย่อมมีผลมีอานิสงส์ เช่น อานิสงส์แห่งการฟังธรรมที่ท่านแสดงไว้ ๕ ประการ คือย่อมได้ฟัง สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑ สิ่งใดได้เคยฟังแล้วแต่ไม่เข้าใจชัด ย่อมเข้าใจ สิ่งนั้นชัด ๑ บรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑ ทำความเห็นให้ถูกต้องได้ ๑ จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส ๑

              กล่าวคือได้ปัญญาความรู้ได้สัมมาทิฐิ ได้ศรัทธาปสาทะ และเมื่อปฏิบัติตามแล้วย่อมได้มนุษย์สมบัติในภพชาตินี้ เช่นลาภ ยศ สรรเสริญ สุข และได้สวรรค์สมบัติคือสุขทิพย์วรรณะทิพย์เป็นต้นในภพชาติต่อๆไปมีข้อสังเกตระหว่างนิสสรณะกับผละเล็กน้อย กล่าวคือทั้งสองอย่างล้วนเป็นผลที่มาจากเหตุเช่นเดียวกัน แต่มีความหมายต่างกัน กล่าวคือนิสสรณะมุ่งผลคือมรรค ผล นิพพานหรือนิพพาน สมบัติอันเกิดจากการละเว้นกามและล่วงพ้นกิเลสได้แล้ว ส่วนผละ มุ่งผลเฉพาะมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัติ เช่นอายุ วรรณะ สุขะ พละ เป็นต้นอันเกิดจากการบำเพ็ญบุญมีให้ทาน รักษาศีล เป็นต้นซึ่งมีการฟังธรรมเป็นมูลเหตุผละนั้นมีพระพุทธพจน์ที่ท่านแสดงไว้เป็นตัวอย่างว่า

ธมฺโม หเว รกฺขติ ธมฺมจารึ
ฉตฺตํ มหนฺตํ ยถา วสฺสกาเล
เอสานิสํโส ธมฺเม สุจิณฺเณ

น ทุคฺคตึ คจฺฉติ ธมฺมจารี ฯ

               ธรรมย่อมรักษาผู้มีปกติประพฤติธรรม เหมือนร่มใหญ่กั้นรักษาคนในเวลาฝนตก นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมที่ประพฤติดีแล้ว ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ ฯ ในพระคาถานี้ แสดงถึงผลแห่งธรรมและการประพฤติธรรมว่าสามารถป้องกันรักษาให้รอดพ้นอันตรายเป็นต้นได้ โดยยกร่มใหญ่มาเป็นตัวอย่างให้เห็นภาพว่าร่มคันใหญ่นั้นสามารถช่วยป้องกันฝนได้เป็นอย่างดี และแสดงว่าเมื่อประพฤติธรรมแล้ว ธรรมย่อมให้ผลตอบแทนคือให้เขามีความสุขในปัจจุบัน และพ้นจากทุคติในสัมปรายภพ

(๕) อุปายะ
               อุปายะ คืออุบาย วิธี แนวปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงนิสสรณะหรือผละได้แก่ปุพพภาคปฏิปทา ข้อปฏิบัติเบื้องต้นอันเป็นบรรทัดฐานแห่งอริยมรรคและนิพพาน คือการรักษาศีล การอบรมจิต การเจริญปัญญาหมายความว่า การที่จะบรรลุถึงผลไม่ว่าระดับนิสสรณะคือนิพพานสมบัติ หรือระดับผละคือมนุษย์สมบัติและสวรรค์สมบัตินั้นจะต้องดำเนินไปตามแนวทางที่ท่านแสดงไว้ซึ่งเป็นแนวทางที่พระอริยะทั้งหลายดำเนินไปและได้ผลจริงมาแล้ว ซึ่งแนวทางเช่นนั้นมีแตกต่างกันไป กล่าวคือแนวทางเพื่อบรรลุถึงมนุษย์สมบัติเป็นอย่างหนึ่ง แนวทางเพื่อบรรลุถึงสวรรค์สมบัติเป็นอย่างหนึ่งและแนวทางเพื่อบรรลุถึงนิพพานสมบัติก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง อย่างที่ท่านแสดงไว้ว่า

อญฺญา หิ ลาภูปนิสา อญฺญา นิพฺพานคามินี ฯ
ข้อปฏิบัติเพื่อให้เกิดลาภเป็นอย่างหนึ่ง ข้อปฏิบัติเพื่อบรรลุถึงพระนิพพานเป็นอย่างหนึ่ง ฯ


ท่านยกข้อธรรมที่แสดงถึงอุปายะไว้เป็นตัวอย่างดังนี้

สพฺเพ สงฺขารา อนิจฺจาติ     ยทา ปญฺญาย ปสฺสติ
อก นิพพินฺทติ ทุกเข           เอส มคฺโค วิสุทธิยา ฯ
สพฺเพ สงฺขารา ทุกฺขาติ       ............................ ฯ
สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตาติ        ............................ ฯ  

 

เมื่อใดบุคคลเห็นด้วยปัญญาว่าสังขารทั้งปวงไม่เที่ยง...สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ...

ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา เมื่อนั้นย่อมเบื่อหน่ายในทุกข์ นี้เป็นทางแห่งวิสุทธิ ฯ

 

                   ในพระคาถานี้ แสดงถึงอุปายะคือแนวทางแห่งการเบื่อหน่ายในทุกข์ว่าได้แก่การเห็นด้วยปัญญา ซึ่งท่านอธิบายไว้ว่า การเห็นด้วยปัญญานั้นหมายถึงอุทยัพพยญาณ คือญาณหยั่งรู้และความเกิดขึ้นและดับไปแห่งสังขารทั้งหลาย และหมายถึงวิปัสสนาญาณอื่นที่เกิดต่อจากอุทยัพพยญาณก่อนที่จะบรรลุถึงนิพพิทาญาณซึ่งเป็นผละและนิพพิทาญาณนั้นเป็นทางแห่งการบรรลุวิปัสสนาญาณต่อไปจนกระทั่งถึงอรหัตตมัคคญาณได้

(๖) อาณัตติ
                    อาณัตติ คือการแนะนำ การชักชวน การชี้นำ การโน้มน้าวใจ ให้คล้อยตาม รวมไปถึงการสั่งบังคับ การตักเตือน การให้สติสำนึกโดยมีวัตถุประสงค์หลักคือเพื่อให้ยินดีพอใจที่จะน้อมนำคำสอนไปปฏิบัติให้เกิดนิสสรณะหรือผละ กล่าวคือเพื่อให้ได้รับประโยชน์และความสุขอันเป็นผลแห่งการปฏิบัติตามหมายความว่า เทศนาที่เป็นพระพุทธพจน์นั้นส่วนใหญ่จะเป็นการแนะนำหรือชี้ชวนโน้มน้าวใจผู้ฟังให้เกิดความกล้าหาญให้เกิดความปรารถนาจะปฏิบัติตาม โดยแสดงผละคืออานิสงส์ให้เห็นบ้าง แสดงอาทีนวะคือโทษข้อเสียหายให้เห็นบ้าง เพราะวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของการแสดงธรรมก็เพื่อแนะนำให้ปฏิบัตินั่นเองตั้งพระพุทธพจน์ที่ท่านยกมาแสดงเป็นตัวอย่างไว้ว่า

 

                                           จกฺขุมา วิสมานีว                       วิชชมาเน ปรกฺกเม
                                           ปณฺฑิโต ชีวโลกสฺมึ                  ปาปานิ ปริวชฺชเย ฯ

ผู้มีปัญญา เมื่อความบากบั่นมีอยู่ ก็พึงละเว้นบาปทั้งหลาย ในชีวโลกเสียเหมือนคนตาดีหลีกเลี่ยงทางที่ไม่เรียบฉะนั้น ฯ

 

                     ในพระคาถานี้ แสดงว่าพระพุทธเจ้าทรงชักชวนแนะนำให้สัตวโลกที่เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกละเว้น งดเว้นจากบาปทุจริตทั้งหลายเสีย โดยทรงยกคนตาดีหลีกเลี่ยงทางที่ไม่เรียบ ขรุขระ เป็นการเปรียบเทียบที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจนในข้ออาณัตตินี้ มีข้อสังเกตว่าท่านใช้คำว่า “ควร” และคำว่า “พึง” มากกว่าใช้คำว่า “จง” ซึ่งเหมือนเป็นคำสั่ง เป็นคำบังคับมีตัวอย่างแห่งเทศนาที่แสดงถึง ผละ อุปายะ และอาณัตติ ไว้รวมกัน คือ

สุญฺญโต โลกํ อเวกฺขสฺสุ          โมฆราช สทา สโต
อตฺตานุทิฏฺฐึ อูหจฺจ                เอวํ มจฺจุตฺตโร สิยา
เอวํ โลกํ อเวกฺขนฺตํ            มจฺจุราชา น ปสฺสติ ฯ


ดูก่อนโมฆราช เธอจงเป็นผู้มีสติทุกเมื่อ จงพิจารณาเห็นโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่า บุคคลถอนอัตตานุทิฐิได้แล้วก็จะพึ่งข้ามพ้นมัจจุราชได้ด้วยอุบายอย่างนี้ บุคคลผู้พิจารณาเห็นโลกอย่างนี้ มัจจุราชย่อมมองไม่เห็น ฯ

 

ในพระคาถานี้ เมื่อแยกแยะเนื้อความตามหลักเทสนาหาระแล้วได้ดังนี้
- คำว่า เป็นผู้มีสติทุกเมื่อ แสดงถึงอุปายะ
- คำว่า จงพิจารณาโลกนี้โดยความเป็นของว่างเปล่าแสดงถึงอาณัตติ
- คำว่า จะพึงข้ามพ้นมัจจุราชได้ แสดงถึงผละ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0015316168467204 Mins