วันพระข้างขึ้นข้างแรมมีความหมายอย่างไร
วันพระข้างขึ้นข้างแรมมีความหมายอย่างไร แตกต่างกันหรือไม่ ถ้าทำบุญข้างแรมอุทิศบุญกุศลให้กับผู้ล่วงลับไปแล้ว เขาจะได้บุญน้อยกว่าการที่เราทำบุญในวันพระข้างขึ้นหรือไม่
พระอาจารย์ตอบ : จากคืนที่มืดมิด พระจันทร์ค่อยๆ โตขึ้นทีละนิดจนกระทั่งเห็นเต็มดวงในวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ เรียกว่า “ข้างขึ้น" วันพระใหญ่มี 2 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ และ วันขึ้น 15 ค่ำ เป็นวันที่พระสงฆ์ลงปาติโมกข์
ส่วน "ข้างแรม” คือ วันที่พระจันทร์ค่อยๆ เล็กลงๆ จนกลายเป็นเสี้ยวเล็กๆ นับจากที่พระจันทร์เต็มดวง ไปเป็นแรม 1 ค่ำ, 2 ค่ำ, 3 ค่ำ พอถึง 15 ค่ำ เราจะมองไม่เห็นพระจันทร์เลยเพราะท้องฟ้ามืดมิดไปหมด เนื่องจากเงาของโลกบดบัง เรียกว่า ช่วงข้างแรม มีวันพระ 2 วัน ได้แก่ วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ นี้เองคือความแตกต่างของวันพระข้างขึ้นข้างแรม ไม่ว่าจะเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม เราสามารถทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้ผู้ที่เสียชีวิตไปแล้วได้เหมือนกัน
ในครั้งพุทธกาลเชื่อว่าธรรมชาติของมนุษย์เมื่อได้ทำบุญกุศล ฟังเทศน์ฟังธรรม ธรรมะนั้นจะคุ้มใจ เป็นกำลังในการทำความดีละเว้นความชั่วได้นาน คราละประมาณ 7 วัน โดยเฉลี่ย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงย้ำให้มีวันพระทุกๆ 7 วัน
แต่ในปัจจุบันกิเลสมนุษย์มีมากขึ้นเพราะสื่อสิ่งเร้ารอบตัวมีมาก บางทีแค่ 2-3 วัน ก็ลืมหมดแล้ว ดังนั้น ถ้าเราทําบุญเป็นประจําสม่ำเสมอทุกวันจะดีมาก ไม่ว่าจะทําบุญข้างขึ้นหรือข้างแรม อุทิศส่วนกุศลให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว ได้เหมือนกัน ดีทั้งนั้น
ให้เลือกทําบุญวันที่เราสะดวก พร้อมทั้งด้านเวลา พร้อมทั้งการเตรียมการต่างๆ ของเราในด้านต่างๆ มีวันพิเศษบ้างก็คือวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ พระจันทร์เต็มดวงก็ยิ่งดีใหญ่
กรณีในนรกขุมตื้นๆ ขุมบริวารในยมโลก วันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ ในนรกจะพักการลงโทษช่วงนึง ซึ่งกินเวลาไม่นานนัก
ก็ถือเป็นโอกาสเหมาะที่เราจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้เขาเหล่านั้นได้ ดังนั้น โดยสรุปคือเราสามารถทําบุญได้ทุกวัน ทั้งวันธรรมดา วันข้างขึ้นข้างแรม และวันพิเศษอย่างวันเพ็ญขึ้น 15 ค่ำ
เจริญพร.