บทที่ ๒ ศรัทธา

วันที่ 01 ตค. พ.ศ.2567

 

 

2567_10_01_b_01.jpg

 

บทที่ ๒

ศรัทธา

 

2567_10_01.jpg



ความหมายของศรัทธาในเสนาสนสูตร

    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสถึงคุณสมบัติข้อที่ของผู้ควรแก่การคัดเข้ามาบวชว่า

  ผู้มีศรัทธา คือ เชื่อพระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคนั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ เพียบพร้อมด้วยวิชชาและจรณะเสด็จไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

 

ศรัทธา คือ อะไร?

    ในพระไตรปิฎกมีการแสดงความหมายของศรัทธาไว้หลายที่พอยกมาเป็นตัวอย่างโดยสังเขป ดังนี้

    "ศรัทธา" แปลว่า ความเชื่อ หมายถึง เฉพาะ "ศรัทธา" ที่เชื่อด้วยปัญญา เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ เชื่อด้วยเหตุผล ถ้าเชื่อโดยปราศจากปัญญา เรียกว่า "อธิโมกข์" (ความน้อมใจเชื่อ หรือเชื่อตามเขา)

     ประเภทของศรัทธามี ๔ ประการ คือ

     ๑. กัมมสัทธา เชื่อกรรม

     ๒. วิปากสัทธา เชื่อผลของกรรม

     ๓. กัมมัสสกตาสัทธา เชื่อความที่สัตว์โลกมีกรรมเป็นของๆ ตน

     ๔. ตถาคตโพธิสัทธา เชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

    "ศรัทธา" ในที่นี้เราหมายถึง "ตถาคตโพธิสัทธา" คือ ความเชื่อการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เชื่อว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้ได้จริง เชื่อว่าธรรมที่พระองค์ตรัสรู้มีจริงดีจริงสามารถนำผู้ปฏิบัติตามให้พ้นจากทุกข์ให้เข้าถึงสุขธรรมดาในโลกจนถึงสุขอันยอดเยี่ยมกล่าวคือเป็นหนทางให้บรรลุมรรคผลนิพพานได้จริง

       มีข้อความกล่าวไว้ใน กีฎาคีรีสูตร เกี่ยวกับความหมายของศรัทธา ดังนี้



"กีฎาคีรีสูตร"



     “ดูก่อนภิกษุทั้งหลายสภาพนี้ย่อมมีแก่สาวก ผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ ด้วยตั้งใจว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระศาสดา เราเป็นสาวก พระผู้มีพระภาคเจ้าย่อมทรงรู้ เราไม่รู้ คำสอนของพระศาสดา ย่อมงอกงามมีโอชาแก่ "สาวก" ผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติ สภาพนี้ ย่อมมีแก่สาวกผู้มีศรัทธาผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติด้วยตั้งใจว่าเนื้อและเลือดในสรีระของเราจงเหือดแห้งไปจะเหลืออยู่แต่หนังและเอ็นและกระดูกก็ตามทีเมื่อเรายังไม่บรรลุถึงอิฐผลที่จะพึงบรรลุด้วยเรี่ยวแรงของบุรุษ ด้วยความเพียรของบุรุษ ด้วยความบากบั่นของบุรุษแล้ว จักคลายความเพียรนั้นเสีย จักไม่มีเลย.

         ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผลสองอย่าง คือ อรหัตผลในปัจจุบันหรือเมื่อขันธบัญจกที่กรรมกิเลสเข้าไปยึดถือเป็นส่วนเหลือยังมีอยู่ ความเป็นพระอนาคามีอย่างใดอย่างหนึ่ง อันสาวกผู้มีศรัทธา ผู้หยั่งลงในคำสอนของพระศาสดาแล้วประพฤติพึงหวังได้”

          พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นยินดี ชื่นชมพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้แล”

       "ตถาคตโพธิสัทธา" เป็นเหตุให้เกิดความมั่นใจในพระพุทธเจ้า มั่นใจในธรรมที่พระองค์สอนและปฏิบัติตามด้วยความมั่นใจ ปราศจากความลังเลสงสัย

       ทำให้ได้รับผลจริงมีความเชื่อมั่นเพราะปราศจากสงสัยในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่เราสวดสรรเสริญพระพุทธคุณ อิติปิโส ภควา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ ฯ.........

      จากพระสูตรดังกล่าว จะเห็นได้ว่านัยสำคัญของ ตถาคตโพธิสัทธา คือ ความศรัทธาที่สิ้นสงสัยในการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพราะในเบื้องต้นได้เข้าไปศึกษาค้นคว้าและพิสูจน์ด้วยการปฏิบัติจริงแล้ว จนกระทั่งเกิดความเชื่อมั่นในคำสอนของพระองค์ จึงทุ่มชีวิตเป็นเดิมพันทำภาวนาเพื่อการสิ้นอาสวะกิเลสดุจเดียวกับพระองค์

         นั่นหมายความว่า การเกิดขึ้นของตถาคตโพธิศรัทธานั้นมี ๒ ระดับ คือ ศรัทธาที่เกิดขึ้นหลังจากการฟังธรรม กับศรัทธาที่เกิดขึ้นหลังจากบรรลุธรรม

         
  ศรัทธาที่ไม่หวั่นไหว

            มีเรื่องราวตอนหนึ่งที่กล่าวถึงตถาคตโพธิสัทธาที่เกิดขึ้นภายหลังจากบรรลุธรรมเป็นพระโสดาบันแล้วใน ขุททกนิกาย

 

วิมานวัตถุ เรื่อง สิริมาวิมาน ดังนี้


"สิริมาวิมาน"


เทพธิดาสิริมา กล่าว

         “ดิฉันเป็นปริจาริกานางบำเรอของพระเจ้าพิมพิสารผู้ทรงคุณอันประเสริฐ ทรงมีสิริ ในมหานคร ซึ่งสถาปนาไว้ในระหว่างภูผา ดิฉันมีความชำนาญด้วยศิลปะการฟ้อนรำขับร้องอย่างเยี่ยม คนทั้งหลายในกรุงราชคฤห์ เขารู้จักดิฉันในนามว่า “สิริมา” เจ้าข้า

            พระพุทธเจ้าทรงเป็นนิสภะยอดผู้องอาจในจำพวกฤษผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ ผู้แนะนำสัตว์โลกพิเศษได้ทรงแสดง ทุกขสัจ สมุทัยสัจ ทุกขนิโรธสัจ ความดับทุกข์ อันไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง และ มรรคสัจที่ไม่คิดทางตรง เป็นทางเกษมแก่ดิฉัน

            ดิฉัน ครั้นฟังอมตบททางไม่ตาย ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งเป็นคำสอนของพระตถาคตผู้ประเสริฐแล้ว จึงเป็นผู้สำรวมอย่างเคร่งครัดในศีลทั้งหลาย ดำรงมั่นอยู่ในธรรม ที่พระพุทธเจ้าผู้เลิศกว่านรชนทรงแสดงไว้แล้ว ครั้นดิฉันรู้จักบทอันปราศจากกิเลสดุจธุลี ซึ่งปัจจัยปรุงแต่งมิได้ ที่พระตถาคตผู้ประเสริฐทรงแสดงไว้นั้น

          ดิฉัน จึงได้สัมผัสสมาธิอันเกิดจากความสงบ ในอัตภาพนั้นเอง อันนั้นเป็นความแน่นอนในมรรคผลอันเยี่ยมสำหรับดิฉัน ครั้นได้อมตธรรมอันประเสริฐ อันทำให้แยกจากปุถุชนแล้ว จึงเชื่อมั่นโดยส่วนเดียวในพระรัตนตรัยบรรลุคุณพิเศษ เพราะ "ตรัสรู้" หมดความสงสัย จึงเป็นผู้ที่ชนเป็นอันมากบูชาแล้วจึงเสวยความยินดีระเริงเล่นไม่น้อยเลยโดยประการดังกล่าวมานี้ ดิฉันจึงเป็นเทพธิดาผู้เห็นนิพพานเป็นสาวิกาของพระตถาคตผู้ประเสริฐ เป็นผู้ได้เห็นธรรมตามความเป็นจริง เป็นผู้ตั้งอยู่ในผลขั้นแรก คือ เป็น "โสดาบัน" ทุคติเป็นอันไม่มีอีกละ”

 


ดังความตอนหนึ่งใน กีฎาคิริสูตร ดังนี้

"กีฎาคิริสูตร"



           “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมกล่าวการตั้งอยู่ในอรหัตผล ด้วยการไปครั้งแรกเท่านั้นหามิได้ แต่การตั้งอยู่ในอรหัตผลนั้น ย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับด้วยความปฏิบัติโดยลำดับ

        ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย ก็การตั้งอยู่ในอรหัตผลย่อมมีได้ด้วยการศึกษาโดยลำดับ ด้วยการทำโดยลำดับ ด้วยความปฏิบัติโดยลำดับอย่างไร

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย กุลบุตรในธรรมวินัยนี้ เกิดศรัทธาแล้วย่อมเข้าไปใกล้ เมื่อเข้าไปใกล้ย่อมนั่งใกล้ เมื่อนั่งใกล้ย่อมเงี่ยโสตลง เมื่อเงี่ยโสตลงแล้วย่อมฟังธรรม ครั้น "ฟังธรรม" ย่อม "ทรงธรรม" ไว้ ย่อม พิจารณาเนื้อความแห่งธรรมที่ทรงไว้แล้ว เมื่อพิจารณา เนื้อความอยู่ ธรรมทั้งหลายย่อมทนได้ ซึ่งความพินิจ เมื่อธรรมทนความพินิจได้อยู่ "ฉันทะ" ย่อมเกิด เมื่อเกิดฉันทะแล้ว ย่อม "อุตสาหะ" ครั้น "อุตสาหะ" แล้ว ย่อม "ไตร่ตรอง" ครั้นไตร่ตรองแล้วย่อมตั้งความเพียรเมื่อมีคนส่งไปย่อมทำให้แจ้งชัดซึ่งบรมสัจจะด้วยกายและย่อมแทงตลอดเห็นแจ้งบรมสัจจะนั้นด้วย "ปัญญา"

            ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ศรัทธาก็ดี การเข้าไปใกล้ก็ดีการนั่งใกล้ก็ดี การเงี่ยโสตลงก็ดี การฟังธรรมก็ดี การทรงจำธรรมก็ดี การพิจารณาเนื้อความก็ดี ธรรมอันได้ซึ่งความพินิจก็ดี ฉันทะก็ดี อุตสาหะก็ดี การไตร่ตรองก็ดี การตั้งความเพียรก็ดี นั้นๆ (ถ้า) ไม่ได้มีแล้ว เธอทั้งหลายย่อมเป็นผู้ปฏิบัติพลาด ย่อมเป็นผู้ปฏิบัติผิด ดูก่อนภิกษุทั้งหลายโมฆบุรุษเหล่านี้ได้หลีกไปจากธรรมวินัยนี้ไกลเพียงไร”

              ความศรัทธา คือเชื่อมั่นว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้จริง เราเชื่อว่า คำสอนที่ท่านสอนเป็นระบบ มีเหตุมีผลเป็นขั้นตอน ถ้าไม่ใช่ผู้ที่ตรัสรู้จริงท่านจะมาวางระบบระเบียบคำสอนอย่างนี้ไม่ได้ เมื่อเราได้ศึกษาธรรมทั้งปริยัติและปฏิบัติมากขึ้น จะพบว่า มีหลักธรรมที่แสดงอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่มีการกระโดดข้ามไปมาจากข้อปฏิบัติที่ง่ายไปหายากหรือจากข้อปฏิบัติเบื้องต้นไปสู่ข้อปฏิบัติเบื้องปลายอย่างเป็นระเบียบแบบแผน ก็ทำให้เชื่อมั่นเพราะหมดสงสัย



มีพระสูตรกล่าวไว้อีกแห่งในนคโรปมสูตร ดังนี้

"นคโรปมสูตร"



               “อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธา คือ เชื่อปัญญาเครื่องตรัสรู้ของตถาคตว่า

             “แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ฯลฯ เป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระผู้มีพระภาคเปรียบเหมือนปัจจันตนครของพระราชา มีเสาระเนียดขุดหลุมฝังลึกไว้อย่างดี ไม่หวั่นไหว ไม่คลอนแคลน เพื่อคุ้มกันภัยภายในและป้องกันอันตรายภายนอก

            ภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกเป็นผู้มีศรัทธาเหมือนเสาระเนียดย่อมละอกุศล เจริญกุศล ละธรรมที่มีโทษเจริญธรรมที่ไม่มีโทษบริหารตนให้บริสุทธิ์”

 

ลักษณะภิกษุผู้มีศรัทธา


มีพระสูตรกล่าวไว้ใน สุภูติสูตร ดังนี้

"สุภูติสูตร"



              พระสูตรนี้ เป็นธรรมเทศนา แก่ "พระสุภูติ กับ ภิกษุผู้มีศรัทธา" ที่ไปเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ แล้วพระองค์ได้ถามชื่อของภิกษุรูปนั้น

             ท่านพระสุภูติได้กราบทูลว่า “ภิกษุนี้มีศรัทธา เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระพุทธเจ้าข้า” แล้วได้ถามต่อไปว่า

             ภิกษุนี้ มีลักษณะของผู้มีศรัทธาหรือไม่ พระองค์ได้ตรัสลักษณะภิกษุผู้มีศรัทธาไว้ว่า

         ๑. ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็น "ผู้มีศีล" สำรวมด้วยการสังวรในพระปาติโมกข์ เพียบพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปกติเห็นภัยในโทษแม้เพียงเล็กน้อยสมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้การที่ ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลายนี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา


         ๒. ภิกษุ เป็น "พหูสูต" ทรงสุตะสั่งสมสุตะเป็นผู้ฟังมากซึ่งธรรมทั้งหลายที่มีความงามในเบื้องต้น มีความงามท่ามกลางมีความงามในที่สุดประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถและพยัญชนะบริสุทธิ์บริบูรณ์ครบถ้วน ทรงจำไว้ได้ คล่องปากขึ้นใจ แทงตลอดดีด้วยทิฏฐิ แม้การที่ภิกษุเป็นพหูสูตฯลฯ แทงตลอดด้วยดีแล้วด้วยทิฏฐินี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

         ๓. ภิกษุเป็น "ผู้มีมิตรดี" มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้การที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดีนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา

         ๔. ภิกษุเป็น "ผู้ว่าง่าย" ประกอบด้วยธรรมเป็นเครื่องทำให้เป็นผู้ว่าง่ายอดทน รับฟังคำพร่ำสอนโดยเคารพ...

      ๕. ภิกษุเป็น"ผู้ขยัน" ไม่เกียจคร้านในการงาน ที่จะต้องช่วยกันทำทั้งงานสูงและงานต่ำของเพื่อนพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในงานที่จะต้องช่วยกันทำนั้น สามารถทำได้ สามารถจัดได้.......

        ๖. ภิกษุเป็น "ผู้ใคร่ธรรม" เป็นผู้ฟังและผู้แสดงธรรมอันเป็นที่พอใจ มีปราโมทย์ ความบันเทิงใจ)อย่างยิ่งในอภิธรรม ในอภิวินัย......

         ๗. ภิกษุเป็น "ผู้ปรารภความเพียร" เพื่อละอกุศลธรรมเพื่อให้กุศลธรรมเกิด มีความเข้มแข็ง มีความบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย.....

          ๘. ภิกษุเป็น "ผู้ได้ฌาน ๔" อันมีในจิตยิ่งซึ่งเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันตามความปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก.......

          ๙. ภิกษุ "ระลึกชาติก่อนได้" หลายชาติ ๑ ชาติบ้าง ๒ ชาติบ้าง ๓ ชาติบ้าง ๔ ชาติบ้าง ๕ ชาติบ้าง ๑๐ ชาติบ้าง ๒๐ ชาติบ้าง ๓๐ ชาติบ้าง ๔๐ ชาติบ้าง ๕๐ ชาติบ้าง ๑๐๐ ชาติบ้าง ๑,๐๐๐ ชาติบ้าง ๑๐๐,๐๐๐ ชาติบ้าง ตลอดสังวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏฏกัปเป็นอันมากบ้าง... ว่าในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีตระกูล มีวรรณะ มีอาหาร เสวยสุขทุกข์ และมีอายุอย่างนั้นๆ จุติจากภพนั้นก็ไปเกิดในภพโน้น......

          ๑๐. ภิกษุ "เห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ" (เคลื่อน) กำลังเกิดทั้งชั้นต่ำและชั้นสูง งามและไม่งาม เกิดดีและเกิดไม่ดีด้วยตาทิพย์อันบริสุทธิ์เหนือมนุษย์ รู้ชัดถึงหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่าหมู่สัตว์ที่ประกอบ กายทุจริต วจีทุจริต และ มโนทุจริต กล่าวร้ายพระอริยะ มีความเห็นผิดและชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นผิด พวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในอบาย ทุคติ วินิบาต นรก แต่หมู่สัตว์ที่ประกอบกายสุจริต วจีสุจริตและ มโนสุจริต ไม่กล่าวร้ายพระอริยะมีความเห็นชอบและชักชวนผู้อื่นให้ทำตามความเห็นชอบพวกเขาหลังจากตายแล้วจะไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์....

          ๑๑. ภิกษุทำให้ "แจ้งเจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ" อันไม่มีอาสวะ เพราะอาสวะสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองเข้าถึงอยู่ในปัจจุบัน แม้การที่ภิกษุทำให้แจ้งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติอันไม่มี "อาสวะ" เพราะ "อาสวะ" สิ้นไป ฯลฯ เข้าถึงอยู่ในปัจจุบันนี้ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา


วิธีสังเกตผู้มีศรัทธาต่อพุทธบุตร


ลองศึกษาเรื่องราวในติฐานสูตร ดังนี้

"ติฐานสูตร"



            “ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศรัทธาเลื่อมใสจึงทราบได้

             โดยฐานะ ๓ ประการ อะไรบ้าง คือ

              ๑. เป็นผู้ปรารถนาที่จะเห็นท่านผู้มีศีล


              ๒. เป็นผู้ปรารถนาที่จะฟังสัทธรรม

 

           ๓. เป็นผู้มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน มีจาคะอันสละแล้ว มีฝ่ามือชุ่มยินดีในการสละควรแก่การขอ ยินดีในการแจกทาน อยู่ครองเรือน

            ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศรัทธาเลื่อมใสจึงทราบ ได้โดยฐานะ ๓ ประการนี้แล"


วิธีปลูกฝังศรัทธา

          ศรัทธาเป็นสิ่งที่คู่มากับพระพุทธศาสนามาช้านาน เนื่องเพราะเมื่อคนเรามีศรัทธาจึงอยากเข้าไปหาพระ เมื่อพบพระแล้วก็อยากฟังธรรม เมื่อได้ฟังธรรมแล้ว จิตก็เป็นกุศลปราศจากความตระหนี่ เกิดความอยากสั่งสมบุญกุศล ด้วยการถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และมีกำลังใจในการสร้างความดีให้ยิ่งๆ ขึ้นไปด้วย แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าขาดต้นแบบที่ดีอันเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาเลื่อมใส

วิธีปลูกฝังศรัทธาในเบื้องต้น มีอย่างน้อย ๕ ประการ

      ๑. พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นต้นแบบที่ดีดำรงตนให้น่าไหว้ ด้วยการเคี่ยวเข็ญฝึกฝนอบรมตนเองตามพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด เพื่อมุ่งทำพระนิพพานให้แจ้ง


       ๒. พระสงฆ์ทำหน้าที่ดูแลวัดให้เป็นบุญสถานที่เหมาะแก่การประพฤติปฏิบัติธรรม คือ มีความสะอาด ความสว่าง ความสงบ ความสันโดษ และ ความสง่างาม

      ๓. พระสงฆ์ทำหน้าที่อบรมคนในวัดให้ เป็นต้นแบบชาวพุทธ คือ เป็นผู้มีศีล ๕ มีกิริยามารยาทเรียบร้อย พูดจาไพเราะ วางตัวได้เหมาะสมกาลเทศะ สมควรแก่การที่เป็นลูกศิษย์ก้นกุฏิของพระอาจารย์ในวัดนั้น

      ๔. พระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตรให้แก่ญาติโยม ด้วยการปิดนรก เปิดสวรรค์ เปิดทาง "พระนิพพาน" เพราะเมื่อญาติโยมได้ฟังธรรมแล้วก็ต้องเป็นผู้นำในการปฏิบัติด้วย เช่น ทำทาน รักษาศีล เจริญภาวนา เป็นต้น

     ๕. พระสงฆ์ทำหน้าที่ฝึกวัฒนธรรมชาวพุทธ ให้แก่ "ญาติโยม" เพื่อปลูกฝังความเป็นเจ้าของวัดเจ้าของพระพุทธศาสนา สร้างความสามัคคีในการทำความดีและเป็นต้นบุญต้นแบบให้แก่ลูกหลานในการปลูกฝังความรักพระพุทธศาสนาจะได้ช่วยกันเป็นกำลังสืบทอดรักษาอายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวตราบนานเท่านาน

    ยกตัวอย่างเช่น หลังจากฟังเทศน์แล้ว ต้องมีประเพณีช่วยการจัดเก็บเช็ดถูเสื่อ ล้างห้องน้ำ ปลูกต้นไม้ กวาดวัด ทาสีรั้ววัด หรือกิจกรรมอื่นๆในการพัฒนาวัด แต่ต้องพยายามควบคุมเวลาอย่าให้นานเกินไป อาจมีการสร้างบรรยากาศด้วยการเล่าอานิสงส์การทำความดีไปด้วย เพื่อให้ญาติโยมปลาบปลื้มปีติในบุญ เมื่อเขาเหล่านั้นร่วมทำกิจกรรมที่วัดจัดขึ้นบ่อยจนคุ้น มีความรู้สึกเป็นเจ้าของวัดก็จะมีนิสัยดีๆ มีนิสัยรับผิดชอบต่อส่วนรวมไม่ปล่อยปละละเลยช่วยกันเป็นหูเป็นตาช่วยดูแลรักษาวัดได้เป็นอย่างดีโดยทั้งหมดนี้มีวัตถุประสงค์คือต้องการปลูกฝังความรักวัดและความเคารพในธรรม

     จากแนวทางวิธีปลูกฝังศรัทธาในเบื้องต้น ๕ ประการ นี้จะเห็นได้ว่าหากวัดขาดพระภิกษุต้นแบบศีลธรรมที่เป็นแกนนำในการทําความดีของสังคมเสียแล้ว ศรัทธาของชาวพุทธจึงยากจะเกิดขึ้นจากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนรุ่นต่อไป จึงเป็นเหตุให้พระศาสนาถดถอยลงไป


สรุป

        เพราะเหตุนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงกำหนดให้คัดเลือกบุคคลที่มีศรัทธาเข้ามาบวชเป็นคุณสมบัติข้อแรก เพราะการที่พระภิกษุนั้นจะเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของญาติโยมได้
ก็ต้องมีศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาก่อน เมื่อบวชแล้วจึงจะมีความรักในการฝึกตนในเบื้องต้นนี้

    ๑. ผู้ออกบวชต้องเห็นภาพการสร้างบารมีของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ตั้งแต่เริ่มต้นจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพานได้อย่างชัดเจนเพื่อให้เป้าหมายการบวชของตนเองเกิดความชัดเจนดุจเดียวพระพุทธองค์ในวันออกบวช

     ๒. ผู้ออกบวชต้องรักการฝึกฝนอบรมตนเอง เพื่อให้เป็นพระแท้ที่บรรลุธรรม และพระแท้ที่เป็นนักเผยแผ่ จึงจะเป็นที่พึ่งในการขจัดทุกข์ให้แก่ตนเองและสังคมได้

    ๓. ผู้ออกบวชต้องหมั่นเข้าไปหาพระอุปัชฌาย์อาจารย์ เพื่อขอโอวาทในการฝึกฝนอบรมตนเองและเพื่อให้ท่านเตือนสติหรือให้ข้อคิดที่เป็นประโยชน์ต่อการประพฤติพรหมจรรย์ให้ตลอดรอดฝั่ง

    ๔. ผู้ออกบวชต้องตระหนักว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเปี่ยมไปด้วยพระกรุณาธิคุณ คือ คิดจะซื้อสัตว์ขนสัตว์ไปพระนิพพานให้หมดพระองค์จึงทรงทำงานเป็นทีมการที่จะเข้าใจพระพุทธคุณได้ก็ต้องฝึกรับผิดชอบหมู่คณะและพระพุทธศาสนาด้วยการทํางานเป็นทีม

        เมื่อใดก็ตามที่วัดสามารถฝึกอบรมผู้ออกบวชและผู้เตรียมตัวออกบวชให้มีความเข้าใจในการออกบวช เช่นนี้ ศรัทธาย่อมเกิดขึ้นในบุคคลนั้นการทุ่มชีวิตทำภาวนาเพื่อการกำจัดอาสวะกิเลสให้สิ้นไปจึงจะเกิดขึ้นตามมาวัดแห่งนั้นจึงจะได้พระภิกษุผู้เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาของญาติโยมได้จริงเป็นอายุพระพุทธศาสนาได้จริงเป็นที่พึ่งแห่งการขจัดทุกข์และผู้นำการสร้างความดีให้แก่สังคมได้จริง เพราะผู้ออกบวชท่านนั้น เป็นผู้มีตถาคตโพธิศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างมั่นคงดีแล้วจึงยืนหยัดทำพระนิพพานให้แจ้งท่ามกลางกระแสกิเลสของโลกโดยไม่หวั่นไหว อีกทั้ง ยังนำพาหมู่ชนทวนกระแสกิเลสมุ่งพระนิพพานตามรอยบาทของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปพร้อมกับท่านได้อีกด้วย

 

 

**บทความ แนะนำ/เกี่ยวข้อง

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.026446131865184 Mins