โครงการ “ เข้าพรรษา งดเหล้าเพื่อคนที่คุณรัก ”

วันที่ 20 พย. พ.ศ.2548

กระทรวงสาธารณสุขแฉภัยใหม่มอมเมาโจ๋กินเหล้า “แอบขายเหล้าผสมผลไม้-น้ำหวานปั่นเย็น” เร่ขายตามรถเข็น ในย่านท่องเที่ยว ปริมาณแอลกอฮอล์แรงกว่าพั๊น

          รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข แฉภัยดึงเยาวชนเข้าวงเหล้าเปลี่ยนไป มีการนำเหล้ามาแอบขายในรูปน้ำผลไม้-น้ำหวานปั่นเย็น เร่ขายตามรถเข็นในย่านท่องราตรี ขายตั้งแต่หัวค่ำ ปริมาณเหล้าแรงกว่าพั้นช์ ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้มงวด ให้จับปรับอย่างจริงจังตลอด 3 เดือนเข้าพรรษาจะรณรงค์ให้วัด – โรงเรียน เป็นเขตปลอดการขาย ปลอดดื่มเหล้า ขณะนี้เหล้ากำลังสร้างปัญหาสังคม ทั้งเหตุวัยรุ่นตีกัน อุบัติเหตุรถ คดีข่มขืน พร้อมทั้งเร่งบูรณาการกฎหมายเหล้าให้ทันการใช้ในปีหน้า วันที่ 13 กรกฎาคม 2548 ที่วัดสวนแก้ว จังหวัดนนทบุรี พระราชธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว พร้อมด้วย ศ.นพ.สุชัย เจริญรัตนกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ “เข้าพรรษา งดเหล้าเพื่อคนที่คุณรัก” เพื่อนำทุนสังคมในด้านพุทธศาสนา คือเทศกาลเข้าพรรษา เป็นเทศกาลสำคัญที่ชาวพุทธ จะปฏิบัติลด ละ เลิกอบายมุข และหันมากระทำความดีโดยเฉพาะการเลิก การหยุดดื่มเหล้า ซึ่งกำลังเป็นทั้งภัยสุขภาพและภัยสังคม โดยใช้ครอบครัวและคนที่รักเป็นแรงจูงใจในการเลิกดื่มเพื่อให้มีสุขภาพดี และสังคมเป็นสุขในที่สุด และมีพิธีหลอมเหล้า – เบียร์ หล่อเป็นเทียนพรรษา เพื่อจุดบูชาในช่วงเทศกาลเข้าพรรษา มีศิลปิน เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 200 คน

          ศ.นพ.สุชัย กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะส่งเสริมให้วันเข้าพรรษาในปีนี้ เป็นจุดเริ่มต้นในการกระทำความดีงามต่อตนเองและสังคมประเทศชาติ ทุกวันนี้คนไทยเสียเงินซื้อเหล้าอย่างเดียวสูงถึงปีละ 1.5 แสนล้านบาท ขณะเดียวกันภัยจากการดื่มเหล้า กำลังก่อให้เกิดผลกระทบอย่างน่าห่วง โดยจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่ดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ มีจำนวนกว่า 16 ล้านคน โดยชายมีอัตราการดื่มสุราสูงกว่าหญิง และคาดการณ์ว่าในอนาคตมีแนวโน้มที่จำนวนผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มมากขึ้นในทุกเพศและทุกกลุ่มอายุ และดื่มปริมาณเพิ่มขึ้น 1 เท่าทุก 3 ปีและกำลังขยายไปสู่กลุ่มผู้หญิงและเยาวชน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหญิงอายุ 15-19 ปี ได้เพิ่มจำนวนขึ้นเกือบ 6 เท่า คือจาก ร้อยละ 1 เป็นร้อยละ 5.6 ในเวลา 7 ปีและกลุ่มเยาวชนชายวัย 11-19 ปี มีถึงร้อยละ 21 ที่ระบุว่าตนเอง “ดื่ม” ซึ่งการบริโภคสุราดังกล่าวจะสะท้อนพฤติกรรมในรูปของการทะเลาะวิวาท อาชญากรรม อุบัติเหตุ ปัญหาครอบครัว และการทำงานหย่อนประสิทธิภาพ โดยพบว่ามีถึง ร้อยละ 45 ของการถูกทำร้ายต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และร้อยละ 34.8 ของคดีอาญาเกี่ยวกับเพศเกิดจากการ “ดื่ม” เป็นสาเหตุ

          ขณะนี้การมอมเมาเยาวชนให้ดื่มเหล้าเปลี่ยนรูปแบบไป โดยพบว่ามีการแอบนำเหล้าทั้งไทยและต่างประเทศ มาขายในรูปของน้ำปั่นรวมกับผลไม้หรือน้ำหวาน มีสีสันต่างๆ วางขายตามรถเข็น มักอยู่ตามย่านราตรีดูผิวเผินแล้วเหมือนขายน้ำผลไม้ธรรมดา บางครั้งปริมาณแอลกอฮอล์แรงกว่าพั้นช์ โดยผู้ที่ขายไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้จำหน่าย วางจำหน่ายตั้งแต่หัวค่ำ วิธีดังกล่าวเป็นเรื่องที่อันตรายมากเพราะนอกจากจะเปลี่ยนรูปแบบการกินแล้ว ยังทำให้ผู้ปกครองเข้าใจผิดว่าเป็นเพียงน้ำผลไม้ปั่นธรรมดา กระทรวงสาธารณสุขได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการคลัง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอความร่วมมือให้เข้มงวดกวดขันเรื่องนี้เป็นกรณีพิเศษแล้ว

          รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี (พันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร) ได้เห็นชอบให้มีมาตรการในการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ มาตรการกำหนดสถานที่ และพื้นที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ ที่ร้านสะดวกซื้อ ณ สถานีจำหน่ายน้ำมัน ศาสนสถาน สถานศึกษา และให้ “สถานที่จำหน่ายสุราต้องไม่ตั้งอยู่ในบริเวณสถานศึกษาหรือศาสนสถาน รวมทั้งบริเวณต่อเนื่องติดกับสถานศึกษาหรือศาสนสถาน”

           ดังนั้นถึงเวลาที่ศาสนสถานและสถานศึกษาทุกแห่งควรจะเป็นพื้นที่ที่ปลอดการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์โดยสิ้นเชิงและปัญหาการเปลี่ยนแปลงสุรา เช่น น้ำหวานผสมแอลกอฮอล์ และการจำหน่ายและบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเหนือเวลาที่กำหนด จะได้รับการควบคุมอย่างเข้มงวด อันจะเป็นการสนองนโยบายรัฐบาลและลดปัญหาครอบครัว และสังคม ได้ทางหนึ่ง สำหรับการรณรงค์ตลอด 3 เดือนในช่วงเข้าพรรษา กระทรวงสาธารณสุขจะรณรงค์ให้วัด สถานศึกษาทุกแห่ง เป็นพื้นที่ปลอดการจำหน่ายและไม่มีการดื่มเหล้า โดจัดกิจกรรมรณรงค์ร่วมกับเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน มูลนิธิ และองค์กรพุทธศาสนา ด้วยการจัดนิทรรศการให้ความรู้เรื่องพิษภัยจากการดื่มเหล้า การเทศนาธรรมสัญจรโดยมีพระผู้ทรงคุณวุฒิแสดงธรรมโอวาทให้แก่เยาวชน ตามโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

โพลชี้งานบุญสนุก-ดื่มเหล้าในวัด "พระพยอม"หนุนกฐินปลอดเหล้า

         พระราชธรรมนิเทศ หรือพระพยอม กัลยาโณ เจ้าอาวาสวัดสวนแก้ว กล่าวภายในงานแถลงข่าวเรื่อง "กฐินปลอดเหล้า" เป็นปีแรก ที่วัดสวนแก้ว วานนี้ว่า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ร่วมมือกันเพื่อรณรงค์โครงการกฐินปลอดเหล้า ซึ่งการทอดกฐินถือว่าเป็นกาลทาน เป็นการทำทานที่เกิดในช่วงเวลาที่มีน้อย จึงควรตั้งใจทำบุญ ทำให้เป็นบุญไม่ให้แปดเปื้อนไปด้วยของมึนเมา ไม่กินเหล้าในงานกฐิน งานศพ งานบวช ถ้าญาติ โยม เมา ไม่ให้เข้าวัด วัดไหนเป็นวัดปลอดเหล้าเป็นวัดที่ดี สมควรไปทอดกฐิน อยากให้รักษาจารีตประเพณีไว้ การนำเหล้าเข้าวัดถือเป็นการทำลายกฐิน ทำลายภาพลักษณ์กฐินที่ดีงาม

         "อาตมาขอบิณฑบาต อย่าย่ำยีกติกาของวัด วัดจะได้มีหลักการ ไม่งั้นจะเป็นหลักกูของชาวบ้าน ที่กูจะทำ แต่ไม่นึกถึงหลักการของศาสนา และขอให้กำลังใจ สสส. เจ้าอาวาส พระทั้งหลาย ฆราวาสทุกคน ที่ตั้งใจจะทำให้วัดปลอดเหล้า ขอให้มีกำลังใจต่อไป เพราะกฐินที่ไม่ดื่มน้ำผลาญสติจะผลิผลบุญมหาศาล" พระพยอมกล่าว
น.พ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม รองประธานคนที่สอง สสส. กล่าวว่า ขณะนี้วัดไทยของเรากลายเป็นแหล่งดื่มน้ำเมาที่ละเมิดศีลข้อห้าของพระพุทธศาสนากันอย่างเป็นปกติไปแล้ว สังคมไทยและพุทธศาสนิกชนไทยควรจะต้องตั้งคำถามและลงมือแก้ไขเรื่องนี้อย่างจริงจังได้หรือยัง นอกจากนี้สำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ศึกษาพฤติกรรมและความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการจำหน่ายและดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกิจกรรมงานบุญ/งานวัด ในประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป รวมถึงพระภิกษุ และเจ้าของร้านจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลกว่า 2,200 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งคือร้อยละ 64.4 เคยเห็นการดื่มเหล้าเบียร์ในงานบุญ งานบวช ร้อยละ 54.9 เจอผู้ดื่มของมึนเมาในงานศพ อีก ร้อยละ 42.4 พบการดื่มน้ำเมาในงานทอดกฐิน ผ้าป่า ส่วนร้อยละ 40.5 เห็นการเอาเหล้า เบียร์มาดื่มในวัด ซึ่งกลุ่มตัวอย่างพบเห็นพูดจาหยาบคาย ด่าว่าผู้อื่นร้อยละ 45.5 ทะเลาะวิวาทร้อยละ 33.9 บังคับข่มขู่ผู้อื่นร้อยละ 24.9 ทำร้ายร่างกายผู้อื่นร้อยละ 18.3 ลักขโมยร้อยละ 15.7 หรือแม้กระทั่ง ทำลายทรัพย์สินภายในวัดร้อยละ 10 การล่วงเกินทางเพศร้อยละ 4.7 การข่มขืนร้อยละ 1.5 และร้ายแรงถึงขึ้นฆ่ากันตายในวัดเพราะเหล้าร้อยละ 1.9

          "อย่างไรก็ตาม คนไทยที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ที่เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการจัดงานบุญ โดยเฉพาะงานกฐินว่าไม่ควรดื่มเหล้า เบียร์ จึงมีผู้เห็นด้วยถึงร้อยละ 78.7 เกือบครึ่งคือร้อยละ 49.3 ยังเห็นด้วยกับการห้ามซื้อ ขายเหล้า เบียร์ ในบริเวณวัดไม่เกิน 500 เมตร และร้อยละ 35.3 เสนอให้มีกฎหรือกฎหมายห้ามไม่ให้ดื่มน้ำเมาภายในวัด ส่วนอีกร้อยละ 21.1 เห็นว่าควรห้ามซื้อขาย ดื่มเหล้าในงานบุญ งานรื่นเริงต่างๆ ในวัด และร้อยละ 13.7 เสนอว่ารัฐบาลควรห้ามผลิตหรือนำเข้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด" น.พ.อุดมศิลป์กล่าว
 

ที่มาhttp://www.matichon.co.th/khaosod (วันจันทร์ที่ 17 ตุลาคมพ.ศ. 2548)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0046136498451233 Mins