วันขึ้นสิบห้าค่ำ ทศเผลียง
โบสถ์วัดบางคูเวียง ชื่นเผ้า
พระมงคลเทพมุนีเพียง เพียรจิต
หยุดนิ่งศูนย์กลางเข้า ค้นพบธรรมกาย
ชาวโลกหมายแซ่ซ้อง กตัญญู
หวังเทิดพระคุณครู ทั่วหล้า
พระสละตนเพื่อชู ไตรรัตน์
ขอมนุษย์หยุดบาปกล้า เร่งฟื้นปฏิบัติธรรม.
เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ย่อมมีแสงอรุณขึ้นก่อนเป็นบุพนิมิต ฉันใด ความมี “ กัลยาณมิตร” ก็เป็นตัวนำ เป็นบุพนิมิตแห่งการเกิดขึ้นของหนทางพระนิพพาน แก่ผู้ประพฤติธรรม ฉันนั้น
ความมี กัลยาณมิตร จึงเท่ากับเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์ เพราะต่อให้คว้าเพชรในอากาศยังอาจง่ายเสียกว่า การพบพานสัตบุรุษผู้เป็นยอดแห่งกัลยาณมิตรนั้น เมื่อโชคดีได้พบแล้ว พึงกระทำการบูชาด้วยความตั้งใจอันเป็นกุศล มีศรัทธาตั้งมั่น จึงจะนำมาซึ่งมหาสิริอันเป็นมงคลต่อชีวิตตลอดกาลนาน
สมดังพุทธพจน์ที่ว่า ปูชา จ ปูชนียานํ เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ
การบูชาบุคคลที่ควรบูชา เป็นมงคลอย่างยิ่ง
เฉกเช่นการบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การตรัสรู้ธรรมแห่งพระพุทธองค์ จึงเป็นการจุดแสงสว่างอันอมตะ ให้ความสว่างไสวขจัดความมืดบอดความสงสัยในใจออกไปอย่างหมดสิ้น เมื่อแสงแห่งพระสัทธรรมยังส่องสว่างอยู่ สรรพสัตว์ทั้งหลายย่อมพ้นจากความมืดมน สงบเย็นด้วยรังสีแห่งธรรมอันไม่มีประมาณ การบังเกิดขึ้นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น พระพุทธองค์ทรงอุบัติพร้อมด้วย “ ธรรมกาย” พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ธรรมได้ด้วยธรรมกาย ดังนั้น คำว่า ธรรมกาย จึงเป็นพระนามหนึ่งของพระพุทธองค์
แต่น่าเสียดายว่า “ วิชชาธรรมกาย” แนวทางปฏิบัติอันเป็นหนทางเข้าถึงวิชชาของพระพุทธองค์ ได้สูญหายไปจากโลกเมื่อหลังพุทธปรินิพพานได้เพียง ๕๐๐ ปี หลังจากนั้นการปรากฎของคำว่า “ ธรรมกาย” ให้ชาวโลกทั้งหลายได้รู้ จึงเป็นเพียงอักษรจารึกไว้ไม่กี่แห่งในพระไตรปิฎก ถึงแม้จะมีพระอรรถกถาจารย์หรือผู้รู้ทางศาสนามาอธิบาย ก็ยังไม่สามารถเข้าใจให้กระจ่างชัดเจน ไม่มีคำอธิบายใดๆ เลยว่า
ธรรมกาย คือ อะไร ตั้งอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร และจะมีแนวปฏิบัติอย่างไร เพื่อที่จะให้เข้าถึง “ ธรรมกาย” นั้น ด้วยความละเลยจนเกิดความลืมเลือนดังกล่าว คำว่า “ ธรรมกาย” จึงกลายเป็นคำที่ผู้ได้รู้ได้ฟังในภายหลังรู้สึกว่าเป็นคำแปลกใหม่ไป
จนกระทั่ง พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมหาเถระรูปหนึ่งในยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ได้อุทิศแรงกายแรงใจศึกษาทั้งด้านปริยัติและปฏิบัติ ปรารภความเพียรอย่างแรงกล้า จนสามารถค้นคว้าวิชชาธรรมกายกลับคืนมาให้ชาวโลกได้อีกครั้งหนึ่ง วันนั้น เป็นค่ำคืนวันเพ็ญเดือน ๑๐ ภายในอุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ตั้งสัจจาธิษฐาน ต่อหน้าพระประธานว่า “ ถ้านั่งลงไปในครั้งนี้ หากไม่รู้ไม่เห็นธรรมแห่งพระพุทธองค์แล้ว ก็จะไม่ลุกจากที่จนหมดชีวิต”
เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปแล้ว ก็เริ่มปรารภนั่งภาวนา ได้แสดงความอ้อนวอนต่อพระพุทธเจ้าว่า
“ ขอพระองค์ได้ทรงโปรดประทานธรรมแก่ข้าพระพุทธเจ้าด้วยเถิด หากว่าการบรรลุธรรมของพระพุทธเจ้าจะเกิดประโยชน์แก่พระศาสนาอย่างมหาศาลแล้วละก็ ขอทรงได้ประทานเถิด ข้าพระพุทธเจ้าจะรับอาสาเป็นทนายแก้ต่างให้แก่พระพุทธศาสนา หากว่าไม่เกิดประโยชน์แล้วไซร้ ขออย่าได้ทรงประทานเลย ข้าพระพุทธเจ้าขอถวายชีวิตอัตภาพนี้ เป็นพุทธบูชาแด่พระองค์”
และแล้วด้วยการปรารภความเพียรอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน กลางดึกสงัดแห่งวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐ หลวงพ่อวัดปากน้ำได้พบกับ “ ธรรมกาย” อันเป็นกายภายในที่เป็นบ่อเกิดแห่งความสุขที่แท้จริงของมนุษย์ การได้เห็นธรรมกายแห่งพระพุทธองค์ จึงเป็นการค้นพบ “ วิชชา” ที่จะนำมาซึ่งความสุขและคุณประโยชน์อันมหาศาลแก่ชาวโลก
การค้นพบวิชชาธรรมกายของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ถือเป็นการค้นพบอันยิ่งใหญ่ เพราะเป็นหลักธรรมปฏิบัติที่สามารถยืนยันด้วยหลักปริยัติธรรม และสอดคล้องกับหลักธรรมในพระไตรปิฎกอย่างถูกต้อง คำว่า ธรรมกาย แม้จะดูเหมือนเป็นคำใหม่ แต่แท้จริงคือคำเก่าที่มีปรากฎในพระไตรปิฎกหลายแห่ง ดังใน พระสูตร ฑีฆนิกาย ปาฏิกวรรค ได้กล่าวถึงพระพุทธองค์ตรัสเกี่ยวกับ “ ธรรมกาย” ว่า
“ ดูก่อน วาเสฏฐะ อันว่า คำว่าธรรมกายก็ดี พรหมกายก็ดี ธรรมภูติผู้ที่เป็นธรรมก็ดี ผู้เป็นพรหมก็ดีนี้แหละเป็นชื่อของเราตถาคต”
ธรรมกายจึงเป็นการตรัสรู้ธรรม บุคคลผู้มีความเพียรแล้วย่อมสามารถบรรลุได้ สามารถทำให้เกิดความสว่างไสวแห่งธรรมกายภายในตน วิชชาธรรมกายจึงเป็นวิชชาอันเลิศล้ำและสูงค่าของชาวโลก นำความสุขแท้จริงมาให้อย่างเสมอทัดเทียมกัน ดุจดวงอาทิตย์ ที่มิได้เป็นสมบัติเฉพาะของผู้หนึ่งผู้ใด แต่เป็นสมบัติกลางของมนุษยชาติที่ให้ประโยชน์มหาศาลแก่ทุกๆ ชีวิต
ดังนั้น พระมงคลเทพมุนี หลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย และได้นำแนวทางปฏิบัติมาเผยแผ่แก่ชาวโลกจนตลอดชีวิตของท่าน จึงควรได้รับการยกย่องอย่างสูงส่งในฐานะ มหาปูชนียาจารย์ ผู้เลิศยากจะพรรณาคุณได้หมดสิ้น แม้จะสลักนามหรือรูปกายของท่านไว้ในภูเขาเพื่อสักการบูชา หรือจะนำเอารัตนชาติเท่าขุนเขาหิมาลัยมาสลักรูปท่านได้ ตั้งเป็นอนุสาวรีย์แห่งการค้นพบแนวทางแห่งอิสรภาพ ก็หาได้สมค่าแห่งศรัทธาและสักการะบูชาอันเยี่ยมไม่
บัดนี้นับเป็นเวลา ๔๖ ปี แห่งการมรณภาพของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ พระมงคลเทพมุนี นับตั้งแต่วันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ. ศ. ๒๕๐๒ เป็นต้นมา เมื่อถึงวันสำคัญวันนี้ในแต่ละปี เหล่าศิษยานุศิษย์
ผู้มุ่งจะสานต่อมโนปณิธานและแนวคำสอนของยอดมหาปูชนียาจารย์ ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย จะมาร่วมหลอมรวมใจแสดงความกตัญญูกตเวทิตา รำลึกถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ของท่านที่มีต่อพวกเราทั้งหลายตลอดมา
ชีวิตทั้งชีวิตของหลวงพ่อวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ท่านอุทิศเพื่อสั่งสอนสิ่งอันประเสริฐที่มีค่าที่สุดแก่มวลมนุษยชาติ วิชชาธรรมกายที่ท่านค้นพบ คือ หนทางบริสุทธิ์ที่ช่วยปิดทางอบาย และเปิดทางสวรรค์อย่างแท้จริง แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่ยังได้ทิ้งมรดกธรรมอันล้ำค่าไว้ให้เป็นแนวทางแห่งการดำเนินชีวิตอันถูกต้อง บุคคลใดก็ตามเพียงทำใจหยุดนิ่ง ณ ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ เหนือสะดือขึ้นมา ๒ นิ้วมือ ย่อมพบหนทางแห่งพระรัตนตรัยเหมือนกันทุกคน โดยไม่แบ่งแยกเชื้อชาติ ภาษา ศาสนาและเผ่าพันธ์ใด
ดังนั้น ในวาระแห่งวันมหาปูชนียาจารย์ ที่ได้เวียนมาบรรจบครบอีกวาระหนึ่ง จึงขอเรียนเชิญเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลายร่วมใจกันแสดงความกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการบูชาบุคคลที่ควรบูชา ไม่ว่าจะเป็นการปฏิบัติบูชา หรืออามิสบูชา ยังเส้นทางมหาปูชนียาจารย์ทั้ง ๔ แห่ง ที่เกี่ยวเนื่องด้วยหลวงพ่อวัดปากน้ำ ได้แก่ สถานที่เกิด คือ อำเภอสองพี่น้อง สถานที่อุปสมบท คือ วัดสองพี่น้อง สถานที่บรรลุธรรมคืออุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง จ. นนทบุรี และสถานที่เผยแผ่ธรรม คือ วัดปากน้ำภาษีเจริญ
เมื่อได้สักการบูชายอดมหาปูชนียาจารย์ ครั้งใด ย่อมทำให้รำลึกถึงโอวาท คำสอน และปณิธานอันสูงส่งของหลวงพ่อ ซึ่งจะทำให้เราเกิดอนุสสติเตือนใจและยกใจชาวโลก ให้รู้จักคุณค่าแห่งธรรมและความยิ่งใหญ่ของวิชชาธรรมกาย มุ่งที่ประพฤติตามแบบอันงดงามที่ท่านได้ก้าวเดินไว้แล้ว อันจะเป็นเหตุเป็นปัจจัย ให้ไปถึงเป้าหมายในชีวิตได้ในที่สุด