วันฉัตรมงคล..ร่วมใจภักดิ์ปฏิบัติบูชา

วันที่ 05 พค. พ.ศ.2549

 

 

               "ฉัตรมงคล" เป็นพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรสิริราชกกุธภัณฑ์ พระแสงประจำรัชกาล ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษกเสวยราชสมบัติตามราชประเพณี (จาก..พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕)

ความเป็นมาในการจัดพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพิธีที่จัดต้อนรับหรือรับรองฐานะความเป็นประมุขของสังคม อย่างเป็นกิจจะลักษณะ ซึ่งมีมาแต่ครั้งพ่อขุนผาเมือง ได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือพ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย ดังปรากฏหลักฐานในศิลาจารึกวัดศรีชุมของพญาลิไท ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ทรงฟื้นฟูวัฒนธรรมของชาติทุกสาขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์

          พระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า "พระบาท" นำหน้า "สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า "พระบรมราชโองการ" และที่สำคัญ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร ๙ ชั้น

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงรับพระบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์แห่งประเทศไทยโดยสมบูรณ์ กล่าวคือ เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติ ต่อจากสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๙ แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงเสด็จนิวัติประเทศไทย

รัฐบาลจึงได้น้อมเกล้าฯ จัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกถวาย พระราชพิธีฉัตรมงคลรัชกาลปัจจุบัน ตรงกับวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ทรงกระทำพระราชพิธี เสด็จขึ้นครองราชย์ เป็นอันดับที่ ๙ แห่งราชวงศ์จักรี สำหรับพระสุพรรณบัฎ จารึกพระปรมาภิไธยว่า "พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร์ สยามมินทราธิราช บรมนาถบพิตร" จึงถือว่าวันที่ ๕ พฤษภาคม ของทุกปีเป็นมหามงคลสมัย พสกนิกรและรัฐบาล ต่างพร้อมใจด้วยความจงรักภักดี ต่อพระองค์โดยการจัดพิธีฉลอง วันขึ้นครองราชย์ เรียกว่า "รัฐพิธีฉัตรมงคล" บ้างก็เรียกว่า "พระราชพิธีฉัตรมงคล"

แต่เดิมยังไม่มีพิธีดังกล่าว  คงมีแต่พนักงานฝ่ายหน้า ฝ่ายในพระบรมมหาราชวัง จัดงานสมโภชเครื่องราชูปโภคและตำแหน่งซึ่งตนรักษามา ในเดือนหกทางจันทรคติ สมัยนั้นไม่ถือเป็นงานหลวง จนกระทั่งถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์   ทรงกระทำพิธีบรมราชาภิเษกเมื่อวันที่ ๖ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ แล้ว ทรงพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัย ประเทศทั้งหลายที่มีพระเจ้าแผ่นดิน  หรือพระราชินีครองประเทศ ย่อมนับถือว่าวันนี้เป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล ต่างก็จัดงานขึ้นเป็นอนุสรณ์ ส่วนในประเทศของเรายังไม่ควรจะจัดขึ้น แต่จะประกาศแก่คนทั้งหลายว่าจะจัดงานวันบรมราชาภิเษก     ผู้คนในขณะนั้นยังไม่คุ้นเคยย่อมไม่เข้าใจ     ทรงพระราชดำริ ว่าเป็นการยากที่จะทรงอธิบายความหมายโดยละเอียดได้    จึงโปรดให้เรียกชื่อไปตามเก่าว่างานสมโภชเครื่องราชูปโภค แต่ทำในวันคล้ายวันราชาภิเษก นิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์ในวันขึ้น ๑๓ ค่ำ เดือน ๖ รุ่งขึ้นพระสงฆ์ฉันที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ด้วยเหตุนี้จึงถือว่า พระราชพิธีฉัตรมงคลเริ่มมีขึ้นในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นครั้งแรก

ในรัชกาลปัจจุบัน พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จัดงาน ๓ วัน วันแรกตรงกับวันที่ ๓ พฤษภาคม เป็นงานพระราชกุศลทักษิณานุประทาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย อุทิศถวายแต่ พระบรมราชบุพการีเป็นพิธีสงฆ์ สดัปกรณ์ พระบรมอัฐิ สมเด็จสวดพระพุทธมนต์ แล้ว พระราชาคณะถวายพระธรรมเทศนา พระสงฆ์สดัปกรณ์ พระบรมอัฐิ สมเด็จพระบรมราชบุรพการี วันที่ ๔ พฤษภาคม เริ่มพระราชพิธี ฉัตรมงคล มีงานเลี้ยงพระและสมโภชเครื่องราชกกุธภัณฑ์ ตอนเที่ยง ทหารบก ทหารเรือ ยิงปืนใหญ่ เฉลิมพระเกียรติฝ่ายละ ๒๑ นัด ในวันนี้ จะทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เครื่องราชอิสริยาภรณ์ แก่ผู้ที่สร้าง คุณงามความดี แก่ประเทศอีกด้วย กิจกรรมที่ควรปฏิบัติในวันฉัตรมงคล ได้แก่ ประดับธงชาติตามอาคารบ้านเรือนและสถานที่ราชการ, ร่วมทำบุญตักบาตร, ประกอบพิธีทางศาสนาถวายเป็นพระราชกุศล

จากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระบรมราชโองการว่า "เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม" ล่วงถึงปีที่ ๖๐ แล้ว ยังทรงครองแผ่นดินด้วยทศพิธราชธรรมตลอดมา จึงสมควรแล้วที่ประชาชนชาวไทยจะร่วมใจน้อมเกล้าฯ ถวายพระพรชัยโดยพร้อมเพรียงกัน ถวายอาศิรวาทราชสดุดี ถวายชัยมงคลให้ทรงพระเกษมสำราญ ทรงเจริญพระชนมายุยิ่ง เป็นมหามิ่งขวัญแก่พสกนิกรชาวไทยไปยังกาลยิ่งยืนนาน

 

--------------------------------------- 
 

อ้างอิง:     - หนังสือ "วันสำคัญของไทย" โดย สุภักดิ์ อนุกูล

- หนังสือ "เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับประเทศไทย"  โดย ธนพล จาดใจดี

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.034746034940084 Mins