สงกรานต์ ในมิติของ “สมานฉันท์” แบบไทยๆ

วันที่ 20 เมย. พ.ศ.2548

.....ช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา มีเรื่องดีๆ เกี่ยวกับพระพุทธศาสนามากมาย ทั้งเรื่องที่นำมาทบทวนเพื่อความชื่นใจ และเรื่องที่ต้องตดตามความคืบหน้าต่อไป

เริ่มจากเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 เมษายน 2548 ทางรัฐบาลได้ร่วมกับชาวไทยทุกศาสนา ทั้งศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ ศาสนาพราหมณ์- ฮินดู และศาสนาซิก ได้ร่วมใจกันจัดงานเพื่อแสดงพลังสมานฉันท์ เพื่อนำไปสู่ความสงบสุขและสันติภาพ และความเป็นสิริมงคลแก่ประเทศ หรือเรียกกันง่ายๆ ว่า “ ทำบุญประเทศ”

แม้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกศาสนา โดยเฉพาะผู้นำทุกศาสนา เริ่มพิธีกันตั้งแต่เช้า มีการทำบุญตักบาตร หลังจากนั้นช่วงบ่าย 3 ทางศาสนาพุทธไปทำบุญกันที่วัดพระแก้ว ซึ่งนายกฯทักษิณไปเป็นประธานฝ่ายฆราวาส พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ เปิด “ ปราสาทพระเทพบิดร” ให้ประชาชนเข้าสักการะด้วย

 

สมานฉันท์ทุกศาสนา

หลังจากนั้น 6 โมงเย็น ทุกศาสนามารวมกันที่สวนอัมพร โดยแบ่งเป็นประรำพิธีและมีตัวแทนจากภาครัฐเป็นประธานฝ่ายฆราวาสในแต่ละประรำพิธีนั้นๆ เริ่มจากของศาสนาพุทธ นายกฯทักษิณ เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานฝ่ายสงฆ์

ส่วนศาสนาอิสลาม มี ฯพณฯ โภคิน พลกุล ประธานรัฐสภา เป็นประธาน ทางด้านศาสนาคริสต์ ท่านประธานศาลยุติธรรม เป็นประธาน ด้านศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู มีผู้แทนพรรคฝ่ายค้าน คือ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นประธาน ประรำพิธีทางด้านศาสนาซิก มี ดร. กระมล ทองธรรมชาติ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และผู้แทนประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ร่วมเป็นประธาน

นายกฯทักษิณ กล่าวในรายการ " นายกฯ ทักษิณ คุยกับประชาชน" ทางคลื่น F.M. 92.5 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในวันเสาร์ที่ 16 เมษายน 2548 ว่า

“ เป็นบรรยากาศที่ดีมากๆ นะครับ คนที่อยู่ในบรรยากาศ หรือที่ฟังถ่ายทอดอยู่ก็จะเห็นชัดว่า ทุกศาสนามีความตั้งใจมาก เพราะว่าเรามีจุดหมายปลายทางเดียวกันคือความสงบสุขและสันติภาพ เพราะฉะนั้นทุกคนก็ตั้งใจที่อยากจะให้คนในแต่ละศาสนาได้มาเห็นดีเห็นงามกับการประกอบพิธี เพื่อให้รู้ว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยเรานั้นจะต้องเริ่มตั้งต้นกันในทางที่มีความสมานฉันท์ ในทางที่จะเกิดความสันติมากขึ้น และก็ขอให้ทุกสิ่งทุกอย่างมันพ้นไป เราเริ่มต้นใหม่ในทางที่ดีด้วยกัน ก็เป็นการทำบุญที่ถือว่าสบายใจ ก็ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ได้มาร่วมกัน”

 

วิสาขบูชา : ความสมานฉันท์ในหมู่ชาวพุทธ
  เรื่องต่อมา ในวันจันทร์ที่ 11 เมษายน 2548 นายกฯทักษิณ ได้ให้คณะของพลตรีจำลอง ศรีเมืองประธานศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาคุณธรรมและจริยธรรม หรือเรียกสั้นๆว่า ศูนย์คุณธรรม พร้อมคณะพระภิกษุสงฆ์ แม่ชีศันสนีย์ และอีกหลายฝ่าย เข้าพบเพื่อปรึกษาเรื่องเตรียมการจัดงาน “ วันวิสาขบูชาโลก”

นายกฯทักษิณ มีแนวคิดที่น่าสนใจว่า อยากให้ชาวพุทธได้มาพบกันเพื่อปฏิบัติธรรม อย่างน้อยๆ ปีละ 1 ครั้ง เพื่อมาฟังพระธรรมเทศนาให้เกิดจิตใจที่สบาย จิตใจที่มีปัญญา ในการที่จะเผชิญกับปัญหาต่างๆ เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่เก่าแก่ อายุ 2,500 กว่าปี แล้วสิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้เป็นประโยชน์ เป็นแสงนำทางในการปฏิบัติตนและดำเนินชีวิตของมนุษย์จนถึงทุกวันนี้

“ แม้กระทั่ง “ ไอน์สไตน์” ได้พูดไว้เมื่อ 100 ปีที่แล้วก็ยังยืนยันว่า ศาสนาพุทธเป็นศาสนาที่มีความเป็นศาสตร์มาก เป็นศาสนาที่มีเหตุมีผล เป็นศาสนาที่เป็นประโยชน์มาก ”

นายกฯ มีความเห็นว่า ชาวพุทธต้องยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้ได้ ไม่ใช่ไปใช้วิธีอื่น เช่น ไสยศาสตร์ ซึ่งเป็นความเชื่อที่งมงาย และพระพุทธเจ้าไม่ได้สอนไว้เลย พระพุทธเจ้าสอนถึงเรื่องของปรัชญา หลักธรรมในการปฏิบัติตน เพื่อให้คนเราสามารถครองตนได้ดี

“ เราคิดกันว่า วิสาขบูชานี่ เราควรเชิญชวนชาวพุทธทั่วโลกมาร่วมกันปฏิบัติธรรม ตอนแรกเราก็วางแผนกันว่าจะใช้พุทธมณฑล เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสำนักพุทธศาสนา ศูนย์คุณธรรม และทางมหาเถรสมาคม สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือว่า ชาวพุทธเองต้องมีความสมานฉันท์ในหมู่ชาวพุทธด้วย ความจริงแล้วมาตรา 38 ของรัฐธรรมนูญระบุไว้ชัดครับว่า เราจะให้เสรีภาพในการนับถือศาสนา แล้วยังไม่พอ ไม่เลือกนิกาย ไม่เลือกลัทธิและความเชื่อ เพราะฉะนั้นใครจะเชื่ออย่างไรไม่ว่ากัน แต่ว่าเป้าหมายสูงสุด ก็คือ ต้องยึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก ส่วนรายละเอียดใครจะไปอย่างไร ยังไม่เป็นไร ขอให้หลักการก็คือว่ายึดหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ผมยังคิดว่า เรื่องนี้เราจะต้องสมานฉันท์ในหมู่ชาวพุทธของเราให้ได้”

นายกฯ ตั้งใจจัดงานวิสาขบูชาให้ยิ่งใหญ่ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของชาวพุทธทั้งหลาย ได้มาร่วมกันทำจิตใจให้แจ่มใสด้วยการปฏิบัติธรรม มาฟังพระธรรมเทศนา ได้เกิดปัญญาแห่งการดำรงชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องดำเนินการต่อไป ขณะนี้สำนักพุทธศาสนากำลังเตรียมการในเรื่องนี้โดยประสานกับทุกภาคส่วน เพื่อให้เกิดพลังในการจัดงาน โดยในปีแรกเน้นที่พุทธศาสนิกชนไทยเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งชาวพุทธจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะมาร่วมบ้าง และค่อยๆ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในปีต่อๆ ไป

 

สงกรานต์ : ปีใหม่ไทยได้ทำบุญ

เรื่องต่อมาเป็นเกร็ดวันสงกรานต์ เริ่มจากเมื่อวันเสาร์ที่ 9 เมษายน นายกฯไปเปิดงาน “ เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์” ซึ่งทางกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จัดขึ้น ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย งานออกมาประสบความสำเร็จและเรียบร้อยด้วยดี

ส่วนในวันพุธที่ 13 เมษายน นายกฯได้ไปร่วมงานที่เชียงใหม่ ตอนเช้าทำบุญตักบาตร เรียกว่า “ ทำบุญตักบาตรปี๋ใหม่เมือง” ร่วมกับพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ และนักท่องเที่ยวมาร่วมด้วย นิมนต์พระ 100 กว่ารูป หลังจากนั้นตอนบ่าย ท่านไปเป็นประธานในพิธีอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ และพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองของเชียงใหม่ เพื่อให้ประชาชนสรงน้ำและร่วมขบวนแห่ไปตามถนนท่าแพ นับเป็นครั้งแรกที่นายกฯทักษิณได้มาเป็นประธานอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ขึ้นบนบุษบก และขึ้นสรงน้ำด้วยตนเองแบบใกล้องค์พระ จากเดิมที่เคยแต่ร่วมสรงน้ำด้วยการสาดน้ำขึ้นไปเท่านั้น ก็นับว่า สงกรานต์ที่เชียงใหม่เรียบร้อยดีมาก เพราะชาวเชียงใหม่ช่วยกันรักษาและอนุรักษ์ประเพณีไว้ ด้วยเหตุนี้ทุกปี ทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวต่างประเทศจะมาเที่ยวกันอย่างมากมาย ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีในแง่ส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยว

 

“ ครูพระต้นแบบ”

เรื่องสุดท้าย ในการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันอังคารที่ 12 เมษายน ในส่วนที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา นายกฯได้มอบหมายให้ รองนายกฯ จาตุรนต์ ฉายแสง ซึ่งเป็นผู้ดูแลสำนักพระพุทธศาสนา หาแนวทางร่วมกับ รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม เพื่อทำให้เกิดความเข้มแข็งกับศาสนาพุทธของประเทศในทุกๆ มิติ

และให้กระทรวงศึกษาธิการ หาทางนำหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไปเผยแพร่อย่างถูกต้อง ให้เป็นหลักชี้นำในชีวิตของคน เพื่อประพฤติปฏิบัติตนให้เกิดความสุขได้ในครอบครัว เพราะกระทรวงศึกษาฯ มีโครงการ “ ครูต้นแบบ” อยู่แล้ว จึงให้ปรึกษากับทางมหาเถรสมาคม เพื่อสร้าง “ ครูพระต้นแบบ” ที่มีความเข้าใจปรัชญาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เพื่อนำไปเทศนาสั่งสอนกับพี่น้องประชาชนให้ถูกต้องตามหลักการ

บรรยากาศช่วงสงกรานต์เป็นความเบิกบานของชาวไทย ทั้งชาวพุทธและพี่น้องศาสนิกต่างๆ ถ้ามีกิจกรรมดีๆ อย่างนี้มากๆ “ คนไทย” จะรวมตัวได้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น และเพื่อให้ความสมานฉันท์เกิดขึ้นอย่างแท้จริง ต้อง “ แสวงจุดร่วม สมานจุดต่าง” ในทุกเรื่องและทุกภาคส่วน ทั้งต่างศาสนาและที่สำคัญในศาสนาเดียวกันเอง !!!

 

"วุฑฒิวงศ"์

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.025222432613373 Mins