คล้ายวาระวันเกิด 69 ปี พระพรหมวชิรญาณ

วันที่ 23 พค. พ.ศ.2549

         พระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ อธิบดีสงฆ์วัดยานนาวา พระมหาเถระแห่งสังฆมณฑล ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาพรหมวิหารธรรม เพียบพร้อมด้วยศีลาจารวัตรที่งดงาม พระผู้มุ่งอุทิศชีวิตถวายไว้ในพระพุทธศาสนา นำพาพุทธศาสนิกชนให้ตั้งอยู่ในหลักธรรมคำสั่งสอน เผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยความมุ่งมั่นเสียสละมากมายบำเพ็ญประโยชน์แก่ตน ทั้งเพื่อเกื้อกูลแก่มหาชนมายาวนาน จนเป็นที่เคารพนับถือของบรรดาพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งภายในและต่างประเทศมาอย่างต่อเนื่อง

พระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ (ประสิทธิ์ เขมงฺกโร) เกิดเมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ ที่จังหวัดอุบลราชธานี นามสกุลเดิมคือสุทธิพันธ์ บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุ ๑๒ ปีที่วัดยางน้อยจังหวัดอุบลราชธานี และอุปสมบทเมื่ออายุครบ ๒๐ ปีที่วัดจักรวรรดิราชาวาส สำเร็จนักธรรมชั้นเอกจากสำนักเรียนวัดมณีวนาราม จังหวัดอุบลราชธานี และเปรียญธรรม ๓ ประโยคจากสำนักเรียนวัดจักรวรรดิราชาวาส และยังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาหลายสาขา ปริญญาล่าสุดคือ ปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิติมศักดิ์ (ปร.ด.) สาขาศึกษาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง) ได้รับพระราชทานสมศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จที่พระพรหมวชิรญาณ และได้รับพระราชทานหิรัญบัฏเป็นเจ้าอาวาสวัดยานนาวา เมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๕

ท่านเคยกล่าวไว้ว่า ...” จากที่ฉันได้ศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของวัดยานนาวา จะเห็นได้ว่าวัดโบราณของไทยไม่ได้เป็นเพียงศาสนสถานที่เผยแพร่และอบรมศีลธรรมแก่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น แต่ยังเป็นสถานที่ที่ให้ความรู้ด้านการปกครองและยุทธวิธีทางการทหารต่อสถาบันกษัตริย์และบรรดานักรบทั้งหลาย เพื่อใช้ในการป้องกันประเทศอีกด้วย ฉันจึงอยากให้คนไทยทุกคนหันมาศึกษาค้นคว้าประวัติศาสตร์ของวัดไทยในอดีต อันเป็นสถานที่ที่สร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งนับเป็นความภาคภูมิใจของชาวไทยทุกคน

พระเดชพระคุณท่านฯ มีคุณูปการในงานพระศาสนามากมาย ทั้งในด้านการเผยแผ่ ด้านสาธารณประโยชน์ ภายในวัดยานนาวาที่ได้ทำการปฏิสังขรณ์เรือสำเภา โรงเรียนพระปริยัติธรรม กุฏิสงฆ์ และหอพระไตรปิฎกให้สวยงามขึ้น และได้สร้างพระพุทธปฏิมาปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นปางประจำพระชนมวารของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมทั้งสร้างฐานซุ้มและอัญเชิญขึ้นประดิษฐานไว้ในมณฑป ชั้น ๓ ของอาคารศาลามหาเจษฎาบดินทร์ โดยถวายพระนามว่า “พระพุทธปฏิมาสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว” และได้ย้ายเตาเมรุออกจากชั้น ๑ อาคารมหาเจษฎาบดินทร์ เพื่อให้อาคารนี้เป็นอาคารเฉลิมพระเกียรติอย่างแท้จริง และจากที่เป็นศิลปินที่เชี่ยวชาญงานด้านศิลปะ จึงเข้ารับธุระพระผู้สานงานศิลปาชีพ เพื่อสนองพระปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ

       ในต่างประเทศ พระเดชพระคุณท่านฯ เป็นกำลังหลักในการก่อตั้งวัดธัมมาราม นครชิคาโก ที่พัฒนามั่นคงมาจนถึงปัจจุบัน คอยเป็นกำลังใจให้การสนับสนุนพระสงฆ์และญาติโยมสาธุชน ชาวไทยในต่างแดนดังกล่าวสม่ำเสมอ คือการเริ่มต้นตั้ง ศูนย์พุทธศาสนาไทยแห่งรัฐอิลลินอยส์ขึ้น เมื่อ ๑๓ กันยายน ๒๕๑๖ ต่อมาได้รับการยกฐานะเป็นวัดพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทแห่งแรก ในนครชิคาโก เมื่อ ๑๓ เมษายน ๒๕๑๙ กับทั้งได้จัดหาซื้ออาคารสถานที่ตั้งวัด กุฏิสงฆ์ “อาคารพระพรหมวชิรญาณ” ในปี ๒๕๔๕ และปฏิบัติพัฒนาศาสนกิจต่างๆ เป็นหิตานุหิตประโยชน์แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง สืบมาจนถึงบัดนี้

พระเดชพระคุณท่านฯ ซึ่งเป็นผู้นำพุทธบริษัทในการสถาปนาวัดธัมมาราม และเป็นเจ้าอาวาสองค์ปฐม ที่นำคณะสงฆ์และพุทธศาสนิกชนปฏิบัติศาสนกิจและการกุศลสงเคราะห์ต่างๆ มาแต่เริ่มต้น เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการก่อตั้ง สมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา และเป็นประธานสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริการูปแรก ปัจจุบันยังดำรงตำแหน่งกรรมการอุปถัมภ์ และที่ปรึกษาสมัชชาสงฆ์ไทยในสหรัฐอเมริกา พระเดชพระคุณได้อุทิศชีวิต บริหารศาสนกิจและเผยแผ่พระพุทธศาสนาทั้งแก่ ชาวไทย และชาวต่างประเทศ อย่างไม่เห็นแก่ความเหนื่อยยากแต่ประการใด

และด้วยเกียรติประวัติทั้งหลาย สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยความเห็นชอบของ มหาเถรสมาคม จึงทรงยกย่องและมีพระบัญชาแต่งตั้งพระเดชพระคุณท่านฯ เป็น กรรมการมหาเถรสมาคม และเป็น เจ้าอาวาส พระอารามหลวง วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร เมื่อปลายปี ๒๕๔๕ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาสมณศักดิ์ ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ (รองสมเด็จพระราชาคณะ) ในราชทินนามที่ พระพรหมวชิรญาณ (เป็นกรณีพิเศษ) เนื่องในพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวา ๒๕๔๕ ยังความปีติโสมนัสมาสู่วงการคณะสงฆ์ และพุทธศาสนิกชน ทั้งในประเทศและต่างแดน

ในวันพุธที่ ๒๔ พฤษภาคมนี้ วาระโอกาสวันคล้ายวันเกิดอายุ ๖๙ ปี ด้วยตระหนักถึงคุณูปการและเกียรติคุณ คณะสงฆ์ พร้อมด้วยพุทธศาสนิกชน และศิษยานุศิษย์ ผู้มีความเคารพนับถือในพระเดชพระคุณพระพรหมวชิรญาณ จึงพร้อมใจกัน ถวายมุทิตาสักการะแด่พระเดชพระคุณท่านฯ น้อมนำบุญกุศลถวาย เพื่อท่านดำรงอยู่เป็นกำลังหลักในพระพุทธศาสนา เป็นมิ่งขวัญกำลังใจ ให้เป็นที่พึ่งของพุทธศาสนิกชนทั้งภายในและต่างประเทศให้ยิ่ง ๆ สืบไป

 

วัดยานนาวา

พระอารามหลวง ชั้นตรี ชนิดสามัญ ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ติดถนนเจริญกรุง เขตยานนาวา เป็นวัดโบราณ มีมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ในสมัยกรุงธนบุรีได้รับการยกฐานะเป็นพระอารามหลวง ต่อมารัชกาลที่ ๑ ทรงสร้างพระอุโบสถใหม่

ในสมัย รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์และสร้างสำเภาพระเจดีย์แทนพระสถูปเจดีย์ทั่วไป เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เห็นรูปแบบเรือสำเภาซึ่งกำลังจะหมดไปจากเมืองไทย จึงได้ชื่อว่า วัดยานนาวา

สำเภายานนาวา มีความยาววัดจาดหงอนข้างบนถึงท้ายบาหลี ๒๑ วา ๒ ศอก ความยาวส่วนล่างวัดที่พื้นดิน ๑๘ วา ๑ ศอกเศษ ส่วนกว้างตอนกลางลำ ๔ วา ๓ ศอก ส่วนสูงตอนกลางลำ ๒ วา ๓ ศอก มีพระเจดีย์องค์ใหญ่และเล็กอยู่ในลำสำเภารวม ๒ องค์ ที่ห้องบาหลีมีรูปหล่อของพระเวสสันดรกับพระกัญหาชาลีประดิษฐานอยู่ ซึ่งสืบเนื่องมาจากเนื้อความในมหาชาติคำหลวง ที่พระเวสสันดรโน้มน้าวใจโอรสธิดา ให้อุทิศตนเพื่อร่วมกับพระบิดาสร้างมหากุศล อันจักเป็นเสมือนเรือสำเภาใหญ่พามนุษยชาติข้ามโอฆสงสารไปสู่พระนิพพาน

ในพระอุโบสถซึ่งสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๑ ด้านหลังบานประตูมีภาพจิตรกรรมสำคัญที่รัชกาลที่ ๓ ทรงโปรดเกล้าฯ ให้วาดขึ้น คือรูปกระทงใหญ่ตามแบบที่ทำในพระราชพิธีลอยพระประทีป และโถยาคูตามแบบอย่างที่ทำเลี้ยงพระในพระราชพิธีสารทในรัชสมัยของพระองค์.

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.012189916769663 Mins