ตลท.ตะแบงเรื่องนำเมาขาดคุณสมบัติที่จะเข้าตลาดหุ้น

วันที่ 14 สค. พ.ศ.2548

ตลท.ไม่ห้าม"เบียร์ช้าง"แต่ยังไม่รับ...

รอ ก.ล.ต.ทบทวนมติเก่าไฟเขียวหุ้นแอลกอฮอล์

 


 

บอร์ดตลาดหลักทรัพย์ฯ เผยธุรกิจต้องห้าม ยาสูบ การพนัน อาวุธสงคราม ไม่ได้ห้ามธุรกิจแอลกอฮอลล์เข้า ตลท. แต่ไม่ชี้ขาดรับเบียร์ช้างวันนี้ ขอให้รอบอร์ดก.ล.ต.ทบทวนการรับธุรกิจแอลกอฮอล์ใหม่อีกครั้งในเดือนกันยายนแจ้งกลับมายัง ตลท.อีกครั้งก่อน


วันนี้ (1 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานผลการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือบอร์ด ตลท. ซึ่งเริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อเวลา 17.30 น. จนถึงเวลา 21.00 น.เศษ จึงได้ข้อสรุป และมีการแถลงต่อผู้สื่อข่าว

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กรรมการและผู้จัดการ ตลท. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า บอร์ด ตลท. พิจารณาวาระเดียว เรื่องหลักเกณฑ์การรับหลักทรัพย์ โดยมีความเห็นว่าการนำหลักทรัพย์เข้าจดทะเบียนใน ตลท.มิได้พิจารณารับธุรกิจทุกประเภท โดยจะปฏิเสธธุรกิจที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือ มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และสังคมที่ต่ำ เช่น ยาสูบ การพนัน และอาวุธสงครามไม่ให้เข้า ตลท.

สำหรับธุรกิจแอลกอฮอล์บอร์ดได้ศึกษาและเห็นว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการ ก.ล.ต. ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์ จะได้ประสานงานกับ ก.ล.ต.อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ได้ข้อยุติต่อไป

 

 

ธุรกิจน้ำเมาขาดคุณสมบัติที่จะเข้าตลาดหุ้น

 

จากประกาศคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่กจ.12/2543 ข้อ4 (ก) ได้กำหนดคุณสมบัติของธุรกิจที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯไว้ว่า จะต้องมี “ธุรกิจหลักเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ” โปรดสังเกตว่า ข้อกำหนด 4 (ก) ใช้คำว่า “และ” หมายถึงว่าธุรกิจนั้นจะต้องเป็นประโยชน์ทั้งเศรษฐกิจและสังคมจึงจะเข้าตลาดหุ้นได้ แต่น้ำเมาเป็นสาเหตุของความเสียหายต่อสังคมมหาศาลดังนี้

- ๑๐.๕% ของผู้ทำความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา

- ๑๖.๑% ของผู้ก่อคดีบุกรุก

- ๒๐.๘% ของผู้กระทำความผิดต่อร่างกาย

- ๓๔.๘% ของความผิดเกี่ยวกับเพศ

- ๕๙.๑% ของผู้ก่อคดีทำลายทรัพย์สิน

- ๗๒.๗% ของอุบัติเหตุบนท้องถนน

- ผู้บริโภคเป็นประจำ ๕๑.๒% มีความเครียดรุนแรง และ ๔๘.๖% ซึมเศร้าในระดับที่ควรพบแพทย์

- ถ้าบริโภคจนติด ๑๑.๙% มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย และ ๑๑.๓% อยากฆ่าผู้อื่น

- เป็นสาเหตุของโรคร้ายกว่า ๕๐ ชนิด เช่น ตับแข็ง มะเร็งทางเดินอาหาร และสมองเสื่อม

- ผู้หญิงและเด็กวันละนับล้านคนถูกทุบตีจากพ่อบ้านที่เมามาย

 

ดังนั้น เมื่อธุรกิจน้ำเมาส่งผลเสียต่อสังคมอย่างมากมายตามสถิติข้างต้น จึงขาดคุณสมบัติที่จะเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯได้ แม้ในทางเศรษฐกิจภาษีที่เก็บได้จากเหล้าเบียร์ ก็ไม่คุ้มกับความสูญเสียทั้งหมดที่เกิดขึ้น ทั้งค่ารักษาพยาบาล ความเสียหายจากอุบัติเหตุ คดีต่าง ๆ ที่ต้องใช้ทรัพยากร ตำรวจ อัยการ ผู้พิพากษา และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งสูญเสียไปมากกว่าคุณค่าเศรษฐกิจที่เกิดจากน้ำเมา

 

ศาสนิกชน ๖๗ องค์กร และ ๑๗๒ องค์กรเครือข่ายงดเหล้า

๕ สิงหาคม ๒๕๔๘

ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา(ศวส.), “ธุรกิจสุรากับตลาดหลักทรัพย์” นำเสนอเวทีวิชาการนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพ, ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๘ ณ โรงแรมแอมบาสเดอร์ : ๕-๖

โดย ผู้จัดการออนไลน์ 1 สิงหาคม 2548 22:11 น.

 
 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.031776316960653 Mins