นายกฯ พบเยาวชน

วันที่ 13 มค. พ.ศ.2549

      

เย็นวันอาทิตย์ที่ 8 ม.ค. พ.ศ.2549 พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ไปร่วมงาน “นายกฯ พบเยาวชน” ซึ่งเป็นการจัดให้ตัวแทนเด็ก และเยาวชน จากสถานศึกษาต่าง ๆ ในระดับมัธยมศึกษา และอุดมศึกษา รวมทั้งเครือข่ายเยาวชนจากองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศประมาณ 1,000 คน มาพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเสนอประเด็นปัญหากับนายกรัฐมนตรี ที่บริเวณลานหน้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน

ทั้งนี้ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ในฐานะรองหัวหน้าพรรค นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ในฐานะประธานภาค กทม. และ ส.ส.กทม. พรรคไทยรักไทย ลงพื้นที่รวบรวมความคิดเห็นมาในเบื้องต้น ซึ่งพบว่าเยาวชนมีปัญหาเรื่องสถานบันเทิง สิ่งยั่วยุ อบายมุข จึงต้องการให้มีกฎหมายเข้ามาควบคุมเยาวชน และต้องการให้มีสิ่งบันเทิงสำหรับเด็กที่ปลอดภัย สร้างสรรค์ สร้างปัญญา เช่น สถานที่ออกกำลังกาย หรือสถานที่พบปะ เพื่อสร้างความรู้

นายกรัฐมนตรี กล่าวกับเยาวชนว่า วันนี้ ต้องการให้เยาวชนกล้าพูด กล้าแสดงออก เพราะต้องการมาฟังว่า เยาวชนต้องการเติบโตในสภาพแวดล้อมที่ดีอย่างไร ต้องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเยาวชนอย่างไร เพราะคนที่อยู่ในอำนาจตัดสินใจจะไม่เข้าใจเรื่องของคนที่ถูกตัดสินใจ ก็คือเยาวชนดีพอ

      ที่สยามสแควร์ เดิมเคยเป็นบาร์เบียร์ จะไม่มีเด็ก ๆ มานั่ง ผู้หญิงดี ๆ ก็ไม่กล้ามานั่ง แต่วันนี้เปลี่ยนแปลงไป และว่า การดื่มสุรา หรือน้ำเปลี่ยนนิสัย ทำให้ลดสติสัมปชัญญะ เป็นสิ่งที่เป็นอันตราย สมองของเด็ก ตั้งแต่อายุ 12 ปี จะมีเส้นใยที่เชื่อมสมองส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงอายุ 25 ปี ดังนั้น แอลกอฮอล์ ยาเสพติด – บุหรี่ การพนัน และเซ็กซ์ ติดแล้วเอาไม่อยู่ ตรงนี้ต้องห้าม ต้องเบรก แต่บางครั้งเบรกไม่อยู่ ก็ต้องควบคุมสิ่งแวดล้อมแทน ซึ่งก็ได้รับการตอบสนองจากเยาวชนที่มาร่วมงานเป็นอย่างดี

“เด็กในวันนี้ ถือว่ามี information มากกว่าผู้ใหญ่ในสมัยที่ยังเป็นเด็ก ผมอยากฟังว่า พวกหนู ๆ ลูก ๆ หลาน ๆ อยากให้ทำอย่างไร คิดอย่างไร”

ส่วนเยาวชนได้เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่องเหล้า และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะหาซื้อได้ง่ายกว่าหนังสือ และนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ ทั้งท้องก่อนแต่ง อุบัติเหตุ และการทะเลาะวิวาท พร้อมกับให้ข้อมูลสถานบันเทิงที่แอบเปิดให้บริการหลังเวลา 02.00 น. และเด็กวัยรุ่นสามารถเข้าไปเที่ยวได้ เพราะมีการจดทะเบียนประเภทร้านอาหาร มีการเปิดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบไม่เกรงกลัวกฎหมาย โดยแอบใส่เหล้าไว้ในขวดชาเขียว นอกจากนี้ เยาวชนยังต้องการให้การโฆษณาในโรงภาพยนตร์เป็นไปในแนวทางที่สร้างสรรค์ เช่น โฆษณาปลุกเร้าในเรื่องความรักชาติ มากกว่าชักจูงให้เด็กหันไปดื่มแอลกอฮอล์

                                 

นอกจากนี้ เยาวชนยังเสนอปัญหาการบริโภคสื่อของวัยรุ่น ทั้งจากนิตยสาร อินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ ต้องการให้รัฐบาลควบคุมอย่างจริงจัง โดยเฉพาะสื่อลามกอนาจาร พนันฟุตบอล จะต้องปราบปรามอย่างเด็ดขาด และไม่ควรทำให้การพนันฟุตบอลเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การสร้างกระแส โดยให้สังคมเลือกเสพสื่อฯ เป็นเรื่องที่เหมาะสม และเป็นเรื่องที่ดีพร้อมเสนอให้เยาวชนร่วมกันผลิตสื่อฯ เพื่อเยาวชน โดยรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนเงินให้ไปทำ และยืนยันว่า ไม่มีนโยบายที่จะทำให้การพนันฟุตบอลถูกกฎหมาย และจะมีการปราบปรามอย่างเด็ดขาด

พร้อมกันนี้เยาวชนยังเสนอให้ฝึกอบรมเรื่องการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี แก่หญิง-ชายที่จะมาเป็นคุณพ่อคุณแม่ในอนาคต รวมถึงฝึกอบรมศีลธรรมให้บุคลากรทางการศึกษา โดยเฉพาะครู ก่อนที่จะเข้ามาสอน เพราะครูมีบทบาทสำคัญในการสร้างสังคม สร้างชาติ ดังนั้น ควรจะเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับเยาวชน และเด็กนักเรียน ซึ่งนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตลอดที่เป็นรัฐบาลมา 5 ปี ครูไม่เคยเดินขบวนเรียกร้องเรื่องต่าง ๆ ให้เด็กนักเรียน แต่กลับเดินขบวนให้กับตัวเองมาตลอด พร้อมกับให้เยาวชน และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไปรวบรวมข้อมูล เพื่อที่จะมาประชุมกลุ่มย่อยร่วมกันอีกครั้ง ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้

 

       ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิเด็กและเยาวชน ขององค์การสหประชาชาติ

ข้อ 1. เด็กและเยาวชนพึงได้รับสิทธิเท่าเทียมกันโดยปราศจากการแบ่งแยกหรือกีดกัน ไม่ว่าโดยวิธีใด ๆ ในเรื่อง เชื้อชาติ ผิว เพศ ภาษา ศาสนา ความคิดเห็นทางการเมือง เผ่าพันธุ์แห่งชาติหรือสังคมทรัพย์สิน กำเนิด หรือสถานะอื่น ๆ ไม่ว่าจะของเด็กหรือของครอบครัวก็ตาม

ข้อ 2. เด็กและเยาวชนพึงได้รับการพิทักษ์คุ้มครองเป็นพิเศษอันจะช่วยให้เด็กสามารถพัฒนาทั้งทางกาย ทางสมอง และจิตใจเพื่อให้ร่วมอยู่ในสังคมได้อย่างปกติชน

ข้อ 3. เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้มีชื่อ และมีสัญชาติ แต่กำเนิด

ข้อ 4. เด็กและเยาวชนพึงได้รับความมั่นคงทางสังคม และเติบโตอย่างสมบูรณ์ ดังนั้นทั้งแม่และเด็กควรได้รับการดูแลและคุ้มครองเป็นพิเศษ ทั้งเมื่ออยู่ในครรภ์ และภายหลังเมื่อคลอดแล้วโดยได้รับสิทธิในเรื่องที่อยู่อาศัย ได้รับอาหาร ได้รับการดูแลทางแพทย์ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ ให้ได้รับการเล่นรื่นเริงเพลิดเพลินด้วย

ข้อ 5.เด็กและเยาวชนที่พิการทั้งทางร่างกาย สมอง และจิตใจ มีสิทธิที่จะได้รับการรักษาพิเศษ หมายถึงการดูแลรักษาและการศึกษาที่เหมาะสมกับสภาวะของเด็กโดยเฉพาะ

ข้อ 6.เด็กและเยาวชนพึงได้รับความรัก และความเข้าใจอันจะช่วยพัฒนาบุคลิกของตน โดยเติบโตอยู่ในความรับผิดชอบของบิดา มารดาของเด็กเอง และในทุกกรณีเด็กจะต้องอยู่ในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยความรักความอบอุ่นปลอดภัย และไม่พลัดพรากจากพ่อแม่ในกรณีที่เด็กไม่มีครอบคร้ว หรือมาจากครอบครัวที่ยากจน และมีลูกมากก็จะได้รับความช่วยเหลือเป็นพิเศษ จากรัฐหรือองค์การต่าง ๆ

ข้อ 7.เด็กและเยาวชนมีสิทธิที่จะได้รับการศึกษาซึ่งครูควรจะจัดให้เปล่าอย่างน้อยในชั้นประถมศึกษา เพื่อเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมโดยทั่ว ๆ ไป และให้เด็กเติบโตเป็นสมาชิกผู้ยังประโยชน์ต่อสังคมคนหนึ่ง การศึกษานี้คลุมไปถึงการแนะแนวทางชีวิต ซึ่งมีบิดามารดาเป็นผู้รับผิดชอบก่อนบุคคลอื่น ๆ เด็กจะต้องมีโอกาสได้รับควาาามสนุกสนานเพลิดเพลิน จากการเล่นและรื่นเริงพร้อมกันไปด้วย

ข้อ 8.เด็กและเยาวชนจะเป็นบุคคลแรกที่ได้รับการคุ้มครองและสงเคราะห์ในทุกกรณี

ข้อ 9.เด็กและเยาวชนพึงได้รับการปกป้องให้พ้นจากการถูกทอดทิ้ง จากความโหดร้ายทารุณ และการถูกข่มเหง รังแกทุกชนิด เด็กจะต้องไม่กลายเป็นสินค้า ไม่ว่าในรูปใดจะต้องไม่มีการรับเด็กเข้าทำงานก่อนวัยอันสมควร ไม่มีการกระทำใด ๆ อันจะมีชักจูงหรืออนุญาติเด็กให้จำต้องรับจ้างทำงาน ซึ่งอาาจะเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของเด็ก หรือเป็นเหตุให้การพัฒนาทางกายทางสมองและทางจิตใจของเด็กต้องเสื่อมลง

ข้อ 10.เด็กและเยาวชนพึงได้รับการคุ้มครองให้พ้นจากการกระทำที่แสดงถึงการกีดกัน แบ่งแยกไม่ว่าทางเชื้อชาติ ศาสนาหรือรูปใด ๆ เด็กจะต้องได้รับการเลี้ยงดูให้เติบโตขึ้นมา " ในภาวะแห่งจิตที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจ และมีการหย่อนหนักหย่อนเบามิตรภาพระหว่างชนชาติต่าง ๆ สันติภาพ และภาพสากล และด้วยการสำนึกเต็มที่ว่าพลกำลังและความสารถพิเศษในตัวเขา ควรจะอุทิศเพื่อรับใช้เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน"

 

 

    อ้างอิง 1. ธนากิต. ประเพณี พิธีมงคล และวันสำคัญของไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2539.

2. ธนากิต. วันสำคัญไทย. กรุงเทพฯ : ชมรมเด็ก,2541

 

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0012996514638265 Mins