เลือกสำนัก

วันที่ 09 มค. พ.ศ.2549

   

                  

คำถาม..  ผมเป็นคนหนึ่งที่สนใจการปฏิบัติธรรม แต่สังเกตว่าเดี๋ยวนี้มีสำนักปฏิบัติธรรมมากมาย แต่ละแห่งก็ว่าของตัวเองดีทั้งนั้น จะรู้ได้อย่างไรละครับว่าสำนักไหนดีจริง ?

 

คำตอบ..  ก่อนที่คุณจะเลือกสำนักปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าจะให้ดีควรจะหาความรู้จากพระไตรปิฎกเสียก่อน เพื่อเป็นหลักในการประพฤติปฏิบัติต่อไปในวันข้างหน้า และเป็นหลักในการเลือกสำนักด้วย เพราะว่าพระไตรปิฎกนั้นได้รวบรวมคำสอนภาคทฤษฎีเอาไว้อย่างเรียบร้อยบริบูรณ์ เมื่อคุณมีความรู้ขั้นพื้นฐานจากพระไตรปิฎกแล้ว จากนั้นคุณจึงค่อยไปเลือกสำนักปฏิบัติ

 

.....คราวนี้ ในการเลือกสำนักปฏิบัตินั้น ก็มีวิธีเลือกง่ายๆ ให้ดูเจ้าสำนักเป็นเกณฑ์ว่าเจ้าสำนักนั้นมีความประพฤติ มีข้อปฏิบัติ ถูกต้องตามพระไตรปิฎกที่คุณเรียนมาหรือไม่ ถ้าท่านมีความประพฤติ มีการปฏิบัติเรียบร้อยบริบูรณ์ดีงาม สมกับที่คุณได้อ่านมาจากพระไตรปิฎกแล้วก็เลือกสำนักนั้นแหละเป็นสำนักที่คุณควรจะมอบกายถวายชีวิต ให้ท่านอบรมเคี่ยวเข็ญกันต่อไป

 

.....อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปแล้วโอกาสที่เราจะได้เข้าไปสนทนา ได้เข้าไปใกล้ชิดกับเจ้าสำนักต่างๆ บางทีก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนกัน เพราะยิ่งเป็นสำนักใหญ่ เจ้าสำนักท่านก็มีงานมีภาระรับผิดชอบมาก ผมขอแนะนำวิธีเลือกสำนักอีกวิธีหนึ่งคือ ลองศึกษาความประพฤติการปฏิบัติจากลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดของท่านจะเป็นฆราวาสก็ตาม หรือจะเป็นพระภิกษุก็ตามที สังเกตรวมๆ ๖ เรื่องต่อไปนี้ ถ้าเห็นว่าเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ๖ ประการนี้แล้วก็มอบกายถวายชีวิตเข้าไปเป็นลูกศิษย์ได้เลย

 

คุณสมบัติ ๖ ประการ ซึ่งสำนักที่ได้มาตรฐานจริงๆ จะต้องมีคือ

 

.....๑.เจ้าสำนักเอง รวมทั้งลูกศิษย์ในสำนักนั้น ไม่มีนิสัยชอบว่าร้าย หรือโจมตีการปฏิบัติธรรมของสำนักอื่น ถ้าท่านยังมีนิสัยชอบว่าร้ายอยู่ แสดงว่าคุณธรรมของท่านก็ยังไม่พอแล้วท่านจะมาสอนเราได้อย่างไร

 

.....๒.ท่านจะต้องไม่มีนิสัยชอบในลักษณะที่เรียกว่า นักเลงหรือชอบข่มขู่คนอื่น อะไรทำนองนั้น ท่านควรจะมีวิธีการสอนประเภทที่เรียกว่าชี้แจงเหตุแสดงผลได้ลุ่มลึกไปตามลำดับ ไม่ใช่บังคับให้เชื่อหรือขู่ให้เชื่อ

 

.....๓.สังเกตดูด้วยว่า ศีลของท่านมารยาทของท่านงามดีไหม สมกับที่จะมาเป็นพระอาจารย์สอนเราได้หรือยัง การจะดูว่ามารยาทงามหรือไม่งาม ศีลงามหรือไม่งามนั้น เราเทียบจากพระวินัยในพระไตรปิฎกที่เราเรียนมานั่นแหละ อย่าไปถือเอาความถูกใจเราเป็นเกณฑ์ ต้องเอาความถูกต้องเป็นเกณฑ์จึงจะใช้ได้

 

.....๔.เจาะลึกไปถึงเรื่องอาหารการขบฉันของท่าน คือ ต้องดูว่าวัดนี้ สำนักนี้ จุกจิกจู้จี้ในเรื่องอาหารบ้างหรือเปล่า หรือบริโภคกันฟุ่มเฟือยสุดโต่งเลย เช่น ต้องสั่งจากภัตตาคารมาประเคน ถ้าอย่างนั้นละ ถอยๆ ออกมาดีกว่า

 

.....๕.ดูสถานที่การปฏิบัติธรรมของเขาจริงๆ ว่าออกในลักษณะไหน ถ้าออกในลักษณะโอ่อ่าเกินไป เดี๋ยวจะเกิดนิสัยฟุ้งเฟ้อกลับมา แต่ว่าถ้าซอมซ่อเกินไป ปล่อยให้สกปรกรกรุงรังอย่างนั้นก็ไม่สมควร เพราะในพระศาสนานี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเคร่งครัดในเรื่องของความสะอาด ความมีระเบียบ ตลอดจนกระทั่งความร่มรื่นของสถานที่ปฏิบัติธรรมด้วย เราจึงต้องดู

 

.....๖.เจ้าสำนักเอง ท่านรักการฝึกสมาธิมากแค่ไหน ถ้าฝึกสมาธิกันแค่วันละชั่วโมงสองชั่วโมง หรือว่าฝึกกันไปตามมีตามเกิด คุณอย่าไปฝากตัวเป็นศิษย์ท่านเลย ถ้าเป็นสำนักที่ตั้งใจฝึกสมาธิกันอย่างจริงๆ จังๆ ก็ใช้ได้เลยนะ เพราะว่าคนที่ยังไม่ฝึกสมาธิอย่างจริงจัง ย่อมไม่สามารถที่จะรักษาคุณธรรมที่กล่าวไว้แล้วข้างต้นทั้ง ๕ ประการได้สมบูรณ์หรอก

 

.....คุณสมบัติข้อที่ ๖ นี้เป็นข้อที่สำคัญมากที่สุดเลยที่จะยืนยันว่าสำนักที่เราจะไปปฏิบัตินั้น ต้องมีการฝึกมีการสอน มีการอบรมสมาธิอย่างจริงจัง เจ้าสำนักเองก็ทุ่มเทฝึกสมาธิด้วย เป็นผู้นำในการฝึกเลย แล้วสมาธินั้นก็เป็นสมาธิในพระพุทธศาสนา

 

.....ถ้าคุณไปพบสำนักใดมีคุณธรรม ๖ ประการนี้อยู่ครบบริบูรณ์แล้วละก็ คุณเข้าไปสมัครเป็นลูกศิษย์ในสำนักนั้นได้เลย รับรองไม่ผิดหวังแน่นอนนะ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0072077989578247 Mins