เด็กทั้งสองอยู่กับตายายจนเจริญวัยขึ้น มหาปันถก ได้ฟังพระธรรมเทศนาจากพระบรมศาสดาจึงออกบวช เมื่อบวชแล้วได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ต่อมานึกถึงน้องชายเพราะเห็นว่าเป็นคนมีสติปัญญาดี จึงพามาบวชด้วย แต่พระน้องชายเมื่อบวชแล้วกลับเป็นคนปัญญาทึบ แม้ให้ท่องคาถาสั้นๆ เพียง ๑ บท ท่องอยู่ถึง ๔ เดือนก็ท่องไม่ได้ พระพี่ชายจึงไล่ให้ลึกเสีย ทำให้พระจุลลปันถกมีความเสียใจมาก
สมัยนั้น พระมหาปันถกรับหน้าที่เป็น ภัตตุเทศก์ เมื่อหมอชีวกโกมารภัจจ์นิมนต์พระบรมศาสดาและพระภิกษุทั้งหลายไปฉันภัตตาหารที่บ้าน พระมหาปันถกรับนิมนต์ไว้หมด เว้นแต่พระจุลลปันถกรูปเดียว เมื่อพระจุลลปันถกทราบก็คิดน้อยใจอยากจะสึก เช้าวันนั้น พระบรมศาสดาทรงสอดข่ายพระญาณ จึงเสด็จไปโปรดพระจุลปันถก ทรงสอนธรรมด้วยการเนรมิตผ้าขาวบริสุทธิ์ผืนหนึ่ง ประทานแก่พระจุลลปันถก ตรัสให้ลูบคลำผ้าผืนนั้น พร้อมกับบริกรรมภาวนาว่า “ระ โชหะระณัง ระ โชหะระณัง” ไปเรื่อยๆ
ครั้งถึงเวลาฉันภัตตาหาร พระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เสด็จไปยังบ้านหมอชีวก ฝ่ายพระจุลลปันถก ทำตามที่พระบรมศาสดาตรัสสั่ง ชั่วครู่ก็เห็นผ้าหมองคล้ำ จึงเกิดความสลดใจว่า ผ้าขาวแท้ ๆ ยังเปรอะเปื้อนจากกายเราถึงปานนี้ สังขารทั้งหลายก็เช่นกัน แท้ที่จริงแล้วมีแต่ความไม่เที่ยง พิจารณาธรรมไปเรื่อยๆ พลันจิตสว่างบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ณ ที่นั้นเอง
ที่บ้านหมอชีวก พระบรมศาสดามิได้กระทำอนุโมทนา ตรัสว่า ในวัดยังมีเหลือพระภิกษุอยู่รูปหนึ่ง หมอชีวกจึงส่งคนไปดู ปรากฏว่าคนรับใช้เห็นพระภิกษุพันรูปเต็มวัดไปหมด ที่พระจุลปันถกเนรมิตไว้ด้วยฤทธิ์ คนรับใช้วิ่งกลับไปบอกหมอชีวก พระบรมศาสดาจีงรับสั่งว่า ให้เรียกชื่อดังๆ หากรูปไหนขานรับขึ้นก่อนให้จับมือพระรูปนั้นไว้ แล้วพามายังที่นิมนต์ คนรับใช้ก็ทำตาม เมื่อพระจุลลปันถกมาถึงแล้วได้รับภัตตาหารพร้อมทั้งอนุโมทนา
วันรุ่งขึ้น พระภิกษุต่างพากันสรรเสริญพระคุณของพระบมศาสดา ครั้นพระพุทธองค์ทรงทราบความแล้ว จึงทรงระลึกชาติหนหลัง แล้วตรัสเล่า จุลลกเศรษฐีชาดก ดังนี้
ชายหนุ่มยากจนคนหนึ่งได้ยินเข้า จึงนำหนูตายตัวนั้นไปขายให้ยายแก่คนหนึ่งเป็นอาหารแมว ได้เงินมา ๑ กากณึก เท่านั้น วันรุ่งขึ้นไปซื้อน้ำอ้อย เมื่อคนเก็บดอกไม้กลับจากป่ากำลังกระหายน้ำผ่านมาได้ดื่ม คนเหล่านั้นก็ให้ดอกไม้คนละกำเป็นการตอบแทน วันต่อมา ชายหนุ่มก็ทำเช่นเดิมอีก เขาทำอยู่อย่างนี้ไม่นานก็รวบรวมทรัพย์ได้ถึง ๘ กหาปณะ ต่อมาวันหนึ่ง ฝนตกหนัก พายุพัดแรง ต้นไม้หักโค่นระเนระนาด ผู้รักษาพระราชอุทยานไม่รู้ว่าจะขนต้นไม้ ไปทิ้งที่ไหนดี ชายหนุ่มจึงรับอาสาทำความสะอาดอุทยาน โดยขอต้นไม้ กิ่งไม้เหล่านั้นเป็นของตอบแทน เขาเสนอขายไม้เหล่านั้นทำฟืน ได้ทรัพย์ถึง ๑๖ กหาปณะ
อยู่ต่อมาไม่กี่วัน เขาได้ข่าวว่าวันรุ่งขึ้นจะมีพ่อค้านำม้ามาที่เมืองนี้ เขาจึงเอ่ยปากขอหญ้าจากคนเกี่ยวหญ้าคนละฟ่อน เมื่อพ่อค้าม้าหาซื้อหญ้าเลี้ยงม้าจากที่ใดไม่ได้เลย จึงต้องซื้อจากเขาเป็นเงินสูงถึง๑,๐๐๐ กหาปณะ
อีก ๒-๓ วันต่อมา มีเรือบรรทุกสินค้ามาถึงท่า เขาจึงรีบหาเช่ารถม้าซึ่งมีบริวารมาด้วยอย่างโก้หรูขับไปที่ท่าเรือ แล้วมัดจำสินค้าทั้งหมดไว้ เมื่อพ่อค้านับร้อยคนของเมืองพาราณสีมาขอซื้อสินค้า เขาจึงขายสินค้านั้นให้ไป ได้กำไรทันที ๒๐๐,๐๐๐ กหาปณะ ชายหนุ่มมีฐานะร่ำรวยขึ้นทันตาเห็น สมดังคำพยากรณ์ของจุลลกเศรษฐีภายในเวลา ๔ เดือนเท่านั้น เขาได้ไปขอบคุณท่านเศรษฐี ท่านเศรษฐีเห็นความดี จึงยกบุตรีให้พร้อมกับมอบทรัพย์สมบัติให้ครอบครอง และได้ตำแหน่งเศรษฐีสืบต่อมา
ชายหนุ่มผู้มีปัญญา ได้มาเป็นพระจุลลปันถก
จุลลกเศรษฐี ได้มาเป็นพระองค์เอง
(๑) ข้อคิดสำหรับผู้เริ่มสร้างฐานะ ๑.๑. ไม่เป็นคนเลือกงาน ๑.๒. ไม่เป็นคนเกียจคร้าน ๑.๓. ไม่เป็นคนทำงานสะเพร่า
(๒) คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องประกอบด้วยองค์คุณ ๔ ประการ คือ ๑. เป็นผู้มีความรู้ดี ๒. เป็นผู้มีความสามารถดี ๓. เป็นผู้มีความประพฤติดี ๔. เป็นผู้มีบุญเก่าสร้างสมไว้ดี
นิทานชาดก
จุลลกเศรษฐีชาดก
ชาดกว่าด้วยความฉลาดในการสร้างฐานะ