ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๒๑

วันที่ 06 กพ. พ.ศ.2554

590120_y17.jpg

ลักษณะมหาบุรุษประการที่ ๒๑ มีประสาทรับรสอันเลิศ

               หมายถึง มีปลายเส้นประสาทสำหรับรับรสอาหารอันดี พูดง่ายๆ ลิ้นของเราบางคนเป็นประเภทลิ้นชา เหมือนจระเข้ กินอะไรก็ไม่รู้รสหรือรู้รส แต่ว่าการดูดซึมของอาหารเข้าสู่ร่างกายไม่ค่อยดี ส่วนของพระองค์มีประสาทรับรสอันเลิศ เพราะฉะนั้น จึงมีการดูดซึมอาหารเข้าสู่ร่างกายดีมาก แม้กินอาหารน้อยก็เหมือนมาก อุปมาคล้ายๆ รถยนต์ของเรา ถ้าเครื่องยนต์ดี ไม่หลวม การเผาไหม้ดีมาก เราขับรถไปนานเท่าไรก็ไม่มีเขม่าดำเต็มไปหมด ของพระองค์ลิ้นมีประสาทรับรสดีมาก เพราะฉะนั้น อาหารที่พระองค์เสวยเข้าไป จึงถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้มากเป็นพิเศษ สมมติว่ากายของพระองค์เท่ากับเรา ปริมาณอาหารที่เสวยก็ท่ากับที่พวกเรากิน พระองค์จะมีกากอาหารน้อยกว่าเรา เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าการรับรสและการย่อยของพระองค์ดีมาก


             เหตุนี้เอง ถ้าเราไปอ่านตอนที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ เรื่องการบำเพ็ญเพียรของพระองค์ จะพบว่าพระองค์ทรงบอกไว้ชัดเลยว่า ขณะที่ทรงอดอาหารเพื่อจะหาทางตรัสรู้นั้น พระวรกายซูบผอมขนาดเอามือลูบหน้าท้องก็รู้สึกเหมือนโดนหลังด้วย แม้กระนั้นก็ยังไม่สวรรคต ถ้าเป็นพวกเรา ยังไม่ต้องถึงขนาดนั้นก็คงตายไปเสียตั้งนานแล้ว นอกจากนี้ เมื่อพระองค์ตรัสรู้แล้ว ยังเสวยวิมุตติสุขอยู่นานถึง ๔๙ วัน โดยไม่ได้เสวยเลย แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อวันจะตรัสรู้ นางสุชาดา ได้นำข้าวมธุปายาสซึ่งเป็นข้าวที่กวนด้วยน้ำนมไปถวายพระพุทธองค์ ๗ ปั้น ก็เสวยไปทั้ง ๗ ปั้น เลยทำให้อยู่ได้ถึง ๔๙ วันสบายมาก ถ้าเป็นพวกเราเพียง ๗ วัน ก็มีหวังตายเรียบ แต่พระองค์ ๔๙ วันยังเฉย นี่คือความต่างกันในสรีระ


            ดังนั้น เวลาปฏิบัติธรรม ถ้ารู้สึกเมื่อยมากปวดมาก ก็อย่าไปโทษใครเลย ทำบุญมาไม่ดีจึงต้องเป็นอย่างนี้ อดทนไปเถอะ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้รูปร่างเราไม่ได้สัดส่วน ปฏิบัติธรรมเอาดีไม่ค่อยจะได้ ก็ไม่ควรพาลนอนเสียเลย เพราะจะยิ่งโง่หนักเข้าไปอีก รู้ตัวว่าเอาดีไม่ค่อยได้ก็ต้องฝืนกันไป ไม่ใช่ว่ายังไม่ได้ลักษณะมหาบุรุษก็ขอนอนไปก่อน เลยเป็นหมูอยู่ทุกชาติๆ อย่างนี้ไม่ถูกต้อง เมื่อยังไม่ได้ลักษณะมหาบุรุษ ก็ต้องตะเกียกตะกายทำความดีต่อไป วันหนึ่งจะต้องได้เอง

 

* * ข้อดีของลักษณะมหาบุรุษ ประการที่ ๒๒ จะเป็นอย่างไร โปรดติดตามได้ในตอนต่อไป * *



ขอขอบคุณ หนังสือ “ลักษณะมหาบุรุษ”
ปาฐกถาธรรมของพระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ หลวงพ่อทตฺตชีโว
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๗
ห้ามนำไปใช้ประโยชน์ทางการค้าหรือหากำไร ผู้ฝ่าฝืนมีความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมาย

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0070295174916585 Mins