อาสวักขยญาณ

วันที่ 18 กพ. พ.ศ.2555

 

               เมื่อพระองค์ได้รู้ได้เห็น มีวิชชาเกิดขึ้น เช่นเดียวกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ พระองค์ก็อาศัยธรรมกายพิจารณาละอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

               "เรานั้นเข้าถึงวิชชาที่ ๓ แล้ว จิตตั้งมั่น มีความบริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากกิเลส เป็นธรรมชาติอ่อนโยน ควรแก่การงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้วก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ...,,

                   
ฟังให้ดีนะ เวลาทำความดี ใจเราเป็นดวงใส ใสอย่างแก้วอย่างเพชร เมื่อทำความดีครั้งหนึ่ง ใจก็สว่างวูบขึ้นทีหนึ่ง

               - ดวงสว่างนั้นจะเรียกว่า "ดวงบุญ" ก็ได้
               - ความสว่างหรือบุญที่สะสมไว้มากเข้าๆ ก็กลั่นเป็นดวงใสยิ่งขึ้น เรียกว่า "บารมี"
               - ในด้านตรงกันข้าม พอทำความชั่ว ใจก็มืดวูบลง ความชั่วนั้น เรียกว่า "บาป" เกิดจาก "กิเลส"

               กิเลส คือ "โลภ โกรธ หลง" กิเลสที่ห่อหุ้มใจอยู่ชักนำให้เราทำความชั่วทางกาย วาจา พอเราทำความชั่วได้ผลเป็นบาป ใจที่มีปกติสว่างก็มืดวูบลง บาปนี้สะสมมากเข้าๆ เรียกว่า "อาสวะ" ตรงกันข้าม บุญที่สะสมมากเข้าๆ เรียกว่า "บารมี"

               มนุษย์ที่สะสมกิเลสไว้มาก ภาษาพระเรียกว่า อาสวกิเลส ทรงอธิบายถึงการบรรลุธรรมตามลำดับของพระองค์ต่อไปว่า

               "เรานั้นเมื่อใจตั้งมั่นบริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากกิเลส เป็นธรรมชาติ อ่อนโยนควรต่อการงาน ถึงความไม่หวั่นไหว ตั้งอยู่เช่นนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเฉพาะต่ออาสวักขยญาณ เราย่อมรู้ชัดตามความเป็นจริงว่า

               - นี้ทุกข์
               - นี้เหตุแท่งทุกข์ คือ สมุทัย
               - นี้ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ นิโรธ
               - นี้ความให้ถึงความดับ ไม่เหลือแห่งทุกข์ คือ มรรค อันประกอบ ด้วยองค์ ๘

               เรารู้ด้วยว่า นี้เป็นอาสวะทั้งหลาย นี้คือความดับไม่เหลือแห่งอาสวะทั้งหลาย คือ นิโรธ

               เมื่อเรารู้อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ จิตพ้นจากกามาสวะ พ้นจากภพ พ้นจากอรูปภาพแล้ว อวิชชาคือความไม่รู้ทั้งหลายก็หมดไป ครั้นจิตพ้นวิเศษแล้ว ก็เกิดญาณหยั่งรู้ว่า จิตนี้พ้นแล้ว เรารู้ชัดว่าชาตินี้สิ้นแล้ว ไม่ต้องเกิดอีกแล้ว พรหมจรรย์คือการประพฤติตัวให้ประเสริฐ หมดกิเลส ก็บรรลุแล้ว กิจที่จะต้องทำ ไต้ทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความหลุดพ้นไม่มีอีกแล้ว นี่เป็นวิชชาสามที่เราได้บรรลุแล้วในยามปลายแห่งราตรี"

               พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเมื่อตรัสรู้นั้น พระองค์เกิดความรู้ เกิดวิชชา ตามลำดับ คือ

               - ระลึกชาติของพระองค์ได้ เป็นวิชชาที่ ๑ คือ บุพเพนิวาสานุสติญาณ เมื่อยามหนึ่ง
               - ระลึกชาติผู้อื่นได้ เป็นวิชชาที่๒ คือ จุตูปปาตญาณ เมื่อยามสอง และ
               - บรรลุอาสวักขยญาณ เป็นวิชชาที่ ๓ หมดกิเลส ในระยะวันเก่าต่อกับวันใหม่

               เมื่อรุ่งอรุณก็ตัดกิเลสทั้งหลายได้สิ้น อวิชชาถูกทำลาย วิชชาก็เกิดขึ้น ความมืดถูกทำลาย ความสว่างก็เกิดขึ้น เป็นอาการที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท บำเพ็ญเพียรเผาบาป นี่คืออาการที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ธรรม เมื่อวันเพ็ญกลางเดือน ๖ ทรงค่อยๆ ขุดคุ้ย ค่อยๆ พิจารณาพากเพียรทดลอง ค่อยๆ กลั่นกรองเผาผลาญกิเลสจนสิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ แล้วยังเล่าต่อให้ลูกศิษย์ลูกหาฟังทุกแง่ทุกมุม ไม่ปิดบัง เป็นข้อความจริงที่ลูกศิษย์ลูกหาประพฤติปฏิบัติตามแล้วก็ได้ผลสำเร็จเช่นเดียวกับพระองค์ ด้วยเหตุนี้ จึงมีพระอรหันต์เกิดตามขึ้น มามากมายต่อเนื่องกันมาเป็นสายไม่ขาดช่วงขาดตอน




 

ความยิ่งใหญ่ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระภาวนาวิริยคุณ

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0020026842753092 Mins