ความหมายของคำว่า "กัลยาณมิตร"

วันที่ 02 ตค. พ.ศ.2556

ความหมายของคำว่า "กัลยาณมิตร"

ความหมายของคำว่า "กัลยาณมิตร"


       คำว่า "กัลยาณมิตร" มีความหมายต่างๆ ดังนี้

ความหมายโดยศัพท์

       คำว่า "กัลยาณมิตร" มาจากคำว่า "กัลยาณ" มา กับคำว่า "มิตร" โดยพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายคำ "กัลยาณ" ว่า งาม ดี และ "มิตร" หมายถึง เพื่อนรักใคร่คุ้นเคยดังนั้น กัลยาณมิตรจึงมีความหมายว่า เพื่อนที่ดี เพื่อนที่งาม หรือเพื่อนที่รักใคร่คุ้นเคยที่ดี เพื่อนรักใคร่ คุ้นเคยที่งาม


ความหมายจากพระไตรปิฎก

       คำว่ากัลยาณมิตรในพระไตรปิฎกนั้น ได้แสดงให้เห็นถึง ความเป็นกัลยาณมิตรและ การเข้าหาบุคคลที่เป็นกัลยาณมิตร ซึ่งพระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า "กัลยาณมิตตตา" โดยพระองค์ทรงอธิบายถึง 

      "กัลยาณมิตตตา" หรือความเป็นกัลยาณมิตรและการที่จะเป็นผู้มีกัลยาณมิตร ดังความตอนหนึ่งที่ตรัสกับชายหนุ่มคนหนึ่งในฑีฆชาณสูตร ว่า

       "....ดูกรพยัคฆปัชชะ ก็กัลยาณมิตตตาเป็นไฉน กุลบุตรในโลกนี้ อยู่อาศัยในบ้านหรือนิคมใด ย่อมดำรงตน เจรจาสั่งสนทนากับบุคคลในบ้านหรือนิคมนั้น ซึ่งเป็นคฤหบดี หรือบุตรคฤหบดี เป็นคนหนุ่มหรือคนแก่ ผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ ผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ศึกษาศรัทธาสัมปทา ตามผู้ถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศึกษาศีลสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยศีล ศึกษาจาคสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยจาคะ ศึกษาปัญญาสัมปทาตามผู้ถึงพร้อมด้วยปัญญา ดูกรพยัคฆปัชชะ นี้เรียกว่ากัลยาณมิตตตา."

      สรุปความดังกล่าวได้ว่า ผู้ที่จะมีชีวิตที่ดีงามหรือได้ชื่อว่ามีกัลยาณมิตรนั้น เมื่อได้อยู่อาศัยในท้องถิ่นใดจะต้องรู้จักเข้าไปคบหาคนดี พร้อมทั้งศึกษาและนำเอาสิ่งที่ดีงามนั้นมาปรับปรุงตนเอง และในประโยคข้างต้นทำให้ทราบอีกว่า กัลยาณมิตรที่ควรจะเข้าหาจะต้องเป็นผู้มีสมาจารบริสุทธิ์ มีความถึงพร้อมด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา

      นอกจากนี้ ในพระอภิธรรมปิฎก ได้อธิบายถึงความเป็นผู้มีกัลยาณมิตร หรือที่เรียกว่า "กัลยาณมิตตตา" นั้น จะต้องรู้จักเข้าไปคบหาคนดี และประพฤติปฏิบัติตามคนดีนั้น ดังความตอนหนึ่งว่า

          "กัลยาณมิตตตา เป็นไฉน"

          "บุคคลเหล่าใด เป็นคนมีศรัทธา มีศีล เป็นพหูสูต มีจาคะ มีปัญญา

          การเสวนะ การส้องเสพด้วยดี การคบ การคบหา ความภักดี ความจงรักภักดีต่อบุคคลเหล่านั้น ความเป็นผู้มีกายและใจโน้มน้าวไปตามบุคคลเหล่านั้น อันใด นี้เรียกว่า "กัลยาณมิตตตา"

          กล่าวคือ เมื่อเรารู้ว่าบุคคลใดเป็นบุคคลมีศรัทธา มีศีล เป็นผู้มีความรู้อันเกิดจากการได้ยินได้ฟังมามาก เป็นผู้มีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และมีปัญญาเฉลียวฉลาด เราจะต้องเข้าไปคบหาบุคคลดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งปรับปรุงตนเองทั้งกายและใจ ให้เป็นคนดีตามด้วย เราจึงจะได้ชื่อว่า "กัลยาณมิตตตา" ซึ่งก็คือ ความเป็นผู้มีกัลยาณมิตรนั่นเอง


ความหมายโดยลักษณะของการทำหน้าที่

         กัลยาณมิตร โดยลักษณะของการทำหน้าที่ หมายถึง บุคคลผู้มีความตั้งใจประพฤติปฏิบัติธรรมทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี เพื่อยังประโยชน์ให้ถึงพร้อมทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น ผู้แนะนำสั่งสอน ที่ปรึกษา เพื่อนที่ดี หนังสือ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทางสังคมโดยทั่วไปที่ดี ที่เกื้อกูล ซึ่งจะชักจูง หรือกระตุ้นให้เกิดปัญญาได้ด้วยการฟัง การสนทนา ปรึกษา ซักถาม อ่าน ตลอดจนการรู้จักเลือกใช้ สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์

         จากความหมายในลักษณะของการทำหน้าที่ข้างต้นนี้ แ ดงให้ทราบว่า กัลยาณมิตร นอกจากจะหมายถึงมนุษย์หรือบุคคลที่เป็นเพื่อนที่ดีแล้ว ยังรวมหมายถึง หนังสือที่ดีที่อ่านแล้วให้ข้อคิดที่ดี หรือให้ความรู้ที่ดีมีประโยชน์ ทั้งนี้เพราะยังมีหนังสือจำนวนมาก ที่ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อ่าน เมื่ออ่านแล้วทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อชีวิต ต่อโลกหรือต่อสังคม อาจจะทำให้กลายเป็นคนมองโลกในแง่ร้าย ไม่ก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ กลับเพิ่มพูนความมี โลภะ โทสะ โมหะ ขึ้นในตัวผู้อ่าน เช่น หนังสือที่ สอนให้ไม่รู้คุณบิดามารดา หนังสือที่ สอนให้ทำลายล้างชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน หรือแม้หนังสือลามก เสนอภาพโป๊ที่เพิ่มกามกิเล แก่ผู้อ่าน ก็ถือว่าไม่ใช่กัลยาณมิตร

        สิ่งแวดล้อมทางสังคมที่ดีก็สามารถเป็นกัลยาณมิตรได้ เช่น โรงเรียนที่ดี มีความสะอาด มีระเบียบเรียบร้อย ไม่เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค หรือปล่อยให้มีการเสพยาเสพติดภายในโรงเรียน และยังมีคุณครูที่ดีมีความรู้และคุณธรรม เป็นต้นแบบที่ดีของนักเรียนได้

         ผู้ปกครองที่ดี และข้าราชการที่ดี ก็สามารถเป็นกัลยาณมิตรได้ เช่น กำนันที่ดี ผู้ใหญ่บ้านที่ดี ปลัดอำเภอที่ดี นายอำเภอที่ดี จนถึงผู้ว่าราชการที่ดี หรือถ้าหากเป็นข้าราชการทางการเมือง ก็เป็นข้าราชการ การเมืองที่ดี เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่ดี สมาชิกวุิฒภาที่ดี รัฐมนตรีที่ดี จนถึงนายกรัฐมนตรีที่ดี เป็นต้น บุคคลเหล่านี้ หากเป็นผู้มีความดี มีศีลธรรม แนะนำสิ่งที่ดีมีประโยชน์มาให้ ก็สามารถเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนทั้งหลายได้

       นอกจากนี้ ยังรวมถึง สื่อสารมวลชนที่ดี ที่ทำให้ผู้รับ สื่อได้สาระและคุณประโยชน์ โดยเป็น สื่อที่ทำให้ผู้รับมีความรู้ความเข้าใจและมีการดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีงาม อันเกิดประโยชน์ทั้งแก่ตนเองและผู้อื่นในสังคม

 

จากหนังสือ DOU

วิชา DF 101 การทำหน้าที่กัลยาณมิตรเบื้องต้น

กลุ่มวิชาการทำหน้าที่กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0078615029652913 Mins