8 พฤษภาคม ของทุกปี กำหนดให้เป็น “วันกาชาดโลก” โดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ หรือInternational of red cross and red crescant societies ได้ใช้วันนี้ เนื่องจากเป็นวันคล้ายวันเกิดของนายอังรี ดูนังต์ เป็นผู้ให้กำเนิดกาชาดขึ้นครั้งแรก
นายอังรี ดูนังต์ (Henry Dunant) ชาวสวิส เกิดเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2371 ณ นครเจนีวา เป็นบุตรผู้มีตระกูลสูงของเมืองนั้น ดูนังต์ ได้เดินทางไปแสวงหาโชคลาภในแอฟริกาเหนือ 2 ครั้ง ในการเดินทางไปแสวงหาโชคลาภครั้งที่ 2 ในปี 2401 มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่า ครั้งหนึ่งดูนังต์ได้ซื้อน้ำตกแห่งหนึ่งพร้อมกับโรงโม่แป้ง แล้วเกิดเรื่องยุ่งยากกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น จึงได้ตัดสินใจเข้าหาพระเจ้านโปเลียนที่ 3 ด้วยตนเอง และเดินทางไปยังภาคเหนือของอิตาลีที่หมู่บ้านซอลเฟริโน (Solferino) อยู่ทางใต้ของทะเลสาบการ์ดา (Garda) ในเดือนมิถุนายน 2402 ซึ่งขณะนั้นดูนังต์มีอายุ 31 ปี ประจวบกับกองทัพฝรั่งเศสได้ช่วยอิตาลีรบออสเตรีย ทหาร 4 แสนคนต่อสู้กัน มีทหาร 4 หมื่นคนล้มตายและบาดเจ็บเกลื่อนกลาดทั่วสนามรบโดยไม่มีผู้รักษาพยาบาล ภาพอันสยดสยองนี้ ทำให้ดูนังต์ลืมเรื่องราวที่จะร้องเรียนต่อพระเจ้านโปเลียนเสียสิ้น และในครั้งนั้นดูนังต์ได้ลงมือช่วยเหลือผู้บาดเจ็บด้วยตนเอง แล้วขอร้องประชาชนหญิงในท้องถิ่นนั้นมาร่วมด้วย
จากประสบการอันน่าสยดสยองนี้เอง ดูนังต์ได้เขียนหนังสือขึ้นเล่มหนึ่งเมื่อ 3 ปีต่อมา ให้ชื่อว่า "Un Souvenir de Solferino" (A Memory of Solferino) แปลว่า "ความทรงจำเรืองที่ซอลเฟริโน" และกล่าวตอนหนึ่งเป็นเชิงรำพึงว่า "จะเป็นไปไม่ได้หรือที่จะตั้งองค์การอาสาสมัคร ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือทหารบาดเจ็บในยามสงคราม" ในที่สุดได้มีผู้เสนอความคิดของดูนังต์ต่อสมาคมสงเคราะห์สาธารณะแห่งเจนีวา (Public Welfare Society of Geneva)
เมื่อมีอายุ 73 ปี เขาได้รับรางวัลโนเบลประเภทสันติ ซึ่งให้เป็นครั้งแรกในปี 2444 (ร่วมกับ เอฟ. ปาสสีชาวฝรั่งเศสผู้เริ่มขบวนการสันติ) ดูนังต์ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2453 ขณะมีอายุ 82 ปี เมื่อเปิดพินัยกรรมปรากฎว่า ตัวเขาเองนั้นไม่ได้ใช้จ่ายเงินรางวัลต่างๆ ที่ได้รับเพื่อประโยชน์ส่วนตัวเลย ยังคงเก็บเงินจำนวนนั้นทั้งหมดไว้ นอกจากนี้ได้แบ่งส่วนยกให้สถาบันสาธารณสงเคราะห์ของสวิตเซอร์แลนต์และนอรเวย์ไว้อีกหลายแห่งด้วยกัน
ประวัติกาชาดไทย
ในประเทศสยามขณะนั้น จากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ก่อตั้งองค์กรการกุศล เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2436 (ร.ศ.112) ใช้ชื่อว่า "สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม" โดยดำเนินการช่วยทหารบาดเจ็บ ป่วยไข้จากการสู้รบ ทำหน้าที่ช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วยจากภัยสงคราม และภัยพิบัติต่างๆ
ปี พ.ศ. 2449 ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ส่งผู้แทนไปร่วมประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อลงนามความตกลงเรื่องการใช้เครื่องหมายกาชาดช่วยเหลือผู้บาดเจ็บในสนามรบ สภาอุณาโลมแดงแห่งชาติสยาม จึงได้เปลี่ยนมาใช้ชื่อว่า สภากาชาดสยาม โดยใช้เครื่องหมายกาชาดเป็นสัญลักษณ์
ต่อมา ในปี พ.ศ. 2453 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ครองราชย์สืบต่อมา ได้ทรงสืบทอดพระราชภารกิจของสภากาชาดสยามให้เจริญก้าวหน้าเช่นอารยประเทศ พ.ศ.2454 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ผู้แทนจากสภากาชาดสยามไปร่วมประชุมกาชาดระหว่าประเทศ ที่กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมลงนามความตกลงเรื่องกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายกาชาด (กฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ) และทรงโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ พระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เป็นอุปนายกผู้อำนวยการสภากาชาดสยาม บริหารงานของสภากาชาดให้เจริญก้าวหน้าต่อไป ทรงมีพระราชโองการให้ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยสภากาชาดสยามในปี พ.ศ.2461 พ.ศ.2463 ทรงนำสภากาชาดสยามเข้าเป็นสมาชิกของกาชาดสากล ประเทศลำดับที่ 27 เมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2464 กิจการของกาชาดสยามเจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด
ปี พ.ศ.2482 ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สภากาชาดสยาม เปลี่ยนชื่อเป็น สภากาชาดไทย ตามชื่อของประเทศที่เปลี่ยนจาก สยามประเทศ มาเป็น ประเทศไทย
ในรัชกาลปัจจุบัน กิจการและภารกิจต่าง ๆ ของสภากาชาดไทยที่ดำเนินต่อมา และได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ดังนี้
1. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นอุปถัมภกสภากาชาดไทย
2. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงเป็นสภานายิกาสภากาชาดไทย
3. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นอุปนายิกาผู้อำนวยการสภากาชาดไทย
สำหรับกิจกรรมและภารกิจ การจัดงานวันกาชาดโลก ถูกจัดขึ้นผ่านมาเป็นครั้งที่ 8 ในปี 2548 โดยสหพันธ์สภากาชาดและสภาเสี้ยววงเดือนแดงระหว่างประเทศ (IFRC) ได้กำหนดคำขวัญว่า Protecting human dignity มีความหมายว่า คุ้มครองศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ซึ่งเป็นแนวคิดสำคัญ ของการประชุมกาชาดระหว่างประเทศ ซึ่งจัดขึ้นที่นครเจนีวา เมื่อปี 2546 โดยที่ประชุมได้เรียกร้องให้สภากาชาดต่างๆ ที่เข้าร่วมประชุม และประเทศที่เป็นรัฐภาคีในอนุสัญญาเจนีวา ได้ให้ความสำคัญในการปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองทหาร และพลเรือนในการสู้รบ และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดต่อร้ายแรงต่างๆ เช่น โรคเอดส์ รวมทั้ง ให้ความคุ้มครองผู้ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานของสภากาชาดไทย ซึ่งมีภารกิจหลัก 4 ประการ คือ ภารกิจด้านบริการสุขภาพอนามัย , ภารกิจด้านเตรียมความพร้อม และปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติ, ภารกิจด้านงานบริการโลหิต และ ภารกิจด้านการส่งเสริมคุณภาพชีวิต
อ้างอิง.. www.redcross.or.th/8may/top.html